CEO ARTICLE

แลนด์บริดจ์เพื่อใคร

Published on January 23, 2024


Follow Us :

    

แลนด์บริดจ์มีเจตนารมณ์จะสร้างเพื่อใคร ?

แลนด์ (Land) แปลว่าแผ่นดิน บริดจ์ (Bridge) แปลว่าสะพาน เมื่อรวมกันเป็นแลนด์บริดจ์จึงหมายถึงสะพานบนแผ่นดินที่ใช้เชื่อมทะเลฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยให้เดินทางถึงกัน
ทั้ง 2 ฝั่งทะเลจะมีท่าเรือที่จังหวัดชุมพรและระนอง มีการสร้างสะพาน ทางรถไฟ ถนน ท่อส่งน้ำมัน และสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพื่อให้เรือขนส่งมาจอดขนถ่ายสินค้า
โครงการจะทำทุกวิถีทางเพื่อส่งเสริมเรือขนส่งต่างประเทศให้มาใช้บริการ ให้ขนถ่ายสินค้าจากเรือขึ้นแผ่นดินทั้ง 2 ฝั่ง ลำเลียงไปลงเรืออีกฝั่ง และขนส่งต่อไปยังประเทศปลายทาง
ปัจจุบัน เรือสินค้าจำนวนมากต้องวิ่งอ้อมช่องแคบมะละกาที่เสียเวลาราว 9 วัน
หากมาใช้แลนด์บริดจ์จะเสียเวลา 5 วัน ต้นทุนขนส่งและ Logistics ลดลง เศรษฐกิจแถบท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง และระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SEC (Southern Economic Corridor) จะดีขึ้น
อีกนัยหนึ่ง แลนด์บริดจ์เป็นแนวคิดชดเชย “คลองไทย” เพื่อเชื่อมทะเล 2 ฝั่งที่ในอดีตขุดไม่ได้จากปัญหาการเมืองภายในและระหว่างประเทศ เห็นง่าย ๆ ก็ประเทศในแถบช่องแคบมะละกาที่เรือสินค้าต้องวิ่งอ้อม เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ทำให้เศรษฐกิจโตอย่างก้าวกระโดด และประเทศตะวันตกที่เป็นเจ้าอาณานิคมแถบช่องแคบมะละกาในเวลานั้นได้ประโยชน์ร่วมกัน
แลนด์บริดจ์จึงเป็นแนวคิดชดเชย สิ่งที่คาดหวังคือ เรือขนส่งต่างชาติจากจีนที่เป็นยักษ์ในทางการค้าและเรือขนส่งแถบประเทศเอเซียใต้ ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอื่น ๆ จะหันมาใช้บริการเพื่อไม่ต้องวิ่งอ้อมช่องแคบมะละกา
แต่โครงการก็ต้องลงทุนมหาศาลกว่า 1 ล้านล้านบาท และตามข่าวจะเชิญชวนต่างชาติให้มาลงทุนโดยสร้างความคุ้มค่าให้ แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีต่างชาติรายใดตอบตกลงอย่างเป็นทางการ
ในมุมผู้ประกอบการไทยทั่วประเทศ หากคลังสินค้าอยู่ใกล้ท่าเรือแห่งไหนก็คงนำเข้าและส่งออก ณ ท่าเรือแห่งนั้นตามเดิม ไม่หันมาใช้ท่าเรือใหม่ในชุมพรและระนองแน่ แต่หากอยู่ภาคใต้ก็อาจใช้ท่าเรือแห่งใหม่บ้าง และอาจพึ่งพาแลนด์บริดจ์บ้าง แต่คงน้อย
ผู้ประกอบการไทยจึงได้ประโยชน์จากแลนด์บริดจ์และท่าเรือแห่งใหม่น้อย
ในมุมผู้ประกอบการต่างประเทศที่ต้องพึ่งพาการขนส่งทางเรือ แน่นอนย่อมต้องการเพียงค่าระวางขนส่ง (Freight) ที่ต่ำ ระยะทางที่เร็วขึ้น และความปลอดภัยให้แก่สินค้าที่จะนำเข้าและส่งออกเท่านั้น ไม่ใส่ใจเรือขนส่งจะเดินทางไปทางไหนมากนัก และไม่ใส่ใจแลนด์บริดจ์ของไทย
ดังนั้น ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากแลนด์บริดจ์จึงไม่ใช่ผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติ แต่เป็นสายการเดินเรือต่างชาติ (Shipping Line) มากที่สุด
แต่จากข่าวก็มีเพียงการศึกษาโดยหน่วยงานของรัฐ และมีแต่การคาดการณ์ตัวเลขต่าง ๆ ที่ไม่ชัดเจน แต่ไม่มีข่าวการไปคุยกับสายการเดินเรือต่างชาติรายใหญ่ ๆ อย่างเป็นทางการ
ประเด็นหลักจึงอยู่ที่เรือต่างชาติ หากตอบได้ว่า เรือต่างชาติรายใดบ้างจะมาใช้บริการ เรือเหล่านี้ต้องการอะไร ตู้สินค้าที่จะผ่านแลนด์บริดจ์จริง ๆ มีกี่ตู้ แค่นี้แลนด์บริดจ์ก็มีความชัดเจน

การที่เรือขนส่งต่างชาติต้องวิ่งอ้อมผ่านช่องแคบมะละกาย่อมเสียเวลามากกว่าแน่
แต่หากช่องทางอื่นมีค่าใช้จ่ายที่ไม่แน่นอน มีความเสี่ยงในการขนถ่ายสินค้าขึ้นลงที่ท่าเรือ 2 ฝั่งและการเคลื่อนย้าย มีกฎหมายระหว่างประเทศให้ระวัง มีพิธีการศุลกากรให้ปฏิบัติ มีแผนงานที่ต้องเปลี่ยนเพื่อขนย้ายสินค้าขึ้นและลงเรือ มีการบริหารและจัดการที่ไม่รู้เป็นเงินอีกเท่าไร
แบบนี้เรือขนส่งต่างชาติยอมวิ่งอ้อมช่องแคบมะละกาที่คุ้นเคยเหมือนเดิมย่อมดีกว่า อย่างน้อย การวิ่งอ้อมก็ยังมีท่าเรืออื่นให้แวะรับส่งสินค้าที่เป็นการเพิ่มรายได้ค่าระวางขนส่ง
ยิ่งไปกว่านั้น การวิ่งมาใช้บริการจากแลนด์บริดจ์ยังทำให้เรือขนส่งแทบไม่มีสินค้ารับกลับท่าเรือต้นทาง กลายเป็นเรือเปล่าที่ต้องวิ่งกลับให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
สายการเดินเรือต่างชาติมีวิธีการคิด และมีวิธีการทำงานที่ชัดเจน
ผลประโยชน์ที่เรือสินค้าวิ่งผ่านช่องแคบมะละกาก็ชัดเจน คลองไทยที่ขุดไม่ได้ในอดีตเกิดจากผลประโยชน์ทางการเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศก็ชัดเจน
ทุกอย่างมีความชัดเจน หากแลนด์บริดจ์เกิดขึ้นแล้ว แต่เรือขนส่งต่างชาติใช้บริการน้อยก็ชัดเจนว่าสิงคโปร์และประเทศที่ได้ประโยชน์จากช่องแคบมะละกาคงหัวเราะชอบใจ
เมื่อมีการเมือง มีแผ่นดินที่ไม่มีแม่น้ำ (no river) และมีสะพาน (bridge) คำกล่าวของครุสเซฟ อดีตประธานาธิบดีสหภาพโซเวียตก็ลอยขึ้นมา “Politicians are the same all over. They promise to build a bridge even where there is no river”
“นักการเมืองเหมือนกันหมดไม่ว่าที่ไหน พวกเขาสามารถให้สัญญาที่จะสร้างสะพานได้แม้ในสถานที่ที่ไม่มีแม่น้ำ” (หนังสือการเมืองท้องถิ่น หน้า 12 ดร. ปธาน สุวรรณมงคล)
คำกล่าวนี้ก็ชัดเจน นักการเมืองเหมือนกันหมดตรงที่สามารถทำอะไรก็ได้เพื่อให้ได้อำนาจและผลประโยชน์โดยไม่ใส่ใจความเสียหายใด ๆ ที่จะตามมา
หากแลนด์บริดจ์ทำเพื่อสายการเดินเรือต่างชาติจริง ๆ ก็คงทำแบบหนึ่งที่ทุกฝ่ายจะเห็นได้ชัดเจน แต่หากจะทำเพื่อนักการเมืองก็คงทำอีกแบบหนึ่งที่ทุกฝ่ายก็เห็นได้ชัดเจนเหมือนกัน
ทุกอย่างจึงเห็นได้ชัดเจนในเวลานี้ว่า แลนด์บริดจ์จะสร้างเพื่อใคร.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
for Home and Health,
please visit https://www.inno-home.com

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : January 23, 2024

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

ผู้ผลิตญี่ปุ่นเปิดโรงงานผลิตสีผสมอาหารจาก ‘ดอกอัญชัน’ ในไทย เตรียมส่งออกยุโรปและสหรัฐฯ

บริษัทสึจิโกะ (เมืองโคกะ จังหวัดชิกะ) ผู้พัฒนาและผลิตส่วนผสมอาหารของญี่ปุ่นได้เปิดโรงงานผลิตสีผสมอาหารในประเทศไทย
โดยมีสินค้าหลักคือ “สีผสมอาหารจากดอกอัญชัน” ซึ่งเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีสีสันสวยงามทำให้ได้รับความสนใจทั่วโลก

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์คือเทคโนโลยีที่ใช้ในกระบวนการผลิต ตั้งแต่การทำให้ดอกแห้ง บด และการฆ่าเชื้อ ทั้งนี้บริษัทได้ร่วมทุนกับ GSI Creos ผู้ผลิตสิ่งทอที่มีชื่อเสียงด้านนวัตกรรม และการรักษาสิ่งแวดล้อม

โรงงานในไทยเปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2565 เพื่อเป็นฐานการผลิตและส่งออกไปยังญี่ปุ่น มีกำลังผลิต 200 กิโลกรัมต่อเดือน (2.4 ตันต่อปี)
ในปี 2566 ตั้งเป้าหมายในการผลิตเป็น 5 ตันต่อปี หรือประมาณร้อยละ 80 ของกำลังการผลิตสูงสุด ทั้งนี้ โรงงานในประเทศไทยสามารถลดต้นทุนลงเหลือเพียงหนึ่งในสาม
โดยบริษัทมีแผนเพิ่มพื้นที่อีกกว่า 325 ไร่ในประเทศไทยและลาวเพื่อใช้สำหรับเป็นพื้นที่เพาะปลูกวัตถุดิบอีกด้วย

กลุ่มลูกค้าหลักคือ ผู้ผลิตขนมและลูกกวาด ธุรกิจขนาดเล็กและผู้บริโภคที่ใช้สีจากพืช โดยนอกจากสีน้ำเงินที่ได้จากดอกอัญชันแล้ว บริษัทยังผลิตสีจากพืชอื่นๆ เพื่อให้ได้สีเหลือง แดง น้ำตาลและเขียวอีกด้วย
ทั้งนี้ สีน้ำเงินจากดอกอัญชันได้รับความนิยม และมีความต้องการสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องจากผู้ผลิตอาหารทั้งญี่ปุ่น ไทย สหรัฐฯ และยุโรป
โดยแม้ว่าจะมีบางกลุ่มเห็นว่าสีน้ำเงินไม่เหมาะในการเป็นวัตถุดิบอาหาร เนื่องจากทำให้ความอยากอาหารลดลง หากแต่บริษัทเห็นว่าที่ผ่านมาอาจแค่ยังไม่มีสีน้ำเงินที่ปลอดภัยสำหรับใช้เป็นสีผสมอาหารเท่านั้น

ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/159820

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.