CEO ARTICLE
ความผิดนอกประเทศ
ทำไมความผิดที่ทำนอกประเทศไทยต้องรับโทษจากกฎหมายไทย ?
ทุกประเทศมีอธิปไตยและมีกฎหมายที่ต่างกันของตน
แนวคิดที่พอจะเข้าใจได้คือ ผู้ใดทำผิดกฎหมายในประเทศใดก็ควรได้รับโทษตามกฎหมายของประเทศนั้น เช่น ลักทรัพย์ในประเทศญี่ปุ่นก็ควรได้รับโทษตามกฎหมายญี่ปุ่น เป็นต้น
แต่กรณีคุณทักษิณ ชินวัตร ถูกอัยการสูงสุดตั้งข้อหาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกกลับทำให้แนวคิดดังกล่าวผิดไป เรื่องราวต่าง ๆ พอสรุปได้ดังนี้
เดือน พ.ค. 2558 คุณทักษิณให้สัมภาษณ์กับสื่่อในประเทศเกาหลีใต้ เนื้อหาเข้าข่ายความผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พรบ. คอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นกฎหมายของไทย
เดือน ก.พ. 2559 ตำรวจกองปราบด้านเทคโนโลยีพิจารณาแล้วเห็นว่าผิดจริงจึงทำสำนวนยื่นอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาทั้ง ๆ ที่คุณทักษิณไม่ได้พูดในประเทศไทย
เดือน ก.ย. 2559 อัยการสูงสุดเห็นด้วย มีคำสั่งฟ้อง แต่คุณทักษิณยังอยู่ต่างประเทศ
เดือน ส.ค. 2566 คุณทักษิณกลับประเทศไทย เมื่อกลับมาก็ถูกส่งเข้าเรือนจำด้วยคดีอื่นที่คดีสิ้นสุดแล้ว และมีอาการป่วยจึงถูกส่งเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลราว 6 เดือน
เดือน ม.ค. 2567 คุณทักษิณปฏิเสธข้อหาที่ทำผิดในประเทศเกาหลีใต้ ร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด และขอให้พิจารณาใหม่
วันที่ 29 พ.ค. 2567 ซึ่งเป็นวันนัดฟังคำสั่ง แต่คุณทักษิณไม่มา ให้ทนายแจ้งป่วยติดโควิด วันนั้นอัยการสูงสุดไม่รอ มีคำสั่งฟ้องทุกข้อกล่าวหา ให้มารายงานตัวใหม่เพื่อนำตัวขึ้นฟ้องต่อศาลในวันที่ 18 มิ.ย. 2567 ซึ่งศาลอาจให้ประกันตัวระหว่างสู้คดีหรือไม่ก็ได้
ข้อสรุปคือ คุณทักษิณถูกฟ้องในข้อหาที่ทำผิดนอกประเทศไทยจริง ๆ
ประเด็นที่ชวนสงสัยคือ ต่างประเทศมีกฎหมายไม่เหมือนไทย เมื่อทำผิดก็ควรใช้กฎหมายของประเทศนั้น ทำไมต้องใช้กฎหมายไทย และหากเป็นความผิดทางอาญา แบบนี้ ใครก็ควรฟ้องได้ แต่ทำไมต้องเป็นอัยการสูงสุดเป็นผู้ทำหน้าที่ฟ้อง ทำไม และทำไม ???
เมื่อเป็นความผิดทางอาญาก็ต้องมองไปที่กฎหมายอาญา
มาตรา 5 และ 6 เนื้อหาสรุปย่อ คือ “ความผิดใดกระทำนอกราชอาณาจักร หรือเล็งเห็นผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่า ตัวการ ผู้สนับสนุน ได้กระทำในราชอาณาจักร”
กฎหมายสรุปเบื้องต้นว่า ความผิดที่ทำนอกประเทศไทยให้ถือว่าได้กระทำในประเทศไทย ผู้ทำผิดจึงต้องได้รับโทษตามกฎหมายไทย
หากยึดเพียง 2 มาตรานี้ คนที่ไปทำผิดในต่างประเทศ เช่น ลักทรัพย์ และประเทศนั้นก็มีกฎหมายลักทรัพย์เช่นเดียวกับของไทย แบบนี้คนลักทรัพย์ถูกลงโทษในต่างประเทศแล้ว เมื่อกลับมาประเทศไทยก็ต้องถูกดำเนินคดีฐานลักทรัพย์ตามกฎหมายไทยซ้ำไปอีก จริงหรือไม่ ?
ข้อสงสัยนี้มาตรา 10 ให้คำตอบ เนื้อหาสรุปย่อ คือ “ห้ามมิให้ลงโทษผู้ทำผิดนอกราชอาณาจักรที่ได้ทำความผิดในประเภทต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ และผู้ทำผิดได้ถูกลงโทษในต่างประเทศแล้ว ได้พ้นโทษ หรือได้รับการปล่อยตัวแล้ว”
ข้อสรุปคือ หากถูกลงโทษในต่างประเทศแล้วจะไม่ถูกลงโทษซ้ำในประเทศไทยอีก
กรณีคุณทักษิณเป็นที่ชัดเจนว่าไม่ได้ถูกลงโทษในประเทศเกาหลีใต้ตามมาตรา 10 ข้างต้น เมื่อคุณทักษิณกลับมาประเทศไทยจึงเข้าข่ายมาตรา 5, 6, 10 ข้างต้น และมีมาตราอื่นประกอบ
กฎหมายอาญามีไว้เพื่อคุ้มครองความสงบสุขของประชาชน หรือคุ้มครองแผ่นดิน
หากประชาชน 1 คน ได้รับผลกระทบจากผู้อื่น เช่น ถูกลักทรัพย์ หรือถูกทำร้ายร่างกาย ประชาชน 1 คนก็มีสิทธิ์กล่าวโทษร้องทุกข์กับตำรวจ หรือฟ้องร้องต่อศาลโดยตรงได้
แต่หากประชาชนหลายคน สังคม หรือประเทศได้รับผลกระทบในภาพรวม เช่น การเผาป่า การทำลายสิ่งแวดล้อม ประชาชน 1 คนที่พบเห็นก็สามารถกล่าวโทษร้องทุกข์กับตำรวจได้
ในคดีอาญา ตำรวจจะทำหน้าที่จับกุม รวบรวมพยาน หลักฐานและให้ความเห็นต่ออัยการซึ่งทำหน้าที่ทนายของแผ่นดินเพื่อพิจารณา และฟ้องผู้ทำผิดต่อศาลแทนประชาชน
กรณีคุณทักษิณถูกกล่าวหาความผิดตามมาตรา 112 และ พรบ. คอมพิวเตอร์ เป็นความผิดที่กระทบต่อสังคม เป็นคดีอาญา แต่เนื่องจากกระทำในต่างประเทศที่ต้องให้ความละเอียดมากขึ้น หน้าที่พิจารณาฟ้องจึงไม่ใช่ใครก็ได้ แต่ต้องเป็นอัยการสูงสุดตามที่เป็นข่าว
ด้วยหลักการ เหตุผล และข้อกฎหมายข้างต้น คุณทักษิณที่ทำผิดในต่างประเทศ และกลับมาถูกฟ้องในประเทศไทยจึงเป็นการฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
แต่คุณทักษิณเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ มีเหลี่ยมคู ไม่เคยต่อสู้ในเกมที่เป็นรอง
ครั้งนี้จึงอาจมีดีลลับ มีดีลลวง มีดีลพราง ในชั้นศาลอาจได้ประกันตัวหรือไม่ได้ และภายหลังก็อาจไม่ผิดเลยก็ได้ ทั้งหมดเป็นกรณีศึกษาและบทเรียนที่ดีที่ประชาชนควรรู้ให้ลึกต่อไป.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
for Home and Health,
please visit https://www.inno-home.com
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : June 4, 2024
Logistics
การปรับตัวของเส้นทางการค้าจากเอเชียมายังยุโรปกลาง
สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นประเด็นที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเพิ่มมากขึ้น นอกจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2565 แล้ว ยังมีความขัดแย้งเกิดเป็นสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ส่งผลกระทบต่อทั้งราคาน้ำมัน การเคลื่อนย้ายแรงงาน ห่วงโซ่การผลิตสินค้าต่างๆ และอัตราเงินเฟ้อ อันส่งผลกระทบสําคัญต่อค่าครองชีพของประชากรในภูมิภาคยุโรป โดยส่วนใหญ่เป็นการขนส่งไฮโดรคาร์บอนและธัญพืชไปยังยุโรป
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 สํานักข่าว EU reporter รายงาน ว่า นาย Johan Gabriels ผู้อํานวยการระดับภูมิภาคยุโรปตะวันออกเฉียงใต้บริษัท iBanFirst (บริษัทบริการทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดบริษัทหนึ่งในยุโรป) ระบุว่าเส้นทางการขนส่งในทะเลแดงเชื่อมต่อกับคลองสุเอซ เป็นเส้นทางการค้าหลักระหว่างเอเชียกับยุโรป ครอบคลุมเส้นทางการค้าทางทะเลประมาณ 12% ของโลก กําลังประสบปัญหาอย่างมีนัยยะสําคัญ นอกจากนี้จากการประมาณการล่าสุดของสหประชาชาติระบุว่าปริมาณการจราจรเชิงพาณิชย์ที่ผ่านคลองสุเอซ ลดลงมากกว่า 40% โดยเฉพาะผลกระทบต่อการค้าไฮโดรคาร์บอน น้ํามันและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้ง สินค้าธัญพืชที่ประเทศในเอเชียมีศักยภาพที่ส่งไปยังประเทศในยุโรป อาทิประเทศในสหภาพยุโรป นําเข้าข้าวสาลีประมาณ 4.7% ที่ส่งสินค้าผ่านช่องแคบบับอัลมันดับ (Bab al-Mandab) ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างประเทศเยเมนในคาบสมุทรอาหรับ กับประเทศจิบูตีและประเทศเอริเทรียในแอฟริกาตะวันออก ซึ่งเป็นช่องแคบที่สําคัญต่อการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาด้วยการขนส่งทางทะเล ผ่านแหลม Good Hope จะมีความปลอดภัย แต่ก็เพิ่มระยะเวลาการขนส่งสินค้าเฉลี่ย 15 – 20 วัน อันเป็นปัจจัยสําคัญที่ทําให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม นาย Johan Gabriels อธิบายเพิ่มเติมว่า ประเทศต่างๆ ได้มีการปรับตัวในการค้าระหว่างประเทศที่แตกต่างกัน ทําให้ต้นทุนการค้าเริ่มลดลงกว่าช่วงความขัดแย้งแรกๆ แต่ก็ไม่สามารถรักษาราคาสินค้าได้เท่าเดิมก่อนเกิดสถานการณ์ ทั้งนี้บริษัท Drewry Composite ซึ่งเป็นบริษัททําการด้านวิจัยและบริการให้คําปรึกษาแก่อุตสาหกรรมการเดินเรือและการขนส่ง ระบุว่า ได้ติดตามราคาค่าระวางคอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต ที่ผ่านเส้นทางหลัก 8 เส้นทาง รวมถึง อัตราสปอตและอัตราสัญญาระยะสั้นลดลง 3% มาอยู่ที่ 2,836 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการลดลงตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ความเสี่ยงจากการปิดล้อมช่องแคบ Bab al-Mandab คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบให้อัตราเงินเฟ้อในยุโรปเพิ่มมากขึ้น แต่ความเสี่ยงหลัก คือความแออัดของท่าเรือ
ข้อคิดเห็นของ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
ความขัดแย้งและภาวะสงครามในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าสําคัญจากทวีปเอเชียมายังยุโรปจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ผู้ประกอบการไทยก็ยังจําเป็นต้องผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพ และอาจเจรจาต่อรองกับคู่ค้าถึงการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการขนส่ง ทั้งนี้ ผู้บริโภคในยุโรปแม้ว่าจะมีกลุ่มประชากรที่มีกําลังซื้อลดลงจากภาวะเงินเฟ้อ แต่ก็ยังมีกลุ่มประชากรที่ยังเน้นเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพมากกว่ามุ่งเน้นสินค้าราคาถูก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องติดตามแนวโน้มสินค้าในภูมิภาคยุโรปกลางที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหาร วัตถุดิบ เครื่องปรุง เป็นต้น
ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/172846
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!