CEO ARTICLE
ส.ว. เลือกไขว้
ทำอย่างไรจึงจะให้ ส.ว. ที่มาจากการเลือกไขว้ยึดโยงประชาชนมากขึ้น ?
การเลือกตั้งโดยตรงคือ การยึดโยงประชาชนมากที่สุดในระบอบประชาธิปไตย
แต่น่าเสียดาย ทุกครั้งในอดีตที่มีการเลือกตั้ง ส.ว. โดยตรงจากประชาชน ผู้สมัคร ส.ว. ที่ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีผลงาน แต่ต้องการชนะการเลือกตั้งมักแอบอิงพรรคการเมืองเพื่อใช้ฐานเสียง
หน้าที่หลักของ ส.ว. คือ การกลั่นกรองกฎหมายที่มาจาก ส.ส. และพรรคการเมือง
หาก ส.ว. มาจากฐานเสียงพรรคการเมือง การกลั่นกรองกฎหมายก็ต้องมีผลประโยชน์ทับซ้อนตอบแทนพรรคการเมือง ตัวอย่างเช่น กฎหมายกาสิโน กฎหมายที่ดินป่าสงวนมอบให้ชาวบ้าน กฎหมายนิรโทษกรรม การให้สัมปทานของรัฐ และอื่น ๆ ที่มีผู้แอบได้ประโยชน์เสมอ
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 107 จึงออกแบบไม่ให้ ส.ว. แอบอิงฐานเสียงการเมืองโดยการแบ่งเป็น 20 กลุ่มอาชีพ ผู้สมัครต้องมีความรู้ มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในอาชีพตามกลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มเลือกกันเอง และมาจบสุดท้ายที่การเลือกไขว้ระหว่างกลุ่ม
แนวคิดดูดี แยก ส.ว. ออกจาก ส.ส. ได้ ปลายเดือน พ.ค. 2567 ก็มีผู้สมัคร ส.ว. 20 กลุ่มรวม 48,117 คน และปลายเดือน มิ.ย. 2567 การเลือก ส.ว. ก็เสร็จสิ้น ต้นเดือน ก.ค. 2567 กกต. ให้การรับรอง ส.ว. 200 คน หลายคนดูดี แต่บางคนดูแล้วน่าสงสัย
ข้อสงสัยคือ ส.ว. บางคนที่ว่าจะเอาความสามารถตรงไหนมากลั่นกรองกฎหมาย ?
เมื่อมองประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้งในปี 2566 ทั่วประเทศจำนวน 52 ล้านคน ไม่ว่าจะมองมุมไหน มองอย่างไร ผู้สมัคร ส.ว. 48,177 ครั้งนี้ก็เป็นเพียงคนกลุ่มน้อย เรียกว่าน้อยมาก ๆ น้อยจนไม่สามารถอ้างการยึดโยงประชาชน 52 คนล้านได้
ยิ่งมีข่าวผู้สมัครหลายคนไม่เลือกตัวเองในครั้งแรก คล้ายไม่อยากเป็น ส.ว. แต่สมัครเพื่อให้ได้สิทธิเลือกคนอื่น คล้ายจัดตั้ง คล้ายการฮั้วโดยผู้สมัคร ส.ว. กันเอง หรือโดยพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลังก็ยิ่งสื่อถึงความไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม และไม่ยึดโยงประชาชนจนเกิดการร้องเรียน
การเลือก ส.ว. ครั้งนี้มีคนได้และคนเสียประโยชน์ มีคนอยากให้เป็นโมฆะ มีการฟ้อง กกต. และทำให้หลายประเทศมอง ส.ว. เลือกไขว้ครั้งแรกของไทยและของโลกจะลงเอยอย่างไร ?
“ชนชั้นใดเขียนกฎหมาย ก็แน่ไซร้เพื่อชนชั้นนั้น”
ไม่มีใครตอบได้ชัด ๆ ว่า คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ในเวลานั้นมีเจตนารมณ์อะไร หากจะป้องกัน ส.ว. จากฐานเสียงพรรคการเมืองก็น่าจะใช่ แต่หากจะให้ยึดโยงประชาชนก็ไม่น่าจะใช่
ยิ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจ ส.ว. มากขึ้น ให้กลั่นกรองกฎหมาย ให้ควบคุมการทำงานของนักการเมือง ให้ความเห็นชอบบุคคลในองค์กรอิสระ เช่น กกต. ปปช. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอื่น ๆ ที่ให้คุณ ให้โทษนักการเมืองจึงดูได้ว่า ส.ว. เลือกไขว้คือ ความหวังของประเทศไทย
หากจะให้เป็นความหวังที่ศักดิ์สิทธิ์ กติกาก็ควรปรับปรุงใหม่ด้วยข้อเสนอ ดังนี้
1. ต้องมีคณะกรรมการทดสอบ
ประชาชนไม่มีทางรู้ว่า ผู้สมัครใดมีคุณสมบัติและมีความสามารถที่แท้จริงอย่างไรจึงควรมีคณะกรรมการทดสอบ และรับรองคุณสมบัติผู้สมัครทั้ง ส.ว. ส.ส. และนักการเมืองท้องถิ่น
ใครสมัครตำแหน่งอะไรต้องให้คณะกรรมการทำการทดสอบก่อน ต้องมีวุฒิภาวะ มีความรู้ มีความสามารถตรงปก และต้องได้หนังสือรับรองจากคณะกรรมการชุดนี้มาประกอบ
2. หนังสือรับรองความสามารถ
วันนี้ ประเทศไทยเสื่อมเสียชื่อเสียงจากการสอยนักการเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ
คุณสมบัติก็เรื่องหนึ่ง ความสามารถก็อีกเรื่องหนึ่ง ผู้สมัคร ส.ว. ส.ส. หรือนักการเมืองท้องถิ่นต้องมีความสามารถอะไร ต้องประกาศให้ชัดเจน ต้องผ่านสัมภาษณ์ การทดสอบ และต้องได้หนังสือรับรองมาประกอบการสมัคร ส่วน กกต. ก็ยังมีอำนาจตรวจซ้ำเพื่อสอยเป็นดาบสอง
3. ส.ว. ต้องมีกรรมการสมาคมอาชีพมากขึ้น
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 50 (7) กำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่เลือกตั้ง
แต่มาตรา 107 กลับให้ผู้สมัคร ส.ว. เลือกกันเอง วันนี้ยังไม่มีใครยื่นตีความว่า 2 มาตรานี้ขัดแย้งกันเองหรือไม่ แต่ในเมื่อจะให้ ส.ว. มาจากกลุ่มอาชีพ ผู้สมัครก็ควรมาจากกรรมการสมาคมอาชีพต่าง ๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบันที่รู้เรื่องอาชีพดี และต้องเชิญชวนให้มาสมัครมากขึ้น
อาชีพไหนไม่มีสมาคมก็ส่งเสริมให้มีเพื่อพัฒนาอาชีพ และให้มีโอกาสได้เป็น ส.ว. มากขึ้นเพื่อปกป้องอาชีพของตน หากทำแบบนี้ได้ ใครเป็นสมาชิกในกลุ่มอาชีพใดจะรู้ความสามารถของคนในสมาคม จะเลือกกันเอง หรือจะเลือกไขว้ก็ง่ายขึ้น และได้ ส.ว. ที่มีความสามารถง่ายขึ้น
ทั้ง 3 ข้อเป็นเพียงข้อเสนอเพื่อให้ ส.ว. มีความสามารถและยึดโยงประชาชนมากขึ้น
แต่หากครั้งนี้ นักการเมืองได้ประโยชน์จาก ส.ว. เลือกไขว้มาก การแก้ไขกติกาคงไม่เกิดขึ้นเพราะนักการเมืองเป็นชนชั้นที่เขียนและแก้ไขกฎหมายมากที่สุดในระบอบประชาธิปไตย.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
for Home and Health,
please visit https://www.inno-home.com
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : July 16, 2024
Logistics
กัมพูชา ไทย และเวียดนามร่วมมือกันสร้างเส้นทางเดินทะเล
เส้นทางเดินทะเลเชื่อมระหว่างสีหนุวิลล์ กัมพูชา กับเกาะในประเทศไทย และเวียดนาม จะเปิดทดลองใช้ในเดือนพฤศจิกายน 2567 นี้ โดยจะเชื่อมจากเกาะต่างๆ ใกล้จังหวัดตราดของไทยกับสีหนุวิลล์ของกัมพูชาและเกียนยางของเวียดนาม โดยโครงการนี้อยู่ภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจกัมพูชา-เวียดนาม-ไทย (Cambodia-Vietnam-Thailand Economic Corridor : CVTEC) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มโอกาสทางด้านธุรกิจ การท่องเที่ยว และการลงทุนในภูมิภาค
รองผู้ว่าราชการจังหวัดสีหนุวิลล์ นาย Long Dimanche เปิดเผยว่า ผู้นำฝ่ายบริหารจากจังหวัดชายฝั่งทะเลของทั้งสามประเทศได้มีการเยี่ยมชมเพื่อสำรวจเส้นทางนี้ ซึ่งจะเชื่อมต่อจากตราด (ท่าเทียบเรือคลองใหญ่) – สีหนุวิลล์ – เกาะฟู้โกว๊ก
ผู้แทนจากประเทศไทย ได้เข้าร่วมงาน CVTEC Farm Trip พร้อมกับเจ้าหน้าที่กัมพูชาและเวียดนาม โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมเส้นทางเดินทะเล และอำนวยความสะดวกในการเดินทางเชื่อมระหว่าง 3 ประเทศ ภายใต้แนวคิด “ตลาดเดียว สามจุดหมายปลายทาง”
ผู้แทนจากภาคเอกชนและรัฐของทั้งสามประเทศได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อร่วมเสริมสร้างการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม ตามเส้นทางเดินเรือที่เสนอนี้
ความเห็นของสำนักงานฯ
1. CVTEC เป็นหนึ่งในโครงการที่มีความน่าสนใจ และมีศักยภาพไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว ประชุมธุรกิจ การสัมมนา หรือแม้แต่การเดินทางสัญจร สิ่งเหล่านี้จะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ บนเส้นทางเกาะฟู้โกว๊ก-สีหนุวิลล์ และตราด
2. หากเส้นทางนี้เปิดให้บริการในปี 2568 จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวทั้ง 3 ประเทศ รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติอื่นๆ มีทางเลือกในจุดหมายปลายทางเพิ่ม และสะดวกมากขึ้น ซึ่งสามารถดึงดูดและกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว รวมทั้งการเดินทางเชื่อมโยงทางทะเลให้เติบโตอย่างพร้อมกันและยั่งยืน
3. กัมพูชามีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่ดี ดังนั้นการเชื่อมโยงทั้งสามประเทศจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากไทยและเวียดนามได้มากขึ้น โดยผ่านแพ็คเกจทัวร์เดียว ดังนั้น จึงเป็นโอกาสในการลงทุนทำธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น เนื่องจากกัมพูชามีที่ตั้งอยู่ระหว่างไทยและเวียดนาม ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ดีของการเทียบท่า ระหว่าง 3 ประเทศ
ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/175502
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!