SNP NEWS

ฉบับที่ 401

มองอย่างหงส์ BY CEO

“สงฆ์กับทรัพย์”

557000001701201

“ไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์ที่ญี่ปุ่นมา เห็นพระสงฆ์ไทยไปเที่ยวด้วยแล้วรู้สึกว่าไม่ค่อยน่าศรัทธาเลย”
“จริงด้วย หลายปีมานี้ ข่าวพระสงฆ์อวดอุตริก็มี ใช้จิตปรุงแต่งให้คนหลงงมงายก็มาก มั่วสีกาก็เห็น แถมสะสมทรัพย์สมบัติไว้อวดโชว์ก็ไม่น้อย เรื่องของพระสงฆ์ที่ดีทำไมมีน้อยกว่าเรื่องไม่ดี สงฆ์ไม่ดีมีมากจนน่าเสื่อมศรัทธาจริง ๆ”
“นั่นมันเรื่องสงฆ์เฉพาะตัว หรือเฉพาะวัดเท่านั้น ลองดูข่าวระดับประเทศซิ”
“ข่าวอะไรจึงใหญ่ระดับประเทศล่ะ”
“อ้าว ก็ข่าวมหาเถรสมาคมมีมติเลือกพระสังฆราชแล้ว แต่รัฐบาลยังไม่นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ให้จบขั้นตอน”
“อ๋อ ก็ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ความเห็นว่ามันผิดขั้นตอนตามมาตรา 7 ที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอชื่อ ไม่ใช่ให้มหาเถรสมาคมเสนอนะ”
“นั่นละ ความเห็นของฝ่ายศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยก็ว่า นั่นมันตีความไม่ถูกต้องก็เลยรวบรวมรายชื่อเป็นหมื่นเตรียมยื่นถอดถอนผู้ตรวจการแผ่นดิน”
“แล้วไอ้กฎหมายที่ว่านี่ อะไรมันถูกกันแน่”
บทสนทนาสมมุติข้างต้นสะท้อนสภาพที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยมาหลายปี เรื่องราวของสงฆ์แต่ละระดับที่มีประพฤติกรรมให้คนค่อยๆ เสื่อมศรัทธาลงไป
ความเสื่อมศรัทธาเริ่มจากตัวสงฆ์ที่ไม่ดี ลุกลามสู่วัดที่มีข่าวฉาว แล้วเข้าสู่ระดับประเทศไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตามจนทำให้สงฆ์ดี ๆ พลอยโดนเสื่อมศรัทธาไปด้วย
นี่มันประเทศไทยชัด ๆ มันมีประเทศเดียวที่เป็นแบบนี้
กฎหมายก็ฉบับเดียวกัน นักกฎหมายหลายคนก็เรียนมาจากสถาบันเดียวกัน บางทีก็ครูคนเดียวกัน แต่เพราะการเมืองเพื่อช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์ต่างคนต่างก็ตีความไปคนละทาง
มันเหมือนกับกฎหมายมี 2 ฉบับ
ทั้ง ๆ ที่ พรบ. สงฆ์มีเพียงฉบับเดียวโดยมาตรา 7 กำหนดว่า
“พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง
ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณะศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช”
2 วรรคแรกในมาตรา 7 กล่าวไว้ประมาณแค่นี้ แต่แค่นี้ใครเห็นใครอ่านก็ตีความไปคนละทาง แล้วก็ไม่มีหน่วยงานใดของรัฐฟันธงให้ชัดลงไป

หลายคนมองว่า มันเป็นเรื่องของสงฆ์ สงฆ์ควรจะแก้ปัญหาของสงฆ์กันเอง ฆราวาสไม่ควรเกี่ยวข้อง
นั่นก็ใช่
แต่อีกหลายคนก็ว่า หากฆราวาสไม่ใส่บาตร ไม่นิมนต์สงฆ์ไปในงานต่าง ๆ ไม่นำวัตถุปัจจัยมาถวาย ไม่ส่งลูกชายมาบวชเป็นเณรเป็นพระ และอื่น ๆ อีกมาก วันนี้และวันข้างหน้าสงฆ์และศาสนาพุทธจะมีสภาพอย่างไร
มันดูอย่างไรก็หนีกันไม่ออก นี่ก็ใช่อีก
สงฆ์กับฆราวาสจะหนีกันไปไหนได้ ต่างคนต่างต้องพึ่งพาอาศัยกัน แม้แต่ พรบ. สงฆ์ ที่ใช้อยู่ หรือการแก้ไขมาตราต่าง ๆ ที่จะมีในอนาคตก็ต้องทำโดยนักการเมืองที่เป็นฆราวาสทั้งสิ้น
ฆราวาสจึงควรมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของสงฆ์ หากจะมองในมุมของคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องอย่างผม เรื่องแบบนี้มันก็แก้ง่ายนิดเดียว
นักการเมืองเพียงการแก้ไข พรบ. สงฆ์เพื่อให้สงฆ์กับทรัพย์แยกออกจากกันเท่านั้น
คนไม่รู้เรื่องอย่างผมมองว่า มันน่าจะสั้น ง่าย และแก้ปัญหาสงฆ์ทุกระดับไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ได้ดีกว่า

การแยกสงฆ์กับทรัพย์ออกจากกันแบบง่าย ๆ ดังนี้
สงฆ์ใดได้รับการถวายวัตถุปัจจัยใด ๆ ต้องส่งมอบให้วัด จากนั้นภายใน 1 เดือน วัดต้องทำบัญชีส่งให้ส่วนกลางไม่ว่าจะเป็นกรมการศาสนา หรือกระทรวงที่ดูแลสงฆ์
เมื่อสงฆ์ไม่มีสิทธิ์ถือครองทรัพย์ที่ฆราวาสถวายมาเป็นของส่วนตน อะไรจะเกิดขึ้น ???
สงฆ์จะอวดอุตริอย่างไร จะใช้จิตปรุงแต่งให้คนมาถวายวัตถุปัจจัยอย่างไรก็เชิญแต่ทรัพย์และปัจจัยที่ได้รับต้องตกเป็นของส่วนกลางทั้งสิ้น
สงฆ์มีหน้าที่รับบาตร ฉันท์อาหารที่ได้รับการถวาย ปฏิบัติธรรม เผยแพร่พุทธศาสนา รับกิจนิมนต์ และอื่น ๆ ที่เป็นกิจของสงฆ์ สงฆ์ก็ทำไป
เมื่อไม่มีทรัพย์ส่วนตนให้ถือครอง สงฆ์ก็ไม่มีสิ่งล่อใจสีกา ไม่สามารถซื้อ เที่ยว หรือสะสมวัตถุไปอวด
ใครจะถวายอะไรก็จะกลายเป็นของส่วนกลางทั้งสิ้น
วัดใดส่งมอบส่วนกลางเท่าไรก็ทำบัญชีไว้ พอวัดต้องการทรัพย์หรือวัตถุปัจจัยใด ๆ ที่ได้รับการถวายมาปรับปรุงวัดก็เสนอเป็นโครงการขึ้นมา
จากนั้น คณะกรรมการส่วนกลางก็จัดทำประชาพิจารณ์ร่วมกับชาวบ้านละแวกวัดนั้น และให้ความเห็นชอบการปรับปรุงวัดโดยมีผู้ตรวจการแผ่นดินคอยดูแล
สงฆ์ หรือกรรมการวัดที่ถือครองทรัพย์หรือปัจจัยโดยไม่ส่งมอบส่วนกลางให้ถือเป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษทั้งจำทั้งปรับ
คณะกรรมการส่วนกลางอาจกำหนดให้สงฆ์รูปหนึ่งได้รับเงินไว้ใช้จ่าย หรือให้มีทรัพย์สินส่วนตัวที่ได้รับการถวายได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท ส่วนที่เกินต้องส่งมอบให้วัด และวัดส่งมอบให้ส่วนกลางต่อไป
ข้อกำหนดแบบนี้จะทำให้สงฆ์ที่บวชมา 1 ปี สามารถมีทรัพย์ได้ 12,000 บาท หาก 10 ปี ก็มีได้ 120,000 บาท และหาก 50 ปี ก็มีได้รวมไม่เกิน 600,000 บาท เป็นต้น
ส่วนกลางอาจจัดมอบทรัพย์ให้วัดเป็นรายเดือนก็ได้ตามจำนวนสงฆ์ที่มีในบัญชี หรือตามรูปแบบที่กำหนดเพื่อให้วัดนำไปดูแลสงฆ์ต่อ และให้เป็นค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคอื่น ๆ ก็ได้
สงฆ์มีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินส่วนตัวน้อยเพราะวัดและส่วนกลางจะดูแลให้เป็นส่วนใหญ่
เมื่อใดที่สงฆ์อาพาธ หรือมีเหตุจำเป็นในการซื้อวัตถุใด ๆ ก็ให้เสนอมายังวัดและส่วนกลางในการจัดสรรงบประมาณดูแล
หากมีกฎหมายแบบนี้จริง ยศถาบรรดาศักดิ์ชั้นต่าง ๆ ก็จะไม่มีผลต่อทรัพย์แต่อย่างใด
สงฆ์ที่ประสงค์ต่อทรัพย์หรือปัจจัยอื่นก็คงไม่อยากบวช ส่วนคนที่จะบวชก็จะเหลือแต่คนที่มีศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนาเท่านั้น
เมื่อแยกสงฆ์กับทรัพย์ออกจากกันได้ ผมว่า ศาสนาก็จะค่อย ๆ สะอาดขึ้น

เมื่อเหลียวมอง พรบ. สงฆ์ เกี่ยวกับทรัพย์พบเพียงมาตรา 40 กล่าวถึงศาสนสมบัติไว้เพียงว่า “ศาสนสมบัติกลาง ได้แก่ ทรัพย์สินของพระศาสนาซึ่งมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง และศาสนสมบัติของวัด ได้แก่ ทรัพย์สินของของวัดใดวัดหนึ่ง” จากนั้นก็กำหนดว่า
“การดูแลรักษาและการจัดการศาสนสมบัติกลางให้เป็นอำนาจของกรมการศาสนา เพื่อการนี้ให้ถือว่า กรมการศาสนาเป็นเจ้าของศาสนสมบัติกลางนั้นด้วย”
พรบ. สงฆ์ กล่าวถึงสงฆ์กับทรัพย์ไว้เพียงเท่านี้
พรบ. สงฆ์ ไม่ได้กล่าวถึงทรัพย์ส่วนตัวของสงฆ์ มันก็เลยทำให้สงฆ์ที่ไม่ดีก็จะเอาแต่สะสมทรัพย์ สะสมวัตถุ แล้วอวดอุตริ ใช้จิตปรุงแต่งในการสร้างทรัพย์ส่วนตนให้เพิ่มพูน
พฤติกรรมให้ได้ทรัพย์ก็เลยกลายเป็นความเสื่อมศรัทธาอย่างที่เห็น จนทำให้สงฆ์ที่ดีต้องเสื่อมตามไปด้วย

ดังนั้น หากจะแก้ไข พรบ. นี้ในเวลาที่มีการรัฐประหารก็ต้องอาศัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ที่ทำหน้าที่แทน ส.ส.
แต่ดูไปแล้ว สนช. และคณะรัฐประหารทุกคณะก็มักมีคนต่อต้านแบบเงียบ ๆ อยู่มากมาย ขืนยกเรื่องนี้ขึ้นมาอีกก็อาจกลายเป็นการเรียกแขกและถูกต่อต้านจนคุมไม่อยู่
สนช. และคณะรัฐประหารคงไม่อยากวุ่นวายในเรื่องขัดแย้งกับศรัทธาแบบนี้
แต่หากรอให้มีการเลือกตั้งแล้วได้ ส.ส. มา คนที่เป็น ส.ส. ส่วนใหญ่ก็มักจะมีฐานเสียงมาจากสงฆ์ วัด และกรรมการวัด แล้วมันจะมี ส.ส. คนไหนอยากแก้ไข พรบ. สงฆ์ให้เป็นแบบนี้
อย่างนั้นแล้ว การแยกสงฆ์กับทรัพย์ให้ออกจากกันตามความเห็นแบบคนไม่รู้เรื่องอย่างผมก็คงเป็นความเห็นแบบคนไม่รู้เรื่องต่อไป
สุดท้าย ปัญหาของสงฆ์ตั้งแต่เล็กไปจนถึงปัญหาใหญ่ระดับประเทศก็คงจะพัวพันธ์กับทรัพย์และกลายเป็นปัญหาแบบนี้เรื่อยไป
ดู ๆ ไปแล้ว นี่มันประเทศไทยชัด ๆ

สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

contr_002

ส่งออกซบฉุดยอด “ตู้สินค้า” หด ท่าเรือชูพื้นที่เชิงพาณิชย์แทน

เรือเอก สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)
เปิดเผยว่า ปริมาณตู้สินค้าเข้าออกท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย)
ช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลดลงอยู่ที่ 120,000 ทีอียูต่อเดือน จากปกติอยู่ที่
130,000 ทีอียูต่อเดือน
เป็นผลมาจากส่งออกที่หดตัวลงทำให้ปริมาณตู้สินค้าลดลงด้วย

ส่วนการจะเพิ่มปริมาณตู้สินค้าไม่สามารถทำได้ทันทีขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐ
โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการอำนวยความสะดวกกับผู้ประกอบการในการส่งออกและนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น
เพราะเป็นปัจจัยที่สร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต
ขณะเดียวกัน เตรียมนำพื้นที่ของ กทท.มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
เพื่อหารายได้เพิ่มขึ้นและมาทดแทนรายได้จากปริมาณตู้สินค้าที่ใช้บริการท่าเรือลดลง

เรือเอก สุทธินันท์กล่าวว่า นอกจากนี้
มีแผนที่จะระดมความคิดเห็นกับผู้ประกอบการส่งออก-นำเข้า
และผู้ประกอบการเดินเรือในวันที่ 20 มีนาคมนี้
เกี่ยวกับแผนการขับเคลื่อนการให้บริการท่าเรือกับลูกค้าว่าต้องการอะไรบ้าง
และมีปัญหาอุปสรรคตรงไหนจะได้แก้ปัญหาตรงจุด หลังจากนั้น
จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อเพิ่มการบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยจะมีการประเมินการทำงานทุก 3 เดือน สำหรับการดำเนินงานในช่วง 4
เดือนที่ผ่านมาตามปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม 2558-มกราคม 2559)
ปริมาณการใช้ตู้สินค้าผ่านท่าเรือของ กทท.อยู่ที่ 2.78 ล้านทีอียู
แบ่งเป็นท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) 508,000 ทีอียู ลดลง 3% และท่าเรือแหลมฉบัง
2.27 ล้านทีอียู เพิ่มขึ้น 4%

ที่มา : http://www.marinerthai.net/forum/index.php?topic=7839.0

AEC Info

news_img_569678_1

ตลาดทุนเวียดนามขยายตัวดีสุดในอาเซียน เงินไหลเข้าต่อเนื่อง 10 ปี ด้านหนี้เสียลดลงที่ 2.9%

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานผลสำรวจบรรดานักกลยุทธ์ว่า ตลาดหุ้นเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 จากแนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวดีและสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดเงินทุนได้มาก โดยค่ากลางผลสำรวจดังกล่าวชี้ว่า ดัชนีวีเอ็นของตลาดหลักทรัพย์เวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวไปถึง 642 จุด ภายในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันที่ราว 570 จุด

ทั้งนี้ หลังจากที่ลงไปแตะระดับต่ำสุดของปีเมื่อวันที่ 21 ม.ค. ตลาดหุ้นเวียดนามดีดตัวขึ้น 11% ส่งผลให้ทั้งปีปรับตัวลงไปเพียง 0.2% และยังทำผลงานในปีที่แล้วได้ดีที่สุดในอาเซียน โดยดัชนีหลักทรัพย์ขยายตัว 6.1% ในปี 2015 สวนทางกับดัชนีเอ็มเอสซีไอโลกลดลง 4.3%

“ภาพรวมปี 2016 มีแนวโน้มดีกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากภาคการบริโภคในตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ขยายตัวและภาคการผลิตที่แข็งแกร่ง จะกระตุ้นรายรับขยายตัวขึ้นได้มาก รวมทั้งคาดว่าผลตอบแทนจะขยายตัวขึ้น 20% โดยดัชนีหลักทรัพย์น่าจะขึ้นไปแตะที่ระดับ 680 จุด” แบร์รี เวสแบลตต์ ประธานศูนย์วิจัยของเวียด แคปปิตอล บริษัทหลักทรัพย์รายใหญ่อันดับ 3 ในเวียดนาม กล่าว

ดัชนีหุ้นดังกล่าวปิดตัวในแดนบวกติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ในปีที่ผ่านมา โดยมีเงินทุนไหลเข้าจากต่างชาติทั้งหมด 100.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3,525 ล้านบาท) ซึ่งถือเป็นการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 ขณะที่ตลาดทุนอื่นๆ ในเอเชียต่างประสบปัญหาเงินทุนไหลออก

แพทริก มิทเชล กรรมการของสถาบันการตลาดที่บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุว่า การบริโภคในประเทศที่แข็งแกร่งและสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจมหภาคยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการไหลเข้าของเงินทุนจากตลาดประเทศพัฒนาแล้วเข้าสู่เวียดนาม

นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ว่า เป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามปีนี้อยู่ที่ 6.7-6.8% ซึ่งถือเป็นเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วมาก และเป็นช่องทางสำหรับนักลงทุนที่หนีมาจากตลาดอื่นๆ ที่มีความผันผวนจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจจีน ขณะที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวได้ 6.6% ในปีนี้ หรือสูงที่สุดในกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของอาเซียน 6 ประเทศ

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดว่า ธุรกิจด้านอุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค และพลังงาน ยังเป็นส่วนที่จะได้ประโยชน์มาก โดยประเมินว่าบริษัทในกลุ่มนี้จะขยายตัว 14% ใน 12 เดือนข้างหน้า

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการทางการเงินของเวียดนาม เปิดเผยว่า หนี้เสียภาคธนาคารเมื่อปี 2015 ลดลงอยู่ที่ 2.9% เป็นมูลค่า 119.66 ล้านล้านด่อง (ราว 1.9 แสนล้านบาท) จากปีก่อนหน้าที่ 3.7% ขณะที่การปล่อยสินเชื่อขยายตัว 19.3% เพิ่มขึ้นจาก 14.3% ในปี 2014 และสูงกว่าที่ธนาคารกลางคาดการณ์ไว้ก่อนหน้าว่าจะขยายตัวที่ 18% โดยในปีนี้ธนาคารกลางคาดการณ์ว่าธนาคารพาณิชย์จะขยายการให้สินเชื่อได้มากถึง 18-20%

รายงานดังกล่าวยังระบุว่า การบรรลุข้อตกลงและปรับใช้ข้อตกลงการค้าหลายข้อตกลงยังเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2016 นี้ด้วย

ที่มา http://www.posttoday.com/

คุยข่าวเศรษฐกิจ

425888241_13

สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น

น้ำมันดิบพุ่ง หลังประเทศในกลุ่มและนอกกลุ่มโอเปก ตกลงจะเข้าร่วมประชุม เพื่อตรึงกำลังการผลิตน้ำมันดิบในวันนี้

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) รายงานสถานการณ์น้ำมันปิดตลาดประจำวันที่ 16 มี.ค. 2559 น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ปรับเพิ่มขึ้น 2.12 เหรียญ มาอยู่ที่ 38.46 เหรียญต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ ปรับเพิ่มขึ้น 1.59 เหรียญ มาอยู่ที่ 40.33 เหรียญ โดยราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 6 หลังจากรัฐมนตรีน้ำมันของกาตาร์ ออกมากล่าวว่า ผู้ผลิตน้ำมันดิบทั้งในกลุ่มโอเปก และนอกกลุ่มโอเปก จะมีการเข้าร่วมประชุมกันที่เมืองโดฮา ในวันนี้เพื่อที่จะหารือถึงการตรึงกำลังการผลิตน้ำมันดิบไว้ โดยมีประเทศจากกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกที่จะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ 15 ประเทศด้วยกัน หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 73 ของกำลังการผลิตน้ำมันดิบของโลก ซึ่งสนับสนุนกับการตรึงกำลังการผลิตน้ำมันดิบในระดับเดียวกับเดือน ม.ค. 59 ที่ผ่านมา

ขณะที่ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 มี.ค. 59 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 523.2 ล้านบาร์เรล โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 5 สัปดาห์ติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม การปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งนี้มีปริมาณน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.4 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ จุดส่งมอบน้ำมันดิบโอกลาโฮมา ปรับตัวเพิ่มขึ้น 545,000 บาร์เรล มาสู่ระดับสูงสุดที่ 67.5 ล้านบาร์เรล ส่วนปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 747,000 บาร์เรล เนื่องจากความต้องการน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับปี 58 หรือเท่ากับ 9.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 1.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่คาดการณ์ไว้

ที่มาของข่าว

http://www.innnews.co.th/