SNP NEWS

ฉบับที่ 412

มองอย่างหงส์

“บุหรี่มอร์ริส”

Marlboro-cigarettes

บุหรี่นำเข้าจากฟิลิปปินส์
หลายปีที่ผ่านมาถูกกล่าวหาว่าหลบเลี่ยงภาษีอากรที่มีความเสียหายสูงกว่า 6.8 หมื่นล้าน
คดีนี้กำลังถูกขุดขึ้นมาก่อนหมดอายุความ

ฟิลลิป มอร์ริส นำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร สำแดงราคานำเข้า 7.76 บาท ต่อซอง และยี่ห้อแอลแอนด์เอ็ม ราคา 5.88 บาทต่อซอง
คิงเพาเวอร์ นำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร สำแดงราคานำเข้า 27.46 บาท ต่อซอง และยี่ห้อแอลแอนด์เอ็ม รมคา 16.81 บาทต่อซอง
http://topicstock.pantip.com/rajdumnern/topicstock/2011/03/P10325448/P10325448.html เป็นเว๊บไซค์ที่ให้ข้อมูลราคาข้างต้น
ฟิลลิป มอร์ริส และคิงเพาเวอร์ใช้ราคานำเข้าที่ต่างกันมาก
บุหรี่อยู่ในพิกัด 2402.20.90 อัตราอากร 60% ภาษีสรรพสามิต 90% ภาษีบำรุงท้องถิ่น 10% ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
ภาษีอากรเกี่ยวข้องมาก แต่รวมทั้งหมดแล้วก็ประมาณ 231.20%
เมื่อรวมภาษีอากรข้างต้นแล้ว ต้นทุนนำเข้าจะเป็นเท่าไหร่ก็คงไม่ยากต่อการคำนวณ
ขณะที่ราคาขายปลีกในท้องตลาด มาร์ลโบโร ประมาณ 125 บาท ต่อซอง และยี่ห้อแอลแอนด์เอ็ม ประมาณ 87 บาท ต่อซอง
กำไรมาก หรือกำไรน้อยแค่ไหนก็พอจะมองออก อย่างนี้จะทำให้คนสูบบุหรี่ตกใจและลดการสูบบุหรี่ลงหรือไม่ ???
คำตอบคงหายากกับคำว่า “ยาเสพติด”
ตรงกันข้าม ราคานำเข้าที่ต่างกันมากได้กลายเป็นคดีความที่ยืดเยื้อกันมานานนับสิบปีระหว่างผู้นำเข้าฟิลลิป มอร์ริส กับหน่วยงานของรัฐ
สำนักข่าวอิสรา ให้หัวข้อข่าวว่า
“บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ผู้นำเข้าถูกข้อหาหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าบุหรี่ระหว่างปี 2546 – 2552 รวมมูลค่าเสียหายกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท นับเป็นคดีมหากาพย์หนึ่งของไทยที่ใช้เวลาสอบสวนยาวนาน และรัฐบาลแพ้ไม่ได้” (http://www.isranews.org)
เนื้อหาข่าวหลายสำนักชี้ข้อหาที่ฟิลลิป มอร์ริส ได้รับคือ การสำแดงราคาต่ำกว่าราคาเป็นจริงตามวิธีการประเมินราคาแบบ GATT ที่กรมศุลกากรใช้อยู่
GATT คืออะไร ???

GATT ย่อมาจากคำว่า General Agreement on Tariffs and Trade หมายถึง ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้าที่องค์การการค้าโลก หรือ WTO (World Trade Oranization) กำหนดให้ประเทศสมาชิกใช้ร่วมกันเพื่อป้องกันข้อถกเถียง
WTO กำหนดกฎของราคา GATT ที่จะนำมาใช้ในการคำนวณภาษีอากรด้วยกัน 6 ขั้น
การใช้กฎ ต้องใช้กฎขั้นที่ 1 ก่อน นี่คือหลักสำคัญ
เมื่อใช้กฎข้อที่ 1 แล้ว หากยังไม่ได้ราคาที่ถูกต้องมาประเมินภาษีอากรก็ให้ใช้กฎขั้นที่ 2 ไล่เรียงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงขั้นที่ 6 จนกว่าจะได้ราคาประเมินมาเสียภาษีอากร
ในกรณีบุหรี่ของฟิลลิป มอร์ริส เขานำเข้ามานานหลายปี อยู่ ๆ วันดีคืนดีหน่วยงานของรัฐก็กล่าวหาขึ้นมา
ราคาที่สำแดงขณะนำเข้าเพื่อประเมินภาษีอากรนั้นต่ำเกินจริงตามข้อมูลราคาที่ได้จากเว็บไซต์ข้างต้น
หากราคาที่นำมาแสดงข้างต้นเป็นความจริง ดูแล้วก็รู้ว่ามันแตกต่างกันมาก มันมากจนเกิดข้อสงสัย
ทำไมหน่วยงานของรัฐยอมรับราคาแล้วปล่อยให้นำเข้ามาเนิ่นนานหลายปี ???
การสืบค้นราคาโดยเฉพาะของคิงเพาเวอร์มาเทียบเคียงไม่ใช่เรื่องยาก
เมื่อปล่อยให้เนิ่นนานหลายปี แล้วก็มาสรุปให้ผู้นำเข้าต้องรับผิดชอบค่าเสียหายถึง 6.8 หมื่นล้านบาท
ใครเป็นผู้นำเข้าแล้วยอมง่าย ๆ มันก็ฆ่าตัวตายชัด ๆ
WTO สร้างกฎขึ้นมาเพื่อลดความขัดแย้ง แต่ความขัดแย้งก็เกิดขึ้นจากกฎที่สร้างขึ้นมา
การต่อสู้ก็ย่อมตามมา
ส่วนที่ว่ายืดเยื้อเพราะหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องมีมากเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นกรมศุลกากร สำนักงานอัยการ สำนักนายกรัฐมนตรี องค์การการค้าโลก (WTO) และคณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้นชุดต่าง ๆ
อีกเหตุผลหนึ่งคือ รัฐบาลไทยที่เกี่ยวข้องก็มีหลายรัฐบาลและดำเนินการแบบเหวี่ยงไปมา
บางรัฐบาลก็ถูกนำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่อหวังผลทางการเมือง บางรัฐบาลชี้ว่าคดีมีมูลให้ฟ้อง บางรัฐบาลชี้ว่า คดีไม่มีมูลให้ถอนฟ้องก็มี
ทั้งหมดขาดความชัดเจน
แบบนี้ตัวผู้นำเข้าที่มีผู้บริหารเป็นชาวต่างชาติก็งง ตัวบุคคลที่เป็นคณะกรรมการ และรวมไปถึง WTO ก็งงจนอาจเดินไม่ถูกเช่นกัน
ระบบราคาแกตต์ (GATT Valuation System) มีสาระอย่างไร ???

กฎราคาข้อที่ 1 ให้ใช้ราคาซื้อขายของที่นำเข้า
GATT กำหนดให้ใช้ราคาซื้อขายที่ได้ชำระจริงของของที่นำเข้ามาคำนวณภาษีอากร ราคาที่ว่านี้ ให้รวมถึงค่าวัสดุเสริม ค่านายหน้า ค่าสิทธิต่าง ๆ เข้าไปด้วย
ในกรณีนี้ ฟิลลิป มอร์ริสน่าจะพิสูจน์ได้ว่าราคาที่นำเข้ามาแม้จะต่ำมากแต่ก็เป็นราคาที่ได้ชำระจริง
แต่หน่วยงานของไืทยก็แย้งว่า ผู้ขายในประเทศฟิลิปปินส์ต้นทางมีสายสัมพันธ์กับผู้นำเข้าฟิลลิป มอร์ริส ราคาจึงต่ำมากจนไม่น่าเชื่อถือเลยขอไปใช้กฎข้อที่ 2
กฎราคาข้อที่ 2 ให้ใช้ราคาซื้อขายของที่เหมือนกัน
GATT กำหนดว่า ราคาที่จะใช้แทนราคาตามกฎข้อที่ 1 นั้น ต้องเป็นของที่เหมือนกันทุกอย่าง เช่น ลักษณะทางกายภาพ คุณภาพ และชื่อเสียงซึ่งผลิตในประเทศเดียวกัน และเป็นผู้ผลิตเดียวกันกับของที่กำลังประเมินราคา
หน่วยงานของรัฐจึงไปนำราคาของที่เหมือนกันของผู้อื่นตามกฎข้อที่ 2 เช่น ราคาที่คิงเพาเวอร์นำเข้าข้างต้นมาประเมินภาษีอากรใหม่
แล้วข้อกล่าวหาที่ว่าภาษีอากรขาดก็เกิดขึ้นตรงนี้ ส่วนกฎข้ออื่น ๆ ขออนุญาติไม่เอ่ยถึง

กฎระบบราคาแกตต์ที่ว่านี้ตั้งโดย WTO
หากฟิลลิป มอร์ริสต่อสู้อุทธรณ์เฉพาะกับรัฐบาลไทยแล้วมีโอกาสชนะ เขาคงไม่ไปยื่นเรื่องให้ WTO ตีความต่าง ๆ แน่
แล้วข้อมูลที่มี WTO เข้ามาเกี่ยวข้องและเผยแพร่ในทางสาธารณะก็มีดังนี้
1. ราคานำเข้าของฟิลลิป มอร์ริสเป็นราคาที่ต้องเสียภาษีอากร Duty Paid ขณะที่ราคาของคิงเพาเวอร์เป็นราคาที่ได้ยกเว้นภาษีอากร Duty Free จึงเป็นเหตุให้ราคาแตกต่างกันมาก
2. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขายฟิลิปปินส์ และผู้นำเข้าในไทยที่มีชื่อฟิลลิป มอร์ริส เหมือนกัน รัฐบาลไทยไม่ได้ให้ข้อมูลว่ามีผลให้ราคาต่ำกว่าอย่างไร
3. ข้อมูลที่ฟิลลิป มอร์ริสเสนอเพื่อยืนยันราคานั้น รัฐบาลไทยแจ้งว่าไม่เพียงพอโดยไม่ชี้ว่าไม่เพียงพออย่างไร แต่กลับไปสรุปว่าทำให้ภาษีอากรขาด
4. ข้อมูลอื่น ๆ
ข้อมูลทั้งหมดนี้ ใคร ๆ ก็มองออกว่า WTO ให้น้ำหนักไปทางฟิลลิป มอร์ริสมากกว่า และทำให้มองเห็นอิทธิพลทางการเมืองของฟิลลิป มอร์ริสที่อาจมีเหนือองค์การระหว่างประเทศ
นี่ละที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องกลับมาเคร่งเครียดในการต่อสู้

โลกวันนี้เปลี่ยนไปมาก
ประเทศหนึ่งแม้จะมีอธิปไตยในการจัดการเรื่องภายในของตน แต่หากเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศขึ้นมา เช่น ด้านศุลกากรและการค้าเหมือนกรณีนี้
องค์การระหว่างประเทศก็อาจถูกดึงเข้ามาได้
ไม่มีใครรู้ว่า คดีบุหรี่มอร์ริสจะจบลงอย่างไร แต่เรื่องนี้ก็สามารถใช้เป็นกรณีศึกษาขึ้นมาได้
หากผู้นำเข้าถูกประเมินภาษีเพิ่มไม่ว่าจะเกิดจากพิกัด ราคา สภาพสินค้า สิทธิประโยชน์ทางภาษี หรืออื่น ๆ ที่มีพื้นฐานของความขัดแย้งระหว่างประเทศ ท่านก็ลองศึกษาแนวทางนี้ดู
ไม่แน่ว่า WTO อาจเป็นทางเลิอกในการต่อสู้หนึ่งก็ได้

สิทธิชัย ชวรางกูร

ขอขอบคุณรูปภาพ : http://bit.ly/20QRMYt

The Logistics

bbk4

เหตุเกิดจากเครน

กรี๊ดๆๆ เสียงร้องวี้ดว้ายกระตู้วู้ จากบรรดาสาวออฟฟิต
หลังจากมีเสียงเล็กๆ พึมพำดังขึ้นมาว่า “เครนเสีย งานมา”
ฮะ! อะไรนะ เคนมา? อ๊าย! ไหนๆ เคนอยู่ไหน เคน ภูภูมิ หรือ เคน ธีรเดช มีป้าคนหนึ่งถามขึ้น
เจ้าของเสียงเล็กๆ ลุกขึ้นยืนพร้อมป่าวประกาศ “ไม่ใช่เคนดารา! เครนท่าเรือต่างหาก มันเสีย! ตั้งหลายตัว งานมาแน่ๆ”
เฮ้อ! เสียงเบาๆ จากหลายๆคนก็ดังขึ้นให้ได้ยินอย่างน่าหวั่นใจ เอาอีกแล้ว งานเข้าตลอดๆ เสียได้ทุกปีสินะ ฮือ…..

แม้ว่าบรรยากาศข้างต้นจะถูกสมมุติขึ้น แต่กลับเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ณ ตอนนี้ สายเรือหลายๆสายที่มีกำหนดเรือเข้าที่ท่าเรือกรุงเทพฯ ในช่วงนี้ต่างปวดเศียรเวียนเกล้าไปตามๆกัน ไม่ใช่แค่สายเรือนะคะ Freight Forwarder จวบจนผู้สั่งซื้อสินค้า,ผู้นำเข้า-ส่งออกที่มีกำหนดต้องส่งสินค้าตามกำหนด หรือนำวัตถุดิบเข้ามาเพื่อผลิตและส่งออก ต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนทั่ว เหตุการณ์ท่าเรือหนาแน่นเกิดขึ้นได้เสมอในทุกแห่ง (โดยที่เราอาจไม่คาดคิด และไม่สามารถควบคุมได้) ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น สภาพอากาศไม่ดี, เครนยกตู้ที่ท่าเรือเสีย, มีเรือเกิดอุบัติเหตุที่ท่าเรือ ฯลฯ
ท่าเรือหนาแน่นไม่ได้เคยเกิดขึ้นเฉพาะที่ท่าเรือคลองเตยเท่านั้น แม้แต่ท่าเรือยักษ์ใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ ก็ประสบกับ port congestion ด้วยเช่นกัน
สำหรับเหตุการณ์ท่าเรือหนาแน่นที่ท่าเรือกรุงเทพในครั้งนี้ มีสาเหตุหลักมาจากเครนที่ทำงานยกตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือเสียถึง 2 ตัว ทำให้ความสามารถในการยกตู้ขึ้น-ลงลดลงไปด้วย
เรือมาจอดรออยู่ที่ท่าเรือนานขึ้น เรือลำใหม่ที่มาถึง ก็ต้องจอดรอกันเป็นทิวแถว ต่อคิวกันยาวเหยียด กว่าจะได้เทียบท่าแล้วยกตู้ลง อาจกินเวลาเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3-5 วัน
ถ้าใครรู้ข่าวนี้แล้ว ก็อยากให้ช่วยๆกระจายข่าวกันออกไป เผื่อใครมีshipment ด่วนๆ จะได้เตรียมตัวเตรียมใจ หรือหาทางป้องกัน/แก้ไขกันไว้ล่วงหน้า
โดยอาจขอคำแนะนำจากสายเรือ/ Freight forwarder ที่ใช้บริการอยู่ แต่เบื้องต้นถ้าใครไม่อยากเจอปัญหาท่าเรือหนาแน่นที่คลองเตย ก็ขอแนะนำให้เลือกไปลงที่ท่าเรือแหลมฉบัง/ลาดกระบังแทนไปก่อนนะคะ
ด้วยความหวังดีจากผู้เขียน สวัสดีค่ะ

ขอขอบคุณรูปภาพ : http://xn--42c9ablg1cccb5i7c9ff6l.com/crane/index2.html