CEO ARTICLE

การทำหุ้นส่วน

Published on January 16, 2024


Follow Us :

    

ทำอย่างไรให้หุ้นส่วน SME มีความขัดแย้งน้อยที่สุด ?

ปัจจุบัน ธุรกิจแบบหุ้นส่วน SME โดยเพื่อนสนิทหรือพี่น้องในครอบครัวมีมากที่ต่างร่วมกันคนละไม้ คนละมือ หุ้นส่วนบางคนอาจถือหุ้นเฉย ๆ ปล่อยให้หุ้นส่วนอื่นบริหารและจัดการ
แต่พอระยะหนึ่ง ความขัดแย้งก็เกิดขึ้น และนำไปสู่ความแตกแยกอย่างน่าเสียดาย
บางคนคิดว่า ธุรกิจคนเดียวดีกว่า ไม่ต้องขัดแย้งกับใคร จัดตั้งง่าย ทุนไม่มาก คล่องตัวสูง ตัดสินใจคนเดียว อยากทำอะไรก็ทำ กำไรไม่ต้องแบ่งใคร และที่สำคัญข้อกฎหมายมีน้อย
แต่ข้อเสียก็มี เช่น การระดมความคิดเห็นและความน่าเชื่อถือมีจำกัด เติบโตได้อย่างจำกัด กิจการมีอายุจำกัดเท่าที่เจ้าของจะมีชีวิตอยู่ และอาจล่มสลายหากทายาทไม่รับช่วงต่อ
บางคนคิดว่าการทำธุรกิจแบบหุ้นส่วนดีกว่า ได้จุดแข็งของหลายคนมารวมกัน ความรู้และความสามารถหลากหลาย การระดมความเห็นต่างทำได้มาก เกิดวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่า เอาจุดแข็ง เอาความเห็นต่างของแต่ละคนมามาหลอมรวมเป็นจุดแข็งให้ธุรกิจน่าเชื่อถือได้ง่ายกว่า
การระดมเงินทุนทำได้ง่าย ผู้ถือหุ้นรับผิดชอบหนี้ตามมูลค่าหุ้นของตน เจ้าหนี้จะยึดทรัพย์ส่วนตัวผู้ถือหุ้นไม่ได้ ผู้ถือหุ้นไม่จำเป็นต้องบริหารเอง สามารถจ้างมืออาชีพร่วมบริหารได้ การซื้อหุ้นขายหุ้น หรือโอนหุ้นก็ทำได้ง่าย เมื่อหุ้นส่วนเสียชีวิตหรือล้มละลาย ธุรกิจก็ยังเดินต่อไปได้
ส่วนข้อเสียของธุรกิจหุ้นส่วนก็มี เช่น ขั้นตอนทางกฎหมายมีมาก มีช่องทางให้ทุจริต หรือสร้างผลประโยชน์ทับซ้อนง่าย นำไปสู่ความแตกแยก การฟ้องร้อง และความล้มเหลวของธุรกิจ
ธุรกิจทุกรูปแบบมีข้อดีและข้อเสียในตัว การป้องกันหุ้นส่วนให้มีความขัดแย้งกันน้อยที่สุดตั้งแต่แรกจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะนำธุรกิจไปสู่ความเจริญก้าวหน้า

การป้องกันความขัดแย้งภายในของธุรกิจแบบหุ้นส่วน SME ควรเริ่มตั้งแต่ต้น ดังนี้
1. ยึดหลักฎหมาย
ในเมื่อเป็นธุรกิจแบบหุ้นส่วน เป็นแหล่งรวมเพื่อนและคนในครอบครัว ความคิดและการกระทำใด ๆ ก็ไม่ควรเป็นแบบเพื่อนหรือครอบครัว แต่ควรยึดหลักกฎหมายไว้ก่อน
คนเป็นผู้บริหารควรรู้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องนำหลักกฎหมายมาอธิบายให้หุ้นส่วนทราบ และปฏิบัติตามหลักกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นลำดับแรก
ตัวอย่างเช่น มาตรา 1171 บัญญัติให้ผู้บริหารต้องจัดให้มีการประชุมหุ้นส่วนอย่างน้อยปีละครั้ง ในทางปฏิบัติก็ไม่ควรเกินเดือนเมษายนของทุกปีเพื่อพิจารณางบต่าง ๆ ร่วมกัน
แต่หากมีเรื่องที่กระทบโครงสร้างธุรกิจ ฐานะการเงิน การเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ กรรมการ หรือเรื่องสำคัญอื่น ๆ ที่อาจมีผลกระทบในวงกว้าง ผู้บริหารก็ไม่ควรตัดสินใจฝ่ายเดียว แต่ควรจัดประชุมวิสามัญเพื่อระดมความคิดเห็น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นรับทราบ และเพื่อให้มีโอกาสตัดสินใจร่วมกัน
ผู้บริหารจะมาคิดเอง เออเองว่ามี Covid-19 หรืออื่น ๆ แล้วไม่จัดประชุมไม่ได้
2. ยึดหลักธุรกิจ
เรื่องใดที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ ผู้บริหารก็ต้องยึดหลักธุรกิจ
ผู้บริหารจึงต้องรู้และเข้าใจหลักธุรกิจ สร้างความเข้าใจให้ผู้ถือหุ้น และนำหลักธุรกิจมาใช้ วิธีคิดง่าย ๆ คือ เรื่องธุรกิจก็ต้องคิดและทำแบบธุรกิจ ไม่ใช่ยึดแบบเพื่อนหรือครอบครัว
ตัวอย่างเช่น การกู้ยืมเงินจากผู้ถือหุ้นก็ต้องมีสัญญากู้ มีดอกเบี้ย การใช้สำนักงานของหุ้นส่วนก็ต้องจ่ายค่าเช่า หากจ่ายไม่ได้ก็ต้องประชุมกัน และต้องตั้งให้เป็นเจ้าหนี้ทุกเดือน
หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเงิน ผู้พิจารณาต้องไม่ใช่ผู้อนุมัติ และทั้งผู้พิจารณาและผู้อนุมัติต้องไม่ใช่ผู้รับเงิน ไม่ใช่ผู้รับผลประโยชน์จากการพิจารณาและการอนุมัติทั้งทางตรงและทางอ้อม
หุ้นส่วนคนไหนบริหาร ทำงานมากก็ต้องได้เงินเดือนมาก ใครทำน้อยก็ได้น้อย
รายงานผลประกอบการเบื้องต้นที่ไม่ใช่งบการเงินก็ควรมีให้ผู้ถือหุ้นทราบทุกเดือน เว้นแต่ทำไม่ได้จริง ๆ และผู้ถือหุ้นก็ต้องได้เงินปันผลในปีที่ควรได้โดยการประชุม
3. จัดทำหลักฐาน
การยึดหลักกฎหมาย หลักธุรกิจ การประชุม ความเปลี่ยนแปลง หรือข้อตกลงใด ๆ ต้องจัดทำเป็นหลักฐาน สัญญา บันทึก หรือรายงานให้ชัดเจนระบุใครเห็นด้วย เห็นต่าง และยุติอย่างไร
ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นทุกคนต้องลงนามรับทราบแม้ไม่ได้เข้าร่วม หรือแม้เป็นเพียงการพูดคุยที่ไม่ใช่การประชุมอย่างเป็นทางการก็ตาม
การจัดทำหลักฐาน และการลงนามรับทราบร่วมกันจะป้องกันการหลงลืม ความขัดแย้งในภายหลัง และป้องกันมิให้ผู้บริหารใช้อำนาจทำตามอำเภอใจ หรืออีกนัยหนึ่ง หากจะแย้งก็ควรแย้งกันตั้งแต่ตอนลงนาม ควรทำความเข้าใจ ไม่ปล่อยทิ้งค้างไว้ยาวนานจนแตกแยกในภายหลัง
เพียง 3 ข้อก็จะส่งผลให้การทำธุรกิจแบบหุ้นส่วน SME ขัดแย้งกันน้อยลง และเป็นพื้นฐานสู่ความเจริญ ก้าวหน้า มั่นคง และยั่งยืนไปอย่างยาวนาน.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
for Home and Health,
please visit https://www.inno-home.com

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : January 16, 2024

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

สถานการณ์การขนส่งสินค้าทางทะเลในทะเลแดง

กลุ่มกบฏฮูตีซึ่งมีฐานอยู่ในเยเมนได้เปิดการโจมตีต่อเรือพาณิชย์ที่ผ่านทะเลแดงซึ่งดำเนินมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ขู่ว่าจะขัดขวางการไหลเวียนของสินค้าเชิงพาณิชย์ผ่านทะเลแดงและคลองสุเอซ ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญระหว่างเอเชียและประเทศตะวันตก ทำให้ความตึงเครียดในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น

แนวร่วมที่นำโดยสหรัฐฯ ที่เรียกว่า Operation Prosperity Guardian ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องเส้นทางเดินเรือบริเวณพื้นที่ดังกล่าว โดยเมื่อวันพุธที่ 3 มกราคม 2567 แถลงการณ์ร่วมจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และอีก 13 ชาติ อาทิ ออสเตรเลีย บาห์เรน เบลเยียม แคนาดา เดนมาร์ก เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐเกาหลี สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร ได้ออกคำเตือนครั้งสุดท้ายต่อกลุ่มฮูตีว่า พวกเขาจะ “ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่เกิดขึ้น” หากพวกเขายังคงโจมตีเรือคอนเทนเนอร์ที่ผ่านเส้นทาง

กลุ่มฮูตีกำลังมุ่งเป้าไปที่เรือที่มีความเกี่ยวข้องกับอิสราเอลในทางใดทางหนึ่ง โดยกลุ่มฮูตีได้โจมตีเรือพาณิชย์ในพื้นที่นี้ประมาณ 20 ครั้งนับตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 ส่งผลให้การขนส่งสินค้าลดลง 40 เปอร์เซ็นต์ ในช่องแคบบับ อัล-มันดับ (Bab al-Mandab Strait) ทางตอนใต้สุดของทะเลแดง การโจมตีดังกล่าวกำลังกดดันบริษัทขนส่งให้เปลี่ยนเส้นทางการขนส่งไปอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ซึ่งใช้เวลามากขึ้นถึง 3 สัปดาห์ แต่เวลาที่เพิ่มขึ้นยังนำไปสู่ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับบริษัทขนส่ง เช่น ค่าน้ำมัน เงินเดือน และประกัน เป็นต้น โดยบริษัทเดินเรือรายใหญ่ที่สุดของโลกหลายแห่ง รวมถึง Maersk, Hapag-Lloyd และ MSC ได้ระงับการขนส่งผ่านเส้นทางทะเลแดง ท่ามกลางการโจมตีอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่าเรือบรรทุกสินค้าบางลำจะเดินทางผ่านอย่างปลอดภัย แต่ค่าประกันหรือความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้หลายบริษัทได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ข้อเสนอแนะ/ข้อคิดเห็น
คลองสุเอซมีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศ ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์น้ำมันและพลังงานที่มาจากตะวันออกกลางเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรือคอนเทนเนอร์ที่ขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนเครื่องจักรและชิ้นส่วนที่จำเป็นสำหรับการผลิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ในหลายระดับที่แตกต่างกัน โดยเกือบ 15% ของการค้าทางทะเลทั่วโลกผ่านทะเลแดง รวมถึง 8% ของการค้าธัญพืชทั่วโลก 12% ของการค้าน้ำมันทางทะเล และ 8% ของการค้าก๊าซธรรมชาติเหลวของโลก
30% ของสินค้าอุปโภคบริโภคและการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลกต้องผ่านคลองสุเอส ตั้งแต่ เสื้อผ้า เครื่องซักผ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการขนส่งทางเรือ น้ำมัน แก๊ส น้ำมันปาล์ม ข้าวสาลี ข้าวโพด ชา กาแฟ เป็นต้น เนื่องจากการเดินเรือผ่านคลองสุเอซเป็นวิธีที่สั้นที่สุด ค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด และมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการเชื่อมต่อเอเชียและแอฟริกากับยุโรปผ่านทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
การหลีกเลี่ยงการเดินเรือผ่านคลองสุเอซ และหันไปเดินเรืออ้อมแหลม Good Hope จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากต้องใช้เวลาเดินทางมากขึ้น ทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันมากขึ้น และค่าเบี้ยประกันความเสี่ยงอาจปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ การเดินเรืออ้อมแหลม Good Hope ซึ่งใช้เวลานานขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่การผลิต ที่ปัจจุบันอยู่ในรูปแบบ just in time และไม่มีการสะสมวัตถุดิบสำหรับการผลิตไว้เป็นจำนวนมาก
โดยราคาของการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์จากเอเชียไปยังยุโรปได้เพิ่มขึ้นแล้วระหว่าง 175-250% มีผลกระทบที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับภูมิภาค ธุรกิจและผู้บริโภคในยุโรปมีแนวโน้มที่จะเสี่ยงต่อราคาที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด แม้ว่าปัญหาอาจดูเหมือนจำกัดอยู่เฉพาะกับบริษัทขนส่งในขณะนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าผู้บริโภคทั่วโลกควรเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในตลาดในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น หรือ การลดขนาดของผลิตภัณฑ์ลง แต่ราคายังคงเท่าเดิม ในภาวะเงินเฟ้อ ที่เรียกว่า “Shrinkflation”
สถานการณ์ความไม่สงบในทะเลแดงจะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าและส่งออกสินค้าไทยอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ผู้ประกอบไทยจึงต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจว่าจะนำส่งสินค้าไปยังจัดหมายปลายทางได้ครบถ้วนและตรงตามกำหนดเวลา อีกทั้งยังอาจต้องพิจารณาต้นทุนให้เหมาะสมเพื่อรองรับความเสี่ยงอาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์ความไม่สงบใหม่ๆ ของโลก และพิจารณาหาแหล่งวัตถุดิบทางเลือกเพื่อเติมเต็มความต้องการในการผลิตในสถานการณ์ที่ห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่การผลิตได้รับผลกระทบเช่นนี้
สำหรับอียิปต์ ซึ่งขณะนี้กำลังเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจจากการขาดแคลนสกุลเงินต่างชาติรุนแรง (กอปรกับภาวะเงินเฟ้อรุนแรง สกุลเงินท้องถิ่นอ่อนค่า และหนี้สาธารณสูง) จนทำให้เกิดการชำระเงินระหว่างประเทศล่าช้า ซึ่งค่าผ่านทางคลองสุเอซ คือ แหล่งรายได้สกุลเงินต่างชาติที่สำคัญของอียิปต์ หากเกิดความไม่สงบขึ้นในทะเลแดง จะส่งผลให้การสั่งซื้อสินค้าไทยเกิดการชะลอตัว
ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/159767

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.