SNP NEWS
ฉบับที่ 406
มองอย่างหงส์ BY CEO
“CSR”
“CSR 2559”
“ถ้าเราเอาเงินทุจริตมารักษาพ่อแม่ อะไรจะเกิดขึ้น ???”
“พ่อแม่ก็จะไม่หายครับ”
คำถามและคำตอบข้างต้น คัดมาจากการสนทนาบนเวทีของเด็กนักเรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันต์ ในโครงการ CSR Charity ปี 2556
คนอยู่ในโลกธุรกิจวันนี้จะพบว่า การทุจริตของไทยกระจายในวงกว้าง ลึก และมากขึ้นจนเหลือจะรับได้
มันมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้รัฐบาลจะพยายามปราบปรามจนดูเหมือนว่า การทุจริตได้ฝังรากลึกลงในสังคมไทยไม่เว้นแม้แต่เด็ก ๆ ที่ถูกปลูกฝังอย่างไม่ตั้งใจจากผู้คนในสังคม
เมื่อใดที่องค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศสำรวจ เมื่อนั้นประเทศไทยก็จะติดอันดับต้น ๆ ของการทุจริต
ในอดีต การสำรวจบางปีอาจดูดีบ้าง บางปีก็อาจดูแย่บ้าง แต่ภาพรวมการทุจริตของไทยไม่เคยอยู่ในเกณฑ์ดีเลย
หากถามว่า ใครกันเป็นผู้ก่อให้เกิดการทุจริตขึ้นในประเทศไทย
คำตอบก็คือ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค พ่อค้า นักธุรกิจ หรือข้าราชการ ทุกคนนั่นละคือต้นเหตุที่ก่อให้เกิดการทุจริต
การแข่งขันทำให้ผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้าราคาถูกลง แล้วเป็นอย่างไร !!!
เพียงแค่นี้มันก็ทำให้พ่อค้าและนักธุรกิจที่อยู่ในแวดลงการผลิต การซื้อ การขาย การขนส่ง และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต้องพยายามลดต้นทุนให้เต็มที่
ใครไม่อยากจ่ายใต้โต๊ะก็ต้องพยายามจ่ายเพื่อให้สินค้า หรือการบริการของตนมีต้นทุนต่ำลง ไม่อย่างนั้นก็ต้องเสียเปรียบคู่แข่งขัน
ผู้ใดเป็นผู้บริโภคที่ต้องการของถูกโดยไม่คำนึงถึงต้นทางที่มา ผู้นั้นก็เป็นผู้กระตุ้นให้การทุจริตเกิดขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ
คนเป็นพ่อค้า คนเป็นนักธุรกิจย่อมเป็นคนจ่ายเงินทุจริต คนรับก็อาจเป็นพนักงานเอกชน พ่อค้า นักธุรกิจด้วยกันเอง หรือข้าราชการที่สามารถเอื้ออิทธิพลให้คนจ่ายได้เปรียบ
คนทำขนส่งถูกตัดราคาให้ถูกลง คนทำขนส่งก็ต้องแบกน้ำหนักรถบรรทุกให้มากขึ้นเพื่อให้มีกำไรคุ้มต้นทุน
มันจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องจ่ายตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ขนส่งระหว่างทาง
ผู้นำเข้าต้องการให้ต้นทุนสินค้าถูกลงเพื่อการแข่งขัน ผู้นำเข้าก็ต้องเสียอากรขาเข้าให้ต่ำที่สุด มันก็ส่งผลให้เกิดการจ่ายเงินใต้โต๊ะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกเช่นกัน
ไม่ว่าผู้จ่ายจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ทุกคนในสังคมต่างก็มีส่วนส่งเสริมให้เกิดการจ่ายเงินทุจริตทั้งสิ้น
นี่คือวัฏจักรที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้ แล้วใครจะช่วยแก้ไขปัญหาการทุจริตได้ ???
คำถามแบบนี้มักจะตามมาด้วยคำตอบว่า “เราช่วยอะไรได้ไม่มากหรอก”
สุดท้ายสังคมทุนนิยมก็หนีไม่พ้นการแข่งขันโดยเสรี และการชิงความได้เปรียบโดยเสรีที่ไปสู่การทุจริตเพื่อความอยู่รอดของตนเอง
มันคือความจำเป็นเพื่อความอยู่รอดของตนเองโดยเสรีจริง ๆ
ทุกคนต่างต้องชิงความได้เปรียบ คนในสังคมส่วนใหญ่จึงถูกดูดเข้าสู่วังวนการทุจริตอย่างไม่ตั้งใจโดยไม่มีใครรู้ว่าอนาคตลูกหลานไทยจะเป็นอย่างไร
แต่สิ่งที่แน่นอนคือ การทุจริตทำให้เงินมีเส้นทางเดินที่บิดเบือนไปจากความจริง
แทนที่เงินจะใช้ไปในการพัฒนาสังคมห่างไกล หรือปรับปรุงคุณภาพชีวิตในชนบท มันกลับถูกบิดเบือนไปสู่เส้นทางอื่นจนทำให้ชนบทต้องจมอยู่ในวังวนของความยากจนตลอดไป
เมื่อเด็กในชนบทเติบโตและเข้าสู่สังคมเมือง สังคมทุนนิยม และการชิงความได้เปรียบที่จะชักนำให้เด็กบริสุทธิ์ในวันนี้ก้าวเข้าสู่วังวนของการทุจริตในอนาคตให้มากยิ่งขึ้น
การส่งเสริมเด็กให้รับรู้ ให้เกลียดชังการทุจริต และให้ได้รับความช่วยเหลือเด็กเพื่อยืนหยัดอยู่ได้ในวันนี้ ย่อมส่งผลให้สังคมค่อย ๆ สะอาดขึ้น
วันนี้ เด็ก ๆ ในชนบทต้องรู้ว่า หากนำเงินทุจริตไปรักษาพ่อแม่ที่ป่วยไข้ พ่อแม่จะไม่หาย
เด็กต้องรู้ว่า หากเป็นผู้จ่ายเงินทุจริตออกไป เงินทุจริตจะกลับมาทำร้ายเด็กและลูกหลานของเด็กในอนาคต
เพียงการรับรู้จริง ๆ
หากท่านผู้อ่านเป็นคนหนึ่งที่ร่วมส่งเสริมและช่วยเหลือเด็ก มันย่อมดีกว่าการนั่งมองสังคมทุนนิยมให้ค่อย ๆ จมอยู่การทุจริตอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด
นี่คือแนวคิดพื้นฐานของ CSR Charity โครงการผสมระหว่างการต่อต้านการทุจริตและการช่วยเหลือสังคมที่สภาพนักงาน SNP และผมร่วมกันจัดทำมาไม่น้อยกว่า 10 ปี โดยหวังว่าสังคมจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปด้วยน้ำมือบริสุทธิ์ของเด็กชนบทในวันนี้
โครงการ CSR Charity ในปี 2559 กำลังจะเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม 2559
สภาพนักงาน SNP ได้สำรวจและพบว่า โรงเรียนบ้านจันเดย์ ตั้งอยู่ในหมู่ 3 ตำบนท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นโรงเรียนตั้งอยู่บนพื้นที่ราบสูง เป็นถิ่นกันดาร การเดินทางลำบาก และถือเป็นโรงเรียนที่สมควรเข้าสู่โครงการอย่างยิ่ง
ตัวอาคารเรียนอยู่ในสภาพเก่ามาก อุปกรณ์การสอนขาดแคลนหลายอย่าง เช่น พัดลมติดผนัง การเทพื้นซีเมนต์ เครื่องทำน้ำเย็น เครื่องกรองน้ำ เครื่องกีฬา การปรับปรุงห้องสมุด ห้องน้ำ ลูกตระกร้อ ลูกฟุตบอล ลูกวอลเล่ยบอล
ส่วนนักเรียนอยู่ในสภาพยากจนต้องการถุงเท้า รองเท้า เสื้อผ้า หนังสือส่งเสริมความรู้ทุกประเภท ที่นอนเด็กอนุบาล และอื่น ๆ อีกมาก
โรงเรียนคัดเลือกเด็กนักเรียนที่มีความประพฤติดีแต่ยากจนจำนวน 10 คน เพื่อรับทุนการศึกษาคนละ 500 บาท ต่อเดือน เพื่อให้มีเงินติดตัวมาโรงเรียนตลอดปีการศึกษา 2559 ทุกเดือน
การส่งมอบเงินจะทำการส่งผ่านไปโรงเรียนทุกเดือนเพื่อมอบให้แก่เด็กที่ได้รับทุน
ยิ่งไปกว่านั้น สภาพนักงาน SNP จะทำการเล่นละครต่อต้านการทุจริต การทำให้เด็กรับรู้และมีส่วนร่วมพร้อมกับการส่งมอบของที่ขาดแคลนในกิจกรรมตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป
ท่านผู้อ่านที่สนใจร่วมส่งเสริมโครงการ หรือร่วมบริจาคสามารถติดต่อคุณเกศฤทัย คำษร ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนได้โดยตรงที่หมายเลขโทรศัพท์ 034-540-160 หรือ 098-314-0678
หากท่านมีเสื้อผ้า หนังสือ สิ่งของ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ไม่ใช้ ท่านสามารถบริจาคได้
ท่านผู้อ่านอาจแจ้งมายังสภาพนักงาน SNP เพื่อไปรับสิ่งของ หรือส่งมอบได้ที่สำนักงานสุขุมวิท 62 สถานีรถไฟฟ้า BTS บางจาก ทางออกประตู 4 หมายเลขโทรศัพท์ 02-333-1199 ต่อ 208 คุณธนภัทร วัฒนจัง หรือโทรศัพท์ส่วนตัว 085-333-9075
อีกทางหนึ่ง ท่านผู้อ่านสามารถซื้อหนังสือของโครงการจากร้านหนังสือ ซีเอ็ด ดอกหญ้า ศูนย์จุฬา ร้านเคล็ดไทย หรือซื้อจากสภาพนักงาน SNP เพื่อนำผลกำไรเข้าร่วมโครงการ
หนังสือ “มองอย่างหงส์” เล่ม 1 ออกจำหน่ายก่อนสงกรานต์ ราคา 60 บาท ความหนา 128 หน้า หนังสือแนวปรัชญาเกี่ยวกับสังคม การเมือง และการบริหารธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ รวบรวมจากบทความที่เคยเผยแพร่ไปแล้วแต่นำมาปรับปรุง ค้นหาหนังสือได้ในหมวด “ปรัชญา”
หนังสือที่เคยจำหน่าย ประกอบด้วย
“เสือนอนพิง” ฉบับปรับปรุง 2 ภาษา ไทย-อังกฤษ
“เสือนอนพิง” ตอน “สายน้ำไม่หวนกลับ” นวนิยายเชิงอัตชีวประวัติของผม
“The Sleeping Tiger, The River of No Return” ฉบับภาษาอังกฤษ
“เงินชดเชย” 2 ภาษา ไทย-อังกฤษ สำหรับท่านผู้ส่งออก
หนังสือทั้งหมดนี้ ท่านสามารถสั่งซื้อได้จากร้านหนังสือดังกล่าวข้างต้น บางเล่มอาจถูกถอดออกแผงแล้วแต่ท่านผู้อ่านยังสั่งซื้อโดยตรงได้จากสภาพนักงาน SNP ตามหมายเลขข้างต้น
หนังสือทุกเล่ม หากซื้อจากสภาพนักงาน SNP จะจำหน่ายในราคา 60 บาท เพื่อนำเงินกำไรเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้
ผมขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ให้ความกรุณา และขอให้ผลบุญกุศลที่ทุกท่านร่วมกันสร้างในครั้งนี้โปรดดลบันดาลให้ทุกท่านประสบแต่ความสุข ความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปเทอญ
สิทธิชัย ชวรางกูร
เงินทุจริตนำไปรักษาพ่อแม่ก็ไม่หาย นำไปซื้อรถยนต์ก็มักเกิดอุบัติเหตุ นำไปลงทุนก็ไม่งอกเงย
The Logistics
อินเดียประกาศทุ่ม 2 หมื่นล้านพัฒนาท่าเรืออิหร่าน
รองรับการสานสัมพันธ์ด้านพลังงาน
ทางการอินเดียประกาศพร้อมเดินหน้าลงทุน 20,000 ล้านดอลลาร์
เพื่อพัฒนาศักยภาพของท่าเรือ “ชาบาฮาร์”
ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอิหร่าน
พร้อมกับเดินหน้ายกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีทางด้านพลังงาน
การประกาศความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังการพบหารือกันที่กรุงเตหะราน
เมืองหลวงของอิหร่าน ระหว่างบิญาน ซันเกเนห์
รัฐมนตรีกระทรวงปิโตรเลียมของอิหร่าน กับธรรมเอ็นดรา ประธาน
ที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของอินเดีย
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2003
ทางการอิหร่านและอินเดียเคยบรรลุข้อตกลงในการพัฒนาท่าเรือชาบาฮาร์แห่งนี้ร่วมกัน
แต่ทว่าโครงการพัฒนาร่วมดังกล่าวมีอันต้องล้มเลิกไปภายหลังจากที่อิหร่านถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติจากผลพวงของโครงการพัฒนานิวเคลียร์
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวทางการทูตในกรุงเตหะรานเปิดเผยว่า
รัฐบาลอินเดียและอิหร่านได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู)
ระหว่างกันเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2014
ในการรื้อฟื้นโครงการพัฒนาท่าเรือแห่งนี้ในทันทีที่มาตรการคว่ำบาตรทั้งปวงต่ออิหร่านถูกยกเลิก
ทั้งนี้ ท่าเรือชาบาฮาร์ตั้งอยู่ในพื้นที่ของอ่าวโอมาน (Gulf of Oman)
ของอิหร่าน ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับปากีสถาน
และการเข้าถึงท่าเรือแห่งนี้จะช่วยตัดลดค่าใช้จ่ายของอินเดียในด้านการขนส่งน้ำมันดิบลงได้กว่า 30 เปอร์เซ็นต์
ก่อนหน้านี้ทางการอิหร่าน และอินเดีย ลงนามในวันเสาร์ (9 เม.ย. 59)
บรรลุข้อตกลงเพื่อเพิ่มความร่วมมือทางด้านน้ำมัน และพลังงาน
ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวได้รับการลงนามที่กรุงเตหะรานในวันเสาร์ (9 เม.ย.
59) โดยบิญาน ซันเกเนห์ รัฐมนตรีกระทรวงปิโตรเลียมของอิหร่าน และธรรมเอ็นดรา
ประธาน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของอินเดีย
โดยผลของข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้จะเปิดทางให้อินเดียได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติ
“ฟาร์ซาด-บี” ของอิหร่าน
และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งสองในการร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
ตลอดจนการที่อินเดียจะเพิ่มการสั่งซื้อน้ำมันดิบ
และผลิตภัณฑ์น้ำมันในรูปแบบอื่นๆ จากอิหร่าน
รายงานข่าวระบุว่า ในเวลานี้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันดิบไปยังอินเดียได้ราว
350,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่แหล่งก๊าซธรรมชาติ “ฟาร์ซาด-บี”
ของอิหร่านก็มีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองอยู่ไม่น้อยกว่า 12.8 ล้านล้านคิวบิกฟุต
ส่วนอินเดียเองก็มีฐานะเป็นลูกค้าน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของอิหร่าน
รองจากสาธารณรัฐประชาชนจีน
ทั้งนี้ อิหร่าน และมหาอำนาจทั้ง 6 ชาติ (กลุ่ม P5+1) ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ชาติ
“สมาชิกถาวร” ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ
ฝรั่งเศส รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน บวกกับอีก 1
ประเทศมหาอำนาจจากฝั่งยุโรป อย่างเยอรมนี
สามารถบรรลุความตกลงประวัติศาสตร์ทางด้านนิวเคลียร์กันได้เมื่อ 14
ก.ค.ปีที่แล้ว ถือเป็นการปิดฉากการเจรจาแบบมาราธอนที่ใช้เวลายาวนานกว่า 1
ทศวรรษ และถือเป็นข้อตกลงซึ่งพลิกโฉมการเมือง
และความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางครั้งใหญ่
หลังการบรรลุข้อตกลงดังกล่าว ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ
ออกมาแถลงยกย่องว่า นี่ถือเป็นก้าวย่างสำคัญไปสู่
“โลกแห่งความหวังที่เพิ่มสูงขึ้น”
และตอกย้ำในเวลาต่อมาว่าข้อตกลงประวัติศาสตร์นี้ถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุด
เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางอาวุธนิวเคลียร์
และเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ขณะที่ประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี ผู้นำสายกลางของอิหร่าน แถลงว่า
ความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ครั้งนี้ถือเป็นข้อพิสูจน์ว่าการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ได้ผลดียิ่ง
และว่าหากการเผชิญหน้ากันอย่างศัตรูระหว่างวอชิงตัน
และเตหะรานยังดำเนินอยู่ต่อไปก็คงไม่มีความเป็นไปได้แม้แต่น้อยที่ข้อตกลงเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอิสราเอลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู
ประกาศว่าจะเดินหน้าทำทุกวิถีทางเพื่อหาทางทำลายล้างข้อตกลงอัปยศฉบับนี้
ซึ่งทางฝ่ายอิสราเอลมองว่าเป็น “การยอมจำนนครั้งประวัติศาสตร์” ของสหรัฐฯ
และโลกตะวันตกให้แก่ชาติที่ชั่วร้ายอย่างอิหร่าน
ภายใต้ข้อตกลงนี้ มาตรการลงโทษคว่ำบาตรอิหร่านทั้งหลายทั้งปวงของสหรัฐอเมริกา
สหภาพยุโรป (อียู) และของสหประชาชาติ (ยูเอ็น)
ที่บังคับใช้มายาวนานได้ถูกยกเลิกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาเพื่อแลกเปลี่ยนต่อการที่รัฐบาลเตหะรานยอมตกลงตัดทอนโครงการนิวเคลียร์ของตน
ซึ่งสหรัฐฯ และโลกตะวันตกสงสัยมาโดยตลอดว่ามีเป้าหมายในการสร้าง
“ระเบิดนิวเคลียร์” ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เตหะรานยืนกรานปฏิเสธ
นักวิเคราะห์มองว่า
การบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะสำคัญทั้งสำหรับบารัค โอบามา
และฮัสซัน รูฮานี
และถือเป็นผลดีต่อการลดทอนความตึงเครียดในเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่มีมายาวนาน
ถึงแม้ว่าผู้นำทั้งสองต่างต้องเผชิญหน้าต่อแรงต่อต้านอย่างหนักหน่วงจากบรรดา
“นักการเมืองสายเหยี่ยว” ภายในประเทศของตนเอง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ
ที่นักการเมืองจำนวนมากยังคงมองอิหร่านเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่เป็น
“แกนอักษะแห่งปีศาจ”
ด้านสำนักข่าวไออาร์เอ็นเอของทางการอิหร่านรายงานว่า
ผลของข้อตกลงนี้จะทำให้อิหร่านได้รับเงินนับหมื่นล้านดอลลาร์ที่ถูกอายัดไว้กลับคืนมา
ขณะที่บรรดามาตรการคว่ำบาตรที่มีต่อธนาคารกลาง บริษัทน้ำมันแห่งชาติ
บริษัทชิปปิ้ง และสายการบินของอิหร่านได้ถูกยกเลิก
ถึงแม้มาตรการขององค์การสหประชาชาติในเรื่องการคว่ำบาตรห้ามซื้อขายอาวุธกับอิหร่านจะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปอีก
5 ปี และห้ามอิหร่านจัดซื้อเทคโนโลยีด้านขีปนาวุธอีกนาน 8 ปี
ว่ากันว่าผลประโยชน์ที่อิหร่านจะได้รับจากข้อตกลงคราวนี้อาจสร้างความกังวลต่อชาติพันธมิตรอาหรับของสหรัฐฯ
ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในกรณีของซาอุดีอาระเบีย
ประเทศที่ปกครองโดยมุสลิมนิกายสุหนี่
ที่เชื่อว่าอิหร่านซึ่งเปรียบเหมือนผู้นำของฝ่ายมุสลิมนิกายชีอะห์ให้การสนับสนุนต่อศัตรูของตน
ทั้งในสมรภูมิที่ซีเรีย เยเมน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
อย่างไรก็ดี
รัฐบาลอเมริกันมองเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิหร่านที่มี
“ศัตรูร่วมกัน” คือ กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส)
ที่กำลังยึดครองพื้นที่กว้างขวางทั้งในอิรัก และซีเรียอยู่ในเวลานี้ และถือเป็น
“ภัยคุกคามใหญ่หลวง” ต่อสันติภาพของโลก
ในอีกด้านหนึ่ง
การยุติมาตรการคว่ำบาตรทั้งปวงจะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจอิหร่านเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
เนื่องจากสามารถกลับเข้าสู่ “ตลาดน้ำมัน” ได้อีกครั้ง
แม้ในความเป็นจริงแล้วกว่าที่น้ำมันจากอิหร่านจะกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดโลกได้อย่างเต็มรูปแบบนั้นอาจต้องรอถึงช่วงครึ่งหลังของปี
2016 ก็ตาม
ที่มา : http://www.marinerthai.net/forum/index.php?topic=7978.0
AEC Info
มหาเจดีย์ชเวดากองในนครย่างกุ้ง
ขอแสดงความยินดีด้วยกับชาวเมียนมาได้ประธานาธิบดี คนใหม่ “อู ถิ่น จ่อ” เชื้อสายมอญ นั่งเก้าอี้พลเรือนผู้นำประเทศคนแรกรอบ 54 ปี เตรียมดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 1 เมษายน นี้
แม้ “อู ถิ่น จ่อ” ถูกมองเป็น “ผู้แทน” — Proxy ของนางอองซาน ซูจี ประธานพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี แต่เชื่อแน่ว่าความสนิทสนมแนบแน่นของ “อู ถิ่น จ่อ” กับ “ดอว์ ซู” จะผสานร่วมงานปกครองบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางอุปสรรคขวากหนามมากมาย ตั้งแต่ความร่วมมือทางการเมือง เรื่องเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการสร้างเสถียรภาพความสัมพันธ์กับชนกลุ่มน้อยหลากหลายเผ่าพันธุ์ในประเทศ ตลอดจนความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศ
จังหวะดีสบโอกาสได้ไปเยือน “เมียนมา” เมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ชวนร่วมงาน “แอ่วเหนือม่วนใจ๋ ก้าวไกลสู่ AEC” — “พิชิตตลาด เมียนมา สร้างพันธมิตรเศรษฐกิจชายแดน” กิจกรรมร่วมกับหอ การค้าไทยและหอการค้า จังหวัดตาก ฟังสัมมนาบรรยายพิเศษ “บทบาทของหอการค้าไทยต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการค้าด่านชายแดน” ฟังอาจารย์เกษมสันต์ วีระกุล เล่าภาพรวมโอกาสทาง การค้าที่ประเทศไทยได้รับจากการเปิดประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปีใหม่ ช่วยทำให้เห็นภาพเมียนมาแจ่มขึ้น
เส้นทาง “แอ่วเหนือม่วนใจ๋ ก้าวไกลสู่อาเซียน” ทริปนี้สำรวจพื้นที่อำเภอแม่สอด เมืองชายแดนด้านตะวันตกสุดอีกแห่งหนึ่งของไทย 2 วัน ชมสถานที่น่าสนใจของฝั่งไทยมากมาย ตั้งแต่โบราณสถานวัดวาอาราม แหล่งอาหารการกิน ไร่กุหลาบ สวนส้มร่มเกล้า โรงงานผลิตเอทานอลแม่สอดพลังงานสะอาด ชมตลาดริมเมยเลยเถิดไปดูสถานกาสิโนบนฝั่งชายแดนเมียนมา ก่อนเดินทางข้ามเข้าฝั่งเมียนมาจริงจังผ่านด่านพรมแดนแม่สอด โดยใช้เส้นทางถนนตัดใหม่สายจังหวัดเมียวดีกับเมืองกอกะเร็ก ซึ่งเปิดใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อ 31 ส.ค.ปีที่แล้ว
ทางสายใหม่เลียบลัดเลาะแนวเขาระยะทางราว 45 กม. สิ้นสุดลงด้วยเวลาเดินทางราว 45 นาที จากนั้น ถนนสายเดียวกันแต่กำลังเร่งสร้างปรับปรุงตลอดเส้นทางไปสู่เมืองผาอัน เมืองหลวงรัฐกะเหรี่ยง มุ่งหน้าสู่ เมาะละแหม่ง–Maw la myaing เมืองหลวง รัฐมอญ ผ่านแวะชม โบราณสถานหลายแห่ง รวมถึง เจดีย์ไจ๊ตาลาน–Kyaik than lan ตำนานโศกนาฏกรรมความรักระหว่างเจ้าน้อยแห่งเมืองเชียงใหม่กับสาวมอญแห่งเมืองมะละแหม่ง จบการเดินทางในรอบวันและพักค้างแรมริมแม่น้ำสาละวินอันกว้างใหญ่เหมือนไม่มีวันแล้ง
“เมาะละแหม่ง” เมืองใหญ่อันดับ 4 ของเมียนมา มีศักยภาพสูงมากเป็นท่าเรือน้ำลึก ธุรกิจกำลังขยายตัวเยอะแยะ โดยเฉพาะด้านท่องเที่ยว ทั้งเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมทั้งเก่าและใหม่
รุ่งขึ้นแวะชมตลาดเช้าวิถีชาวมอญ ก่อนมุ่งสู่เมืองไจท์โทว์ สถานที่ตั้ง “พระธาตุอินทร์-แขวน”–Kyaik ti yo (ไจ๊ทิโย) เจดีย์ขนาดเล็กสูง 7.3 เมตร ตั้งอยู่บนก้อนหินขนาดใหญ่ สูง 5.5 เมตร บนยอดเขาพวงลวงในรัฐมอญอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 3,615 ฟุต ถือเป็น 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเมียนมาต้องไปสักการะ ทั้งยังเป็นพระธาตุประจำปีจอ บนลานพระธาตุอินทร์แขวน อนุญาตเฉพาะชาวเมียนมานอนพักค้างคืน แต่มีโรงแรมและห้องพักบริการชาวต่างชาติตลอดทั้งปี
ออกจากรัฐมอญใช้ทางด่วนตัดใหม่สายกรุงเนปิดอว์-นครย่างกุ้งเข้าเมืองหลวงเก่านมัสการ “มหาเจดีย์ชเวดากอง” อันยิ่งใหญ่ลือลั่นอมตะ ผู้คนนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกพากันมาเยือนแทบไม่ขาดสายเกือบตลอดทั้งปี แม้แต่คนหนุ่มสาวชาวเมียนมายังอาศัยมหาเจดีย์ชเวดากองเป็นสถานที่ใช้เวลาพูดคุยสานสัมพันธ์ภายใต้ร่มเงาศาสนา
ปิดท้ายทริปสำรวจเส้นทาง แม่สอด-เมียวดี–เมาะละแหม่ง-ไจท์โทว์-นครย่างกุ้ง ด้วยระยะทางกว่า 450 กม. ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนชื้นเช่นเดียวกับเมืองไทย เชื่อแน่ ว่าเส้นทางสายนี้อนาคตสดใสรอคอยต้อนรับเหล่านักเดินทางไปเยือนอีกมากมายในอนาคตอันใกล้
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
คุยข่าวเศรษฐกิจ
ครม.ไฟเขียวโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี วงเงิน 82,907 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการ ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ หรือ รฟม. พิจารณาทบทวนพื้นที่ตลอดแนวเส้นทางในการก่อสร้าง เพื่อพัฒนาเชิงพาณิชย์และก่อสร้างอาคารจอดและจรเพิ่มเติม พร้อมทั้งเร่งรัดให้เปิดประกวดราคาให้แล้วเสร็จ ภายใน 2 เดือน เพื่อให้สามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ภายใน ปี 2560
นอกจากนี้ สำหรับในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุจากการจราจรขนส่งสาธารณะตลอดช่วงเทศกาลประมาณ 45 ครั้ง โดยอุบัติเหตุบนโครงข่ายทางถนนพบว่ามีผู้เสียชีวิต 270 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.66 เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีผู้บาดเจ็บ 1,988 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.68 ด้านตัวเลขจำนวนการเดินทางของประชาชน อยู่ที่ประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งต่ำกว่าประมาณการณ์ที่ตั้งไว้ 22.67 ล้านคน และต่ำกว่าในปี 2558 ที่มีประมาณ 21 ล้านคน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ หันไปใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทาง และบางส่วนเดินทางกลับก่อนเทศกาล
ที่มา : http://www.innnews.co.th/