CEO ARTICLE
กาสิโนไม่โอเค
คนไทยส่วนใหญ่จะโอเคหรือไม่กับกาสิโน ?
การพนันถูกสอนให้เป็นสิ่งไม่ดี และเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย
แต่ก็มีแนวคิดจะทำบ่อนกาสิโนถูกกฎหมายมานาน เมื่อมีแนวคิดก็มีการศึกษา และมีการคัดค้าน กระทั่งเดือน ต.ค. 2566 การศึกษาอย่างเป็นเรื่องเป็นราวโดยนักการเมืองก็เกิดขึ้น
ในที่สุด เดือน มี.ค. 2567 นักการเมืองก็เสนอเป็นร่างกฎหมายเข้าสภาฯ จนเห็นชอบ
ในร่างกฎหมายเรียกว่า “สถานบันเทิงครบวงจร” (Entertainment Complex) ไม่เรียกบ่อนกาสิโนโดยจะให้มีห้างสรรพสินค้าครบวงจร โรงแรมระดับ 5 ดาว ร้านอาหาร บาร์ ที่จัดนิทรรศการขนาดใหญ่ ศูนย์สุขภาพ สนามกีฬา ยอร์ชคลับ สถานที่เล่นเกม สระว่ายน้ำ สวนน้ำ สวนสนุก พื้นที่ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย สินค้า OTOP และกิจกรรมอื่น
เจตนารมณ์เพื่อทำการพนันที่ผิดให้ถูกกฎหมาย และป้องกันการลักลอบแอบเล่น
ผู้ที่จะเปิดสถานบันเทิงต้องผ่านเงื่อนไขการประมูลก่อน เช่น ต้องเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศไทย มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ลงทุนขั้นต่ำ 100,000 บาท หากชนะการประมูลจะได้ใบอนุญาต 20 ปี และต่ออายุได้คราวละ 5 ปี
สถานที่ตั้งจะอยู่ในรัศมี 100 กม. จากสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา
พอมีอู่ตะเภา สถานที่ก็คงเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออก เป้าหมายที่จะให้ไปใช้บริการคือนักท่องเที่ยวและนักพนันต่างชาติ หากคนไทยเข้าก็ต้องแสดงบัตรประชาชน มีอายุ 21 ปีขึ้นไป มีหลักฐานการเงินย้อนหลัง 6 เดือน มีเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท และเสียค่าธรรมเนียม
เงื่อนไขอื่นน่าจะมีอีก อาจเปลี่ยนแปลง หรือหยุดแค่ร่างกฎหมาย แต่ก็ตอบไม่ได้ว่าจะเป็นกฎหมายจริงให้มีผลบังคับหรือไม่ เมื่อไร และจะช้าหรือเร็วอย่างไร ???
นิติบุคคลที่จะเปิดสถานบันเทิงครบวงจรได้ต้องใหญ่โต มีเงินมหาศาล อาจมีนักการเมืองหนุนหลัง อาจมีการล๊อกสเปค และทุกอย่างก็อาจมีผลประโยชน์แอบแฝงโดยไม่มีใครรู้ก็ได้
คนที่ได้ประโยชน์จริงจึงเป็นเจ้าของนิติบุคคลที่ได้เปิด นักท่องเที่ยวและนักพนันต่างชาติ คนไทยที่มีเงินและอยากเล่น รัฐบาลก็มีรายได้จากภาษีและค่าธรรมเนียเพิ่มขึ้น ส่วนด้านเศรษฐกิจจะมีการจ้างงานมากขึ้น แต่ไม่รู้จะเป็นคนไทยหรือต่างชาติที่ได้งานมากกว่ากัน
ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงในนั้นคงเติบโตตามไปด้วย
ในมุมนี้ กาสิโนถูกกฎหมายย่อมโอเคต่อคนได้ประโยชน์แน่ แต่คนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่มีเงิน คนหาเช้ากินค่ำ คนชอบเล่นหวยใต้ดิน เล่นไพ่งานศพ เล่นพนันตามเทศกาล งานรื่นเริง บ่อนเถื่อน บ่อนวิ่ง เล่นพนันบอล หวยหุ้น ชนไก่ หรือชนปลาตามวิถีชาวบ้านคงไม่ได้ประโยชน์
การพนันคือสิ่งมอมเมา เล่นแล้วก็ติด แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่เล่นกันมานาน บางคนเล่นโดยไม่รู้ว่าผิด และบางคนทั้งที่รู้ว่าผิดกฎหมายก็ยังแอบเล่นจนติดนิสัยและกลายเป็นวิถีไทย
หากกฎหมายกาสิโนผ่าน คนต่างชาติและคนไทยที่มีเงินเข้าไปเล่นกลายเป็นถูกกฎหมาย ส่วนคนไทยส่วนใหญ่ที่เล่นการพนันพื้นบ้านจะกลายเป็นผิดกฎหมาย
การพนันเหมือนกัน ดีหรือไม่ดีเหมือนกัน แต่เป็น 2 มาตรฐาน แบ่งคนรวยกับคนจน
แบบนี้คนไทยส่วนใหญ่ไม่น่าจะโอเค ยิ่งนักการเมืองที่ศึกษาบ่อนกาสิโนเอาไทยไปเปรียบกับต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเก๊าก็ยิ่งดูเป็น 2 มาตรฐานใหญ่ ระบบสังคม ระบบการเมือง และระบบราชการที่ดูแลทุกข์สุขให้ประชาชนต่างกันราวฟ้ากับดิน
ในต่างประเทศที่มีบ่อนกาสิโนถูกกฎหมาย การเมืองของเขา ระบบราชการ และตำรวจที่ดูแลประชาชนของเขาดีกว่าของเราอย่างเทียบไม่ได้ กาสิโนที่เปิดจึงไม่เป็น 2 มาตรฐาน
หากจะเปรียบก็ควรทำให้ระบบสังคมมีมาตรฐาน การจี้ปล้นลดลง ปราบแก๊งคอลเซนเตอร์ให้ได้ เอาคนเสพยาบ้า 5 เม็ดไปรักษา และสร้างความยุติธรรมให้ได้ก่อนที่จะทำกาสิโนจะดีกว่า
หากทำไม่ได้ นักการเมืองก็อาจเปลี่ยนมาทำหวยใต้ดินให้ถูกกฎหมายก่อน ทำบ่อนเถื่อน บ่อนวิ่งให้ถูกกฎหมาย ให้การพนันขันต่อทุกรูปแบบมีเงื่อนไขการเล่นที่ชัดเจน สอดคล้องกับวิถีชาวบ้าน ใครเล่นได้ ใครเล่นไม่ได้ ใครจะทำบ่อนอะไรก็ขออนุญาตให้ได้ก่อนก็ได้
ใครปฏิบัติตามเงื่อนไขและได้อนุญาตก็จัดเจ้าหน้าที่ให้มาควบคุมการเล่นทุกสถานที่
แบบนี้ ส่วยบ่อนก็จะลดลง ประชาชนที่อยากเล่นก็มีบ่อนให้เล่น และจะไม่เล่นในบ่อนที่ผิดกฎหมายหรือบ่อนมีปัญหา ไม่ว่านักการเมืองจะเลือกพัฒนาระบบราชการ หรือจะทำการพนันชาวบ้านให้ถูกกฎหมาย หรือทำทั้ง 2 อย่างพร้อมกัน ความเป็น 2 มาตรฐานก็จะลดลง
แบบนี้ คนส่วนใหญ่ก็น่าจะโอเคกับกาสิโนไปด้วย
แต่หากไม่พัฒนาอะไรสักอย่าง จะเอาแต่กาสิโนอย่างเดียว คนส่วนใหญ่คงไม่โอเค หากจะทำให้ถูกกฎหมายก็น่าจะทำให้หมด หรืออย่างน้อยก็น่าจะทำประชาพิจารณ์ก่อน ไม่ใช่ว่าเลือกตั้งเสร็จแล้ว นักการเมืองได้อำนาจแล้วนึกจะทำอะไรก็ทำโดยสนใจประชาชนส่วนใหญ่
สิ่งที่ไม่ควรลืมคือ คนไทยส่วนใหญ่คือฐานเสียงที่เลือกนักการเมืองให้เข้าสภามาแท้ ๆ
นักการเมืองจึงควรทำกฎหมายให้ดูแลคนกลุ่มใหญ่ก่อน ไม่ใช่จะเอาแต่ทำกาสิโน คนไทยกลุ่มใหญ่ที่ไม่โอเคกับกาสิโนถูกกฎหมายจึงควรออกมาส่งเสียงให้นักการเมืองรับรู้ให้มากขึ้น
เมื่อไรที่กาสิโนผ่านสภาฯ จนกลายเป็นกฎหมาย มันจะอยู่คู่คนไทยไปอีกยาวนาน.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
for Home and Health,
please visit https://www.inno-home.com
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : April 9, 2024
Logistics
ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานด้านการขนส่งหลังเรือชนสะพานเมืองบัลติมอร์
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเชื่อว่าเหตุการณ์หนึ่งที่คงทำให้หลายคนตกใจและสลดใจไม่น้อยก็คืออุบัติเหตุเรือบรรทุกสินค้าพุ่งเข้าชนตอม่อของสะพาน Francis Scott Key ซึ่งตั้งอยู่ในแม่น้ำ Patapsco กลางอ่าวเมืองบัลติมอร์ มลรัฐแมริแลนด์ ซึ่งแม้ว่าจะเหตุการณ์จะเกิดขึ้นในช่วงกลางดึก แต่ก็ทำให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนที่สัญจรอยู่บนสะพานขณะเกิดเหตุพอสมควรเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากความสูญเสียในทางสังคมแล้ว จากการที่เศษซากปรักหักพังของสะพานดังกล่าวอยู่ในช่องทางของการเดินเรือขนส่งสินค้าเข้า-ออกของท่าเรือเมืองบัลติมอร์ (Port of Baltimore) ทำให้ยังความสูญเสียและผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล จากการที่เส้นทางการเดินเรือดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้เต็มกำลัง
ข้อมูลเชิงลึกจากคุณ John D. Porcari อดีตผู้แทนพิเศษจากทำเนียบขาวด้านการท่าและระบบห่วงโซ่อุปทาน (White House Port and Supply Chain Envoy) และอดีตผู้ว่าการด้านการคมนาคมประจำมลรัฐแมริแลนด์ (Maryland Transportation Secretary) ได้ชี้ให้เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากประสิทธิภาพการรับ-ส่งสินค้าของท่าเรือเมืองบัลติมอร์ที่หายไปกับเหตุการณ์ครั้งนี้ จะส่งผลกระทบในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและการคมนาคมขนส่ง จากการที่ท่าเรือเมืองบัลติมอร์ถือเป็นท่าเรือที่สำคัญที่สุดท่าเรือหนึ่งทางชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้ขนส่งสินค้ามากกว่า 1.1 ล้าน TEUs (Twenty-foot Equivalent Unit: หน่วยนับสินค้าที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งมีขนาดความยาว 20 ฟุต) ซึ่งถือว่าอยู่ในลำดับต้น ๆ ของสหรัฐฯแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังเป็นท่าเรืออันดับหนึ่งในสหรัฐฯ สำหรับการขนส่งตู้สินค้า Roll-on/Roll-off (ชื่อลำลองของกลุ่มสินค้ายานพาหนะที่มีล้อขับเคลื่อนทั้งหลาย) ซึ่งนับรวมถึงเหล่าสินค้าเครื่องจักรอุตสาหกรรมและการเกษตรขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูง
คุณ Porcari ยังได้อธิบายถึงลักษณะความท้าทายต่อระบบห่วงโซ่อุปทานในด้านการขนส่งสินค้าทางเรือที่จะต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การที่สะพานเมืองบัลติมอร์ถล่มและเศษซากสะพานที่ยังคงอยู่ในระยะการสำรวจความเสียหายเพื่อประเมินขั้นตอนกระบวนการเก็บกู้ซากเหล่านั้น ส่งผลให้เส้นทางการเดินเรือได้รับผลกระทบจากขีดความสามารถที่ควรจะเป็นนั้น ทำให้บริษัทและผู้ประกอบการเรือขนส่งสินค้าและระบบการขนส่งภาคพื้นดินที่เชื่อมถึงกัน จะต้องหาเส้นทางและวิธีการใหม่ที่จะทำให้มั่นใจได้ว่านัดหมายการขนส่งสินค้าจะต้องเป็นไปตามเดิมหรือใกล้เคียงที่สุด เพราะหากไม่เป็นไปตามที่คาดนั่นหมายถึงต้นทุนความเสียหายที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการ ซึ่งท่าเรือใกล้เคียงที่จะต้องรองรับการเปลี่ยนเส้นทางครั้งนี้ ได้แก่ ท่าเรือเมือง Norfolk, ท่าเรือเมือง New York และท่าเรือเมือง New Jersey เป็นต้น ซึ่งก็อาจทำให้ท่าเรือบางส่วนในชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ มีการจราจรที่หนาแน่นขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่าต้นทุนการขนส่งและต้นทุนทางเวลาจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมายังไม่นับรวมถึงการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางเรือผ่านช่องแคบสำคัญ ๆ ที่กำลังมีอุปสรรคในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ คลองปานามา คลองสุเอช และทะเลแดง เป็นต้น
แม้จะดูเหมือนว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบเกิดขึ้นมากมายจากเหตุการณ์ครั้งนี้ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งเรือสินค้าที่ท่าเรือเมืองบัลติมอร์ แต่คุณ Porcari ได้แสดงข้อคิดว่าความเปลี่ยนแปลงในระบบทั้งหมดจะเป็นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งระยะของชั่วคราวในครั้งนี้อาจหมายถึงเวลาหนึ่งเดือนถึงหกเดือนจากวันนี้ หรืออาจนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จะใช้ในการเก็บกู้ซากเรือ และระยะเวลาจนกว่าจะมีการออกแบบและสร้างสะพานเดิมขึ้นมาใหม่จนเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งเขามั่นใจว่าจะไม่มีการเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นอุโมงอย่างแน่นอน จากการที่ที่ผ่านมานั้นสะพานเส้นนี้เป็นเส้นทางที่ใช้บรรทุกสินค้าที่ประกอบด้วยวัตถุอันตรายที่ไม่สามารถใช้เส้นทางอุโมงได้ โดยความมั่นใจว่าจะไม่มีผลต่อการใช้งานท่าเรือเมืองบัลติมอร์ในระยะยาวนั้น มาจากปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์ของที่ตั้งท่าเรือเมืองบัลติมอร์เองซึ่งมีระยะทางขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมรถยนต์ไปภูมิภาค Midwest ที่ประหยัดระยะทางเมื่อเปรียบกับท่าเรือในชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ด้วยกันหลายร้อยไมล์ ทำให้เป็นที่นิยมและเป็นที่มาของการใช้ท่าเรือเมืองบัลติมอร์เป็นหลักในการขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมดังกล่าว และปัจจัยความเชี่ยวชาญของบุคลากรในพื้นที่ที่ทำงานกับท่าเรือที่ต้องรับมือกับสินค้าเหล่านั้นมาจนเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี
ในส่วนของการแก้ไขสถานการณ์ปัจจุบัน คุณ Porcari ได้ให้ข้อมูลว่า ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพียง 24 – 48 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ทำการเปิดช่องทางเดินเรือชั่วคราวสำหรับการเข้า-ออกเรือขนส่งสินค้าของท่าเรือเมืองบัลติมอร์ ซึ่งแม้จะเป็นความพยายามในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแต่เรือที่ได้รับอนุญาตินั้นจะต้องมีความลึกไม่เกิน 11 ฟุต จากเดิมที่เคยรับเรือขนาดความลึกได้ถึง 50 ฟุต เนื่องจากช่องทางเดินเรือชั่วคราวที่ว่านั้นเป็นการเปิดช่องทางด้านริมของสะพานซึ่งมีระดับน้ำลึกที่ตื้นกว่าระดับน้ำบริเวณกลางสะพานเดิม ซึ่งนั่นหมายถึงการขนส่งสินค้าที่มีข้อจำกัดและความท้าทายเพิ่มขึ้น และกำลังมีแผนในการเปิดช่องทางเดินเรือชั่วคราวแห่งที่สองซึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย สำหรับแผนการจัดการในอนาคต คุณ Porcari ได้แสดงความคิดเห็นว่าการออกแบบการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่นั้นจะต้องให้ความสำคัญกับความแข็งแรงที่เพิ่มขึ้น และจะต้องพิจารณาความกว้างของพื้นที่ที่เรือจะลอดผ่านวัดจากผิวน้ำถึงยอดเสาเรือ (Air Draft) บริเวณท้องสะพานที่สูงขึ้น เพื่อรองรับกับเรือที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องทางเทคนิควิศวกรรมซึ่งในยุคที่มีการก่อสร้างสะพานที่เสียหายไปนั้น (ช่วงปี 1970) ยังไม่มีการคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้เท่าที่ควร
บทวิเคราะห์และข้อเสนอแนะ:
ตามข้อมูลที่ได้กล่าวไปในข้างต้นนั้น สามารถสรุปผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในภาพรวมได้ว่าการขนส่งสินค้าทางเรือและทางบกในฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ จะมีความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ราคาต้นทุนในการขนส่งสินค้าสูงขึ้น อันเนื่องมาจากเส้นทางการส่งของนั้นเปลี่ยนไปและไกลขึ้นกว่าเดิมพอสมควร อีกทั้งระยะเวลาในการส่งสินค้าก็จะยืดยาวเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งในส่วนนี้หากพิจารณาในมุมของห่วงโซ่อุปทานที่ระบบในกระบวนการทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกัน ย่อมส่งผลถึงการวางแผนในการขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการไทยที่มีการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ที่ต้องอาศัยเส้นทางขนส่งไปยังชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ อาจจะต้องคิดเผื่อถึงผลกระทบระยะสั้นที่อาจเกิดจากการย้ายท่าขนส่งสินค้าไปลงที่ท่าเรืออื่นทางตอนเหนือของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลต่อปริมาณเรือขนสินค้าที่รอการเข้าเทียบท่าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มสินค้าชิ้นส่วนรถยนต์และเครื่องจักรอุตสาหกรรม ซึ่งเดิมทีอาศัยท่าเรือบัลติมอร์เป็นหลักนั้น อาจจะต้องเผื่อเวลา มีแผนสำรอง และการรองรับภาระต้นทุนที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นอันเกิดจากความล่าช้าในการขึ้นท่าเรือและการขนถ่ายสินค้าอย่างแน่นอนในระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน หรือมากกว่านั้นเพื่อประโยชน์ในการควบคุมต้นทุนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ
ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/168556
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!