CEO ARTICLE
ปริญญาเอก
ปัญหาคนจบปริญญาเอกด้อยคุณภาพควรแก้ไขอย่างไร ?
“ด็อกเตอร์” เป็นคำให้เกียรติ และให้ศักดิ์ศรีแก่คนที่มีความรู้ระดับปริญญาเอก
ปริญญาเอกมาจาก Doctoral Degree หรือ Doctor of Philosophy ซึ่งหมายถึง ความมีปรัชญา หรือปริญญาทางวิชาการสูงสุดที่ได้รับจากมหาวิทยาลัย เรียกย่อ ๆ ว่า Dr. หรือ Ph.D. ซึ่งต่างจาก Dr. ที่เป็นหมอรักษาคนไข้ที่เรียกว่า Doctor of Medicine หรือ M.D.
คนจะผ่านปริญญาเอกได้ต้องเรียนจบหลักสูตรก่อน ต้องมีความรู้ เมื่อเรียนจบก็ต้องเสนอทำโครงการ วิทยานิพนธ์ หรือดุษฎีนิพนธ์ (Dissertation) ในสาขาที่เรียนมา ต้องสร้างเนื้อหา ผ่านแนวคิด ทฤษฎี ผ่านหลักการ ผ่านเหตุผล ผ่านการวิจัย ผ่านการสอบ และการป้องกันนิพนธ์ที่เสนอ (Defense Examination) จากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญที่มีเขี้ยวเล็บ รุมถาม รุมโจมตีหลายรอบ
นักศึกษาต้องขึ้นต่อสู้ ป้องกันทุกรอบ บางคนกว่าจะทำเรื่องจบได้ก็ใช้เวลาหลายปี
คนเป็นอาจารย์และเป็นคณะกรรมการสอบจึงต้องมีประสบการณ์ ต้องมองนักศึกษาออก วัดความรู้ และความสามารถได้จริงก่อนที่จะมอบใบปริญญาสูงสุดให้กับใครคนหนึ่ง
ปัญหาคนจบปริญญาเอกด้อยคุณภาพจึงเกิดจาก 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 เกิดจากนักศึกษาไม่มีความรู้ หรือมี แต่ไม่พอที่จะทำเล่มจบ ต้องลอกคนอื่น หรือจ้างคนอื่นทำ และส่วนที่ 2 เกิดจากคณะกรรมการที่ไม่ใส่ใจ รู้ทั้งรู้ว่านักศึกษาไม่มีคุณภาพ ผลงานไม่ได้ทำเอง แต่ก็ปล่อยผ่าน คนจบด็อกเตอร์ที่ด้อยคุณภาพจึงเดินเต็มถนน และลงสมัครการเมือง
ย้อนหลังไปราว 40 ปี หรือระหว่างปี พ.ศ. 2520 ถึง พ.ศ. 2524
เวลานั้น ประเทศไทยอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 ที่มุ่งพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม มุ่งสร้างอาชีพ และมุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ไม่มุ่งพัฒนาคน
ตอนนั้นคนส่วนใหญ่ไม่มีเงิน จบปริญญาตรีน้อย จบแค่สายอาชีพ หรือมัธยมเป็นหลัก
คนที่ไม่มีปริญญาก็เจียมตัว พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลยทุ่มเทให้กับงาน ทำไปเพลิน ๆ ก็ได้ความรู้ในงาน ได้ประสบการณ์ ได้ความเจริญก้าวหน้า และได้เป็นเจ้าของกิจการมากมาย
ผ่านไปอีกราว 20 ปี ประเทศพัฒนาขึ้น ค่านิยมทางสังคมสูงขึ้น คนจบปริญญาตรีถูกหวังว่าต้องมีความรู้มาก สอนง่าย พูดภาษาอังกฤษได้ เป็นที่ต้องการ แต่กลับย้อนใส่การเมืองเมื่อ ส.ส. ส่วนหนึ่งมีอิทธิพล ได้รับเลือกตั้ง แต่ไม่มีความรู้ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เป็นที่อับอายประเทศ
ในที่สุดก็เกิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่กำหนดให้ ส.ส. ต้องจบปริญญาตรี
เมื่อมีการเมืองก็ต้องมีผลประโยชน์ นักการเมืองที่มีอิทธิพลจึงร่วมมือกับสถาบันการศึกษาบางแห่งสร้างรูปแบบ สร้างวิธีการให้เรียนง่ายขึ้น คนจบปริญญาตรีง่ายขึ้น คนจบมากขึ้น แต่ความรู้ไม่แน่นพอ และหลายคนพูดภาษาอังกฤษพื้น ๆ ก็ยังไม่ได้ภายใต้คำขวัญ “จ่ายครบ จบแน่”
คนมีเงิน คนที่อยากให้ลูกหลานมีความรู้จริง ๆ จึงนิยมไปเรียนต่างประเทศ
ส่วนสถาบันการศึกษาที่ยังยึดมั่นคุณภาพ เกียรติ และศักดิ์ศรี ส่วนใหญ่มีชื่อเสียงเป็นของรัฐ สอบเข้ายาก กว่าจะจบก็ยาก แต่ก็หนีไม่พ้นการเมืองเมื่อมีข่าวข้อสอบรั่วไปให้ลูกนักการเมือง
ผ่านไปอีกราว 20 ปี คราวนี้ได้รัฐธรรมนูญ 2560 มองไปทางไหนก็มีแต่คนจบปริญญาตรีมีทั้งคนมีคุณภาพและไม่มีเดินปะปนกัน คราวนี้การสมัคร ส.ว. ไม่ต้องมีวุฒิการศึกษา แต่คนที่จบปริญญาเอกย่อมดูดีกว่า น่าเชื่อถือกว่า และจดจำง่ายกว่าตามค่านิยมที่วิ่งสูงกว่าปริญญาตรี
ปริญญาตรีจึงไม่พอในวันนี้ มันต้องถึงโท ถึงเอกเพื่อเป็นตั๋วเริ่มต้นสู่ถนนการเมือง
มันเป็นหลักเศรษฐศาสตร์พื้น ๆ เมื่อมีคนต้องการ (Demand) มีการเมือง (Policy) หนุนส่ง มันก็มีสถาบันการศึกษาที่ขาดอุดมการณ์คอยสนอง (Supply) สุดท้าย กรรมก็ตกที่ประเทศ เมื่อคนจบปริญญาเอกมีมากขึ้น แต่กลับมีคนส่วนหนึ่งจบอย่างไร้คุณภาพ ไร้เกียรติ และไร้ศักดิ์ศรี
เกียรติและศักดิ์ศรีไม่ใช่สิ่งที่ใครจะคิดเอง เออเองได้ และไม่ใช่แค่มีใบปริญญาเอกก็จะได้เกียรติและศักดิ์ศรี มันต้องเกิดจากการมีวุฒิภาวะและความสามารถที่สัมผัสได้ด้วย
คนจบปริญญาเอกจริง ๆ ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง แต่ต้องรู้จริง แสดงออกได้ในสาขาที่จบ
ในเมื่อมีการเมือง การแก้ไขปัญหาการศึกษาด้อยคุณภาพก็ต้องเริ่มที่การเมือง รัฐบาลต้องเริ่ม ต้องชัดเจนเรื่องคุณภาพและการสอน ส่วนคณะกรรมการสอบต้องเหมือน 18 อรหันต์แห่งวัดเส้าหลินที่มีฤทธิ์ ม่ีเดช ใครจะจบออกมาต้องผ่านด่านเข้มข้นนี้ให้ได้
รัฐบาลและคณะกรรมการต้องร่วมมือกันทำให้คนจบปริญญามีเกียรติ มีศักดิ์ศรี
แต่คณะกรรมการขึ้นอยู่กับสถาบัน สถาบันก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ส่วนรัฐบาลก็คือบรรดา ส.ส. ทั้งหลาย หากท่าน ส.ส. และ ส.ว. ส่วนหนึ่งได้ปริญญาด้วยการซื้อ ไม่ได้เรียน ด้อยคุณภาพ หรือนักการเมืองอยากให้ประชาชนโง่เพื่อง่ายต่อการปกครอง แบบนี้ใครจะสั่งการสถาบันการศึกษาให้จริงจัง ใครจะสั่งคณะกรรมการให้สอบเข้มข้นเป็น 18 อรหันต์เส้าหลินได้
หากรัฐบาลไม่สั่ง หรือไม่ทำอะไร ประเทศไทยก็คงวนเวียนอยู่กับการซื้อปริญญา ภาพลวง ค่านิยมจอมปลอมเพื่อคะแนนนิยมและทำให้ปริญญาเอกที่ไร้เกียรติ ไร้ศักดิ์ศรีมีมากขึ้นเรื่อย ๆ
ทุกอย่างจึงอยู่ที่การเมือง การเมืองที่ประชาชนสามารถเลือกได้กับมือ.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
for Home and Health,
please visit https://www.inno-home.com
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : July 23, 2024
Logistics
มาเลเซีย-ไทย ตั้งเป้าการค้าทวิภาคี 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2570
จากการประชุมคณะกรรมการร่วมการค้าไทย-มาเลเซีย (JTC) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยและมาเลเซียได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุเป้าหมายการค้าทวิภาคี 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (141,290 ล้านริงกิตมาเลเซีย) ภายในปี 2570
ในการประชุม JTC มีนายเทงกู ซาฟรูล อาซิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยเป็นประธานการประชุม โดยมีการเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ยาวนานระหว่างสองประเทศ
ในแถลงการณ์ร่วมต่อสื่อ กระทรวงการลงทุน การค้าและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย (MITI) ระบุว่า การค้าระหว่างมาเลเซียและไทยมีมูลค่าเฉลี่ย 24,730 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (116,470 ล้านริงกิตมาเลเซีย) ต่อปีในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา (2560-2566) โดยมีบันทึกมูลค่าสูงสุดในปี 2565 อยู่ที่ 27,740 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (130,640 ล้านริงกิตมาเลเซีย)
“แม้การค้าทวิภาคีในปี 2566 จะลดลงเหลือ 24,830 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (116,940 ล้านริงกิตมาเลเซีย) สอดคล้องกับการค้าโลกที่ชะลอตัว แต่มาเลเซียยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยในอาเซียน” แถลงการณ์ระบุ
กระทรวงอุตสาหกรรม การค้าและการลงทุนของมาเลเซีย (MITI) กล่าวว่า หนึ่งในข้อตกลงสำคัญที่ได้ข้อสรุป คือ การจัดตั้งคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุน เพื่อส่งเสริมการอำนวยความสะดวกการค้าชายแดน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการค้าและเพิ่มพูนการเชื่อมโยงระหว่างกัน
นอกจากนี้ ยังมีการหารือและเห็นพ้องร่วมกันที่จะส่งเสริมการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตร ทั้งสองประเทศจะร่วมกันขยายความร่วมมือ ในหลายด้านด้วยกัน อาทิเช่น ยางพารา ระบบขนส่งทางบกและการเชื่อมโยงธุรกิจ แฟรนไชส์ เกษตรกรรม และ ด้านดิจิทัล ซึ่งครอบคลุมไปถึงระบบยืนยันตัวตนดิจิทัล ศูนย์ข้อมูล ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ บุคลากรด้านดิจิทัล และความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน
อีกทั้งยังมีการตกลงเพิ่มเติมว่ามาเลเซียและไทยจะยังคงร่วมมือกันในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ฮาลาลผ่านกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกเช่นกัน
ในขณะเดียวกัน ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของมาเลเซียในปี 2568 ทั้งสองประเทศมีความมั่นใจว่าวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนปี 2588 และ แผนยุทธศาสตร์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (พ.ศ. 2569-2573) จะแล้วเสร็จภายในปี 2568 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
บทวิเคราะห์ผลกระทบ
ข้อตกลงที่เกิดขึ้น ระหว่างการประชุมคณะกรรมการการค้าร่วมมาเลเซีย-ไทย (JTC) ครั้งที่ 3 ถือเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุเป้าหมายทางการค้ามูลค่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะมีศักยภาพในการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจและผู้ประกอบการของไทยและมาเลเซีย นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของปริมาณซื้อขายสินค้าและบริการ ด้วยการสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจ เข้าสู่ตลาดของทั้งสองประเทศ เมื่อตลาดการค้าขยายตัว อัตราการจ้างงานในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคการค้า เช่น โลจิสติกส์ การขนส่ง และการผลิต มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น จึงส่งผลกระทบเชิงบวกต่อภาคส่วนต่าง ๆ ในวงกว้าง นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ทางการค้าที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นจะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างภาคธุรกิจและรัฐบาลของทั้งสองประเทศ ซึ่งอาจนำไปสู่การร่วมทุน การลงทุน และการถ่ายทอดความรู้ ความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม อาจมีความท้าทายที่เพิ่มขึ้นต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โครงสร้างพื้นฐาน
ทางการค้าระหว่างมาเลเซียและไทยในปัจจุบัน อาจไม่เพียงพอที่จะรองรับปริมาณการค้าที่เพิ่มขึ้นจึงมีความจำเป็นในการลงทุนเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางการค้า ความแตกต่างในมาตรฐานและกฎระเบียบระหว่างทั้งสองประเทศอาจเป็นอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff trade barriers) และสามารถส่งผลกระทบทางการค้าได้ ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์แรงงานในทั้งสองประเทศอาจจำเป็นต้องได้รับการยกระดับทักษะ เพื่อตอบสนองความต้องการของสภาพแวดล้อมการค้าใหม่
ความคิดเห็น สคต.
ประเทศไทยและประเทศมาเลเซียนั้นมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกันมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดระหว่างกันในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย กอปรกับกาแถลงการณ์ในการหารือและเห็นพ้องร่วมกันที่จะส่งเสริมการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรและความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนข้างต้นจากการประชุม JTC ที่ผ่านมา
สคต. จึงเล็งเห็นว่าผู้ประกอบการไทยที่ประกอบธุรกิจในแวดวงดังกล่าวนี้ก็จะสามารถส่งออกสินค้ารวมถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปยังประเทศมาเลเซียได้มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงสินค้าและผลิตภัณฑ์ในกลุ่มฮาลาลที่ยังคงเป็นที่ต้องการในประเทศมาเลเซียเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นผู้ประกอบการไทยสามารถศึกษาข้อมูลตลาด สินค้า และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องดังกล่าว เพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศมาเลเซียในอนาคต
ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/177508
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!