CEO ARTICLE

บุ้ง เนติพร

Published on May 21, 2024


Follow Us :

    

ใครควรรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของบุ้ง ?

น.ส. เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง เสียชีวิตในวันอังคารที่ 14 พ.ค. 2567 ในอายุเพียง 28 ปี เป็นข่าวที่สร้างความตกใจต่อสังคมอย่างมาก
หลายคนชื่นชม หลายคนไม่ชอบพฤติกรรม แต่คนส่วนใหญ่ตกใจ และสงสารบุ้ง
บุ้งเป็นนักกิจกรรมที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยตามความเชื่อของตน ลำพังบุ้งคนเดียวทำไม่ได้มากขนาดนี้ ยิ่งข้อมูลมาก ๆ ลึก ๆ ไม่ว่าจริงหรือเท็จที่บุ้งสื่อออกมาต้องมีกลุ่มคนป้อนให้
กลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังย่อมได้ผลประโยชน์ แต่ไม่ออกหน้าเพราะรู้ดีว่าเป็นความผิด
การเรียกร้องรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าบุ้งจะคิดเอง หรือผ่านการยุยงก็ตามทำให้บุ้งถูกจับ มีความขัดแย้ง มีการต่อสู้ และเป็นประโยชน์ต่อคนที่อยากเปลี่ยนแปลง
บุ้งจึงเป็นเพียงเหยื่อ ถูกจับ และได้ประกันตัวตามคำสั่งศาลถึง 2 ครั้ง เหตุผลที่ได้ประกันตัวเพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่ต้องเป็นอำนาจศาลที่จะพิจารณา และต้องมีเงื่อนไขให้บุ้งปฏิบัติ
ในขั้นนี้ บุ้งยังเป็นเพียงผู้ต้องหา ยังบริสุทธ์ และยังมีโอกาสต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม
แต่ทุกครั้งที่ได้รับการประกันตัว บุ้งก็ทำผิดเงื่อนไข และฝ่าฝืนอำนาจศาล เมื่อรวมกับกรณีของคนในกลุ่มบุ้งจำนวนหนึ่งทำผิดลักษณะคล้ายกัน ได้รับประกันตัวเหมือนกัน แต่หนีประกันออกนอกประเทศไปนับสิบคน และพฤติกรรมของบุ้งที่จงใจฝ่าฝืนเรื่อยมา บุ้งจึงถูกถอนการประกัน
ตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2567 บุ้งกลับมาถูกขังเพื่อรอสู้คดี ส่วนคนอื่นที่ได้ประกันตัว ไม่ทำผิดเงื่อนไข และไม่ถูกขังก็มีมาก ทนายของบุ้งพยายามยื่นขอประกันอีกหลายครั้ง แต่ทุกครั้งก็ไม่มีเหตุที่ทำให้ศาลเชื่อว่า บุ้งจะไม่ทำผิดเงื่อนไข และจะไม่ระเมิดอำนาจศาลอีก
ศาลจึงยกคำร้องเรื่อยมา และบุ้งประท้วงด้วยการอดอาหาร
บุ้งถูกกุมขัง อยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบเช่นเดียวกับคุณทักษิณ ชินวัตรที่ถูกกุมขังในฐานะนักโทษตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. 2566 แต่กลับได้รับการปฏิบัติที่ต่างกันราวฟ้ากับดินทั้ง ๆ ที่เป็นหน่วยงานรัฐบาลเดียวกันตามที่เป็นข่าว
คำถามตัวโต ๆ คือ หน่วยงานของรัฐรู้หรือไม่ว่า บุ้งอดอาหารประท้วง
คำตอบคือ รู้ยิ่งกว่ารู้ ข่าวออกทั่วบ้านทั่วเมือง หากจะถามตัวโต ๆ อีกว่า หน่วยงานของรัฐได้ข่าวซุบซิบหรือไม่ว่า บุ้งไม่ได้อดอาหารจริงเพราะอยู่ได้หลายเดือน
คำตอบก็เหมือนเดิมคือ รู้ยิ่งกว่ารู้ ข่าวซุบซิบมีไปทั่ว แต่หน่วยงานของรัฐก็ไม่ทำความจริงให้ปรากฎ บุ้งอาจอดอาหารจริงจัง อาจอยู่ในอันตรายมาก และในที่สุดบุ้งก็เสียชีวิต
ไม่ว่ากรมราชทัณฑ์จะเสียใจอย่างไร จะอธิบายให้น่ารับฟังอย่างไรก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบการเสียชีวิตที่ผิดธรรมชาติของบุ้งที่มีฐานะเพียงผู้ต้องหาในครั้งนี้ได้

กรมราชทัณฑ์ขึ้นอยู่กับกระทรวงยุติธรรม ขึ้นอยู่กับรัฐบาล และขึ้นอยู่กับนักการเมืองที่ได้อำนาจจากการเลือกตั้งของประชาชนให้มากำกับดูแลทุกหน่วยราชการ
นักการเมืองที่ได้อำนาจมาจะทำอย่างไรก็ได้ แต่ต้องทำด้วยความถูกต้องเพื่อประชาชน
เมื่อบุ้งเสียชีวิตก็มีข่าวเกี่ยวกับหนังสือที่บุ้งเขียนถึงนักการเมืองมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2567 เนื้อหาย่อ ๆ ว่า “บุ้งอดอาหาร เอาชีวิตเข้าแลก นักการเมืองกลับกลอก คล้ายปรสิตที่น่ารังเกียจ ไม่รักษาคำพูด ไม่ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งที่รับปากไว้”
ข้อความเต็มอ่านได้ที่ https://www.thairath.co.th/news/politic/2771377
บุ้งอดอาหาร ประท้วงนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง หากรัฐบาลมาจากการรัฐประหาร ไม่ดูแล ไม่ช่วยเหลือ และไม่ปฏิรูปกระบวนการต่าง ๆ ให้ดีขึ้นก็พอเข้าใจได้
แต่นี่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ว่าจะได้คะแนนเสียงลำดับ 1 หรือ 2 หรือเท่าไรก็ตาม การดูแลประชาชนในระบอบประชาธิปไตยต้องมาจากนักการเมือง
ส่วนการเรียกร้องจะถูกหรือผิด จะมีหลักการ มีเหตุผลอะไร รัฐบาลก็ต้องทำให้ชัดเจน
แต่เพราะสังคมไทยมีความแตกแยกมานาน นักการเมืองได้อำนาจจากความแตกแยก การดูแลประชาชนพวกเดียวกันจึงแตกแยกและแตกต่างกัน คนที่เป็นเพียงผู้ต้องหากับอีกคนที่เป็นถึงนักโทษจึงได้รับการปฏิบัติจากหน่ายงานของรัฐที่ต่างกันราวฟ้ากับดินอย่างที่เห็น
คำถามที่ว่า ใครควรรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของบุ้ง ?
คำตอบจึงไม่ใช่แต่เพียงกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม รัฐบาล และนักการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชาชนที่เลือกนักการเมืองบนความแตกแยก เลือกบนความสะใจ เลือกอย่างหลงเพ้อ หลงฝัน หลงผลประโยชน์ที่จะได้ เลือกอย่างขาดความรู้ ขาดความเข้าใจจนได้คนไม่จริงใจที่มีแต่ผลประโยชน์ทับซ้อนให้พวกเดียวกัน และเลือกจนบุ้งได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างเช่นนี้
ประชาชนที่แตกแยกจึงควรร่วมรับผิดชอบ และหากประชาชนยังแตกแยกไม่จบสิ้น สังคมไทยก็คงหนีไม่พ้นนักการเมืองแบบนี้ และได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันราวฟ้ากับดินแบบนี้ต่อไป
คณะผู้จัดทำบทความนี้ขอร่วมไว้อาลัยต่อการจากไปของบุ้ง ขอให้บุ้งไปสู่ภพภูมิที่ดีกว่านี้ และขอให้สังคมมีสติ เลือกนักการเมืองด้วยหลักการและเหตุผลเพื่อมิให้ใครต้องเสียชีวิตอีกต่อไป.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
for Home and Health,
please visit https://www.inno-home.com

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : May 21, 2024

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

สหรัฐฯ เพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจีนหลายรายการ

สหรัฐฯ และจีนเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกที่เป็นไม้เบื่อไม้เมา กันทางการค้าระหว่างประเทศมาโดยตลอดในช่วงกว่า 5 ปีที่ผ่านมา โดยต่างฝ่ายต่างดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าไปมาระหว่างกันอยู่ตลอด

ล่าสุดประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้ประกาศแผนที่จะเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ได้แก่ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า แบตเตอรี เซลล์ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ เหล็กกล้า อะลูมิเนียม อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสินค้าอื่น ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้ทางการค้าจีนและรักษาความมั่นคงของประเทศ (National Security) นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังมองว่า นโยบายดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นการหวังผลทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาลที่ต้องการจะแสดงให้ชาวอเมริกันเห็นว่า พรรคเดโมเครตมีนโยบายทางการค้าระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญในการปกป้องผลประโยชน์ของชาวอเมริกัน ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้

ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันจะมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตในจีนจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ ไม่มากนักแต่ก็เริ่มมีความกังวลในตลาดว่า รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจากจีนที่มีความเป็นไปได้ว่าจะได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลจีนมีราคาจำหน่ายในตลาดต่ำเริ่มต้นเพียง 12,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคัน จะไหลทะลักเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ในอนาคต

ภายใต้รัฐบัญญัติการค้าสหรัฐฯ ปี 2517 มาตรา 301 ให้อำนาจรัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินมาตรการตอบโต้การค้าที่ไม่เป็นธรรมหรือละเมิดมาตรฐานสากลได้ ดังนั้น สหรัฐฯ จึงพิจารณาเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนภายในปีนี้ ดังนี้

– เหล็กกล้าและอะลูมิเนียมจากระหว่าง 0 – ร้อยละ 7.5 เป็นร้อยละ 25
– รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจากร้อยละ 27.5 เป็นร้อยละ 100
– แบตเตอรีพลังงานไอออนลิเธียมสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและชิ้นส่วนแบตเตอรีจากร้อยละ 7.5 เป็นร้อยละ 25 (ส่วนแบตเตอรีสำหรับรถยนต์ทั่วไปจะปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.5 เป็นร้อยละ 25 ภายในปี 2569)
– เซลล์พลังงานจากแสงอาทิตย์จากอัตราร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 50
– เครนยกตู้สินค้า (Ship-to-Shor Cranes) จากไม่เรียกเก็บภาษี เป็นร้อยละ 25
– วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์จากไม่เรียกเก็บภาษี เป็นร้อยละ 50
– ส่วนชิ้นส่วนกึ่งตัวนำไฟฟ้าจะเพิ่มจากร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 50 ภายในปี 2568

อย่างไรก็ตาม คาดว่านโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนเป็นมูลค่าทั้งสิ้นเพียงราว 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไม่น่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาวะเงินเฟ้อที่สหรัฐฯ ยังกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ ปัจจัยด้านภาวการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจจีนจากที่เคยขยายตัวสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกชะลอตัวลงไปมาก ผู้ผลิตในจีนมีกำลังการผลิต (Capacity) เหลือ จึงทำให้สามารถผลิตสินค้าราคาถูกออกสู่ตลาดโลกได้จำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในสหรัฐฯ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาด

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนกังวลว่า การดำเนินนโยบายดังกล่าวอาจจะเป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคเศรษฐกิจพลังงานสะอาดที่รัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งเป้าไว้ในอนาคตได้

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

การดำเนินนโยบายเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนหลายรายการของสหรัฐฯ ในครั้งนี้จะส่งผลทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้านำเข้าจากจีนในตลาดสหรัฐฯ ลดลง และน่าจะส่งผลทำให้ผู้ประกอบการในตลาดเริ่มหันไปแสวงหาสินค้านำเข้าจากแหล่งผลิตประเทศอื่น โดยเฉพาะในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งต้นทุนแรงงานต่ำกว่าในสหรัฐฯ มาก ดังนั้น จึงน่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปยังตลาดสหรัฐด้วย

โดยกลุ่มสินค้าไทยที่น่าจะมีศักยภาพในตลาดสหรัฐฯ ได้แก่ ชิ้นส่วนกึ่งตัวนำไฟฟ้า เซลล์ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ เหล็กกล้า และอะลูมิเนียม ซึ่งในปี 2566 ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปยังตลาดสหรัฐฯ เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1.13 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 56.56 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายดังกล่าวของสหรัฐฯ ยังน่าจะเป็นโอกาสในการดึงดูดการลงทุนในกลุ่มผู้ประกอบการต่างชาติให้ขยายฐานการผลิตสินค้าไปตั้งกิจการในประเทศไทยอีกด้วย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้ากลุ่มชิ้นส่วนกึ่งตัวนำไฟฟ้า แบตเตอรีรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมถึงสินค้าในกลุ่มพลังงานสะอาดที่กำลังได้รับความสนใจและเป็นกระแสในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยจะมีมูลค่าการส่งออกเซลล์ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ในตลาดสหรัฐฯ สูง แต่การที่สหรัฐฯ พิจารณาว่า ผู้ประกอบการไทยหลีกเลี่ยงภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไทยเพิ่ม โดยจะเริ่มเรียกเก็บอีกครั้งในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ภายหลังจากที่คำสั่งระงับชั่วคราวสิ้นสุดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้สินค้าไทยที่มีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ ถึงกว่าร้อยละ 22.23 สูญเสียความสามารถในการแข่งขันและสูญเสียส่วนแบ่งตลาดได้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะเร่งหาแนวทางในการปรับตัวและแก้ไขปัญหาเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยในระยะยาวต่อไป

รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถรับชมได้ทางช่องทางพอดแคส “เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก https://youtu.be/4395I8xUk5U
******************************

ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/172089

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.