มองอย่างหงส์
“ลงดาบชิปปิ้ง”
“ศุลกากรเล็งลงดาบชิปปิ้ง”
จากกการจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายศุลกากรมากกว่า 60% ระบุว่า ทำพิธีการศุลกากรตามคำแนะนำของชิปปิ้ง
หัวข้อข่าวข้างต้นเรียก “ตัวแทนออกของ” ว่า “ชิปปิ้ง” อีกแล้ว
ท่านอธิบดีกรมศุลกากรคงไม่เรียกผิด นักข่าวที่รู้เรื่องก็คงไม่เขียนผิด แต่หัวข้อข่าวที่ใช้คำดั้งเดิมก็เพราะคนไทยไม่ยอมเปลี่ยนการเรียกมากกว่า มันเป็นภาษาตลาดไปแล้ว
Ship แปลว่า เรือ
Shipping แปลว่า การเดินเรือ หรือการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
“ชิปปิ้ง” ในทางสากลจึงต่างจากความเข้าใจของคนไทยมาก แม้ 10 กว่าปีที่ผ่านมา เราจะมี พรบ. ตัวแทนออกของออกมาบังคับใช้ แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังเรียกว่า “ชิปปิ้ง” เหมือนเดิม
ส่วนเนื้อหาข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐข้างต้นให้รายละเอียด ดังนี้
“กรมศุลกากรจะเสนอขอแก้ไขกฎหมาย กรณีตัวแทนออกของ (ชิปปิ้ง) กระทำผิด หรือให้คำแนะนำที่ไม่ถูกต้องแก่ผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้า โดยเน้นเรื่องการรับผลประโยชน์โดยไม่สนใจจรรยาบรรณวิชาชีพ เช่น แนะนำผู้นำเข้าให้สำแดงรายการสินค้าไม่ถูกต้อง หรือแจ้งปริมาณสินค้าที่นำเข้าน้อยกว่าความเป็นจริง ซึ่งวิธีนี้ ผู้ประกอบการมักจะเห็นด้วยเนื่องจากมีภาระค่าภาษีที่ลดลง”
ในข่าวระบุว่า การให้คำแนะนำที่ผิด ๆ เกิดจากสาเหตุ 2 ประการ
1. ท่านอธิบดีแบ่งตัวแทนออกของออกเป็น 2 กลุ่ม คือ “ตัวแทนออกของรายใหญ่และรายเล็ก ที่ผ่านมาตัวแทนรายใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหา ส่วนตัวแทนรายเล็กมีปัญหามากที่สุด”
2. ท่านอธิบดียอมรับว่า “มีข้าราชการศุลกากรที่เกษียรแล้ว หรือยังไม่เกษียรบางคนทำตัวเป็นชิปปิ้งโดยตั้งบริษัทขึ้นมา เนื่องจากบุคคลเหล่านี้มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับข้าราชการด้วยกัน และมีความรู้ด้านพิธีการศุลกากรและอัตราภาษี”
ในข้อ 2 นี้ ท่านสรุปตอนท้ายว่า
“การโยกย้ายข้าราชการออกจากพื้นที่ที่กระทำความผิดตามด่านต่าง ๆ ไม่สามารถขุดรากถอนโคนได้เพราะบริษัทชิปปิ้งที่กระทำความผิดยังคงมีอยู่”
ปี 2540 ประเทศไทยประสบวิกฤติจากพิษเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง”
หลังจากนั้น ไทยก็ไปกู้เงินจาก IMF (International Monetary Fund) เพื่อนำมากอบกู้สภาพเศรษฐกิจ
ตอนนั้น IMF กล่าวหาว่า หนึ่งในหลายสาเหตุที่ทำให้ไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจก็เพราะการทุจริตมีมากเหลือเกิน
เงินที่ได้จากการทุจริตอยู่ ๆ ไปโผล่กับบุคคลที่ไม่เป็นไปตามพื้นฐานเศรษฐกิจ
การทุจริตยิ่งมาก ก็ยิ่งทำให้เงินที่โผล่ไปกระตุ้นการซื้อการขายที่ไม่มีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แท้จริงตามไปด้วย
เศรษฐกิจถูกกระตุ้นตามพื้นฐานเทียม คนสุจริตไม่รู้ก็ตื่นตัวตามจนเกิดการซื้อ การขาย การผลิต การกู้ยืมเงิน และการเก็งกำไรบนพื้นฐานความต้องการเทียมตามไปด้วย
ราคาที่ดินในตอนนั้นจึงเป็นราคาเทียมที่วิ่งขึ้นไปอย่างฉุดไม่อยู่
พอความจริงถูกเผยออกมา ความต้องการเทียมถูกกระชากหน้ากาก เศรษฐกิจที่เติบโตบนพื้นฐานเทียมก็พังพินาศอย่างที่เห็น
IMP ดูออก แล้วกรมศุลกากรก็อยู่ในข่ายนี้ด้วย ตอนไปกู้เงิน IMF ก็เลยกำหนดเงื่อนไขให้ไทยขจัดเรื่องการทุจริตออกไป
คุณสมใจนึก เองตระกูล เป็นอธิบดีกรมศุลกากรในเวลานั้นก็แก้ไขให้เป็นตัวแทนออกของด้วยแนวทาง ดังนี้
1. ตัวแทนออกของต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันกับกรมศุลกากร มีโครงการรวมใจใสสะอาด ตัวแทนออกของรายไหนทำผิดกฎหมายก็ถูกปรับได้ง่าย ๆ เพราะมีหลักประกันอยู่ในมือ
2. ตัวแทนออกของจะได้สิทธิพิเศษ เช่น คืนอากรเร็ว ทำพิธีการเร็ว ผ่อนผันการตรวจ งดการค้ำประกันในหลาย ๆ เรื่องเพื่อความสะดวก และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ
3. ตัวแทนออกของจะให้มีสัญชาติไทยเพียง 100 ราย เพื่อสงวนอาชีพนี้ให้คนไทยและส่งผลให้การควบคุมพฤติกรรมง่าย จากนั้นก็เกิดเป็นสมาคมตัวแทนออกของขึ้น
4. ตัวแทนออกของต้องมีความรู้ มีผู้ชำนาญการ มีจริยธรรม มีการอบรม มีการสอบเพื่อให้มีศักดิ์ศรีและกอบกู้ภาพลักษณ์ของไทย
5. อื่น ๆ
แนวทางข้างต้นทำให้ตัวแทนออกของทั้งรายใหญ่และรายเล็กตื่นตัว มีการแห่เข้าร่วมมากขึ้นเรื่อย ๆ ท่านก็ขยายเพิ่มให้จนเกิน 100 ราย แล้วอะไรเกิดขึ้นตามมา
จากวันนั้นมาถึงวันนี้ อธิบดีกรมศุลกากรเปลี่ยนไปหลายคน นโยบายข้างต้นก็ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง
ตัวแทนออกของที่อยากเป็นคนดีก็มาขึ้นทะเบียนเพิ่มรวมทั้งต่างชาติก็หลายร้อยราย หลักทรัพย์ค้ำประกันที่จ่ายก็เก็บไว้เฉย ๆ สิทธิพิเศษที่ให้ตัวแทนออกของดูเหมือนมีแต่กลับไม่ชัดเจน
คำว่า “ตัวแทนออกของ” ผุด ๆ โผล่ ๆ อย่างที่เห็น แต่คำว่า “ชิปปิ้ง” ยังอยู่คงกระพัน
แล้วเป็นอย่างไร ???
ตัวแทนออกของที่ไม่ดีทำงานสนุกขึ้นเพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่ต้องกลัวถูกปรับ ทำงานหาเงินลูกเดียว
ไม่ว่าจะผิดจะถูก เอาเงินไว้ก่อนแล้วค่อยมาว่ากันทีหลัง
ผู้ประกอบการนำเข้าต้องการเสียภาษีต่ำ ต้องการคืนภาษีมาก ขณะที่ตัวแทนออกของที่ไม่ดีก็อยากได้งาน อยากได้เงินมาก ยิ่งมีศุลกากรไม่ดีอยู่เบื้องหลังก็ยิ่งคึกคะนอง เมื่อมีความต้องการ มันก็ต้องมีคนสนอง
มันสอดคล้องกันทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน
การแนะนำในทางที่ผิด ๆ ก็เลยเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ศุลกากรเห็นแก่เงินบางคนก็เอาแต่รีดเงินโดยไม่สนใจตัวแทนออกของรายใดดีหรือรายใดเลว
ตัวแทนออกของที่ดี ๆ ก็คิดหนัก จะยอม หรือจะไม่ยอมเพราะกระทบทั้งชื่อเสียง มีโอกาสถูกปรับ แต่หากไม่สู้ก็เสี่ยงต่อการเสียลูกค้า
ตรงกันข้าม ตัวแทนออกของเลว ๆ ไม่ต้องคิดหนักอะไร ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีหลักทรัพย์ ไม่ต้องไปทำสัญญากับกรมศุลกากร หาเงินลูกเดียว
หากมีปัญหาแก้ไขไม่ไหวก็หนีได้ทันที
หากยังเป็นแบบนี้ กฎหมายที่ออกมาใหม่ก็เหมือนกฎหมายควบคุมอาวุธปืนนั่นละ คนดี ๆ คนสุจริตก็ไม่พกปืนในที่สาธารณะ แต่คนเลวไม่กลัวกฎหมายก็พกกันต่อไป
พอเกิดเรื่องขึ้นทีไร คนดีถูกยิงตายทุกที
ในเมื่อปัญหาเกิดจากตัวแทนออกของที่ไม่ดีและศุลกากรที่ไม่ดีบางคนไม่ว่าจะเกษียรหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น การออกกฎหมายให้เข้มงวดจึงไม่น่าจะแก้ปัญหาได้ตรงจุด
กฎหมายจะยิ่งไปควบคุมตัวแทนออกของที่ดีมากกว่า
ส่วนตัวแทนออกของที่เลวก็ยิ่งหัวเราะ ยิ่งมีความสุขกับผลประโยชน์มากขึ้น เพราะตัวแทนออกของที่ดีขยับตัวไม่ออก ทำอะไรก็ขัดกฎหมาย
ดังนั้น การแก้ไขปัญหาการทุจริตในศุลกากรด้วยกฎหมายก็เป็นเรื่องหนึ่ง
แต่การส่งเสริมตัวแทนออกของที่ดีให้สามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้นกลับเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อาจให้ผลได้ดีไม่ยิ่งหย่อนกัน
วิธีง่าย ๆ เพียงนำแนวคิดของคุณสมใจนึก เองตระกูลมาใช้ให้จริงจัง และปรับปรุงเล็กน้อยตามสภาพการเท่านั้น คือ
1. หลักทรัพย์ค้ำประกัน
ตัวแทนออกของทุกรายต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน ส่วนจำนวนจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกรมศุลกากรว่าจะให้ตัวแทนออกของมีทำหน้าที่อะไร แค่นี้ตัวแทนออกของที่ไม่ดีก็หนีแล้ว
2. อำนาจหน้าที่
ตัวแทนออกของที่มีใบอนุญาตต้องทำหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าแทนศุลกากรได้ สั่งการคืนภาษีอากรได้ ตรวจรับรองเอกสาร และอื่น ๆ ได้
หลักทรัพย์ค้ำประกันจะทำให้ตัวแทนออกของปฏิบัติหน้าที่นี้อย่างดี ส่วนศุลกากรก็ตรวจสอบย้อนหลัง (post audit) แบบนี้ใคร ๆ ก็อยากเป็นตัวแทนออกของที่ดีและเข้าสู่ระบบ
3. ผ่อนผันค่าปรับ
เมื่อตัวแทนออกของตรวจพบความผิด แล้วแจ้งผู้ประกอบการไปเสียภาษีอากรให้ถูกต้องก็ให้ผ่อนผันค่าปรับ
ค่าปรับไม่มีผลต่อผู้ประกอบการที่มีเจตนาโกงภาษีมากนัก เพราะได้เตรียมทางหนีทีไล่ไว้แล้ว แต่ค่าปรับกลับเป็นภาระให้ผู้ประกอบการที่ดีที่ทำผิดโดยไม่ตั้งใจและเป็นแรงจูงใจให้เกิดการทุจริต อีกประการหนึ่งค่าปรับเข้าคลังหลวงไม่ถึงครึ่งเพราะต้องแยกเป็นรางวัลนำจับ 50-60%
เมื่อไม่มีค่าปรับ ศุลกากรไม่ดีก็รีดเงินได้ไม่มาก ผู้ประกอบการที่ดีก็อยากทำงานร่วมกับตัวแทนออกของที่ดีมากกว่าซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เข้าสู่ระบบที่ดีมากขึ้น
4. ตรวจสอบย้อนหลัง
เมื่อกรมศุลกากรไม่ต้องตรวจสินค้าก็เอาเวลามาสร้างระบบตรวจสอบย้อนหลัง (post audit) ให้ดีและเร็วกว่านี้ ไม่ใช่ปล่อยความผิดให้สะสมหลายปีแล้วมาตรวจจนสร้างความวุ่นวายและเสียหายให้วงการธุรกิจมากเหมือนปัจจุบัน
หากศุลกากรตรวจพบผิดย้อนหลังแบบตั้งใจ แบบนี้ก็ให้มีค่าปรับผู้ประกอบการโดยไม่มีการผ่อนผัน แต่หากพิสูจน์ได้ว่า ตัวแทนออกของมีส่วนร่วมในความผิดก็ให้ถูกปรับตามไปด้วย
5. หลักสูตรความรู้
กรมศุลกากรต้องกำหนดหลักสูตรความรู้ให้ชัดเจนให้ตัวแทนออกของไปอบรมกันเองแล้วมาสอบ กรมศุลกากรไม่ต้องเปิดอบรมแต่เป็นเพียงผู้สอบทั้งข้อเขียนและสัมภาษณ์
ตัวแทนออกของต้องเป็นองค์กร ต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่บุคคล ดังนั้น การสอบข้อเขียนอย่างเดียวในวันนี้ไม่เพียงพอ เพราะตัวแทนออกของที่ได้รับอนุญาตในฐานะองค์กรต้องทำหน้าที่แทนศุลกากรได้
6. อื่น ๆ
กรมศุลกากรควรกำหนดเงื่อนไขและแนวทางอื่นที่เห็นควร เป้าหมายก็เพื่อให้เกิดตัวแทนออกของที่ดีและมีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่
ด้วยแนวคิดและมุมมองแบบนี้ กรมศุลกากรจะเสนอกฎหมายลงดาบอย่างไรก็ได้ แต่ต้องเป็นการลงดาบตัวแทนออกของที่ไม่ดี
ด้านหนึ่งส่งเสริม ด้านหนึ่งลงดาบ แบบนี้ใครมาเป็นตัวแทนออกของก็อยากอยู่ในร่องในรอยกันทั้งนั้น
เมื่อตัวแทนออกของเลว ๆ หรือศุลกากรเลว ๆ ค่อย ๆ ล้มหายไป การทุจริตก็น่าจะค่อย ๆ ลดน้อยตามไปด้วย
นี่เป็นเพียงแนวคิดส่วนตัวเท่านั้น
สิทธิชัย ชวรางกูร
ขอขอบคุณรูปภาพ : http://www.bhumex.co.th/services/shipping.html
The Logistics
สระแก้ว มีแววเด่น ดันเป็นฮับโลจิสติกส์ภูมิภาคอินโดจีน
“ชายแดนเบื้องบูรพา ป่างามน้ำตกสวย มากด้วยรอยอารยะธรรมโบราณ ย่านการค้าไทย-เขมร” คำขวัญประจำจังหวัดสะแก้ว ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออก แม้จะเป็นจังหวัดที่เพิ่งแยกออกมาจากจังหวัดปราจีนบุรี เมื่อพ.ศ.2536 (จังหวัดลำดับที่ 74 ของประเทศไทย) แต่ก็เป็นดินแดนแหล่งอารยะธรรมที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนาน ชื่อจังหวัด “สระแก้ว” ก็มีที่มาจากชื่อสระน้ำโบราณ ซึ่งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองสระแก้ว มีอยู่จำนวน 2 สระ ในสมัยกรุงธนบุรีราวปี พ.ศ. 2323 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (เมื่อครั้งทรงเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก) เป็นแม่ทัพยกทัพไปตีกัมพูชา (เขมร) ได้แวะพักกองทัพที่บริเวณสระน้ำทั้งสองแห่งนี้ กองทัพได้อาศัยน้ำจากสระใช้สอยและได้ขนานนามสระทั้งสองว่า “สระแก้ว-สระขวัญ” และได้นำน้ำจากสระทั้งสองแห่งนี้ใช้ในการประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาโดยถือว่าเป็นน้ำบริสุทธิ์
ตัดภาพมาที่ปัจจุบันกันบ้าง รัฐบาลกำลังเร่งผลักดัน จังหวัดสระแก้ว เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเติบโตเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาคอินโดจีน ด้วยความที่จังหวัดสระแก้วได้เปรียบทางด้านทำเลที่ตั้ง เพราะมีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และอยู่ใกล้ด่านชายแแดนอรัญประเทศ ซึ่งเป็นจุดผ่านแดนถาวร เชื่อมต่อกับจังหวัดบันเตียเมียนเตย ประเทศกัมพูชา
จึงมีศักยภาพเป็นเส้นทางเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าไปสู่ตลาดอินโดจีนได้ ขณะเดียวกันก็มีเส้นทางคมนาคมที่สะดวกเชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทางเพียง 250กิโลเมตรและห่างจากกรุงเทพฯ 260 กิโลเมตร จึงทำให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว มีศักยภาพที่ดีและเอื้อต่อภาคเอกชนในการเข้ามาลงทุนเพื่อใช้เป็นประตูส่งออกสู่ตลาดอินโดจีนรวมถึงประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีกด้วย
แหล่งข้อมูล : http://www.ryt9.com/s/iq03/2433973
https://th.wikipedia.org/wiki/
ขอขอบคุณรูปภาพ : http://bit.ly/1t40bNb
Shipping ชวนคุย
การส่งออกไม่ใช่เรื่องยาก และจะดีมากถ้ารู้ว่าอะไรห้ามส่งออก
หากคุณเป็นหนึ่งคนที่มีสินค้าที่พร้อมจะขาย ขยายตลาดไปสู่สากล การเตรียมตัวเป็นผู้ส่งออกที่ดี คือศึกษาพื้นฐานขั้นตอน ข้อกำหนดสำหรับการส่งออกที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งในส่วนของภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เริ่มแรกง่ายๆ ด้วยการรู้ว่ามีสินค้าอะไรบ้างที่ห้ามส่งออก (ของต้องห้าม) และ สินค้าที่ถูกควบคุมหรือจำกัดการส่งออก เราเรียกว่า สินค้า/ของต้องกำกัด ความหมายคือ หากจะมีการส่งออกสินค้าที่อยู่ในกลุ่มนี้ จะต้องขออนุญาตกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก่อนการส่งออก ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เราจะพาไปดูกันว่า มีสินค้าอะไรบ้างที่ห้ามส่งออก และถูกควบคุมการส่งออกด้วยเหตุผลบางอย่าง
สิ่งที่มีอยู่มากตามชายทะเล ทรัพยากรธรรมชาติอันล้ำค่าบนพื้นพิภพ “ทราย” เป็นสินค้าที่ห้ามส่งออกนอกประเทศไทย เพื่อสงวนไว้ใช้ในอุตสาหกรรมภายในประเทศ และเพื่อเป็นการป้องกันการทำลายสภาพสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ
สินค้าที่ต้องขออนุญาตก่อนการส่งออก 14 รายการ ได้แก่
1. น้ำตาลทราย: เพื่อให้การส่งออกน้ำตาลทรายไปยังต่างประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ และเพื่ออนุวัติตามข้อบังคับขององค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ
2. ถ่านหิน: เป็นการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรธรรมชาติของประเภทที่สามารถใช้ให้หมดไป
3. เทวรูป และพระพุธรูป: เพื่อป้องกันการลักและทำลายพระพุทธรูปและเทวรูป ออกเป็นชิ้นส่วนเพื่อส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ
4. แร่ที่มีทรายเป็นส่วนประกอบ: เพื่อสงวนไว้ใช้ในอุตสาหกรรมภายในประเทศและเพื่อเป็นการป้องกันการทำลายสภาพสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ
5. หอยมุกและผลิตภัณฑ์: เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงไข่มุก การผลิตเครื่องประดับและเครื่องตกแต่งบ้านจากเปลือกหอย
6. กุ้งกุลาดำมีชีวิต: เพื่อส่งเสริมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล เพื่อทดแทนการผลิตตามธรรมชาติที่มีแนวโน้มลดลงและคุ้มครองเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลให้สามารถรับซื้อลูกกุ้งได้ในราคาที่เหมาะสม
7. ช้าง: เพื่อประโยชน์ของรัฐในการอนุรักษ์ช้างไทย
8. ถ่านไม้ทุกชนิด: เพื่อสงวนและรักษาทรัพยากรป่าไม้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
9. ไม้และไม้แปรรูป: เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและเพื่อประโยชน์ของรัฐในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
10. กากถั่ว: เพื่อป้องกันการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์ภายในประเทศ
11. กาแฟ: เพื่ออนุวัติตามข้อบังคับขององค์การกาแฟระหว่างประเทศที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่
12. ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง: เพื่อให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจและสถานะการค้าในปัจจุบัน และให้อำนาจในการดำเนินการจัดระเบียบการค้ากับต่างประเทศให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย
13. ข้าวส่งออกภายใต้โควตาภาษีของสหภาพยุโรป: เพื่อปฏิบัติตามความตกลงที่สหภาพยุโรปให้การชดเชยแก่ประเทศไทย อันเนื่องมาจาก การขยายสมาชิกภาพด้วยการยกเว้นภาษีหรือการลดหย่อนภาษีสำหรับการนำเข้าข้าวบางประเภท บางชนิดจากประเทศไทย
14. ข้าว: เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และเพื่อประโยชน์ในการส่งออกข้าวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่จะต้องมีหนังสือรับรอง/ขึ้นทะเบียนประกอบการส่งออก ได้แก่ ผักและผลไม้ ดอกกล้วยไม้สด ลำไยสด ทุเรียนสด กุ้ง ปลาหมึก และผลิตภัณฑ์ ปลาทูนาบรรจุกระป๋อง สับปะรดกระป๋อง ปลาทะเลสวยงามที่มีชีวิต
เพื่อเป็นการเตรียมตัวให้พร้อม และป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะทำผิดกฎหมายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผู้ส่งออกควรศึกษาข้อมูลให้รายละเอียด หรือ อาจขอคำปรึกษาจากบริษัทตัวแทนออกของที่มีความน่าเชื่อถือไว้วางใจได้ หรือสอบถามกับหน่วยงานของรัฐ เช่น กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ กรมส่งเสริมการส่งออก เป็นต้น
แหล่งข้อมูล : http://www.dft.go.th/Default.aspx?tabid=166
(กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์)
ขอขอบคุณรูปภาพ : http://bit.ly/25JKVqC