SNP NEWS
ฉบับที่ 392
CEO Article
ไหว้ด้วยใจ
“กูไหว้อาจารย์ด้วยความสนิทใจเลยว่ะ”
อาจารย์ในที่นี้คือ ดร. พิเชฎฐ์ จันทรนวพงศ์
ในอดีตท่านเป็นอาจารย์ด้านฟิสิกในมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ปัจจุบันท่านเป็นวิทยากรและผู้บรรยายความรู้ด้านโลจิสติกส์และศาสตร์ด้านอื่น ๆ เป็นผู้ให้คำปรึกษา และเป็นผู้บริหารให้องค์กรเอกชนบางแห่ง
ส่วนเจ้าของคำพูดนี้คือคุณอานุภาพ สุจิรายุกาล หรือที่คนสนิทคุ้นเคยในจังหวัดเชียงใหม่จะเรียกว่าอาจารย์แอ๊ด ซึ่งเป็นอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรม
คุณอานุภาพเป็นคนซื่อตรง เป็นเถรตรง ชอบช่วยเหลือผู้อื่นและสังคม ผมจึงตั้งฉายานามให้ว่า “เกาทันฑ์ซื่อ” คือเห็นอะไร คิดอะไร ก็เดินตรง ๆ ซื่อ ๆ ไปตามที่คิดที่เห็น เกลียดการคดโกงแต่ชอบอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของบุคคลมากมาย
ทั้ง 2 มีอาวุโสต่างกันราว 20 ปี เคยมีงานโครงการทำร่วมกันและปัจจุบันก็มีการไปหาสู่กันบ้าง แต่นาน ๆ สักครั้งหนึ่ง
ทุกครั้งที่พบกันมักมีผมร่วมอยู่เสมอ คุณอานุภาพซึ่งมีอาวุโสน้อยกว่าและมีความเป็นเกาทันฑ์ซื่อสูง จึงมักกล่าวคำลักษณะข้างต้นให้ผมได้ยินบ่อย ๆ ด้วยเหตุผลง่าย ๆ คือ
อาจารย์เป็นทั้งคนดี มีความซื่อสัตย์ เที่ยงตรง มีเมตตา ชอบสอนผู้อื่นในทางที่ถูกที่ควร และมีสถานะภาพทางสังคมที่ดีทำให้คุณอานุภาพรักและเคารพอาจารย์ด้วยความสนิทใจ
การไหว้ของคุณอานุภาพจึงเป็นกริยาที่ออกมาอย่างสนิทใจ หรือเป็นการไหว้ด้วยใจ
ในโลกนี้ ใคร ๆ ก็รู้จักการไหว้กันทั้งนั้น
ในโลกนี้ ใคร ๆ ก็รู้ว่า การไหว้ที่งดงามที่สุดเป็นวัฒนธรรมของไทย และไม่มีคนในประเทศไหนจะไหว้ได้สวยเท่าคนไทย
คนไทยไหว้กันตั้งแต่เกิดไม่ว่าจะเป็นการไหว้ผู้ใหญ่ การไหว้ทักทาย การรับไหว้ หรือการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์
แล้วการไหว้ก็ติดตัวคนไทยทุกคนไปจนตาย
แต่จะสักกี่คนที่มองออกว่า ปัจจุบันการไหว้ของแต่ละคนอาจเป็นเพียงการแสดงออกด้วยท่าประจำกายเท่านั้น
ภายใต้สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่ต้องแก่งแย่ง ช่วงชิงกันอย่างรุนแรงในปัจจุบัน คนต่างก็ชิงดีชิงเด่น ซ่อนดาบในรอยยิ้ม เสแสร้งเข้าหาต่อกัน มองเห็นกันแต่เพียงผลประโยชน์ แล้วจะมีสักกี่คนที่สามารถไหว้ต่อกันด้วยใจบ้าง
มันไม่เว้นแม้แต่สามีภรรยาที่ต่างละเลยด้านดีงามที่เคยมีต่อกัน ต่างฝ่ายต่างก็มองแต่ข้อเสียของกันและกันจนนำไปสู่การรับรู้ของลูก
สุดท้ายการไหว้ต่อกันด้วยใจภายในครอบครัวนี้ก็ย่อมผิดเพี้ยนและลดน้อยถอยลงจนเหลือเพียงการไหว้ด้วยกาย
สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่ถูกแบ่งแยกในวันนี้ย่อมนำไปสู่การแสดงออกทางใจต่อกันในครอบครัวที่น้อยลง และนำไปสู่คนที่ไหว้ด้วยใจให้น้อยลงตามไปด้วย
ในทางสังคมผู้น้อยต้องไหว้ผู้มีอาวุโสก่อน จากนั้นผู้อาวุโสก็รับไหว้ตอบ นั่นคือรูปแบบทางกายภาพ
แม้แต่ใน https://th.widipedia.org’wiki’ ก็ความหมายการไหว้ทางกายภาพไว้ว่า
“การไว้เป็นมารยาทไทยที่เป็นสืบทอดกันมาช้านาน การไหว้เป็นการแสดงถึงความมีสัมมาคารวะและการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความหมายเพื่อการทักทาย การขอบคุณ การขอโทษ หรือการกล่าวลา โดยยกมือสองข้างประณม นิ้วชิดกัน ปลายนิ้วจรดกัน ยกมือขึ้นในระดับต่าง ๆ ตามฐานะของบุคคล และเมื่อมีผู้ทำความเคารพด้วยการไหว้ ให้ทำการรับไหว้ทุกครั้ง การรับไหว้ใช้ประนมมือแค่อก แล้วยกขึ้นเล็กน้อย ก้มศีรษะ”
ในวิกิพีเดียให้ความหมายการไหว้ไว้เพียงเท่านี้
แต่ในทางสังคม คนจำนวนมากพบว่า การไหว้ด้วยกริยาดังกล่าวยังไม่เพียงพอแต่ยังต้องประกอบด้วยความรู้สึกและจิตใจที่ต้องการไหว้และต้องการรับไหว้อีกด้วย
คนไทยไหว้พระอย่างไม่สนิทใจมากขึ้นเมื่อพบเห็นข่าวที่ทำให้ศาสนามัวหมองจนอาจทำให้การไหว้ของหลาย ๆ คน ไม่ได้เกิดจากใจ
ในด้านธุรกิจก็ไม่แตกต่างกัน
คนที่ชอบการทุจริต คนคด คนโกง คนที่เอาเปรียบผู้อื่นจะไหว้ผู้อื่นจากใจได้อย่างไร ท่าทางและแววตาย่อมแสดงภาษากายออกมาให้เห็นจนเป็นการไหว้ด้วยกายเท่านั้น
คนทุจริตคดโกง ไม่ว่าจะไหว้อย่างไรก็ไม่สามารถไหว้ด้วยใจได้ คนทุจริตที่ไหว้ย่อมรู้ตัวเองดีและเผลอ ๆ คนที่รับไหว้ก็พอจะมองเห็นการทุจริตจากการไหว้เช่นกัน
การเจรจาด้านธุรกิจของคนไทยก็มักเริ่มต้นด้วยการไหว้ แต่ทุกวันนี้พบว่า หลายครั้งผู้มีอาวุโสกว่าไม่รับไหว้เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น
ภายหลังการทักทายด้วยการไหว้ การช่วงชิงด้านธุรกิจที่ตระเตรียมมาก็เริ่มขึ้น การต่อรองราคา การขอแกมบังคับ การเรียกร้องค่าเสียหาย การแสวงหาผลประโยชน์การปกปิดข้อมูล หรือแม้แต่การให้ข้อมูลที่เป็นเท็จต่อกัน
สิ่งเหล่านี้สามารถบ่งบอกได้ว่า การไหว้ในทางธุรกิจอาจไม่ใช่การไหว้ด้วยใจเสมอไป แต่อาจเป็นเพียงการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อให้เห็นเท่านั้น
ในทางการเมืองยิ่งเห็นได้ชัด
นักการเมืองที่หวังดีต่อประเทศชาติย่อมมีลักษณะการไหว้ประชาชนที่สัมผัสได้ด้วยใจ มันให้ความรู้สึกแตกต่างจากการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้ออย่างสิ้นเชิง
วันนี้ ในประเทศไทยจะมีนักการเมืองสักกี่คนที่ประชาชนสัมผัสการไหว้ด้วยใจได้ ???
ทุกครั้งที่นักการเมืองไหว้ประชาชน นักการเมืองมักหวังผลด้านคะแนนเสียงแต่จะมีนักการเมืองสักกี่คนที่ไหว้ประชาชนด้วยใจรักก่อนแล้วคะแนนเสียงค่อยตามมา
นักการเมืองส่วนใหญ่จะหวังคะแนนเสียงก่อน หรือรู้อยู่แล้วว่ามีการจัดตั้งคะแนนเสียงไว้ มันเป็นคะแนนจัดตั้ง จากนั้นก็เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อเพื่อแสดงภาพลักษณ์ในท่าไหว้ประกอบ
วันนี้ ปัญหาของประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
ประเทศไทยเริ่มวางแผนแก้ปัญหาเหล่านี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ด้วยการสร้างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1
ทุก ๆ แผนพัฒนาฉบับต่อ ๆ มาก็ถูกร่างขึ้นเพื่อให้ข้าราชการประจำขับเคลื่อนภายใต้การกำกับของนักการเมืองในแต่ละยุคแต่ละสมัย
แผนพัฒนาฉบับต้น ๆ มีการพัฒนาคน มีการพัฒนาการศึกษา หรือพัฒนาจิตใจคนน้อยเกินไป แต่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่
จากนั้น นักการเมืองก็นำแผนต่าง ๆ มาปรุงแต่งให้เกิดประโยชน์ด้านคะแนนเสียงและผลประโยชน์
ดังนั้น ต่อให้แผนพัฒนาไม่ว่าฉบับไหนจะดีอย่างไรก็สู้นักการเมืองไม่ได้ ไม่ว่าประเทศไทยจะมีแผนพัฒนาหรือไม่ นักการเมืองก็มีแผนของตนเองเสมอ
วันนี้ของประเทศไทย การเมืองและอำนาจที่ผิดเพี้ยนจึงเป็นต้นเหตุของปัญหาสังคมที่ผิดเพี้ยน และเป็นสาเหตุให้สภาพเศรษฐกิจแปรปรวนจนนำไปสู่การไหว้ที่เหลือแต่กาย
การเมืองและอำนาจที่ผิดเพี้ยนเป็นต้นแบบของหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่เว้นแม้แต่การไหว้ด้วยกาย
หากจะกล่าวให้ชัด ๆ
คนที่ทำให้การเมืองที่ผิดเพี้ยน คนที่ชอบการทุจริต และคนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่เบื้องหลังทุกประเภทไม่ว่าจะมาจากการเมือง หรือการบริหารธุรกิจจะเป็นผู้ไหว้เพียงกายมากที่สุด
ไม่มีการไหว้ด้วยใจให้สัมผัสได้ง่าย ๆ
วันนี้ ประเทศไทยจึงมีการไหว้ผู้อื่นเพียงแค่ยกมือขึ้นพนมให้เห็นมากขึ้น คนไหว้เริ่มไหว้ผู้อื่นที่ไม่อยากจะไหว้มากขึ้น คนไหว้แบบแห้ง ๆ มากขึ้นจนดูไม่ออกว่าคนที่ไหว้ต่อกันเป็นคนไทยหรือไม่
“กูไหว้อาจารย์ด้วยความสนิทใจเลยว่ะ”
คำกล่าวที่คุณอานุภาพ กล่าวถึงอาจารย์พิเชฎฐ์ ข้างต้นจึงเริ่มมีน้อยลงในปัจจุบัน มันมีไม่กี่คนหรอกที่กล้ากล่าวแบบนี้กับคนที่ตนเองไหว้
วันนี้ มันจึงอยู่ที่คนในสังคม
หากความจริงใจที่มีต่อกันได้ลดน้อยถอยลงไปมาก การแอบอิงการเมืองที่ผิดเพี้ยน การใช้อำนาจอย่างบิดเบือน และการแสวงหาผลประโยชน์ทับซ้อนที่มากขึ้น การไหว้ด้วยใจก็ย่อมลดน้อยถอยลงไปเช่นกัน
มันเป็นผลพวงมาจากปัญหาการเมือง อำนาจนิยม และผลประโยชน์ซ่อนเร้นที่เป็นตัวทำให้การไหว้ที่ผิดเพี้ยนตามไปด้วยในวันนี้
สิทธิชัย ชวรางกูร
The Logistics
รถไฟฟ้าสายสีม่วงหนุนไทย ฮับโลจิสติกส์อาเซียน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดขบวนทดสอบเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ที่สถานีบางใหญ่ไปเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมาทำให้หลายต่อหลายคนคงนั่งนับถอยหลังและลุ้นร่วมประสบการณ์ทดลองนั่งในเดือนพฤษภาคม 2559 ก่อนที่จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือน “มหามงคล” สิงหาคม 2559 …ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นคงทำให้ชีวิตการเดินทางระหว่างคนที่อาศัยหรือใช้ชีวิตทำมาหากินในเมืองกรุงเทพฯ กับจังหวัดปริมณฑลสำคัญๆ อย่างนนทบุรีนั้นสะดวกและรวดเร็วขึ้น กล่าวคือ คนที่อยู่อาศัยในเมืองนนท์ก็สามารถเดินทางมายังกรุงเทพฯชั้นในมีความสะดวกสบายขึ้น ในทางกลับกันก็ทำให้คนในเขตกรุงเทพฯ เดินทางไปเมืองนนท์หรือพื้นที่ใกล้เคียงอื่นๆ ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นด้วยรถไฟฟ้าสายสีม่วงและทางด่วนที่ทยอยเปิดให้บริการ
นอกจากนี้ยังมีสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ที่สร้างขึ้นตามโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณนนทบุรี 1 กับสร้างและขยายถนนต่อเชื่อมเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในเขตนนทบุรีและกรุงเทพมหานครตอนบน จากโครงข่ายเส้นทางคมนาคมที่สมบูรณ์นั้นจะสามารถรองรับการขยายตัวต่อเนื่องของชุมชนได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ หากพิจารณาตามแนวเส้นทางการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงนั้นหากมองในทางภูมิศาสตร์ของประเทศได้กลายเป็นจุดแข็งสำคัญอย่างหนึ่งที่สร้างความน่าสนใจในการเข้าลงทุนและช่วยสนับสนุนการเป็นฮับโลจิสติกส์อาเซียน เนื่องจากไทยตั้งอยู่ใจกลางของภูมิภาคอินโดจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สามารถเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งได้หลายสาย ด้วยโครงสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ มีระยะทางประมาณ 23 กิโลเมตร (กม.) โดยมีสถานียกระดับ 16 สถานี เชื่อมโยงกรุงเทพมหานครและนนทบุรีให้ใกล้กันยิ่งขึ้น เริ่มจากบริเวณคลองบางไผ่ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ถนนวงแหวนรอบนอก (ตะวันตก) กาญจนาภิเษก เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนรัตนาธิเบศร์ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้สะพานพระนั่งเกล้า ก่อนถึงสี่แยกแครายจะเลี้ยวขวาไปตามถนนติวานนท์ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ถึงบริเวณแยกเตาปูน มีสถานีเตาปูนเป็นสถานีเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (รถไฟฟ้าใต้ดินMRT) และในอนาคตจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ
สะพานพระนั่งเกล้า: Commute Hub ครบ “ทางบก-ราง-และทางน้ำ”
การเชื่อม 3 โหมด “บก-ราง-น้ำ” เข้าด้วยกันนั้นเป็นหนึ่งในแผนงานหลักการพัฒนาของรัฐ และที่ผ่านมาก็มีอยู่ไม่กี่จุดที่เชื่อมครบทั้ง 3 ระบบการขนส่งหรือการเดินทางนี้อยู่ในที่เดียวกัน นอกจากบริเวณสถานีรถไฟฟ้าสถานีตากสินแล้ว จุดเชื่อมต่อการเดินทางทั้งทางบก-ทางรางและทางน้ำเข้าด้วยกันที่น่าสนใจและน่าจับตามองก็คือบริเวณสะพานพระนั่งเกล้านั้นจะกลายเป็น Commute Hub แห่งใหม่ที่เชื่อม “ทางบก-ราง-และทางน้ำ” ที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งจาก “ระบบราง” นั่นคือ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ขณะนี้เสร็จเกือบ 100% กำหนดเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบเดือนสิงหาคม 2559 ส่วนการเดินทาง “ทางน้ำ” นั้น ก็มีแผนจะสร้างท่าเรือบริเวณสะพานพระนั่งเกล้าเพื่อเชื่อมระบบขนส่งทางน้ำเข้ากับ “ทางบก” คือ รถยนต์โดยมีจุดนัดพบคือบริเวณสะพานพระนั่งเกล้า
นอกจากหน่วยงานของภาครัฐจะให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการประชาชนแล้ว ในส่วนของผู้ประกอบการภาคเอกชนรายใหญ่อย่างบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยาจำกัดก็พร้อมที่จะทุ่มทุนปั้นฮับเพื่อการเดินทางแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมโยง รถ-เรือ-รางรับการเปิดใช้รถไฟฟ้า พร้อมนำแผนเสนอไปยังกรมจ้าท่าเพื่อพิจารณาและสนับสนุนดังนี้ ท่าเรือบางโพ-ท่าเรือราชินีรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และช่วงหัวลำโพง-บางแค) กำหนดเปิดให้บริการ เมษายน 2562, ท่าเรือพระราม 6 รับรถไฟฟ้าสายสีแดง อ่อน(บางซื่อ-ตลิ่งชัน) และท่าเรือพระนั่งเกล้ารองรับสายสีม่วงที่กำหนดเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2559
พร้อมกันนี้เรือด่วนเจ้าพระยายังได้เตรียมความพร้อมด้านระบบการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่เป็นช่วงๆ เพื่อจะรับผู้โดยสารจากท่าเรือไปยังอีกท่าเรือหนึ่ง และเพื่อรองรับรถไฟฟ้าสายสีม่วงทางเรือด่วนเจ้าพระยาก็จะรับผู้โดยสารจากท่าเรือปากเกร็ดและท่าเรือพระราม 5 เพื่อส่งป้อนให้ท่าเรือพระนั่งเกล้าซึ่งก็เป็นจุดที่เชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าสถานีพระนั่งเกล้า โดยการจัดช่วงการเดินเรือนี้จะเริ่มเห็นในปี 2559 เป็นต้นไป
การพัฒนาท่าเรือให้เชื่อมโยงการเดินทางกับรถยนต์ และรถไฟฟ้าเข้าด้วยกันและหนึ่งในนั้นก็คือท่าเรือพระนั่งเกล้า เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ดำเนินการ เมื่อดำเนินการเสร็จภาพที่เกิดขึ้น บริเวณสนามบินน้ำซึ่งหากใครนึกภาพไม่ออกก็ขอให้นึกถึงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีตากสิน ที่เป็นศูนย์กลางการบริการด้านการขนส่งครบทั้ง ทางบก-ทางรางและทางน้ำที่มีท่าเรือด่วนสาทร และยิ่งต่อไปเมื่อมีระบบตั๋วร่วมมาเชื่อมการเดินทางได้ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า และเรือแล้ว จุดที่เชื่อมต่อกันทั้ง 3 โหมด ทางบก-ทางราง และทางน้ำพื้นที่โดยรอบบริเวณสะพานพระนั่งเกล้า ถนนสนามบินน้ำก็จะกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยชั้นดีและการท่องเที่ยวที่สำคัญในอนาคตเป็นที่รู้จักทั้งคนไทยและชาวต่างชาติไม่ต่างจากท่าเรือด่วนสาทรที่อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีตากสิน
ด้วยเหตุนี้จะเห็นว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นระบบขนส่งรถไฟฟ้าขนาดใหญ่มีเส้นทางระหว่างบางใหญ่ถึงบางซื่อรวมระยะทาง 23 กิโลเมตร 16 สถานีเป็นเส้นทางยกระดับตลอดโครงการจะให้บริการรถไฟฟ้าสำหรับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางด้านเหนือกับด้านใต้ของกรุงเทพฯ ซึ่งระบบขนส่งมวลชนระบบรางสายสีม่วงจะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาจราจรที่เกิดขึ้นและยังช่วยให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางของคนนนทบุรีเข้าไปถึงใจกลางเมืองกรุงเทพฯได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันสิ่งที่ตามมากับการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่นั้นยังมีส่วนช่วยให้การพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางดังกล่าวด้วย
ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/560019
AEC Info
อาเซียนเร่งเดินหน้าสานต่อความร่วมมือเตรียมจัดประชุมที่ สปป.ลาว
นางสาวศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สปป.ลาว จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ครั้งที่ 1/47 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 19-21 มกราคม 2559 และการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (HLTF-EI) ครั้งที่ 29 ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องในวันที่ 22 มกราคม 2559 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้ สมาชิกอาเซียนจะรับทราบประเด็นที่ สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียน ในปีนี้จะเน้นความสำคัญการกำหนดการประชุมต่างๆ ในปี 2559 การรับทราบความคืบหน้าของการดำเนินมาตรการคงค้างตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint 2015) พร้อมทั้งหารือความคืบหน้าการจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Action Plan: SAP) และการดำเนินการตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC Blueprint 2025)
นางสาวศิรินารถ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมจะหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียน ความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการค้าและการลงทุนร่วมอาเซียน-สหภาพยุโรป ปี 2015-2016 แนวทางการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป ที่ชะงักงันมาหลายปี ตลอดจนการหารือประเด็นเกี่ยวกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน เช่น การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) การเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับฮ่องกง อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลีใต้ เป็นต้น ในส่วนของการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จะมีการประชุมคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจ (CoW) สมัยพิเศษ ในวันที่ 21 มกราคม 2559 เพื่อพิจารณาความคืบหน้าของการดำเนินการล่าสุด และการดำเนินการภายหลังปี 2558 ของคณะกรรมการต่างๆ ภายใต้เสาเศรษฐกิจ รวม 15 คณะ เช่น ความร่วมมือด้านมาตรฐาน การเงินการคลัง ศุลกากร SME พลังงาน การขนส่ง โทรคมนาคม ฯลฯ และหารือปัญหาอุปสรรค รวมทั้งประเด็นคาบเกี่ยว (Cross Cutting Issues) ของความร่วมมือด้านต่างๆ
นางสาวศิรินารถ กล่าวด้วยว่า ในส่วนการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (HLTF-EI) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 มกราคม 2559 เป็นการประชุมในระดับปลัดกระทรวงพาณิชย์ของอาเซียน ซึ่งที่ประชุมฯ จะหารือเกี่ยวกับการนำ AEC 2025 Strategic Action Plan ไปสู่การปฏิบัติ โดยจะรับทราบแผนการดำเนินการของแต่ละองค์กรรายสาขา (AEC Sectoral Bodies) และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างกัน พร้อมทั้งหารือเกี่ยวกับการสนับสนุนด้านองค์กรเพื่อดำเนินการตาม AEC 2025 Strategic Action Plan การจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับภาคีนอกภูมิภาคและวาระต่างๆ ภายหลังปี 2558
ที่มา :หนังสือพิมพ์ไทยรัฐวันที่ 12 มกราคม 2559
คุยข่าวเศรษฐกิจ
แนะคิดบวกราคาน้ำมันตกต่ำ ฉุดอุตฯยางล้อเติบโต-ใช้รถยนต์เพิ่ม
นายกสมาคมยางพาราไทย แนะคิดบวกผลกระทบราคาน้ำมันโลกตกต่ำ มีผลบวกต่ออุตสาหกรรมยางล้อ เหตุคนใช้รถยนต์มากขึ้น ซึ่งจะมีผลดีต่อยางธรรมชาติ
เผยถึงมาตรการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำของรัฐบาลหลังจากมีการประชุมเมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่าโดยรวมมาตรการต่างๆ เชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์ราคายางดีขึ้นในเร็วๆนี้ เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันหาทางออกและการนำยางพาราไปใช้
“ปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำมันเกิดจากอุปทานที่ไม่สมดูลย์กับอุปสงค์ โดยเฉพาะอุปทานที่เกิดขึ้นหลังจากราคายางพาราสูงสุดในปี 2010 เป็นต้น ทำให้ทุกคนหันไปปลูกยางพารากันเพิ่มขึ้น ในขณะนี้ธรรมชาติของสินค้าโภคภัณฑ์มันมีรอบหรือไซเคิ่ลของมันที่ขึ้นไปสูงแล้วก็ปรับลดลงมา”
และตอนนี้การปรับลดราคาของราคายางพาราน่าจะถึงจุดต่ำสุดและมีแนวโน้มราคาที่ปรับขึ้น หลังจากที่มีการโค่นยางพาราของเกษตรกรที่เริ่มจะเบื่อกับราคายางที่ไม่จูงใจ ก็จะทำให้อุปทานลดลง เมื่ออุปทานลดลงมาในระดับที่สมดุลย์หรือน้อยกว่าอุปสงค์ก็จะเห็นการปรับขึ้นของราคา
นายไชยยศ กล่าวว่า สิ่งที่มองว่าราคาน้ำมันที่ลดลงต่ำมีผลต่อการนำยางสังเคราะห์มาใช้ทดแทนยางธรรมชาติซึ่งจะมีผลกระทบต่อราคายางธรรมชาติเป็นการมองในด้านลบอย่างเดียว แต่ทำไมไม่มองด้านบวกว่า การที่ราคาน้ำมันลดลงต่ำมีผลทำให้เกิดการใช้รถยนต์มากขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันที่ถูก
และผลของการที่มีการใช้รถยนต์มากขึ้นในภาวะที่ราคาน้ำมันตกต่ำ มันจะทำให้สินค้าในหมวดยานยนต์คือยางล้อจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง การซื้อยางล้อจะเพิ่มขึ้น ซึ่งการที่ยางล้อกลับมาขายมากขึ้น ก็จะมีผลต่อเนื่องมาถึงยางธรรมชาติ เพราะยางธรรมชาติเป็นส่วนผสมที่สำคัญของยางล้อ
“ยางพาราเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีวงรอบของมัน เหมือนกับวงรอบของธุรกิจอื่น สินค้าอื่นๆก็จะมีวงรอบของมันเช่นกัน ช่วงไหนที่ราคาลดลง ช่วงไหนที่ราคาสูง ตอนนี้วงรอบขงอราคาตกต่ำกำลังจะผ่านพ้นไป สถานการณ์ต่างๆก็น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆนับจากนี้”
นายกสมาคมยางพาราไทย กล่าวต่อว่า สถานการณ์ยางพาราปี 2559 คาดว่ามีแนวโน้มทรงตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รัสเซียยุโรป ญี่ปุ่น และตลาดเกิดใหม่อื่นๆ การลงทุนซบเซา การค้าชะลอตัว รวมทั้งราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) คาดการณ์ว่าผลผลิตมวลรวมหรือจีดีพีโลกลดลงเป็น 3.5% ในปีนี้ และ 3.7% ในปี 2559 เศรษฐกิจสหรัฐยังคงสดใส แต่ยุโรปยังมีปัญหากับการผ่อนคลายภาวะเงินเฟ้อเศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัว 1.2% ในปีนี้ และจะเพิ่มเป็น 1.4% ในปี 2559 ส่วนจีนจะขยายตัวลดลงอีกในปี 2559 เหลือ 6.3% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าของจีนด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัว 0.6% ในปีนี้ และปรับขึ้นเล็กน้อยเป็น 0.8% ในปี 2559ส่วนราคาน้ำมันคาดว่าจะทรงตัวในช่วง 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันเติบโตในระดับต่ำ ประกอบกับอุปทานล้นตลาด เนื่องจากผลผลิตจากกลุ่มโอเปกจะออกสู่ตลาดมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ซบเซาลงไปด้วย นอกเหนือจากปัจจัยด้านสภาวะเศรษฐกิจที่ได้กล่าวมาข้างต้น ยังมีปัจจัยด้านผลผลิต ความต้องการใช้และปริมาณส่วนเกินของยางธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคายางพารา โดยองค์การศึกษาเรื่องยางระหว่างประเทศ(International Rubber Study Group) คาดการณ์ว่า ผลผลิตยางธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2.9 % เป็น 12.97 ล้านตันในปี 2559 เนื่องจากยางที่ปลูกไว้ในช่วงราคายางสูง จะเติบโตเต็มที่จนสามารถกรีดได้ ในขณะที่อุปสงค์ยางธรรมชาติจะเพิ่มขึ้น 4.3 เปอร์เซ็นต์ เป็น 12.83 ล้านตันในปี 2559ส่วน The Rubber Economist คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ยางของโลกจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 1.9 % ในช่วงปี 2558-2560 เนื่องจากความต้องการใช้ยางของจีนชะลอตัว ในขณะที่ความต้องการใช้ยางในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอินเดียจะเติบโตในระดับต่ำ คาดว่าผลผลิตยางธรรมชาติจะเพิ่มขึ้น 3.5 % เป็น 12.53 ล้านตันในปี 2558 และแตะระดับ 13.5 ล้านตันในปลายปี 2560
นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าอุปสงค์ยางธรรมชาติจะสูงกว่ายางสังเคราะห์ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า ส่วนอุปทานส่วนเกินยางธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าจะแตะระดับ 3.7 ล้านตันในปลายปี 2560 ในขณะที่ The Economist Intelligence Unit คาดการณ์ว่า สต็อกยางธรรมชาติของโลกจะลดลง 30.5 % และ 49.9 % ในปี 2559 และ 2560 ตามลำดับ และคาดว่าสต็อกยางโลกอาจลดลงได้ถึง 1 ล้านตัน ในช่วงปี 2559-2560 จากสถานการณ์ราคายางตกต่ำ ส่งผลให้การผลิตหดตัว การกรีดลดลง และผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญ่ในอินโดนีเซีย
อย่างไรก็ตาม สมาคมยางพาราไทยยังคงมีความเห็นเชิงบวกว่ายางพารามีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจดี และมีความร่วมมืออันเข้มแข็งระหว่างสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ(ITRC) ตลอดจนภาครัฐไทยมีมาตรการและความพร้อมในการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำจึงคาดว่าจะทำให้สถานการณ์ยางพาราปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยโครงการที่น่าจับตามอง ได้แก่ การก่อตั้งตลาดยางภูมิภาค (ASEAN Regional Rubber Market) เพื่อทำหน้าที่ป้องกันความเสี่ยงด้านราคา และช่วยให้สามารถสะท้อนราคายางที่เป็นธรรม ทําให้กลไกของอุปสงค์อุปทานขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และความร่วมมือในการส่งเสริมการใช้ยางธรรมชาติภายในประเทศผู้ผลิตปริมาณ 300,000 ตัน สำหรับการสร้างถนนยางกันกระแทกเรือ และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเริ่มต้นในปี 2559 “สมาคมฯ คาดหวังความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกร รวมทั้งประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียรวมทั้งประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ในการกำหนดแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางอย่างยั่งยืนตลอดไป” นายกสมาคมยางพาราไทย กล่าว
ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/