CEO ARTICLE

แรงงานเพื่อนบ้าน

Published on September 3, 2024


Follow Us :

    

ข้อเรียกร้องของแรงงานประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นจริงหรือไม่ ?

วันนี้ ไม่ว่าผู้ผลิต ผู้ประกอบการรายเล็ก รายใหญ่ หรือแม้แต่พ่อบ้าน แม่เรือนต่างยอมรับว่า แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านคือ ความจำเป็นของประเทศไทย
เหตุผลลำดับต้นคงหนีไม่พ้นเรื่องทางเศรษฐกิจ
กิจการและครอบครัวต่างต้องการแรงงานราคาถูก อยากให้ต้นทุนต่ำ ยิ่งในยามเศรษฐกิจตกต่ำ ยอดขายไม่ดี รายได้ไม่เพิ่ม ทุกคนยิ่งต้องการเงินให้เหลือเก็บเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น
ขณะที่แรงงานของไทยเกี่ยงงานหนัก และเลือกงานเฉพาะที่ให้รายได้อย่างที่ต้องการ
แล้วอยู่ ๆ ต้นเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมาก็เกิดข่าวเล็ก ๆ เกี่ยวกับแรงงานประเทศเพื่อนบ้านที่ทำงานในประเทศไทยยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อต่อรัฐบาลไทยซึ่งพอจะสรุปสั้น ๆ ได้ คือ
1. นักการเมืองของตนต้องลี้ภัยในไทยได้
2. แรงงานอยู่และทำธุรกิจได้เหมือนคนไทย
3. ลูกหลานได้ศึกษา และได้ทำงานในไทย
4. แรงงานสูงอายุได้บัตรยังชีพเหมือนคนไทย
5. ตัวแทนของตนสามารถอยู่อาศัยในไทยได้
6. คนในชาติของตนต้องอยู่ในไทยได้นาน ๆ
7. สามารถระดมทุนเพื่อคนในชาติของตนได้
8. สามารถสร้างสหภาพอิสระในไทยได้
9. แรงงานได้อิสรภาพในด้านต่าง ๆ
10. แรงงานเปลี่ยนงานได้อย่างอิสระ
10 ข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นไม่เป็นข่าวใหญ่ เกิดขึ้นแล้วเงียบหาย คนไทยส่วนหนึ่งได้ข่าวก็รู้ว่า ข้อเรียกร้องส่งผลกระทบต่อกฎหมายปัจจุบันและความมั่นคง ดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้
วันนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่วันข้างหน้าใครจะกล้ายืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ ?

ในระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่ทำไม่ได้ล้วนเกิดจากกฎหมายบัญญัติให้ทำไม่ได้
แต่หากจะให้ทำได้ก็ง่าย ๆ เพียงแค่แก้ไขกฎหมายเก่า หรือสร้างกฎหมายใหม่เพื่อให้ทำได้ ตัวอย่างเช่น คนชายขอบแผ่นดิน คนไร้บ้าน ไร้ที่ทำกิน ไร้บัตรประชาชน หากต้องการให้คนเหล่านี้มีที่ทำกิน หรือมีบัตรประชาชนก็แค่สร้างกฎหมายรองรับโดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างก็จะทำได้
ในอดีต พลตรีจำลอง ศรีเมือง จะเป็นผู้นำต่อต้านอบายมุขตัวฉกาจ
แต่วันนี้ ข่าวการทำกฎหมายให้มีบ่อนกาสิโน ให้มีโสเภณี หรือผ่อนคลายสิ่งเสพติดต่าง ๆ ออกสื่อให้แสดงความคิดเห็นกันอย่างเปิดเผย มีเสียงสนับสนุน และมีเสียงผู้คัดค้านไปทั่ว
ทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะเดินไปสู่คำตอบสุดท้าย
ยิ่งหากนักการเมืองแอบมีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือต้องการคะแนนนิยมจากคนในแวดวงเหล่านี้ เหตุผลต่าง ๆ นานาจะถูกหยิบยกขึ้นมา รับฟังได้บ้าง รับฟังไม่ได้บ้าง แต่ทุกเหตุผลจะค่อย ๆ เพิ่มความสำคัญ และกลายเป็นความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายรองรับ
การให้ต่างชาติครอบครองที่ดินอย่างง่าย ๆ และยาวนานก็อีกเรื่อง มีที่มา มีที่ไป มีเหตุผล มีผลประโยชน์ที่นายทุนอยากได้ มีผลประโยชน์ทับซ้อนและคะแนนนิยมที่นักการเมืองใฝ่หา
นับประสาอะไรกับข้อเรียกร้อง 10 ข้อของแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน
แรงงานหลายคนเข้ามาอยู่ประเทศไทยนานมาก ตั้งถิ่นฐาน มีครอบครัว มีลูก มีหลาน พูดภาษาไทย ซึมซับวัฒนธรรมไทย และรักประเทศไทยจริง ๆ แต่ไม่ได้รับการรับรองให้เป็นคนไทย
แรงงานหลายคนเพิ่งเข้ามาไม่นาน หลายคนก็ไม่ได้รักประเทศไทย เข้ามาหวังทำงาน หวังสร้างเนื้อสร้างตัว และแรงงานหลายคนเข้ามาก่ออาชญากรรม ก่อความเสียหายให้กับคนไทย
ต่าง ๆ นานาเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุผลให้มีกฎหมาย ให้ได้รับการสนับสนุน หรือให้เกิดเสียงคัดค้าน ใครได้ประโยชน์ด้านไหนก็จะหยิบเหตุผลด้านนั้นขึ้นมา
วันนี้ คนไทยส่วนใหญ่มีส่วนร่วมทางการเมืองเพียงแค่หย่อนบัตรเลือกตั้ง
จากนั้นก็ปล่อยให้นักการเมืองแย่งชิงอำนาจจัดตั้งรัฐบาล และทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ มันจึงไม่แน่ว่าวันหนึ่ง ประโยชน์จากแรงงานประเทศเพื่อนบ้านอาจมีมากขึ้น อาจเป็นคะแนนเสียงให้นักการเมือง และทำให้ข้อเรียกร้องที่อาจมากกว่า 10 ข้อข้างต้นเป็นจริงก็ได้
ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง เสียงประชาชนคือพลังที่นักการเมืองเกรงกลัวที่สุด แต่ประชาชนก็อาจถูกหลอกง่ายที่สุดด้วยนโยบายลวงของนักการเมืองเช่นกัน
ข้อเรียกร้อง 10 ข้อของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นจริง หรือไม่เป็นจริงจึงขึ้นอยู่กับประชาชนที่ไปเลือกนักการเมืองแบบไหน ประเทศก็เป็นแบบนั้นตามไปด้วย.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
for Home and Health,
please visit https://www.inno-home.com

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : September 3, 2024

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

สะพานเชื่อมฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเขต GBA

ตามรายงานของศุลกากรท้องถิ่น มูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าผ่านด่านสะพานเชื่อมฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ทะลุ 9 แสนล้านหยวน (ราว 126,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของศูนย์กลางการคมนาคมขนาดใหญ่แห่งนี้ในฐานะประตูการค้าสำคัญของภูมิภาค นับตั้งแต่เปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2561 จนถึงกรกฎาคม 2567 มูลค่าการค้ารวมแตะระดับ 902,190 ล้านหยวน โดยด่านนี้ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมการค้าระหว่างทุกมณฑล เทศบาลนคร และเขตบริหารท้องถิ่นจีนทั้ง 31 แห่งของจีนแผ่นดินใหญ่

ข้อมูลสถิติจากศุลกากรชี้ให้เห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยใช้เวลาสองปีในการสะสมมูลค่าการค้า 100,000 ล้านหยวนแรก ขยับสู่ 200,000 ล้านหยวนในอีกเจ็ดเดือนถัดมา และล่าสุดเพิ่มขึ้นอีก 100,000 ล้านหยวนในเวลาเพียง
ห้าเดือน สะพานแห่งนี้ได้พัฒนาเป็นเส้นทางด่วนสำหรับการขนส่งสินค้ามูลค่าสูง ผลิตภัณฑ์อาหารสด และพัสดุพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ครบวงจรที่เร่งการบูรณาการและพัฒนาด้านโลจิสติกส์ การเงิน และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับฮ่องกงและมาเก๊า

ความคิดเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง
สะพาน ฮ่องกง – จูไห่- มาเก๊า ถูกสร้างขึ้นเพื่อยกระดับการคมนาคมในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ GBA (Greater Bay Area) ฮ่องกงในฐานะที่ตั้งอยู่เป็นจุดศูนย์กลางยุทศาสตร์การค้า มีท่าเรือที่สำคัญและเป็นที่ตั้งของสนามบินขนาดใหญ่ที่ทันสมัย การคมนาคมขนส่งที่รวดเร็วจะช่วยอำนวยความสะดวกและสร้างมูลค่าโดยตรงแก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออก ผู้ประกอบการทั้งในฮ่องกงและจีนที่ประกอบธุรกิจนำเข้าสินค้าจากไทยจึงมีช่องทางที่จะขยายธุรกิจมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าไทยเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/181021

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.