CEO ARTICLE
ศาลปกครอง
ทำไมต้องเป็นศาลปกครองที่สั่งเพิกถอนระเบียบ กกต. ?
กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) เป็นหน่วยงานจัดให้มีการเลือกตั้งทุกประเภท
ในปี 2567 กกต. กำลังจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ว. (สมาชิกวุฒิสภา) และได้กำหนดระเบียบมากมาย แต่มีระเบียบ 3 ข้อที่ผู้สมัคร ส.ว. ท่านหนึ่งไม่เห็นด้วย สรุปย่อ ๆ คือ
1. ผู้สมัครเขียนแนะนำตัวได้ไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ A 4
2. ผู้สมัครแนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ตามรูปแบบและข้อความที่กำหนด
3. ห้ามผู้สมัครศิลปิน-สื่อใช้ความสามารถเอื้อประโยชน์แนะนำตัว
ผู้สมัครท่านนี้จึงไปร้องต่อศาลปกครอง และในวันศุกร์ที่ 24 พ.ค. 2567 ศาลปกครองก็มีคำสั่งให้เบิกถอนระเบียบของ กกต. ทั้ง 3 ข้อด้วยเหตุผลสั้น ๆ คือ ขัดต่อเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ รายละเอียดต่าง ๆ สามารถหาอ่านได้ตามข่าวทั่วไป
ทำไมผู้ร้องต้องไปร้องที่ศาลปกครอง ?
ทำไมไม่ไปร้องที่ศาลแพ่ง ศาลอาญา หรือศาลรัฐธรรมนูญ ?
“ศาลปกครอง” ชื่อนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในปัจจุบัน
เมื่อมีคำว่า “ปกครอง” ย่อมหมายถึงการมี 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ปกครองที่มีศักดิ์ มีสิทธิ มีอำนาจเหนือกว่า มีหน้าที่ออกคำสั่งหรือระเบียบตามที่กฎหมายบัญญัติ และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ถูกปกครองที่มีศักดิ์ต่ำกว่า เป็นผู้ถูกสั่ง และเป็นผู้ที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือระเบียบ
หน่วยงานปกครอง เช่น กำนัน ตำรวจ เจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
ในอดีต เมื่อผู้ถูกปกครองไม่ชอบใจคำสั่งหรือระเบียบ การคัดค้านต่อสู้มักลำบาก ตัวอย่างเช่น เถ้าแก่ขายของหน้าร้านมานาน วันหนึ่งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าก็เอาเสาไฟฟ้ามาปักหน้าร้าน เดินสายไฟฟ้าระโยงระยางเกะกะหน้าร้านจนกระทบต่อการค้าของเถ้าแก่
ในมุมกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมมีอำนาจและมีหน้าที่ที่ทำได้ในขอบเขตของตน
แต่ในมุมของเถ้าแก่ย่อมเสียหาย หากเถ้าแก่จะคัดค้านก็ต้องจ้างทนายไปร้องศาลยุติธรรมในระบบกล่าวหา เถ้าแก่เป็นโจทย์ฟ้องให้รื้อถอน แต่ต้องนำพยานหลักฐานมาแสดงในศาล
ส่วนการไฟฟ้าเป็นจำเลย เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ต้องนำพยานหลักฐานที่แสดงว่าตนมีอำนาจอย่างไร การออกคำสั่งหรือระเบียบชอบด้วยกฎหมายอย่างไรมาแสดงในศาลเช่นกัน
ระบบกล่าวหาทำให้ศาลต้องวางตัวเป็นกลาง จะถาม จะแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มไม่ได้ ยึดหลักนิติศาสตร์ พยานหลักฐานที่ทนายฝ่ายโจทย์และจำเลยนำมาแสดงแค่ไหนก็แค่นั้น
หากพยานหลักฐานน่ารับฟังทั้ง 2 ฝ่าย ศาลก็ต้องเลือกตัดสินลงไปซึ่งอาจถูกใจ หรือไม่ถูกใจฝ่ายใดก็ได้ และศาลมีกฎหมายคุ้มครองห้ามวิจารณ์ แต่ฝ่ายแพ้จะอุทธรณ์ หรือฎีกาสู้ต่อก็ได้ ระบบกล่าวหาจึงมีศาลให้สู้กันถึง 3 ศาล ใช้เวลาหลายปีกว่าจะสู้กันจนยุติ
ขณะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐก็มีกฎหมายและอำนาจในมือ เมื่อฟ้องร้องกันคราใด ประชาชนจะแพ้เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่เจ้าหน้าที่ออกคำสั่งหรือระเบียบโดยมิชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดเจน
สิ่งเหล่านี้จึงเป็นจุดอ่อนของระบบกล่าวหาที่ศาลยุติธรรมได้แต่รับฟังอย่างเดียว
ในที่สุดก็เกิดศาลปกครองขึ้นตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมาให้ทำหน้าที่ตัดสินข้อพิพาททางปกครองระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับบุคคลทั่วไปโดยไม่ใช้ระบบกล่าวหา แต่ใช้ระบบไต่สวน ให้ศาลปกครองมีอำนาจสอบถาม และไต่สวนเพื่อแสวงหาความจริงให้สิ้นข้อสงสัย
ศาลปกครองจึงไม่ดูกฎหมายด้านเดียว แต่ดูความเป็นจริงด้านเถ้าแก่ประกอบ การตัดสินจึงวิจารณ์โดยสุจริตได้ ไม่มีกฎหมายพิเศษคุ้มครองศาล จะมีก็แต่เพียงการหมิ่นประมาทเท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น ศาลปกครองมีแค่ 2 ศาลคือ ศาลปกครองชั้นต้น และศาลปกครองสูงสุดเพื่อการอุทธรณ์ที่อาจมี และทำให้ข้อพิพาทยุติได้เร็วเช่นกรณีทีี่ผู้สมัคร ส.ว. ร้องคัดค้าน 3 ข้อในครั้งนี้
การที่ผู้สมัคร ส.ว. ไม่เห็นด้วยกับระเบียบของ กกต. ในฐานะผู้ปกครอง และไปร้องคัดค้านต่อศาลปกครองจึงเป็นการใช้ช่องทางที่ถูกต้องตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ
ขณะที่ศาลแพ่งและศาลอาญาก็คือศาลยุติธรรมในระบบกล่าวหา ส่วนศาลรัฐธรรมนูญก็มีที่มาพร้อมกับศาลปกครองในปี พ.ศ. 2540 ใช้ระบบไต่สวนเหมือนกัน แต่ใช้ตัดสินความขัดแย้งเกี่ยวกับการใช้รัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่ช่องทางตัดสินในทางปกครอง
หากผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้ประกอบการทั่วไปได้รับผลกระทบจากคำสั่งหรือระเบียบของหน่วยงานของรัฐก็ย่อมใช้ช่องทางศาลปกครองให้วินิจฉัยได้เช่นเดียวกับ ส.ว. ท่านนี้
ศาลปกครองมีหน้าที่ตัดสินเพียงว่า คำสั่งหรือระเบียบทางปกครองที่ออกมานั้นชอบ หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดหรือไม่ขัดต่อหลักกฎหมายเท่านั้น ไม่มีคำว่าถูก หรือผิดแต่อย่างใด
แต่หากมีความเสียหายเกิดขึ้นจากคำสั่งหรือระเบียบทางปกครอง ผู้เสียหายก็สามารถนำคำตัดสินของศาลปกครองไปฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้อีกต่อหนึ่ง.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
for Home and Health,
please visit https://www.inno-home.com
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : May 28, 2024
Logistics
“สนามบินฮาหมัด” กาตาร์ คว้าแชมป์สนามบินดีที่สุดในโลกปี 67 ส่วนสุวรรณภูมิของไทย ติดอันดับ 58
“สนามบินฮาหมัด” ประเทศกาตาร์ คว้าอันดับ 1 สนามบินที่สุดในโลกอีกครั้ง ในปี 2567 จาก Skytrax ด้านสนามบินชางฮี สิงคโปร์ แชมป์เก่าปีที่แล้วปีนี้มาอันดับ 2 ขณะที่สุวรรณภูมิของไทยติดอันดับ 58 ส่วนสนามบินดอนเมืองติดอันดับ 10 สนามบินสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำดีที่สุดในโลก
“สกายแทร็กซ์” (Skytrax) บริษัทจัดอันดับสายการบินและสนามบินทั่วโลก ประกาศรางวัลสนามบินที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2567 (Skytrax World Airport Awards 2024) จากการประเมินของนักเดินทางทั่วโลก โดยพิจารณาจากเกณฑ์ประสิทธิภาพหลักของสนามบิน จากรายชื่อสนามบินที่ส่งเข้าท้างชิงทั่วโลกกว่า 500 แห่ง โดยปีนี้จัดขึ้นที่ Passenger Terminal Expo 2024 ในเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี
ผลรางวัลสนามบินที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2567 (World’s Best Airports of 2024) อันดับ 1 ได้แก่ “ท่าอากาศยานนานาชาติฮาหมัด” (Hamad International Airport) กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ซึ่งปีนี้แซงสนามบินชางฮี ประเทศสิงคโปร์ แชมป์เก่าปีที่แล้ว ขึ้นมาครองอันดับ 1 อีกครั้ง ส่งผลให้สนามบินฮาหมัด สามารถคว้ารางวัลสนามบินที่ดีที่สุดในโลก มาครองได้ถึง 3 ครั้งในรอบ 4 ปี คือ ปี 2564 ปี 2565 และปี 2567 (ปี 2566 คว้าอันดับ 2)
นอกจากนี้ในปีนี้ (2567) สนามบินฮาหมัด ยังคว้าตำแหน่ง “แหล่งช้อปปิ้งสนามบินที่ดีที่สุดในโลก” เป็นปีที่ 2 และ “สนามบินที่ดีที่สุดในตะวันออกกลาง” เป็นปีที่ 10 ติดต่อกัน
วิศวกร บาดร์ โมฮัมเหม็ด อัล-เมียร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส ผู้นำการพัฒนาและการเติบโตของท่าอากาศยานนานาชาติฮาหมัดในทศวรรษที่ผ่านมา กล่าวว่า “ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของท่าอากาศยานนานาชาติฮาหมัด ที่เราได้ฉลองครบรอบ 10 ปีของความเป็นเลิศในการบริการ การเชื่อมต่อผู้โดยสารจากทั่วทุกมุมโลกได้อย่างราบรื่น ซึ่งสะท้อนถึงความทุ่มเทของทีมงานและพันธมิตรของเราที่มีส่วนช่วยให้ผู้โดยสารมีประสบการณ์การเดินทางที่ดีเยี่ยม การลงทุนอย่างต่อเนื่องในการอำนวยความสะดวกและการเปิดตัวนวัตกรรมด้านร้านค้าและบริการ ภายในอาคารผู้โดยสารพื้นที่กว้างขวางที่ได้ช่วยให้พวกเราทุกคนได้บรรลุความสำเร็จนี้อย่างไร้สมบูรณ์แบบ”
วิศวกร บาดร์ โมฮัมเหม็ด อัล-เมียร์ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการตอบสนองต่อความต้องการและแนวโน้มการเดินทางของผู้โดยสารที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเสมอ โดยได้กล่าวเสริมว่า “ผู้โดยสารเป็นจุดศูนย์กลางของกลยุทธ์การพัฒนาของเรา และเรายังคงมุ่งมั่นให้บริการเกินความคาดหวังของพวกเขาอยู่เสมอ เราได้นำเสนอประสบการณ์ที่หลากหลายภายในสนามบิน เช่น ‘Souq Al Matar’ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผสมผสานระหว่างร้านค้าปลีกและร้านอาหาร มอบบรรยากาศที่สะท้อนวัฒนธรรมของกาตาร์ได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมี ‘Orchard’ ซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนที่เหมาะสำหรับการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจระหว่างเที่ยวบิน รวมถึงห้องรับรองระดับหรูอีกหลายแห่ง เรามุ่งมั่นในการผลักดันขอบเขตของอุตสาหกรรมเพื่อรักษาตำแหน่งของเราในฐานะสนามบินชั้นนำของโลก”
ท่าอากาศยานนานาชาติฮาหมัดประสบความสำเร็จครั้งสำคัญในปี 2566 ด้วยการต้อนรับผู้โดยสารมากกว่า 45 ล้านคน เพิ่มขึ้นอย่างน่าทึ่ง 31% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งแซงหน้าช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ สนามบินยังได้ต้อนรับสายการบินพันธมิตรใหม่ ๆ เพื่อขยายบริการไปยังจุดหมายปลายทางกว่า 250 แห่ง รวมถึงเที่ยวบินโดยสาร เที่ยวบินขนส่งสินค้าและเที่ยวบินเช่าเหมาลำ
ในขณะที่ท่าอากาศยานนานาชาติฮาหมัดกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ของการดำเนินงานในปี 2567 ซึ่งคาดว่าจะเป็นอีกปีที่มีความคึกคักและสดใส สนามบินได้เตรียมกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อรองรับนักเดินทางจากทุกภูมิภาค รวมถึงการต้อนรับพันธมิตรสายการบินรายใหม่ การยกระดับการเชื่อมต่อ และการสนับสนุนความพยายามของกาตาร์ในการจัดงานกิจกรรมระดับโลกมากมาย ท่าอากาศยานนานาชาติฮาหมัดมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามวิสัยทัศน์แห่งชาติกาตาร์ปี 2573 โดยมีเป้าหมายในการยกระดับความยั่งยืนผ่านการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ และการบุกเบิกความคิดริเริ่มที่จะนำพาอุตสาหกรรมการบินไปสู่ความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
สำหรับ 10 อันดับสนามบินที่ได้รับรางวัลสนามบินที่ดีที่สุดประจำปี 2567 จากการจัดอันดับของสกายแทร็กซ์ มีดังนี้ (ในวงเล็บคืออันดับเมื่อปีที่แล้ว)
1.สนามบินฮาหมัด กาตาร์ (2)
2.สนามบินชางงี สิงคโปร์ (1)
3.สนามบินอินชอน เกาหลีใต้ (4)
4.สนามบินฮาเนดะ ญี่ปุ่น (3)
5.สนามบินนาริตะ ญี่ปุ่น (9)
6.สนามบินปารีส ชาร์ล เดอ โกล ฝรั่งเศส (5)
7.สนามบินดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (17)
8.สนามบินมิวนิก เยอรมนี (7)
9.สนามบินซูริค สวิตเซอร์แลนด์ (8)
10.สนามบินอิสตันบูล ตุรกี (6)
ด้านสนามบินสุวรรณภูมิของไทย ปีนี้ติดอันดับ 58 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก (ปีที่แล้วอันดับ 68) ทั้งนี้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) ได้ตั้งเป้าหมายผลักดันท่าอากาศยานของไทยให้ติดอันดับ 1 ใน 50 สนามบินที่ดีที่สุดในโลกภายใน 1 ปี และติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลกภายใน 5 ปี
ส่วนสนามบินดอนเมือง ติดอันดับ 10 ของสนามบินสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำที่ดีที่สุดในโลก (World’s Best Low-Cost Airline Terminals)
ที่มา: https://mgronline.com/travel/detail/9670000033719
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!