CEO ARTICLE
ครูเบญ
ข่าวครูเบญจะทำให้ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยหมดไปหรือไม่ ?
สัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวครูเบญเป็นที่ติดตามของคนทั้งประเทศ
ต้นเดือน ก.ย. 2567 ครูเบญ (น.ส. เบญญาภา เย็นอุดม) อายุ 24 ปี เข้าสอบเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการครูที่ สพม. (สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา) จังหวัดสระแก้ว
วันที่ 9 ก.ย. 2567 สพม. สระแก้วมีประกาศว่า ครูเบญสอบได้ที่ 1
วันที่ 12 ก.ย. 2567 สพม. สระแก้วมีประกาศใหม่ ชื่อครูเบญหายไป แต่มีชื่อคนอื่นได้ที่ 1 แทน ข่าวแจ้งว่านามสกุลเกี่ยวพันกับคนมีตำแหน่ง แถมไม่ได้ติด 1 ใน 10 ในประกาศครั้งแรก และยิ่งน่าประหลาดมากขึ้นเมื่อประกาศครั้งใหม่ไม่มีชื่อครูเบญอยู่ในรายชื่อ 1 ใน 10 เช่นกัน
ครูเบญช็อก ตกใจ โพสต์ในโซเซียล ข่าวกระจายไปอย่างรวดเร็ว
สื่อมวลชนให้ความสนใจ มีทนายความชื่อดังให้ความช่วยเหลือ มีการเชิญเจ้าหน้าที่ สพม. ที่เกี่ยวข้องออกสื่อ แต่การตอบคำถามยิ่งทำให้ประชาชนสงสัย
ทำไมประกาศครั้งใหม่ไม่มีหลักฐานและคำชี้แจงใด ๆ ?
ทำไมไม่เปิดเผยกระดาษคำตอบให้เร็วคล้ายมีการแก้ไข ?
ทำไมคนใหม่ที่ได้ที่ 1 จึงไม่ติด 1 ใน 10 ในประกาศครั้งที่ 1 ?
ทำไมครูเบญไม่ติด 1 ใน 10 ในประกาศครั้งที่ 2 ?
ทำไมคนใหม่ที่ได้ที่ 1 จึงไม่ออกมาแสดงตนรักษาสิทธิ์ของตน ?
ทำไมเสนอเยียวยาครูเบญด้วยตำแหน่งครูอัตราจ้างซึ่งไม่ใช่ข้าราชการ ?
ทำไมผลสอบจึงช้า เลื่อนแถลงผลหลายครั้ง และมีแต่ข่าวปล่อยว่าครูเบญสอบไม่ผ่าน ?
เรื่องร้องเรียนถึงกระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการการศึกษาพื้นฐาน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่เรื่องก็ยังช้า และยิ่งทำให้ประชาชนสงสัยมากยิ่งขึ้น
ครูเบญจะทำให้ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยหมดไป หรือเป็นเพียงมวยล้มต้มคนดู ?
ระบบอุปถัมภ์ (Patronage System) ฝังรากลึกในสังคมไทยมายาวนาน
ระบบอุปถัมภ์จะเกิดขึ้นในหมู่ญาติ หมู่มิตรสหาย ในองค์กร ในอาชีพต่าง ๆ และลุกลามสู่การเมือง การเข้าสู่ตำแหน่งต่าง ๆ ทางการเมือง และการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีที่มีอำนาจสั่งการข้าราชการ และมีอำนาจตรวจสอบคนทำผิดทุกเรื่องเช่นกรณีครูเบญ
ระบบอุปถัมภ์อยู่ตรงข้ามกับระบบคุณธรรม (Merit System) ผลเสียจึงมีมาก
ตัวอย่างผลเสียเช่น การคัดเลือกคนจะมุ่งไปที่ความสัมพันธ์มากกว่าความรู้ ความสามารถ ผู้ได้รับการอุปถัมภ์จะมุ่งรับใช้คนที่อุปถัมภ์มากกว่างาน องค์กรและประเทศจึงไม่พัฒนา และจะมีการเมืองที่เหนือกว่าเข้าช่วยเหลือ สร้างการอุปถัมภ์ทับซ้อนหลายชั้นไม่รู้จบ
คนเข้าหาผู้อุปถัมภ์ส่วนใหญ่เกิดจาก 2 สาเหตุ
1. ตนเองรู้ตัวดีว่าสู้คนอื่นไม่ได้ ต้องแพ้ แต่อยากชนะ
2. ตนเองมีพรรค มีพวก มีเส้น และมีผู้อุปถัมภ์ที่เหนือกว่า
คนที่ติดตามข่าวครูเบญก็ไม่ต่างกัน ตอนเลือกนักการเมือง คนส่วนใหญ่เลือกนักการเมืองที่ให้ความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือด้านการเงิน การแก้ไขปัญหาท้องถิ่นของตน ตอนน้ำท่วม หรือเลือกจากคนที่รู้จักเพื่อจะได้เข้าหาเมื่อต้องการความช่วยเหลือ
คนส่วนน้อยจริง ๆ ที่เลือกจากความรู้ ความสามารถ และความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์
หลังเลือกตั้ง ส.ส. ก็ต้องเข้าหาผู้อุปถัมภ์เพื่อให้เป็นกรรมาธิการ เป็นรัฐมนตรี ให้มีอำนาจ และต้องคอยสนองต่อผู้ให้อุปถัมภ์ไม่รู้จบเพื่อรักษาตำแหน่งทางการเมืองของตนไว้ให้ยาวนาน
คนที่เข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยความรู้ ความสามารถ และด้วยระบบคุณธรรมจึงมีน้อย แต่รัฐมนตรีที่ได้ตำแหน่งด้วยโควต้า ด้วยการเป็นลูก เป็นญาติ ด้วยระบบอุปถัมภ์กลับมีมากกว่า
หากตำแหน่งทางการเมืองและรัฐมนตรีเอาจริง สั่งการให้ตรวจสอบเรื่องครูเบญให้รวดเร็ว ให้ชัดเจน ทำความจริงให้ปรากฏ และให้สิ้นสงสัย แบบนี้ระบบอุปถัมถ์ในท้องถิ่นจะลดลง สังคมไทยจะค่อย ๆ เข้าสู่ระบบคุณธรรมมากขึ้น และประเทศจะพัฒนามากขึ้น
แต่นี่เรื่องครูเบญกลับล่าช้า มีเหตุให้สงสัยมากมาย
ไม่ว่าครูเบญจะสอบได้ที่ 1 จริงหรือไม่ คนที่ติดตามเรื่องนี้ต่างก็มองไปถึงการอุปถัมภ์ ยิ่งมีข่าวครูเบญไม่สู้ต่อก็ยิ่งทำให้ข้อสงสัยข้างต้นถูกตีความว่ามีระบบอุปถัมภ์จริงจนครูเบญถอดใจ
หากครูเบญถอดใจ ถูกกดดัน และหากนักการเมืองที่มีตำแหน่งไม่ตรวจสอบจริง ตรวจแค่เป็นพิธี เรื่องนี้คงเป็นได้แค่มวยล้มต้มคนดู และสังคมไทยก็คงจมอยู่ในระบบอุปถัมถ์ต่อไป
ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยจะหมดไปได้จริงต้องเริ่มที่การเมือง การเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยระบบคุณธรรม เมื่อเจอสิ่งผิดก็สั่งการให้ตรวจสอบจริง ทำความจริงให้ปรากฎเร็ว แก้ไขสิ่งผิดให้ถูกต้องเร็ว และส่งเสริมระบบคุณธรรมให้เด่นชัดในสังคมไทย ระบบอุปถัมถ์จึงจะหมดไปได้
ทุกอย่างอยู่ที่การเมือง ประชาชนส่วนใหญ่เลือกนักการเมืองอย่างไรก็ได้นักการเมืองอย่างนั้น และได้รัฐบาลอย่างนั้น สุดท้ายก็ได้ระบบคุณธรรม หรือระบบอุปถัมภ์อย่างที่เลือกไปด้วย.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
for Home and Health,
please visit https://www.inno-home.com
ข่าวครูเบญจะทำให้ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยหมดไปหรือไม่ ?
ครูเบญจะทำให้ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยหมดไป หรือเป็นเพียงมวยล้มต้มคนดู ?
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : September 24, 2024
Logistics
อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศของบังกลาเทศ: เติบโตสูงสุดหลังการระบาดของ COVID-19
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศของบังกลาเทศได้แสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่น่าทึ่ง หลังจากผ่านช่วงวิกฤตการระบาดของ COVID-19 อุตสาหกรรมนี้กำลังกลับมาอยู่ในระดับสูงสุด โดยมีการขนส่งสินค้าทางอากาศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและการค้าในประเทศ
การฟื้นตัวหลังการระบาด
การระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมการขนส่งทั่วโลก โดยเฉพาะการขนส่งทางอากาศ แต่ในขณะนี้ บังกลาเทศได้เริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบดังกล่าว ด้วยการเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าและการขยายตัวของเส้นทางการบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการส่งออกที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีการขนส่งสินค้าทางอากาศเพื่อการส่งออกถึง 36 เมตริกตันต่อเดือน แม้ว่าจะมีความต้องการสูง แต่ความจุในการขนส่งสินค้าทางอากาศยังไม่เพียงพอ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างอุปสงค์และอุปทานถึง 40% ซึ่งเป็นเหตุผลที่ผู้เล่นในตลาดทุกคนวางแผนที่จะเช่าเครื่องบินขนส่งสินค้า อัตราค่าขนส่งสินค้าปัจจุบันสูงกว่าปกติถึงสามเท่า และมีการสะสมสินค้าค้างที่สนามบินธากา
การฟื้นตัวนี้ได้รับการสนับสนุนจากความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นในตลาดต่างประเทศ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของอีคอมเมิร์ซที่ทำให้การขนส่งทางอากาศกลายเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ค้าขายสินค้า
การขยายตัวของตลาด
อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศในบังกลาเทศได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงที่มีการส่งออกสินค้า เช่น เสื้อผ้าและสิ่งทอ ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ การขนส่งทางอากาศช่วยให้สินค้าถึงมือผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง เช่น สนามบินและเทคโนโลยีการจัดการการขนส่ง ก็มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตนี้ โดยทำให้กระบวนการขนส่งมีความรวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น
ความท้าทายที่ยังคงอยู่
แม้ว่าอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศของบังกลาเทศจะอยู่ในช่วงการเติบโต แต่ก็ยังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น ปัญหาความแออัดในสนามบินและการขาดแคลนทรัพยากรด้านมนุษย์ที่มีทักษะ และค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่สูงขึ้นก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตในอนาคต นอกจากนี้ การขนส่งสินค้าผ่านประเทศอื่นกลายเป็นทางออกที่นิยมสำหรับผู้ส่งและผู้ซื้อ ซึ่งส่งผลให้รายได้จากการส่งออกของบังกลาเทศลดลงและเป็นประโยชน์ต่อประเทศอื่น ๆ เช่น อินเดีย มัลดีฟส์ ศรีลังกา ไทย และมาเลเซีย เพื่อแก้ไขปัญหานี้ สายการบินที่ดำเนินการในบังกลาเทศจำเป็นต้องเพิ่มความจุในการขนส่งสินค้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องควบคุมการขนส่งสินค้าผ่านประเทศอื่น
ในด้านบวก สนามบินธากาจะมีการสร้างอาคารขนส่งสินค้าส่งออกใหม่เมื่อเปิดใช้งานเทอร์มินัลที่สาม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความจุของอุตสาหกรรมขนส่งสินค้า คาดการณ์ว่าตลาดขนส่งสินค้าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในอีก 3-4 ปีข้างหน้า ทั้งในแง่ของรายได้และปริมาณ
สรุป
อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศของบังกลาเทศได้แสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งหลังจากการระบาดของ COVID-19 ด้วยการขยายตัวของตลาดและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม การเผชิญกับความท้าทายในการบริหารจัดการและค่าใช้จ่ายยังคงเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไข เพื่อให้แน่ใจว่าอุตสาหกรรมนี้จะสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/183290
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!