CEO ARTICLE

สู้กับค่าเฟรทแพง

Published on June 25, 2024


Follow Us :

    

ในยุคค่าเฟรทแพงจะสู้อย่างไรให้ลดต่ำลง ?

ค่าเฟรททางเรือ (Sea Freight Charge) หรือค่าระวางเป็นต้นทุนขนส่งของผู้นำเข้าและผู้ส่งออก และเป็นต้นทุนสินค้าอุปโภคและบริโภคที่คนทั่วโลกต้องกิน ต้องใช้ และต้องจ่ายทุกวัน
ค่าเฟรทที่ต้องจ่ายแพงจึงส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของทุกประเทศ
ประเทศใดมีการค้ากับต่างประเทศและติดทะเล ประเทศนั้นต้องมีท่าเรือ (Sea Port) และมีความพยายามที่จะมีเรือขนส่งสินค้าของตนเองเพื่อให้มีอำนาจควบคุมค่าเฟรททางเรือ
ปี พ.ศ. 2483 ประเทศไทยจึงมี “บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด” เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม แต่เรือ 1 ลำต้องมีกัปตันเรือที่เชี่ยวชาญ มีลูกเรือ มีแผนการเดินเรือ มีการตลาด มีการขายเฟรท มีสาขามากในต่างประเทศ และมีการจัดการเพื่อให้เรือขนส่งมีกำไร
เรือ 1 ลำจึงใช้ทุนสูงมาก วุ่นวายมาก เสี่ยงต่อการขาดทุน และความล้มเหลว
เวลานั้น คนไทยไม่ชำนาญการเดินเรือ บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด จึงใช้วิธีการเช่าเรือต่างชาติ (Charter Term) เพื่อให้บริการขนส่ง แต่หาสินค้าลงเรือได้น้อย สุดท้ายไปไม่รอด ขณะที่เอกชนไทยก็มีสายการเดินเรือเช่นกัน แต่เป็นลักษณะหุ้นกับเอกชนต่างชาติ
อำนาจการกำหนดค่าระวางส่วนใหญ่จึงยังเป็นของต่างชาติ และอิงกระแสโลก
ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกของไทยจึงได้แต่มอง ได้แต่หวังค่าเฟรทแพงให้ลดลงบ้างทั้งที่ตนเองไม่มีอำนาจการต่อรองใด ๆ แม้ว่าเรือขนส่งจะเป็นของเอกชนไทยแบบ 100% ก็ตาม
แต่หากรัฐบาลจะลุกขึ้นมาเป็นเจ้าภาพโดยใช้วิธีการจัดการแบบเอกชนก็พอมีหวัง

เอกชนที่ให้บริการขนส่งทางเรือ ไม่มีเรือเป็นของตนเองจะใช้วิธีรวมตัวกับตัวแทนขนส่งในประเทศต่าง ๆ ที่ไม่มีเรือเหมือนกันเป็นกลุ่มเพื่อต่อรองกับสายการเดินเรือ (Shipping Line)
วิธีการคือ กลุ่มตัวแทนขนส่งจะเจรจากับสำนักงานใหญ่ของสายการเดินเรือหนึ่ง
สมมุติปีหนึ่งจะหาสินค้าลงเรือ 10,000 ตู้ขนาด 20 ฟุต หรือที่เรียกว่า TEU (Twenty Foot Equivalent Unit) วิ่งระหว่างไทยกับสหรัฐ และขอจ่ายค่าที่เฟรทในอัตราทั่วไป สมมุติ US$ 8,000 ต่อ TEU หากครบปีแล้วทุกตัวแทนทั่วโลกร่วมกันหาสินค้าได้ 10,000 TEU ครบตามสัญญา สายการเดินเรือต้องคืนเงินในลักษณะคอมมิชชั่น เช่น 3% เป็นเงิน US$ 240 ต่อ TEU
กลุ่มผู้ขนส่งที่ไม่มีเรือก็นำ US$ 240 ที่ได้คืนมาแบ่งกันในกลุ่มตามจำนวน TEU ที่แต่ละตัวแทนทำได้ สร้างกำไรเพิ่มตอนสิ้นปี และเป็นการลดต้นทุนค่าเฟรทที่ได้จ่ายไปตลอดปี
วิธีการเช่นนี้เป็นสิ่งที่เอกชนในธุรกิจขนส่งทางทะเลที่รวมตัวกันได้ทั่วโลกทำกัน
หากรัฐบาลไทยจะขึ้นมาเป็นเจ้าภาพ รวบรวมผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ให้บริการขนส่ง โลจิสติกส์ และสมาคมต่าง ๆ ของไทยไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ให้เป็นกลุ่มคนไทยก้อนใหญ่มาก ๆ ให้มีอำนาจต่อรอง และสร้างบุคคลชุดหนึ่งที่มีความรู้ มีความเข้าใจให้เป็นคณะเจรจา
รัฐบาลเพียงเชิญสายการเดินเรือสายหนึ่งที่เห็นว่าเหมาะสมมาเจรจาต่อรอง
คณะเจรจาต้องยื่นข้อเสนอด้านปริมาณที่จะรวมตัวกันขนส่งสินค้าผ่านสายการเดินเรือนั้น ให้มาก ๆ ทั้งนำเข้าและส่งออกกับประเทศหนึ่ง สมมุติปีหนึ่งรวบรวมได้ 100,000 TEU
เป้าหมาย 100,000 TEU จึงควรทำการบ้านมาก่อน มีหลักการที่น่าเชื่อถือได้ แล้วสายการเดินเรือไหนจะปฏิเสธ ได้สินค้าขนส่งมากขึ้น แต่ลดการตลาด ลดภาระการขาย และการจัดการ
หากครบปี และกลุ่มคนไทยทำได้ตามเป้าจริงก็ได้เงินคืน US$ 240 ต่อ TEU
แต่หากทำไม่ได้ สายการเดินเรือก็ได้สินค้ามากขึ้นและได้กำไรมากขึ้นไปแล้ว ไม่มีอะไรเสียหายเพราะได้รับค่าเฟรทในราคาแพงปกติไม่ว่าจะเป็นการเก็บต้นทาง (Freight Prepaid) หรือเก็บปลายทาง (Freight Collect)
ในทางปฏิบัติ คณะผู้เจรจาต้องทำสัญญา มีรหัสและเลขที่สัญญากับสายการเดินเรือ กลุ่มคนไทยที่จองเรือก็ต้องระบุรหัสและเลขที่สัญญา เมื่อสายการเดินเรือออกใบตราส่งสินค้า หรือ B/L (Bill of Lading) ที่ระบุรหัสและเลขที่สัญญาให้ตรงกันเพื่อให้ทุกฝ่ายเก็บและตรวจสอบทุกเดือน
เมื่อครบ 1 ปี และทำได้ตามสัญญา กลุ่มคนไทยก็นำ US$ 240 ต่อ TEU ที่ได้คืนมาแบ่งกัน เป็นการเพิ่มกำไร และลดต้นทุนค่าเฟรทที่แพง ไม่มีการเอาเปรียบ แต่เอาปริมาณมาต่อรอง
สมมุติผู้ส่งออกรายหนึ่งส่งสินค้าปีนั้นได้ 100 TEU สิ้นปีได้คืนรวม US$ 24,000 อาจมากหรือน้อยกว่า แต่ได้กำไรเพิ่มขึ้น ขณะผู้ให้บริการโลจิสติกส์ต่าง ๆ ก็ได้พัฒนาทักษะการจัดการโลจิสติกส์ให้ดีขึ้น ต้นทุนสินค้าอุปโภคและบริโภคในภาพรวมก็มีโอกาสลดลง
เมื่อมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มคนไทยก้อนใหญ่ก็เป็นโอกาสให้กองเรือไทยเกิดขึ้นใหม่ได้
ทุกอย่างเป็นไปได้โดยต้องมีแผนงาน ต้องใช้เวลา และรัฐบาลที่มีศักยภาพดีกว่าต้องเป็นผู้เริ่ม ต้องเป็นศูนย์กลาง และเป็นเจ้าภาพ ส่วนที่เหลือก็ปล่อยให้คณะผู้เจรจาเป็นผู้ดำเนินการ
การที่เอกชนจะสู้กับค่าเฟรทแพง รัฐบาลต้องปล่อยแสงให้มากในเรื่องนี้.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
for Home and Health,
please visit https://www.inno-home.com

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : June 25, 2024

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics



World Bank จัดอันดับท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์ ปี 2566 : ส่องท่าเรือแอฟริกาที่อยู่ใต้ทะเลทรายซาฮาร่า

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ธนาคารโลก (Worl Bank) ได้เผยแพร่รายงานดัชนีขีดความสามารถของท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์ ปี 2566 (Container Port Performance Index 2023 : A Comparable Assessment of Performance based on Vessel Time in Port) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารโลก กับ S&P Global Market Intelligence โดยปี 2566 มีเรือเทียบท่ามากกว่า 182,000 ลำ และ มีเรือผ่านท่ามากกว่า 238.20 ล้านครั้ง และมีตู้คอนเทนเนอร์ผ่านท่าประมาณ 381 ล้าน ทีอียู

ทั้งนี้ มากกว่าร้อยละ 80 ของการค้า(เชิงปริมาณ)ถูกขนส่งทางทะเล โดยที่ประมาณร้อยละ 35 ของการค้า (เชิงปริมาณ) และ มากกว่าร้อยละ 60 ของการค้า (เชิงมูลค่า) ถูกขนส่งโดยตู้คอนเทนเนอร์ ดังนั้น ความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพโดยรวมของท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์ จึงมีความสำคัญต่อตลาดโลกและการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยดัชนี CPPI (เริ่มจัดทำครั้งแรกเมื่อปี 2563 และเผยแพร่เมื่อปี 2564) พิจารณาประสิทธิภาพของท่าเรือ ซึ่งให้ความสำคัญกับระยะเวลาที่เทียบท่า โดย CPPI มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับการพัฒนา และเพื่อประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายในระบบการค้าและซัพพลายเชนโลก อาทิ ท่าเรือ สายการเดินเรือ รัฐบาล ผู้บริโภค

ปี 2566 แม้ว่าความท้าทายจากการระบาดของโควิด-19 ได้คลี่คลายลง แต่การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ยังคงคาดเดาไม่ได้และผันผวน ดังนั้น ท่าเรือหลักจำเป็นต้องลงทุนในเทคโนโลยีที่ทันสมัย โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตลาดโลกและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมเดินเรือ ปัจจุบันมีความตระหนักและให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพของท่าเรือเพิ่มขึ้น เนื่องจาก หากการบริหารจัดการท่าเรือไม่มีประสิทธิภาพ ย่อมส่งผลกระทบต่อการขนส่งไปสินค้าไปยังพื้นที่หลังท่า และกระทบต่อตารางเวลาการขนส่งทั้งระบบ ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มต้นทุนการนำเข้าและส่งออก ลดขีดความสามารถในการแข่งขันและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศและการบรรเทาความยากจน

ปี 2566 ผลการประเมินท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์ 405 ท่าเรือ พบว่า ท่าเรือที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด คือ ท่าเรือ Yangshan ประเทศจีน (ได้อันดับที่ 1 ติดต่อกันสองปีแล้ว) อันดับที่ 2 ท่าเรือ Salalah ประเทศโอมาน อันดับที่ 3 ท่าเรือ Cartagena ประเทศโคลัมเบีย อับดับที่ 4 ท่าเรือ Tanger-Mediterranean ประเทศโมร็อกโก และ อันดับที่ 5 ท่าเรือ Tanjung Pelepas ประเทศมาเลเซีย

สำหรับประเทศในทวีปแอฟริกาที่อยู่ใต้ทะเลทรายซาฮาร่า (Sub-Saharan Africa) (ประเมิน 40 ท่าเรือ) พบว่าท่าเรือที่มีประสิทธิภาพสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ท่าเรือ Berbera ประเทศโซมาเลีย (อันดับที่ 103) รองลงมาคือ ท่าเรือ Mogadiscio ประเทศโซมาเลีย (อันดับที่ 176) ท่าเรือ Conakry ประเทศกินี (อันดับที่ 208) ท่าเรือ Malabo ประเทศอิเควทอเรียลกินี (อันดับที่ 237) และท่าเรือ Freetown ประเทศเซียร์ราลีโอน (อันดับที่ 252) ตามลำดับ

ข้อมูลเพิ่มเติมและความเห็นของสำนักงานฯ : ดัชนี CPPI ประจำปี 2566 ที่จัดทำโดยธนาคารโลก และ S&P Global Market Intelligence ได้ประเมินขีดความสามารถของท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์ 405 ท่าเรือ โดยท่าเรือที่ขาดประสิทธิภาพ ย่อมมีผลกระทบต่อความล่าช้าในการขนส่ง การหยุดชะงักของซัพพลายเชน ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งการส่งออกและนำเข้า ลดขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

ในรายงานฉบับนี้ พบว่า ท่าเรือ 4 ท่าเรือของประเทศแอฟริกาใต้ถูกจัดอันดับในปี 2566 ดังนี้ ท่าเรือ Port Elizabeth (อันดับที่ 391) ท่าเรือ Durban (อันดับที่ 399) ท่าเรือ Ngqura (อันดับที่ 404) และท่าเรือ Cape Town (อันดับที่ 405 ซึ่งเป็นอันดับสุดท้าย) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ท่าเรือ 4 แห่งดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับพัฒนาและยกระดับการบริหารจัดการ อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆนี้ Transnet (รัฐวิสาหกิจที่บริหารท่าเรือในประเทศแอฟริกาใต้) ใด้หารือกับผู้แทนธนาคารโลก กรณีท่าเรือในประเทศแอฟริกาใต้ เนื่องจาก Transnet เห็นว่าธนาคารโลกใช้ระยะเวลาที่เรือจอดเทียบท่า เพื่อวัดผลประสิทธิภาพของการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ เป็นหลักการที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากเมื่อเรือเทียบท่า มีบริการที่เกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายก่อนดำเนินการขนถ่ายสินค้า ซึ่งบริการเหล่านี้ล้วนมีผลต่อระยะเวลาที่เรือจอดเทียบท่า ประกอบกับการที่ธนาคารโลกใช้ข้อมูลตัวอย่างจากฝ่ายที่สาม ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจไม่ตรงกับสภาพข้อเท็จจริง นอกจากนี้ Transnet ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงท่าเรือและรางรถไฟ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้า โครงการสำคัญ อาทิ การจัดหาอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้าใหม่ การจัดทำแผนรองรับภาวะฉุกเฉิน การนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการตู้คอนเทนเนอร์

อนึ่ง ปี 2566 ท่าเรือของประเทศไทยถูกจัดอันดับ ดังนี้ ท่าเรือแหลมฉบัง อันดับที่ 46 ท่าเรือสยาม ซีพอร์ต อันดับที่ 124 และท่าเรือกรุงเทพ อันดับที่ 278

ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/174594

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.