CEO ARTICLE
สินค้าจีน
อะไรคือต้นเหตุให้สินค้าจีนเข้าไทยมากเกินไป ?
วันนี้ ทุกคนต่างยอมรับว่าสินค้าจีนมีราคาถูกมาก
หากจะเปรียบก็คล้าย ๆ ผู้ผลิตสินค้าที่มีเงินมาก ผลิตได้ต้นทุนต่ำมาก ได้สินค้าในปริมาณมาก อาจยอมขาดทุนในระยะแรก และนำไปทุ่ม ไปถล่มตลาดขายเพื่อกำจัดคู่แข่ง
เมื่อใดที่คู่แข่งสู้ไม่ได้ก็ต้องเลิกผลิต และปิดกิจการ
การทุ่ม การถล่มตลาดเกิดในหลายประเทศรวมทั้งไทย ประชาชนได้ซื้อของกินของใช้ราคาถูก ยอมรับคุณภาพตามราคา ยามเศรษฐกิจตกก็ชอบใจ คนไทยได้ประโยชน์
แต่ผู้ผลิตของไทยสู้ไม่ได้ ต้องปิดกิจการ ปิดมาก ๆ คนไทยก็ตกงานมาก ขาดรายได้
เมื่อการจ้างงานลดลง เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศก็ได้รับผลกระทบ สุดท้ายวนเวียนกลับไปหาประชาชนที่ซื้อสินค้าจีนราคาถูกที่ต้องตกงาน และขาดรายได้
คนไทยแม้จะได้ประโยชน์จากสินค้าจีนราคาถูก แต่อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คนไทยจะตกงานมากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่มีเงินในการดำรงชีพจนเป็นปัญหาสังคม
นี่คือความน่ากลัวของการถล่มตลาด ของราคาถูกมาก ๆ นักเศรษฐศาสตร์รู้ดี นักบริหารรู้ รัฐบาลรู้ นักการเมืองก็รู้ และรู้ว่า ประเทศส่วนใหญ่มีข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA (Free Trade Agreement) ที่ส่งผลให้สินค้าจีนได้ลดภาษี และเข้าไปในประเทศต่าง ๆ ง่ายขึ้น และรู้อีกว่า ทุกประเทศต่างก็มีกฎหมายของตนในการควบคุมสินค้ามิให้นำเข้ามากเกินไป
ประเทศไทยก็มีกฎหมายตั้งแต่การเริ่มจัดตั้งกิจการ และการดำเนินกิจการ ตัวอย่างเช่น
พรบ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522
พรบ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542
พรบ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542
พรบ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545
กฎหมายอื่น ๆ เกี่ยวกับมาตรฐานสินค้า
กฎหมายเกี่ยวกับการขายออนไลน์
กฎหมายไทยที่ใช้ควบคุมสินค้าจีนมีมาก บางฉบับเกี่ยวข้องตรง ๆ บางฉบับเกี่ยวข้องอ้อม ๆ และบางฉบับไม่เกี่ยวข้องเลย และหน่วยงานของรัฐที่ต้องกำกับดูแลกฎหมายมีมาก
กฎหมายมี ระบบดี แต่ทำไมสินค้าจีนยังเข้ามาสร้างความเสียหายอย่างที่เห็น ?
คำตอบคงหนีไม่พ้นหน่วยงานของรัฐที่ทำงานล่าช้า
แม้จะมีข่าวการเตรียมการ แม้มีข่าวการจัดประชุม การหารือ แม้มีข่าวรัฐมนตรีขยับตัว แต่ผลก็คือ ล่าช้า ไม่ทันกาล สินค้าจีนยังคงทะลักเข้ามาในไทยอย่างถูกและผิดกฎหมาย
หากติดตามข่าวสารจะพบว่า สหรัฐ และอินโดนีเซียตอบโต้เร็วมากโดยการใช้กฎหมาย มีการประกาศขึ้นภาษีสินค้าบางรายการจากจีนไปแล้วหลายเดือน ใช้กฎหมาย ใช้ภาษีเป็นกำแพงป้องกันประเทศ
ส่วนประเทศไทยมีแต่ข่าว มีแต่การเตรียมประชุม การขยับตัวอย่างเชื่องช้า
ผลจากการเพิ่มภาษีของสหรัฐและอินโดนีเซียทำให้รถยนต์ไฟฟ้า และสินค้าอื่น ๆ ที่มีราคาถูกของจีนเข้าไปถล่มขายได้ยากขึ้น ต้องหนี และต้องเบนเข็มไปขายในประเทศอื่น
คำว่า “ประเทศอื่น” คงหนีไม่พ้นประเทศไทยที่ต้องรับสินค้าที่ลดราคามากขึ้น
สินค้าจีนมีราคาขายต่ำอาละวาดทั่วโลก แต่ต่อต้านได้ด้วยมาตรการทางกฎหมาย แม้จะมีข้อตกลง FTA แต่ก็สามารถทบทวน เจรจา ต่อรอง หรือสร้างกฎหมายอื่นคู่ขนานได้
ประเทศไทยก็มีกฎหมาย กฎหมายไม่ดีก็แก้ไข ไม่เพียงพอก็ทำเพิ่ม
พอมีคำว่า “กฎหมาย” มันก็หนีไม่พ้นบรรดาท่าน ส.ส. และ ส.ว. ผู้มีหน้าที่ทำกฎหมาย หนีไม่พ้นรัฐบาล และรัฐมนตรีที่ต้องมีความรู้ มีความสามารถในการบังคับใช้กฎหมาย และหนีไม่พ้นนักการเมืองไทยที่ยังอยู่ในวังวนขั้วอำนาจ การแย่งชิงตำแหน่ง และผลประโยชน์ของตน
ประชาชนหลงเลือกนักการเมืองเพราะนโยบายแจกฟรี ไม่มองความรู้และความสามารถที่นักการเมืองควรมี นักการเมืองที่ได้อำนาจมาจึงมุ่งแต่แย่งชิงตำแหน่ง การต่อสู้กับสินค้าจีนจึงมีแต่ข่าวขยับตัวจนสินค้าจีน ทุนจีน จีนขาว และจีนเทาเข้ามาเกลื่อนกลาดประเทศไทย
“ของฟรีไม่มีในโลกนี้”
ประชาชนซื้อสินค้าจีนราคาถูกมากก็ได้รับผลทางเศรษฐกิจมาก เมื่อเลือกนักการเมืองที่ขาดวิสัยทัศน์ ไม่มีความรู้ และไม่มีความสามารถมากก็ต้องได้ผลอย่างนั้นตามไปด้วย
ต้นเหตุที่สินค้าจีนเข้ามาสร้างความเสียหายในประเทศไทยจึงอยู่ที่นักการเมืองล่าช้า และอยู่ที่ประชาชนที่เลือกนักการเมืองเหล่านี้เข้ามาสร้างความล่าช้า และความเสียหายต่อประเทศ
การแก้ไขจึงเป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องเร่งรัด เป็นเรื่องของการกระตุ้นจากทุกฝ่ายให้เร่งรัดมากกว่านี้ เป็นเรื่องของประชาชนที่ต้องตระหนักรู้ในการเลือกซื้อ และเลือกนักการเมือง
สินค้าจีน ทุนจีน จีนขาว และจีนเทาเข้ามาได้ก็เพราะกฎหมาย
การป้องกัน และการแก้ไขก็ทำได้ด้วยกฎหมาย ด้วยคนของรัฐ และด้วยมือของประชาชนที่เลือกนักการเมือง หากเลือกคนที่ขาดวิสัยทัศน์ เอาแต่แย่งชิงอำนาจ ทำงานล่าช้า ประตูประเทศก็เปิดกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ศัตรูก็เข้ามาทำลายประเทศและประชาชนมากขึ้นเรื่อย ๆ เท่านั้นเอง.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
for Home and Health,
please visit https://www.inno-home.com
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : August 27, 2024
Logistics
กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวันออกมาตรการจำกัดการใช้ชิ้นส่วนรถยนต์จากจีน
ตามระเบียบการนำเข้าของศุลกากรไต้หวัน ไต้หวันไม่อนุญาตให้นำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนช่วงล่างของรถยนต์ (Chassis) จากจีน อย่างไรก็ดี มีผู้นำเข้าในไต้หวันใช้วิธีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ทั้งคัน (Completely Knocked Down) มาประกอบในไต้หวัน แล้วจำหน่ายโดยระบุว่าเป็นรถยนต์ที่ผลิตภายในไต้หวัน ทำให้ MG ซึ่งเคยเป็นแบรนด์รถยนต์อังกฤษที่ถูก Take Over โดยบริษัทจีน สามารถขยายส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์ของไต้หวันได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ล่าสุด กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวันออกมาตรการใหม่ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 โดยกำหนดเงื่อนไขสัดส่วนของชิ้นส่วนที่ผลิตในไต้หวันสำหรับรถยนต์แบรนด์ทุนจีนหรือต่างประเทศ ซึ่งใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในจีนและนำเข้ามาประกอบในไต้หวัน
ในปี 2566 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในไต้หวันมีจำนวนรวม 476,987 คัน ถือเป็นปริมาณที่มากที่สุดตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา โดยรุ่นที่มียอดขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก คือ Toyota Corolla Cross (จำนวน 37,412 คัน) , Toyota RAV4 (จำนวน 18,387 คัน) และ Toyota Town Ace (จำนวน 18,259 คัน) ในขณะที่ MG HS เป็นรถยนต์ขายดีอันดับ 8 ด้วยจำนวน 11,710 คัน มากกว่า Tesla Model Y ซึ่งอยู่ในอันดับ 10 ด้วยจำนวน 9,697 คัน ซึ่งกระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน เห็นว่ากรณีที่ MG ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในจีนมากถึงร้อยละ 95 แต่กลับระบุว่าเป็นรถยนต์ที่ผลิตในไต้หวันนั้น ถือว่าไม่มีส่วนช่วยในการพัฒนาของอุตสาหกรรมรถยนต์ในไต้หวัน จึงกำหนดให้แบรนด์รถยนต์ที่เป็นแบรนด์จีน เช่น BYD, Geely หรือแบรนด์ต่างประเทศที่มีทุนจีนเป็นเจ้าของ เช่น MG, Volvo หรือแบรนด์ที่ทุนจีนร่วมทุนกับต่างประเทศ เช่น BEIJING-HYUNDAI รวมถึงแบรนด์รถยนต์ต่างประเทศที่ผลิตในประเทศจีน นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป หากต้องการวางจำหน่ายในตลาดไต้หวัน จะต้องมีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในไต้หวันในสัดส่วนที่ไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้เป็นขั้นบันได โดยในปีแรกจะต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ปีที่ 2 ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และปีที่ 3 เป็นต้นไปต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 สำหรับรถยนต์รุ่นที่มีการเริ่มวางจำหน่ายไปแล้ว จะต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในไต้หวัน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ในปีแรก ปีที่ 2 ต้องมีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และปีที่ 3 เป็นต้นไปต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 เช่นกัน หากสัดส่วนของชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศไม่ถึงตามเกณฑ์ที่กำหนด รัฐบาลจะไม่อนุญาตการออกป้ายทะเบียนรถยนต์ใหม่ให้ ซึ่งหลังจากที่กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวันได้ประกาศมาตรการใหม่ เป็นต้นมา China Motor ซึ่งเป็นผู้นำเข้าแบรนด์ MG ชี้ว่า บริษัทฯ มีแผนจะเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศอยู่แล้ว เดิมทีคาดว่าภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 จะมีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในไต้หวันในสัดส่วนร้อยละ 15-20 แต่การประกาศบังคับใช้มาตรการใหม่อย่างกะทันหัน ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถเตรียมการแก้ไขปัญหาล่วงหน้าได้ เช่นเดียวกับบริษัท Yulon Motor ที่เป็นตัวแทนและเป็นผู้ผลิตรถยนต์ Nissan ในไต้หวัน ซึ่งมีแผนจะนำเข้ารถยนต์แบรนด์จีน คือ MAXUS เข้ามาสู่ตลาดไต้หวัน ก็อาจจะต้องเลื่อนแผนการดำเนินธุรกิจในส่วนนี้ออกไปก่อน
นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญของไต้หวันชี้ว่า แม้จะดูเหมือนว่ามาตรการนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อ MG ที่เป็นแบรนด์ซึ่งทุนจีนเป็นเจ้าของ แต่ในระยะยาวแล้ว เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อแบรนด์ต่างประเทศอื่นๆ อีกหลายแบรนด์ด้วย เช่น Ford, Nissan, Honda, Toyota เป็นต้น ที่ต่างก็มีการนำเข้ารถยนต์รุ่นที่ผลิตในจีน หรือใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในจีน ก็จะถูกข้อจำกัดเกี่ยวกับสัดส่วนของชิ้นส่วนที่ผลิตภายในไต้หวันมาใช้บังคับด้วยเช่นกัน
ที่มา: BNEXT Media / Central News Agency / Yahoo! News (August 9-13, 2024)
ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.
การประกาศบังคับใช้มาตรการสำหรับรถยนต์ที่ใช้ชิ้นส่วนจีนในการผลิตในครั้งนี้ ไม่ได้ครอบคลุมถึงชิ้นส่วนที่ผลิตจากประเทศอื่นนอกจากจีน และการที่ปัจจุบัน ไทยถือเป็นฮับสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ในส่วนของรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง อีกทั้งการที่รัฐบาลไทยเร่งส่งเสริมและยกระดับให้ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า จึงทำให้ไทยมีศักยภาพที่จะกลายเป็นแหล่ง Supply ชิ้นส่วนรถยนต์ให้กับผู้ผลิตรถยนต์ในไต้หวันต่อไป
ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/180023
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!