CEO ARTICLE
จริยธรรม
จริยธรรมกำลังจะทำให้การเมืองของไทยเปลี่ยนไปหรือไม่ ?
ก่อนปี พ.ศ. 2540 การเมืองไทยตกอยู่ภายใต้ผู้มีอิทธิพลเป็นส่วนใหญ่
ภายหลังการเลือกตั้งทุกครั้ง การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีต่าง ๆ มักเป็นไปตามโควต้าของคนที่นำ ส.ส. เข้าสภาได้มาก นายทุนท่ี่ให้เงินพรรค คนในครอบครัว หรือตามคำสั่งของผู้มีอิทธิพล
คนเป็นรัฐมนตรีส่วนใหญ่ไม่ผ่านการแข่งกันด้วยระบบคุณธรรมภายในพรรค อาจมีให้เห็นบ้าง แต่ก็เป็นแบบอุปถัมภ์มากกว่า ความรู้ ความสามารถ และความซื่อสัตย์จึงไม่เป็นที่ประจักษ์ต่อประชาชน พรรคการเมืองจึงเป็นเพียงแหล่งชุบตัวให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลเข้าสู่การเมือง
เมื่อรัฐมนตรีไร้คุณภาพก็ต้องคอยรับคำสั่งจากผู้มีอิทธิพล เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ทุจริตมีมาก ปัญหาสะสม ขาดการพัฒนาเชิงระบบ ประชาชนจึงจมอยู่กับความยากจนไม่จบสิ้น เป็นข้ออ้างให้เกิดการรัฐประหาร ยกเลิกรัฐธรรมนูญ และสร้างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นวงจรอุบาทไม่รู้จบ
ปี พ.ศ. 2535 ก็เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เกิดการปฏิรูปการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วม
จากนั้นก็เกิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีการนำคำว่า “จริยธรรม” ของนักการเมืองมาใช้ แต่ไม่เข้มข้น พอถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก็ยังใช้ แต่ ยังไม่สำแดงฤทธิ์เดชมากนัก
พอถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 คำว่า “จริยธรรม” ก็ถูกปรับแต่งจนออกฤทธิ์เดชให้เห็น
ตัวอย่างเช่น มาตรา 160 กำหนดคุณสมบัติของรัฐมนตรีต้อง (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เมื่อรวมกับมาตราอื่น และ พรบ. มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 คำว่า “จริยธรรม” จึงค่อย ๆ สำแดงฤทธิ์เดชมากขึ้น และมีทีท่าจะเปลี่ยนประเทศไทย
ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน มี.ค. 2562 มีการร้องเรียนนักการเมือง พรรคการเมือง และรัฐมนตรี มี ส.ส. ถูกตัดสิทธิ์ และมีพรรคการเมืองถูกยุบ มีคนได้ประโยชน์ และมีคนเสียจากคำว่า “จริยธรรม” จนคนเสียประโยชน์มองว่า จริยธรรมเข้าใจยาก และถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้ง
กระทั่งการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน พ.ค. 2566 การร้องเรียนก็มากขึ้นจนนายเศรษฐา ทวีสิน ต้องหลุดออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยข้อหา “การไม่ซื่อสัตย์สุจริต และฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” กรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบานที่ในอดีตเคยต้องโทษมาเป็นรัฐมนตรี
ผลของคำตัดสินนี้ทำให้ชัดเจนว่า การตั้งรัฐมนตรีเป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี
เมื่อใดที่นายกฯ แต่งตั้งคนไม่ซื่อสัตย์สุจริต หรือฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม นายกฯ ต้องผิดด้วย นอกจากจะหลุดจากตำแหน่งแล้วก็อาจถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาไม่ซื่อสัตย์สุจริตไปด้วย
หลายคนจึงมองว่า จริยธรรมกำลังจะทำให้การเมืองของไทยเปลี่ยนไปจริง ๆ
คำว่า “ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” เป็นคำชัดเจนที่พอจะเข้าใจได้
แต่คำว่า “จริยธรรม” มีความหมายกว้าง แม้รัฐธรรมนูญ และ พรบ. จริยธรรมฯ จะบัญญัติถ้อยคำไว้มาก แต่ก็เข้าใจยาก จับต้องยาก ต้องตีความ และทำให้คนมองว่าเป็น “นามธรรม”
หลายกรณีเป็นพฤติกรรมนานแล้ว ถูกตัดสินแล้ว บางกรณีเป็นการรับมรดกที่ผู้รับไม่รู้ถึงที่มาของทรัพย์ แต่ศาลรัฐธรรมนูญและศาลฏีกาของผู้ดำรงตำแหน่งฯ ตีความในทางเดียวกันว่าเป็นเรื่องที่ต้อง “พึงรู้” และชี้เป็นบรรทัดฐานว่าเป็นพฤติกรรมที่ “ขัดต่อมาตรฐานจริยธรรม”
วันนี้ พรรคการเมืองจึงระมัดระวังในการเลือกนายกรัฐมนตรีมากขึ้น และคนที่เป็นนายกฯ ก็ต้องระมัดระวัง และหวาดระแวงการแต่งตั้งรัฐมนตรีประจำกระทรวงมากขึ้น
แต่จนแล้วจนรอด การเมืองก็คือการเมืองที่มีผลประโยชน์ของตนอยู่เหนือประชาชน
ทุกพรรคการเมืองจึงดูเหมือนกันหมด ผู้มีอิทธิพลเหนือพรรคจึงสำคัญกว่าการรักษาคำพูด สำคัญกว่าวิสัยทัศน์ สำคัญกว่าความรู้ ความสามารถ และความซื่อสัตย์ที่จะนำมาพัฒนาประเทศ และแก้ไขปัญหาของประชาชน
คณะรัฐมนตรีจึงยังมีสภาพโควต้า มีการสลับตัวให้เป็นไปตามโควต้า มีจริยธรรมเป็นพิธีที่ไม่ต่างจากการแสดง แต่จะแสดงอย่างไรก็ยังสื่อถึงผู้มีอิทธิพล และสื่อถึงการดูถูกประชาชน
วันนี้ไม่มีใครตอบได้ว่า จริยธรรมจะเป็นการแสดงของนักการเมืองไปเรื่อย ๆ ประเทศไทยยังเหมือนเดิม โควต้า และผู้มีอิทธิพลยังเหมือนเดิม หรือประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนไปจนวันหนึ่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะเกิดจากการแข่งขันด้วยระบบคุณธรรม ด้วยจริยธรรมภายในพรรคจนได้ผู้นำที่เก่งที่สุดจากทุกพรรคมาแข่งขันให้ประชาชนเลือกแทนการเลือกโดยผู้มีอิทธิพลของพรรค
นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีก็คือตัวแทนของนักธุรกิจ ข้าราชการ ปัญญาชน และคนไทยทุกคน หากได้คนที่ไร้ความสามารถ ดีแต่พูด แต่ไม่รักษาคำพูด ความซื่อสัตย์ไม่เป็นที่ประจักษ์ มีจริยธรรมต่ำ และอยู่ภายใต้ผู้มีอิทธิพล คนไทยทุกคนก็คงหนีไม่พ้นตัวตลกให้ชาวโลกขบขัน
ทุกอย่างจึงอยู่ที่ความรู้ และความเข้าใจของประชาชน
ประชาชนเลือกอย่างไร ประเทศก็มีหน้าตาอย่างนั้น และเปลี่ยนทางนั้นไปด้วย.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
for Home and Health,
please visit https://www.inno-home.com
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : September 10, 2024
Logistics
ทำความรู้จัก ‘Airbus Beluga’ ลงจอดดอนเมือง ทำไมเจ้าปลาวาฬทำคนรักเครื่องบินตื่นเต้น?
ทำความรู้จักกับเครื่องบิน “Airbus Beluga” เครื่องบินขนส่งหน้าตาสุดแปลก จนถูกเรียก “ปลาวาฬเบลูกา” ที่ทำเอาคนรักเครื่องบินสุดตื่นเต้น หลังบรรทุกเฮลิคอปเตอร์มาแวะจอดที่สนามบินดอนเมือง!
ทำเอาคนรักเครื่องบินต่างตื่นเต้น พร้อมแชร์โมเมนต์นาทีลงจอดของ “Airbus Beluga” ที่สนามบินดอนเมือง เมื่อช่วงค่ำวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา จนทำเอาชาวเน็ตต่างสงสัยไปตามๆ กันนั้น
สำหรับ เครื่องบิน “Airbus Beluga” นั้น ทางแฟนเพจเกี่ยวกับเครื่องบิน ที่มีผู้ติดตามกว่า 2.4 แสนคน อย่าง “Hflight” ได้ออกมาอัปเดตระบุว่า “Beluga ลงจอดดอนเมืองแล้ว เครื่องบินขนส่งสินค้าที่มีขนาดใหญ่พิเศษ Airbus A300-600 Super Transporter” ภาพที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อสักครู่ที่ผ่านมา เมื่อ Airbus A300-600 Super Transporter หรือ A300-600ST หรือที่เรียกกันว่า Airbus Beluga ได้ลงจอดบน Runway 21R
เครื่องบินลำที่เดินทางมาดอนเมือง (DMK) ในวันนี้ เป็น A300-600ST รหัสสายการผลิต MSN765 ทะเบียน F-GSTC หรือ Airbus Beluga หมายเลข 3 A300-600ST เป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าที่ดัดแปลงมาจาก A300-600 เพื่อใช้ในภารกิจขนส่งสินค้าที่มีรูปร่างหรือขนาดใหญ่พิเศษ เดิมทีนั้น แอร์บัสใช้เพื่อขนส่งชิ้นส่วนเครื่องบินจากแหล่งผลิตต่าง ๆ ในยุโรป เพื่อนำมาส่งยังสายการผลิตขั้นสุดท้ายที่ตูลูสหรือฮัมบูร์กเป็นหลัก โดยได้มีการทำการบินเที่ยวแรกเมื่อกันยายน 2537 และใช้ในภารกิจการขนส่งของแอร์บัสมาตั้งแต่ปี 2538 โดยระวางสินค้าของ A300-600ST นั้น มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 7.4 เมตร และยาว 37.7 เมตร โดยมีการผลิต A300-600ST จำนวนทั้งสิ้น 5 ลำ
จนกระทั่งภายหลัง แอร์บัสได้ประกาศในปี 2557 ว่าจะดำเนินการพัฒนาเครื่องบินขนส่งมาทดแทนฝูงบิน A300-600ST หรือ Airbus Beluga โดยจะพัฒนาจาก A330-200 และต่อมากลายเป็น A330-743L หรือที่เรียกว่า Airbus BelugaXL แทน เมื่อมีการทยอยผลิตและนำ Airbus BelugaXL เข้ามาให้บริการแทนในเดือนมกราคม 2563 บทบาทของ Airbus Beluga ในการใช้ขนส่งชิ้นส่วนเครื่องบินเพื่อนำมาประกอบ ก็ค่อย ๆ ลดลง จนกระทั่งในเดือนมกราคม 2565 แอร์บัสได้เปิดตัวบริการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีขนาดใหญ่พิเศษแต่ต้องการการขนส่งทางอากาศ โดยจะใช้ฝูงบิน Airbus Beluga ในการให้บริการ เพราะภารกิจหลักในการขนส่งชิ้นส่วนเครื่องบินระหว่างโรงงานแห่งต่าง ๆ ในยุโรปของแอร์บัส มีฝูงบินใหม่คือ Airbus BelugaXL ทำหน้าที่แทนแล้วจากจำนวน Airbus BelugaXL ที่ได้ประกอบเสร็จ และเข้าประจำการเพิ่มมากขึ้น (ปัจจุบันมี Airbus BelugaXL ถึง 6 ลำแล้ว) ทำให้เรามีโอกาสได้เห็น Airbus Beluga รับจ้างขนส่งสินค้าไปยังที่ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยบทบาทหน้าที่ใหม่นี้
สำหรับการเดินทางมายังดอนเมือง กรุงเทพฯ ในค่ำวันนี้ เป็นภารกิจการขนส่ง H175 จำนวน 2 ลำ จากโรงงาน Airbus Helicopters ในมาร์กเซย (MRS) เพื่อไปส่งยังชิงเต่า (TAO) โดยเครื่องบินได้แวะผ่าน ไคโร (CAI) มัสกัต (MCT) ไฮเดอราบัด (HYD) จนมาถึงดอนเมือง ในค่ำนี้ และจะออกเดินทางต่อไปยังฮ่องกง (HKG) ก่อนจะต่อไปยังปลายทางที่ชิงเต่า…
ที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/3811501/
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!