CEO ARTICLE

เครือข่ายโลจิสติกส์

Published on August 6, 2024


Follow Us :

    

ทำอย่างไรให้โลจิสติกส์ไทยมีเครือข่ายมากขึ้น ?

โลจิสติกส์เป็นกิจกรรมมากมายที่เกี่ยวพันกับการรวบรวม การจัดเก็บ การเคลื่อนย้าย และการกระจายวัตถุดิบ สินค้า เครื่องจักรตั้งแต่ต้นน้ำแหล่งกำเนิด (Point of Origin) เข้าสู่กลางน้ำการผลิต (Point of Production) และส่งมอบถึงปลายน้ำการบริโภค (End User)
มนุษย์ทุกคนทั่วโลกต้องเดินทาง ต้องกิน ต้องใช้ และต้องการสินค้าอุปโภคและบริโภคทุกวัน กิจกรรมโลจิสติกส์จึงเข้ามาเกี่ยวพันกับมนุษย์ทุกคนทั่วโลกตั้งแต่ตื่นเช้าจนเข้านอนทุกวัน
โลจิสติกส์ไม่ใช่การขนส่ง แต่ในการรวบรวม การจัดเก็บ การเคลื่อนย้าย และการกระจายหนีไม่พ้นการขนส่ง การจะพัฒนาโลจิสติกส์ระหว่างประเทศจึงต้องประกอบด้วย 2 ด้าน คือ
1. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
หากมองย้อนไปหลายสิบปี โลจิสติกส์ของไทยพัฒนาช้ากว่าชาติอื่น
แต่ปัจจุบัน โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมได้รับการพัฒนาขึ้นมาก มีถนนใหม่ ๆ กระจายไปทั่วภูมิภาคหลายเส้นทาง การบริการสนามบิน รถไฟ และรถไฟฟ้าในเมืองกระจายไปทั่ว
ในมุมโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจุบันโลจิสติกส์ของไทยได้รับการพัฒนาได้เร็ว และได้มากกว่าอดีตซึ่งถือเป็นความสำเร็จของรัฐบาลในช่วงทศวรรรษที่ผ่านมา
2. ด้านทักษะการจัดการ
โครงสร้างคมนาคมดีขึ้นก็จริง แต่คนใช้ถนนให้ได้ประโยชน์เป็นคนไทย
หากเป็นโลจิสติกส์ภายในแต่ละองค์กร (In House Logistics) ก็เป็นเรื่องคนแต่ละองค์กร หากเป็นโลจิสติกส์ภายในประเทศก็เป็นเรื่องคนไทยกับโครงสร้างพื้นฐานของไทย
แต่หากเป็นโลจิสติกส์ระหว่างประเทศกลับเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเครือข่ายระหว่างประเทศที่แข่งขันกันสูง และเป็นเรื่องของคนที่ต้องมีทักษะการจัดการเพื่อเชื่อมต่อและวางแผนร่วมกัน
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีท่าเรือน้ำลึก มีสนามบินใหญ่ มีการบริการศุลกากรทันสมัย รวดเร็วด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และมีเส้นทางเชื่อมประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน
ในช่วงที่เศรษฐกิจดี การนำเข้า การส่งออก การถ่ายลำ และการผ่านแดนจึงมีมากจนผู้ให้บริการโลจิสติกส์ต่างชาติเข้ามาตั้งสาขาในประเทศไทยเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในชาติของตน
เมื่อเข้ามาตั้งสาขาก็จ้างคนไทยทำงาน แต่ผู้บริหาร และระบบการจัดการเป็นของต่างชาติ คนไทยได้การจ้างงาน ได้ความชำนาญท้องถิ่น แต่ผลกำไรที่เกิดจากการบริหารเป็นของต่างชาติ
ในด้านทักษะการจัดการเชื่อมเครือข่ายโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ คนไทยจึงเป็นรองมาก

สิ่งที่เห็นในช่วงที่ผ่านมาคือ ผู้ส่งออกของไทยมักได้รับการร้องขอจากผู้ซื้อต่างประเทศให้เสนอขายสินค้าด้วยราคาหน้าโรงงาน หรือราคา EXW (Ex-Works) มากขึ้น
ราคาขาย EXW ทำให้ผู้ซื้อต่างประเทศเป็นผู้ว่าจ้างผู้ให้บริการโลจิสติกส์จากชาติตนให้มารับสินค้าหน้าโรงงานเอง ทำพิธีการส่งออกต่าง ๆ ในไทยเอง บริหาร และจัดการเองทั้งหมด
แน่นอน คนลงมือทำงานจริงเป็นคนไทย ใช้โครงสร้างพื้นฐานของไทย คนไทยได้ค่าแรง ได้ค่าจ้าง ได้ค่ารถขนส่ง แต่การเชื่อมเครือข่ายระหว่างประเทศ ค่าระวางขนส่ง (Freight) กลยุทธ์การสร้างแผนงาน การจัดการ และกำไรที่มากกว่าค่าจ้างคนไทยหลายเท่าย่อมเป็นของต่างชาติ
ราคาขาย EXW ทำให้ผู้ส่งออกของไทยสะดวก เสนอราคาได้ง่าย มีหน้าที่เพียงวางสินค้าไว้หน้าที่ทำการของตน (Seller’s Place) และไม่มีความเสี่ยงใด ๆ แต่ทักษะการจัดการไม่ได้พัฒนา
การนำเข้าก็ไม่ต่างกัน ผู้นำเข้าของไทยในปัจจุบันมักได้รับการเสนอราคาสินค้าจากผู้ขายต่างประเทศด้วยราคา DDP (Delivered Duty Paid) มากขึ้น ทำให้ผู้นำเข้าสะดวก ไม่ต้องทำอะไร เพียงรอรับสินค้าที่รวมอากรขาเข้า ณ ที่ทำการของตน (Buyer’s Place) ซึ่งในความเป็นจริงความสะดวกย่อมมีราคาที่ถูกรวมลงไปในราคาสินค้า DDP ให้ผู้นำเข้าต้องจ่ายทางอ้อมอยู่แล้ว
แต่การส่งออก EXW และการนำเข้า DDP กลับทำให้คนไทยขาดโอกาสเชื่อมต่อโลจิสติกส์ระหว่างประเทศด้วยมือคนไทย และทำให้คนไทยขาดโอกาสพัฒนาทักษะการจัดการไปด้วย
ในมุมที่เสียเปรียบนี้ รัฐบาลจึงควรเข้ามาเสริมด้วยการสร้างเวที สร้างการพบปะ และเพิ่มโอกาสให้ผู้ให้บริการฯ ของไทยได้เชื่อมต่อกับผู้ให้บริการฯ ต่างชาติที่ยังไม่มีสาขาในประเทศไทยให้มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการจัด Road Show การสัมมนาโดยรัฐ หรือการให้ทูตพาณิชย์ในประเทศต่าง ๆ เผยแพร่ผู้ให้บริการฯ ท้องถิ่นที่ลงทะเบียนไว้ให้มากขึ้นเช่นเดียวกับการเผยแพร่สินค้าไทย
การสร้างโอกาสของการเชื่อมต่อทำให้ผู้ให้บริการฯ ของไทยมีโอกาสได้เครือข่ายมากขึ้น มีโอกาสย้อนกลับไปรับงานส่งออก DDP และงานนำเข้า EXW ร่วมกับผู้ให้บริการฯ ต่างชาติส่งและรับสินค้าในต่างประเทศมากขึ้น และได้พัฒนาทักษะการจัดการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศให้ดีขึ้น
ทักษะที่ดีขึ้นจะทำให้คนไทยเป็นคนเชื่อมต่อเครือข่าย เป็นคนใช้โครงสร้างพื้นฐานของไทยที่รัฐบาลอุตสาห์สร้างอย่างดีให้เป็นประตูสู่อาเซียน และให้เป็นประโยชน์ด้วยมือคนไทยครบวงจร
แต่หากรัฐบาลไม่ส่งเสริมให้เชื่อมเครือข่ายมาก ๆ สุดท้ายโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐอุตส่าห์สร้างขึ้นจะกลายเป็นเพียงทางผ่านให้ต่างชาติใช้ประโยชน์ ประเทศได้เพียงค่าผ่านทาง และคนไทยทำหน้าที่เพียงขับรถบรรทุกให้ตามคำสั่งเท่านั้น.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
for Home and Health,
please visit https://www.inno-home.com

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : August 6, 2024

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

จำนวนยอดเดินรถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป ปี 2567 ทะลุ 10,000 ขบวน

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 บริษัทการรถไฟแห่งประเทศจีน รายงานว่า รถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป ขบวน X8017 ซึ่งบรรทุกสินค้า 55 ตู้คอนเทนเนอร์ ประกอบด้วยเสื้อผ้า เวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้ออกเดินทางจากสถานีอู๋เจียซานในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย และเดินทางถึงเมือง Duisburg ประเทศเยอรมนีใน 13 วันต่อมา

ต่อมา เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 สำนักข่าว People’s Daily รายงานว่า บนเส้นทาง Chengdu-Lodz และ Chongqing-Duisburg ก็ได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการตามตารางเวลาเดินรถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรปอย่างเป็นทางการในฐานะรถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรปเจ้าแรกของประเทศ รถไฟบรรทุกสินค้าเส้นทางจีน-ยุโรป(เฉิงตู-ฉงชิ่ง) มีการเดินรถไฟมากกว่า 15,000 เที่ยว และบรรทุกตู้สินค้ามากกว่า 1.3 ล้านTEU (TEU: หน่วยนับตู้ คอนเทนเนอร์ยาว 20 ฟุต) มีการนำเข้าและส่งออกสินค้านับหมื่นชนิด กลายเป็นรถไฟบรรทุกสินค้าที่มีการเดินรถไฟมากที่สุด มีมูลค่าการขนส่งสูงสุด มีโครงสร้างสินค้าที่ดีที่สุดมีความร่วมมือทางภูมิภาคกว้างขวาง และมีการขนส่งที่มั่นคงที่สุดในประเทศ

ตั้งแต่ต้นปี 2567 รถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป มียอดขบวนรถไฟถึง 10,000 ขบวน มีการขนส่งสินค้ารวมทั้งหมด 1.083 ล้านTEU (TEU: หน่วยนับตู้ คอนเทนเนอร์ยาว 20 ฟุต) เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2566

โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 รถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป ได้ให้บริการการขนส่งใน 3 เส้นทางหลักดังนี้ เส้นทางภาคตะวันตก (ท่าด่าน Alashankou และ Horgos) มีจำนวนการขนส่งเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13 เส้นทางภาคกลาง (ท่าด่าน Erenhot) มีจำนวนการขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เส้นทางภาคตะวันออก (ท่าด่าน Manzhouli Suifenhe และ Tongjiangbei) มีจำนวนการขนส่งเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และในขณะเดียวกัน รถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป ที่ให้บริการในเส้นทางใต้ก็ได้มีการให้บริการขนส่งสินค้าถึง 111 ขบวน เพิ่มขึ้นถึง 15 เท่าเมื่อเทียบเป็นรายปี

นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2567 เป็นต้นมา รถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป ที่ข้ามผ่านเส้นทางทะเลแคสเปียนก็ได้เปิดให้บริการการขนส่งในรูปแบบ “หนึ่งวันหนึ่งขบวน” ทำให้ในปัจจุบัน สามารถเข้าถึง 224 เมือง ใน 25 ประเทศของยุโรป และเชื่อมต่อกว่า 100 เมืองใน 11 ประเทศของเอเชียสามารถให้บริการครอบคลุมทั่วทั้งทวีปยุโรปและเอเชีย

ในปัจจุบัน ประเทศจีนได้วางเส้นทางเดินรถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป ที่มีความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จำนวน 91 สาย เพื่อเชื่อมต่อกับ 61 เมืองในจีน และได้เพิ่มจำนวนขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรปจาก 5 ขบวนต่อสัปดาห์เป็น 17 ขบวนต่อสัปดาห์ นับตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. 2567 เป็นต้นมา นอกจากนี้แล้ว เมืองต่าง ๆ อาทิ นครฉงชิ่ง เมืองอี้วู เมืองอู่ฮั่น และเมืองกว่างโจว ก็ได้มีการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป ตามตารางเวลาเดินรถไฟเป็นครั้งแรก และยังมีการจัดตั้งจุดรับและส่งคืนตู้คอนเทนเนอร์ใน 15 ประเทศที่อยู่ตามเส้นทางการขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป จำนวน 101 จุด เพื่อความสะดวกในการใช้และส่งคืนตู้คอนเทนเนอร์ของลูกค้า อีกทั้งสินค้าที่ขนส่งผ่านรถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป มีทั้งหมดถึง 53 ประเภท และมากกว่า 50,000 รายการ

อย่างไรก็ดี การเพิ่มจำนวนขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรปและเส้นทางการขนส่งใหม่ ๆ ทำให้ประเทศไทยสามารถเชื่อมต่อกับตลาดยุโรปและเอเชียได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดใหม่ ๆ และนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้นเช่นกัน

เพื่อให้สามารถรองรับการขนส่งสินค้าจากจีนและยุโรปได้มากขึ้น ประเทศไทยควรเตรียมพร้อม ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การพัฒนาท่าเรือ รถไฟ และถนน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจในประเทศไทยมีโอกาสในการขยายตลาดและเพิ่มการขายสินค้าและบริการไปยังต่างประเทศได้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการร่วมมือกับบริษัทจากจีนและยุโรปในด้านต่าง ๆ การขยายเส้นทางขนส่งอาจเป็นการกระตุ้นให้นักลงทุนต่างประเทศมีความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากเห็นถึงโอกาสในการทำธุรกิจและการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ

ที่มา: https://thaibizchina.com

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.