SNP NEWS
ฉบับที่ 405
มองอย่างหงส์ BY CEO
“แม่ประนอม”
“แม่ประนอม-ลูก กอดกันโฮ”
จบศึกน้ำพริกเผา “ปนัดดา” กาวใจพาถก 2 ชั่วโมง เตรียมรับแม่คืนสู่เย้าพร้อมยกหุ้นคืนให้หมด
ข้อความข้างต้นเป็นหัวข้อข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ประจำวันที่ 6 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา
ข่าวสารในช่วงนั้นนอกจากจะทำให้คุณผู้หญิงที่ออกจ่ายตลาดรู้จักนำ้พริกเผาไทยตรา “แม่ประนอม” มากขึ้นแล้ว คุณผู้ชายที่ไม่เคยจ่ายตลาดก็พลอยรู้จักไปด้วย
ค่าโฆษณาไม่ต้องเสีย ค่าประชาสัมพันธ์ไม่ต้องจ่าย
แม้ผลที่ได้จะไม่ได้คาดหวังและไม่ได้ตั้งใจ แต่มันก็ทำให้คนรู้จักมากขึ้นแล้วจริง ๆ
ข้อมูลที่พอจะประติดประต่อจากสื่อที่เสนอ สรุปได้ว่าคุณประนอมเป็นเจ้าของและเป็นผู้บุกเบิกน้ำพริกเผาไทยแห่งนี้จนมีฐานะร่ำรวย
คุณประนอมมีหุ้นในบริษัทและมีที่ดินอีกหลายแปลงโดยโฉนดส่วนใหญ่เป็นชื่อของเธอหรือสามี ต่อมาสามีเสียชีวิต แต่หุ้นและที่ดินส่วนหนึ่งกลับไปอยู่ในชื่อบุตรสาวคนโตซึ่งกลายเป็นปัญหาในเรื่องนี้
การฟ้องร้องเพื่อเรียกคืนจึงเกิดขึ้น แล้วความจริงมันคืออะไร ???
ไม่มีใครรู้และไม่มีใครตอบได้ชัด ๆ เมื่อไม่มีใครรู้ความจริง การคาดเดาก็เกิดขึ้น
บางคนก็ว่าคุณประนอมอาจโอนให้แล้วก็ลืม บางคนก็ว่าสามีอาจโอนให้ลูกก่อนเสียชีวิต และบางคนก็ว่ามันอาจมีการโอนโดยมิชอบเกิดขึ้น
ตรงกันข้าม บุตรสาวผู้ถูกกล่าวกลับเลือกที่จะนิ่งเงียบ ไม่มีการตอบโต้ใด ๆ
สุดท้ายท่านรัฐมนตรีประจำสำนักรัฐมนตรีก็ออกมาไกล่เกลื่อ เพียงไม่ถึง 2 ชั่วโมงในวันนั้น ผลสรุปก็เป็นไปตามหัวข้อข่าวข้างต้น
ทั้ง 2 แม่ลูกก็ออกมาให้ข่าวที่เข้าใจกัน จากนั้นผู้ติดตามข่าวสารก็มองว่า เรื่องนี้น่าจะจบลงด้วยดี
ส่วนจะจบดีจริงหรือไม่นั้น มันเป็นเรื่องอีกยาวที่ต้องใช้เวลาไปดูกันตอนจบจริง ๆ เพราะนอกจากจะมีกระบวนการโอนหุ้นและที่ดินที่เกี่ยวข้องแล้ว มันยังมีความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกยาวไกล
แต่ที่แน่ ๆ ผลจากข่าวนี้คือ วันนี้ใคร ๆ ก็รู้ว่า คุณประนอมและบุตรสาวเป็นผู้หญิงเก่งของไทยและมีความสำคัญจนคนในรัฐบาลต้องเหลียวแล
การเรียกร้องทรัพย์สินกันในครอบครัวจนถึงการฟ้องร้องไม่ว่าจะเป็นพ่อ-แม่-ลูก หรือพี่-น้อง ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของประเทศไทย
มันเคยเกิดขึ้นมานับครั้งไม่ถ้วน
บางเรื่องจบด้วยดี หลายเรื่องจบไม่ค่อยดี และบางเรื่องก็มีความตายเข้ามาเกี่ยวข้อง
เรื่องแบบนี้จะจบอย่างไรไม่มีใครคาดเดาได้ ทั้งนี้เพราะบทจบส่วนใหญ่ของแต่ละเรื่องมักจะขึ้นอยู่กับจิตใต้สำนึกของผู้เกี่ยวข้องมากกว่าสิ่งใด
“จิตใต้สำนึก”
บางตำราใช้คำภาษาอังกฤษว่า conscience บางตำราก็ใช้คำที่ลึกลงไปว่า sub conscience mind และตำราไทยบางเล่มก็แปลกลับมาเป็นภาษาไทยว่า “มโนธรรม” ก็มี
จิตใต้สำนึกคือ จิตที่จะผุดขึ้นมาในใจเพื่อตำหนิติเตียนเมื่อมนุษย์ทำสิ่งไม่ถูกต้อง และคอยเตือนให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง
จิตใต้สำนึกของมนุษย์ทุกคนจึงมาจากพื้นฐานความดีที่เหมือนกัน และมันจะผุดขึ้นมาอย่างไม่ได้เชื้อเชิญเพื่อขัดแย้งกับกิเลศมนุษย์เหมือนกัน
จิตใต้สำนึกถูกฝังอยู่ใต้สามัญสำนึก (common sense) ส่วนมันจะถูกฝังให้ลึกลงไปมากขนาดไหนในแต่ละบุคคลนั้น
เชื่อกันว่าในโลกนี้ คงไม่มีใครสามารถวัดได้
เมื่อจิตใต้สำนึกอยู่ลึกลงไปในแต่ละคนไม่เท่ากัน มันจึงผุดขึ้นมาไม่พร้อมเพรียงกันแต่กลับส่งผลให้คนผู้หนึ่งมีมุมมองในเรื่องหนึ่งแตกต่างไปจากคนอีกผู้หนึ่งอย่างสิ้นเชิง
บางคนทำอะไรลงไปอย่างไร้ยางอายของความเป็นพ่อ เป็นแม่ หรือเป็นลูก บางคนหลงมัวเมาในอบายมุขอย่างขาดสติ และบางคนอาจโกหกอย่างคนไม่มีจิตใต้สำนึกใด ๆ ให้สัมผัส
คนหนึ่งอาจมองว่า คนเป็นเจ้าของและเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทขึ้นมาไม่ว่าจะมีใครก็ตามขึ้นมารับช่วงกิจการต่อไป ผู้ก่อตั้งก็ยังเป็นเจ้าของบริษัทอยู่ เว้นแต่ว่าเจ้าของจะโอนหุ้นให้ผู้อื่นถือแทนด้วยความสมัครใจ
อีกคนหนึ่งก็อาจมองว่า ลูกที่ก้าวขึ้นมาทำกิจการแทนพ่อแม่ต้องได้รับหุ้นต่อจากพ่อแม่ ความเจริญก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในภายหลังเป็นฝีมือการบริหารของลูก
ดังนั้น หุ้นต้องเป็นของลูกเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดจากพ่อแม่
ต่างคนต่างมองจากมุมของตนเองโดยไม่ผ่านจิตใต้สำนึก มันจึงไม่มีใครฟันธงได้ว่า มุมมองใดถูกหรือผิด
แล้วกว่าจะรอให้คน 2 คน มองเรื่องเดียวกันด้วยจิตใต้สำนึกเหมือน ๆ กัน บางครั้งก็ต้องรอความเสียหายมหาศาลให้เกิดขึ้นก่อน
ในอดีตคนไทยทั่วไปจะมีมุมมองในเรื่องทรัพย์สินครอบครัวจากจิตใต้สำนึก จากคุณธรรม และจากความกตัญญูที่คล้ายกัน
มันเป็นผลมาจากการอยู่ร่วมกันและการอบรมสั่งสอนจากรุ่นลงสู่รุ่นแบบครอบครัวขยาย
แต่เพียงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้ โลกค่อย ๆ กลายสภาพไร้พรหมแดน ทุกประเทศทั่วโลกต่างเชื่อมถึงกันและรับรู้ข่าวสารต่อกันอย่างง่ายดาย
ประเทศฝั่งโน้นเขามีอะไรกัน ประเทศไทยที่อยู่ฝั่งนี้ก็มีอย่างนั้นตามไปด้วย
การแข่งขันเพื่อความอยู่รอดทำให้ประเทศฝั่งโน้นมุ่งสู่ทุนนิยมเน้นการวัดคุณค่าของคนด้วยเงินและทรัพย์สิน ประเทศไทยที่อยู่ฝั่งนี้ก็ค่อย ๆ มุ่งสู่ทุนนิยมและการวัดคุณค่าของคนด้วยเงินและทรัพย์สินไม่ต่างกัน
ทุนนิยมยิ่งเข้ามาในจิตใจมากขึ้น มันก็มากดจิตใต้สำนึกของแต่ละคนให้ฝังจมลึกลงไปเรื่อย ๆ และส่งผลให้คุณธรรมและความกตัญญูค่อย ๆ ลดน้อยลงจนกลายเป็นเรื่องด้อยค่าน้อยกว่าเงินตราและทรัพย์สิน
ครอบครัวคนไทยวันนี้ไม่เหมือนในอดีต
คนไทยส่วนใหญ่มองตัวเองกันมากขึ้น เห็นแก่เงินมากขึ้น มีคุณธรรมและความกตัญญูลดลง แยกครอบครัวออกไปมากขึ้นที่ตามมาด้วยการแย่งชิงทรัพย์สินเพื่อครอบครัวของตนเอง
วันนี้ คนไทยวิ่งไล่หาความร่ำรวยที่ตามด้วยการทอดทิ้งกันมากขึ้น สามีทอดทิ้งภรรยา ภรรยาทอดทิ้งสามี พ่อแม่ทอดทิ้งบุตร บุตรทอดทิ้งพ่อแม่ก็เริ่มมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง
มันเป็นผลมาจากทุนนิยมที่ไปกดทับจิตใต้สำนึกให้จมลึกลงไป
ในกรณีของคุณประนอม
นับว่าเธอโชคดีที่บุคคลในครอบครัวมีจิตใต้สำนึกไม่ลึกนัก มันจึงผุดขึ้นมาง่าย ๆ ที่ตามมาด้วยคุณธรรมและความกตัญญูจนความขัดแย้งยุติลงในเวลารวดเร็ว ในขณะที่ครอบครัวอื่นอาจไม่โชคดีเท่าเธอ
แต่ไม่ว่าครอบครัวใดจะโชคดีหรือโชคร้าย และไม่ว่าจะแย่งชิงมาได้หรือไม่ได้อย่างไร สุดท้ายของชีวิตแต่ละคนก็เอาอะไรติดตัวไปไม่ได้เหมือน ๆ กัน
ไอ้นี่ก็ของกู ไอ้นั่นก็ของกู แย่งชิงอะไรมาสุดท้ายก็เอาอะไรไปไม่ได้
ได้อะไรมาสุดท้ายก็ว่างเปล่า ไม่ได้อะไรมาสุดท้ายก็ว่างเปล่า หากไม่เชื่อก็ลองอ่านเรื่องแปลด้านล่างนี้ก็แล้วกัน
สิทธิชัย ชวรางกูร
เรื่องสั้น … แปล
หากวันหนึ่ง ฉันได้ตายจากไปแล้ว
วันแรก … ที่ฉันตายไปแล้ว
คนที่เกลียดฉัน – กระโดดโลดเต้น .. ดีใจ
คนที่รักฉัน – น้ำตาไหลเป็นทาง
วันที่ 2 … ร่างฉันถูกฝัง หัวหันไปทิศตะวันตก
คนเกลียดฉัน – มองหลุมฉันแล้วสแยะยิ้มอย่างพอใจ
คนรักฉัน – หลังฝังฉันแล้ว ไม่กล้าหันกลับมามอง ด้วยยังทำใจไม่ค่อยได้
หนึ่งปีให้หลัง … ศพฉันเริ่มเน่าเปื่อย หลุมศพฉันเจอทั้งแดด ฝน และลม
คนเกลียดฉัน – หลังอาหาร หลังดื่มน้ำชา หลังดื่มเหล้าก็ยังก่นด่าอยู่บางครั้ง
คนรักฉัน – ดึกสงัด ในความเงียบ น้ำตายังไหล ด้วยไม่รู้จะระบายกับใคร
สิบปีให้หลัง …. ศพฉันเน่าเปื่อยไม่เหลือแล้ว คงเหลือแค่กองกระดูกไม่มากนัก
คนเกลียดฉัน – เหลือแค่จำชื่อฉันได้ แต่จำหน้าตาฉันไม่ได้แล้ว
คนที่รักฉันลึกซึ้งที่สุดล่ะ – เมื่อรำลึกถึงฉัน ก็จะนิ่งคิดถึงฉันบ้างเป็นครั้งคราว
ภาวะสังคมบีบคั้นในเรื่องทำมาหากิน
เรื่องราวของฉัน ไม่มีคนสนใจอะไรแล้ว
หลายสิบปีให้หลัง … หลุมศพฉันโดน แดด ลม ฝน … จนกร่อนเหลือแค่กองดิน พอสังเกตุเห็นได้เท่านั้น …
คนเกลียดฉัน – ก็ไม่เกลียดแล้ว เพราะเขาก็ตายแล้วเช่นกัน
คนที่รักฉันที่สุด – ก็ฝังอยู่ข้าง ๆ กองดินหลุมฉันเช่นกัน
พูดถึงโลกเรานี้ … ที่สุดแล้ว ฉันก็คือความว่างเปล่า มีการต่อสู้แข่งขันกันมาทั้งชีวิต แต่นำติดตัวไปไม่ได้แม้แต่ต้นหญ้าหรือกิ่งไม้
นับตั้งแต่ที่ฉันได้เกิดและอยู่ร่วมกันกับทุกคน มันก็ไม่สามารถนำความรักและความผูกพันธ์ติดตัวไปได้
ณ วันนี้ ไม่ว่าจะยากดีมีจนก็ต้องเดินไปถึงก้าวสุดท้ายบนเส้นทางสายท้ายสุด …
คงต้องรอให้ถึงชาติหน้าค่อยว่ากันใหม่ ….
ในช่วงชีวิตฉัน ความจริงคือว่างเปล่า แม้ย้อนคิดว่าควรจะเจ็บปวดหรือควรจะร้องไห้ แต่ก็ไร้เสียง หรือคิดว่าควรจะสำนึกเสียใจ …
แต่ก็สายไปเสียแล้ว ครับ …
หยู่กั๋วอู่เจ็กเทียงม อั้วซี่เหลี่ยว ….
บทความจากซู้บู๋งทีแอ๋ ….
แปลและเรียบเรียงโดย เจงเอี่ยม แซ่อึ้ง 8/4/2016
Credit group line ACC 38-39
The Logistics
ศุลกากรฯ แหลมฉบังเปิดใช้ระบบเทคโนโลยี e-Lock ติดตามและการปล่อยสินค้าล่วงหน้า
ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เปิดการใช้งานระบบติดตามทางศุลกากร (Tracking System) ภายใต้เทคโนโลยี e-Lock และโครงการปล่อยสินค้าล่วงหน้า (Pre-arrival Processing System) เพื่อควบคุม และตรวจสอบสินค้าผ่านแดนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ต่อการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศให้ทันต่อโลกในยุคปัจจุบัน
วันนี้ (7 เม.ย. 59) ณ สถานีตรวจสอบตู้สินค้าที่ 2 ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดการใช้งานระบบติดตามทางศุลกากร (Tracking System) ภายใต้เทคโนโลยี e-Lock และเปิดโครงการปล่อยสินค้าล่วงหน้า (Pre-arrival Processing System) โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนร่วมงานครั้งนี้เป็นจำนวนมาก
นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 จนถึงปัจจุบัน กรมศุลกากรได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีศุลกากรหลายประการเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า ให้การผ่านพิธีการศุลกากรเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว และยังคงไว้ซึ่งภารกิจในการปกป้องสังคมควบคู่กัน กรมศุลกากร ได้ดำเนินการจัดหาระบบติดตามทางศุลกากร (Tracking System) เพื่อช่วยให้การดำเนินงานควบคุม และตรวจสอบสินค้าผ่านแดนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้งานร่วมกับระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้า ด้วยเครื่องเอกซเรย์ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้การเปรียบเทียบภาพสินค้า และน้ำหนักสินค้าระหว่างท่าต้นทาง และท่าปลายทาง ทำได้โดยสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ประกอบกับการนำเทคโนโลยี RFID และ GPS ซึ่งทำงานร่วมกันเป็น “ระบบติดตามทางศุลกากร (Tracking System) ภายใต้เทคโนโลยี e-Lock”
โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถควบคุม ตรวจสอบ และเฝ้าติดตามการเคลื่อนย้ายของตู้สินค้าผ่านแดนได้ตลอดเส้นทาง ตั้งแต่ท่าต้นทางจนถึงท่าปลายทาง โดยในระยะแรก กรมศุลกากรจะนำระบบ e-Lock มาใช้กับสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และด่านศุลกากร รวม 16 แห่ง ที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นมาตรการทางศุลกากรที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ และช่วยปกป้องสังคมให้ปลอดภัย
นายกุลิศ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ กรมศุลกากรได้จัดทำโครงการปล่อยสินค้าล่วงหน้า (Pre-arrival Processing System) ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่มีปริมาณการนำเข้า-ส่งออก เป็นอันดับ 1 ของประเทศ มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางของระบบลอจิสติกส์ และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการอำนวยความสะดวกทางการค้า เป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุน (Ease of Doing Business) สอดคล้องต่อความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Agreement on Trade Facilitation)
สำหรับรูปแบบ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการสายการเดินเรือส่งข้อมูลบัญชีสินค้าสำหรับเรือล่วงหน้าก่อนเรือมาถึงไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือได้มีข้อมูลสำหรับเตรียมการจัดวางตู้คอนเทนเนอร์สินค้าล่วงหน้าก่อนเรือเทียบท่า ผู้นำของเข้าสามารถส่งข้อมูลใบขนสินค้า และปฏิบัติพิธีการศุลกากรล่วงหน้า ทำให้สามารถทำการตรวจปล่อยสินค้าได้ในทันทีที่สินค้ามาถึง
ในส่วนของเจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวประกอบในการบริหารความเสี่ยงเพื่อพิจารณาปล่อยสินค้าได้ล่วงหน้า และรวดเร็วกว่าที่เคยปฏิบัติมา ทำให้สามารถลดระยะเวลาในการดำเนินงานในท่าเรือให้น้อยลง อันก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาพรวมในการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ของประเทศ
นายกุลิศ กล่าวว่า ในขั้นแรกกรมศุลกากรจัดให้มีโครงการนำร่องการปล่อยสินค้าล่วงหน้า ณ ท่าเทียบเรือ A3 ท่าเรือแหลมฉบัง โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด และจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 18 เมษายน 2559 ระยะเวลาดำเนินการ 60 วัน และหากประสบผลสำเร็จก็พร้อมขยายไปยังท่าเทียบเรือต่างๆ ต่อไป
อย่างไรก็ตาม กรมศุลกากรจะมุ่งมั่นพัฒนาระบบงานศุลกากร โดยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้ามาปรับใช้อย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐ และอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศให้ทันต่อโลกในยุคปัจจุบัน
ที่มา : http://www.marinerthai.net/forum/index.php?topic=7971.0
AEC Info
มาเลเซียปิดรร.250แห่งเพราะอากาศร้อนจัด
สภาพาอากาศร้อนจัดที่อุณหภูมิสูงเกือบ 40 องศาเซลเซียส ส่งผลทางการมาเลเซียต้องปิดโรงเรียนมากกว่า 250 แห่ง เพื่อสุขภาพของเด็กนักเรียน
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีน เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ว่ากระทรวงศึกษาธิการของมาเลเซียออกแถลงการณ์เรื่องการปิดโรงเรียนมากกว่า 250 แห่งในรัฐปะหังและรัฐปะลิสอย่างน้อย 1 วันในวันจันทร์ อันเนื่องมาจากสภาพอากศที่ร้อนจัดในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยในประเทศเพิ่มสูงขึ้นถึง 37 องศาเซลเซียส สร้างความกังวลอย่างยิ่งให้แก่รัฐบาลเกี่ยวกับสุขภาพของเด็กนักเรียนในพื้นที่ราว 100,000 คน ขณะที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติพยากรณ์ว่าอิทธิพลของคลื่นความร้อนน่าจะเบาบางลงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
ทั้งนี้ รายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ( ดับเบิลยูเอ็มโอ ) ระบุว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในเดือนม.ค.และก.พ.ปีนี้ ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ และคาดการณ์ว่าทิศทางของเดือนมี.ค. น่าจะเป็นเช่นเดียวกัน เนื่องจากอิทธิพลรุนแรงของปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ซึ่งส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวนและแล้งจัดในเอเชียและอเมริกาใต้
ที่มา : http://www.dailynews.co.th/foreign/391148
คุยข่าวเศรษฐกิจ
ธนาคารโลกลดการเติบโตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก
World bank ปรับลดแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเหลือร้อยละ 6.3 ในปีนี้ เพราะสถานการณ์ของจีนยังไม่ดีขึ้น ส่วนเศรษฐกิจในอาเซียนยังทรงตัว โดยของไทยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5 ในปีนี้
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ว่าธนาคารโลก ( World bank ) ออกรายงานเมื่อวันอาทิตย์ ปรับลดประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ( อีเอพี ) ที่รวมจีน ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.3 ในปีนี้ และลดลงอีกเหลือร้อยละ 6.2 ในปีหน้า จากการคาดการณ์เมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว ว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคอีเอพีจะเติบโตที่ร้อยละ 6.4 ในปีนี้ และ 6.3 ในปี 2560
ทั้งนี้ ปัจจัยพื้นฐานของการปรับลดแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกมีความสัมพันธ์กับการที่ทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนยังอยู่ในระดับปานกลาง คือร้อยละ 6.7 ในปีนี้ และร้อยละ 6.5 ในปีหน้า ลดลงจากสถิติของปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6.9 อย่างไรก็ตาม ภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศรายได้สูงที่ช้าเกินความคาดหมาย และความผัวผนวนในตลาดการเงินที่ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศต้องเพิ่มความเข้มงวดด้านนโยบายการเงิน ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่อาจสร้าง “ผลประทบไม่พึงประสงค์” ทางเศรษฐกิจ
สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจในอาเซียนนั้น เวิลด์แบงก์ปรับเพิ่มประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค จากร้อยละ 4.8 เมื่อปีที่แล้ว ขึ้นเป็นร้อยละ 5.1 ในปีนี้ และร้อยละ 5.3 ในปีต่อไป ขณะที่ของไทยอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ในปีนี้ และร้อยละ 2.6 ในปีหน้า แต่ลดลงจากร้อยละ 2.8 เมื่อปีที่แล้ว อันเนื่องมาจากอุปสงค์ภายนอกที่ลดลงและนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ยังไม่ชัดเจน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ที่มา : http://www.dailynews.co.th/foreign/391105