CEO ARTICLE
แบรนดิ้ง
แบรนดิ้งคืออะไร และให้ประโยชน์อะไร ?
หากจะเอาแบบสั้นและง่าย แบรนดิ้ง (Branding) คือ การสร้าง “ภาพจำ”
แต่หากมีวิชาการหน่อยก็หมายถึง ตราสินค้า ตราองค์กร หน่วยงาน เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ สัญลักษณ์ โลโก้ (Logo) เรื่องราว (Story) สีของสิ่งของ พฤติกรรม ระบบงาน การบริการ ตัวบุคคล ผู้บริหาร นักการเมือง พรรคการเมือง หรืออื่น ๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเห็น สัมผัสแล้วรู้ทันที จำได้ง่าย และเกิดเป็น “ภาพจำ”
ไม่ว่าจะเอาแบบไหน และไม่ว่าจะสร้างขึ้นเองหรือโดยธรรมชาติ ปลายทางของแบรนดิ้งก็คือ “ภาพจำ” ที่นำไปใช้ในทางธุรกิจ การตลาด การขาย การบริหารประเทศ และการเมือง
ตัวอย่างแบรนดิ้งเกี่ยวกับการบริการ เช่น โรงพยาบาลแห่งหนึ่งจะโทรศัพท์ยืนยันคนไข้ที่มีนัดตรวจกับแพทย์ล่วงหน้า 1 วันเสมอ หรือกิจการแห่งหนึ่งสร้างวิธีการพูด การแต่งกาย การดูแลลูกค้าด้วยขั้นตอนการทำงานที่ดี และมีความเป็นมืออาชีพจนเป็นภาพจำแก่ลูกค้า เป็นต้น
ตัวอย่างแบรนดิ้งเกี่ยวกับเรื่องราว เช่น กิจการแห่งหนึ่งให้ความช่วยเหลือคนพิการ คนจน คนไร้บ้าน เด็กกำพร้า ช่วยเหลือสังคมอย่างโดดเด่น หรือช่วยเหลือพนักงานเหมือนคนในครอบครัวจนเป็นภาพจำต่อผู้พบเห็น หรือการเห็นคน ๆ นี้ก็จะเข้าใจถึงกิจการของเขา เป็นต้น
แบรนดิ้งในทางธุรกิจเป็นได้ทั้งภาพจริงและภาพลวงที่ส่งผลต่อการตลาด และการขาย
ผลทางการตลาด เช่น การทำแบรนดิ้งให้เป็นคุณค่า ภาพลักษณ์ และภาพจำของกิจการ หรือสินค้า และทำให้การสื่อสารออกไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น เกิดการพูดปากต่อปาก รีวิว กดไลค์ กดแชร์ได้กว้างขึ้น และไกลขึ้น เป็นต้น
ผลทางการขาย เช่น การเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายให้เป็นลูกค้าง่ายขึ้น ให้ซื้อแล้วซื้ออีก ให้เป็นลูกค้าได้นานขึ้นจากคุณค่า ภาพลักษณ์ และภาพจำของแบรนดิ้ง เป็นต้น
แบรนดิ้งคือ การสร้างภาพจำที่เป็นได้ทั้งภาพจริงและภาพลวง
เมื่อนำมาใช้ในทางการเมืองจึงเป็นสิ่งน่ากลัว ประชาชนอาจได้ภาพลวงอย่างไม่รู้ตัว อาจจำเป็นภาพจริง และเทคะแนนเสียงให้จนได้นักการเมืองลวงมาบริหารประเทศ
ตัวอย่างเช่น นักการเมืองตอกย้ำว่าตนเองเก่ง มีความรู้ และมีความสามารถทางเศรษฐกิจ แต่สื่อมวลชนตรวจสอบกลับไม่มีความสำเร็จใด ๆ ให้อ้างอิง
บางคนสร้างภาพจำว่าแก้ไขปัญหาจราจรได้ดี แก้ปัญหายาเสพติด ปัญหาเยาวชนได้ บางคนเข้าป่าเพื่อสร้างภาพ เดินไปเดินมา แต่มีช่างภาพคอยสร้างข่าวและภาพ
บางคนสร้างภาพว่าซื่อสัตย์ แต่พอสื่อตรวจสอบก็มีผลประโยชน์ทับซ้อน บางคนใช้ความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างภาพทาส ภาพบ่าว บางคนใช้ความไร้เดียงสาของเยาวชนกระตุ้นความต้องการดิบที่ปิดซ่อนให้ผลุดออกมา ตอกย้ำ และสร้างภาพจำเพื่อให้ได้คะแนนนิยมทางการเมือง
สื่อมวลชนจึงเป็นกลุ่มคนที่มีส่วนส่งเสริมแบรนดิ้งทางการเมืองให้เกิดภาพจำด้านหนึ่ง แต่สื่อมวลชนอีกด้านหนึ่งจะคอยนำภาพตรงข้ามมาตีแผ่
สื่อมวลชนจึงมี 2 ด้านที่ทำให้แบรนดิ้งเกิดภาพจำทั้ง 2 ด้านในเวลาเดียวกัน
ประชาชนที่เสพสื่อด้านเดียว หรือคนที่ขาดความเข้าใจในแบรนดิ้งจึงมักได้ภาพด้านเดียว จากโซเซียลที่เสพจนหลงใหลในภาพจำ และเทคะแนนเสียงให้ในการเลือกตั้ง
ประชาชนมีภาพจำอย่างไรก็จะเลือกนักการเมืองอย่างนั้น และได้รัฐบาลอย่างนั้น
แต่ประเทศชาติเต็มไปด้วยทรัพยากรและเงินภาษีอากร มีความสงบสุขและชีวิตประชาชนที่ดีขึ้นเป็นเป้าหมาย เมื่อประชาชนเลือกนักการเมืองจากภาพลวง สิ่งที่ตามมาคือ นักการเมืองลวง รัฐบาลลวง และผลประโยชน์ลวงที่หลอกว่าจริงอย่างขาดหลักการและเหตุผล
ประเทศที่มีนักการเมืองลวงจึงตกอยู่ในวังวนของการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์
เมื่อการแย่งชิงลงตัวก็จะมีการออกกฎหมาย หรือการแก้ไขเพื่อให้ได้ผลประโยชน์จากเงินภาษีอากร จากทรัพยากร เกิดบ่อนการพนันและโสเภณีถูกกฎหมายเพื่อให้ได้คะแนนนิยมโดยอ้างประชาชนด้านหนึ่ง แต่ไม่ใส่ใจความสงบสุขของประชาชนอีกด้านหนึ่ง
แบรนดิ้งในทางธุรกิจเป็นสิ่งเข้าใจง่าย ใช้กันมาก แบรนดิ้งในทางการเมืองก็ใช้กันมาก แต่เข้าใจยาก น่ากลัว เป็นภาพจำให้ประชาชนหลงใหล และหลงเชื่อเพื่อเทคะแนนเสียงให้
ในระบอบประชาธิปไตยไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่าเสียงประชาชนอีกแล้ว
ประชาชนจึงควรรู้เท่าทันแบรนดิ้งเพื่อให้รู้เท่าทันนักการเมือง ควรติดตามข่าวสารข้อมูลให้ครบ 2 ด้าน ติดตามด้วยหลักการและเหตุผลเพื่อมิให้หลงไหลในภาพลวง
มิฉะนั้น ประชาชนเองจะกลายเป็นผู้ส่งเสริมภาพลวง สร้างนักการเมืองลวง และประเทศจะเป็นเพียงสนามทดลองให้นักการเมืองที่มาจากภาพลวงจนเสียหายโดยประชาชนเอง.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
for Home and Health,
please visit https://www.inno-home.com
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : April 2, 2024
Logistics
อินเดียลดการเก็บภาษีนำเข้าสำหรับรถยนต์ EV
เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2567 รัฐบาลอินเดียได้อนุมัติการลดภาษีนำเข้ายานพาหนะไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) สำหรับผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตยานพาหนะ/ชิ้นส่วนยานพาหนะในอินเดียที่มีการลงทุนมากกว่า 500 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป ตามนโยบาย made in India และเป้าหมายที่จะดันประเทศเป็นศูนย์กลางการผลิตโลกในหลายุตสาหกรรม โดยนโยบายดังกล่าวจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถนำเข้ายานพาหนะลักษณะที่นำเข้ามาทั้งคัน (Completely Build Up : CBU) ที่มีราคามากกว่า 35,000 เหรียญสหรัฐ ด้วยภาษีระดับต่ำกว่าเดิม 15% (ปัจจุบันรถนำเข้าต้องเสียภาษี 70-100% แล้วแต่ขนาดเครื่องยนต์) โดยคาดว่านโยบายดังกล่าวจะสามารถดึงดูดบริษัทยานยนต์ชั้นนำระดับโลกเข้ามาลงทุนในอินเดียเพิ่มขึ้นได้
การออกประกาศนโยบายดังกล่าวเป็นที่น่าพอใจสำหรับสมาคมผู้ผลิตยานยนต์อินเดีย (Society of Indian Automobile Manufacturers : Siam) และผู้ประกอบยานยนต์ที่กำลังพิจารณาลงทุนในอินเดียจำนวนมาก เนื่องจากมองว่าเป็นการเกื้อหนุนกันซึ่งกันและกันระหว่างรัฐบาลอินเดียกับผู้ผลิต โดยบริษัท Vin Fast Auto ผู้ผลิต EV รายใหญ่ของเวียดนามที่ลงทุนอยู่ในรัฐ Tamil Nadu ให้ความเห็นว่า นโยบายดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทสามารถทำราคารถยนต์ที่ต่ำลงและดึงดูดผู้ซื้อได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถช่วยให้เกิดการจ้างงานภายในบริษัทมากขึ้นถึง 3,500 อัตรา ในขณะที่บริษัท Ola Electric ให้ความเห็นว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ EV อินเดียเติบโตขึ้น และก้าวไปสูการเป็น Global EV hub ในอนาคต
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ
ยานพาหนะ EV ในอินเดียได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขการจำหน่ายยานยนต์ EV ในปี 2023 รวมทุกประเภทสูงถึง 1.53 ล้านคัน มากกว่าปี 2022 ซึ่งยอดจำหน่ายอยู่ที่ 1.02 ล้านคัน ทั้งนี้ ยานพาหนะประเภท commercial vehicle และ passenger vehicle มีอัตราการเติบโตของยอดจำหน่ายสูงสุดที่ 169% และ 113% ตามลำดับ ซึ่งปัจจัยสนับสนุนมาจากการที่รัฐบาลให้ความสำคัญและออกมาตรการเพื่อจูงใจทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคผ่านนโยบายต่างๆ
ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียตั้งเป้าจะเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลกในหลายอุตสาหกรรมรวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์และได้มีการออกนโยบายต่างๆเพื่อดึงดูดบริษัทชั้นนำให้เข้าร่วมลงทุนในอินเดีย โดยผู้เข้ามาลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ในหลายรูปแบบ อาทิ ต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่ต่ำลง การอำนวยความสะดวกในขั้นตอนการดำเนินธุรกิจที่ง่ายขึ้น ประกอบกับตลาดยานยนต์อินเดียที่กำลังเติบโตต่อเนื่อง ทำให้อินเดียเป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพสำหรับผู้ประกอบการยานต์ที่สนใจขยายธุรกิจ ทั้งในหมวดชิ้นส่วนยานยนต์ อะไหล่ อุปกรณตกแต่ง รวมถึงธุรกิจบริการต่างๆที่เกี่ยวเนื่อง
***************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงนิวเดลี
28 มีนาคม 2567
ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/167539
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!