มองอย่างหงส์
“อาหารฟรี”
ประเทศไทยมีคนจนเกือบ 20 ล้านคน
เพียงแค่การขึ้นทะเบียนจะช่วยคนจนได้จริงหรือ ???
ไม่มีใครรู้ว่า จริง ๆ แล้วตัวเลขคนจน 20 ล้านคนจะมากหรือน้อยกว่านี้ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล และทุกถนนของไทยล้วนมีคนหาเช้าแต่ไม่พอกินถึงค่ำปะปนอยู่ทุกหนแห่ง
วันนี้ รัฐบาลใช้นโยบายให้คนจนมาขึ้นทะเบียนเพื่อรับความช่วยเหลือโดยตรงในโครงการสวัสดิการต่าง ๆ ที่จะมีในอนาคต
เงื่อนไขการลงทะเบียนสำหรับคนจนก็ไม่ซับซ้อนอะไร
- ต้องมีรายได้รวมไม่เกินปีละ 100,000 บาท
- ต้องมีอายุ 18 ปี ขึ้นไป
- ต้องมีสัญชาติไทย
- ต้องยินยอมให้เปิดเผยรายได้ การถือครองทรัพย์สิน เจ้าหนี้ และจำนวนหนี้คงค้าง
เงื่อนไขแม้จะมีเพียงแค่นี้ แต่คนจนที่รับเงินค่าจ้างหลายแห่งเกินกว่า 100,000 ต่อปีอย่างไม่รู้ตัวก็อาจตกอยู่ในข่ายแจ้งความเท็จก็ได้เมื่อเผลอไปขึ้นทะเบียน
ส่วนคนตกงาน หรือมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท บางคนก็อาจไม่ยอมไปขึ้นทะเบียนก็ได้เพราะกลัวทรัพย์สินที่ซ่อนเร้นจะถูกเปิดเผย
การขึ้นทะเบียนคนจนที่เห็นว่าง่าย ๆ ก็อาจกลายเป็นปัญหาขึ้นมา
พอมาตรการนี้ถูกเข็ญออกมา คนก็วิจารย์ว่า เศรษฐกิจของไทยคงตกจริง ๆ ไม่อย่างนั้นรัฐบาลจะทุ่มเทช่วยเหลือคนจนไปทำไม ???
หลายสิบปีที่ผ่านมานี้ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจทั่วโลกต่างพยายามเสาะหาตำราเล่มต่าง ๆ เพื่อนำมากอบกู้วิกฤติเศรษกิจที่วุ่นวายไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย
แล้วเป็นอย่างไร ???
วันนี้ ใคร ๆ ก็มองว่า เศรษฐกิจทั่วโลกไม่ได้ผันผวนตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว แต่ดู ๆ มันเหมือนผันผวนไปตามกระแสการตื่นตระหนกของคนนับล้านคนมากกว่า
คนส่วนใหญ่เฮไปทางไหน มันก็ไปทางนั้นทั้ง ๆ ที่หลายเรื่องเป็นแค่ข่าวลือ ไม่มีพื้นฐานอะไรรองรับ เฮไปแปล๊บเดียว พอความจริงเปิดออกมาก็เฮกลับมาอีกด้าน
นักวิชาการจึงตามไม่ค่อยทันแล้วต่างก็มองว่า ตำราหรือทฤษฏีไหนก็ใช้ไม่ได้ผล
การขึ้นทะเบียนคนจนเพื่อรอรับความช่วยเหลือของรัฐบาลไทยในวันนี้ จึงไม่มีทฤษฏีไหนฟันธงว่าจะทำให้คนไทยมีรายได้ดีขึ้นหรือไม่
ทั้ง ๆ ที่ฟันธงไม่ได้ แต่ข่าวเศรษฐกิจก็โหมกระหน่ำไปแล้วว่า ปี 2575 หรืออีก 16 ปี ข้างหน้า คนไทยจะมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,000 บาท หรือขั้นต่ำ 15,000 บาท
ไม่รู้ว่าจะเป็นผลมาจากการขึ้นทะเบียนคนจนนี้หรือไม่ ???
การจะช่วยคนจน มันน่าจะเริ่มจากปัจจัย 4 ก่อน
หากถามว่า วันนี้คนจนต้องการปัจจัย 4 อะไรมากที่สุด ระหว่างอาหาร ที่อยู่ เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ???
อย่างนี้ คำตอบก็น่าจะเป็นอาหาร
คนจนอาจอยู่ได้แม้จะไม่มีที่อยู่ ไม่มีเสื้อผ้า และไม่มียารักษาโรค แต่คนจนอยู่ไม่ได้แน่หากไม่มีอาหารตกถึงท้อง
เมื่อไม่มีอาหาร หรือมีแต่ไม่เพียงพอ คนจนก็ต้องดิ้นรน ต้องต่อสู้ ต้องขโมย ต้องแย่งชิง ต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในที่คิดว่าจะหางานและหาอาหารได้
แล้วมันก็ตามมาด้วยปัญหาสังคมมากมาย
หากอาหารเป็นปัจจัยสำคัญสุดจริง ภายหลังการขึ้นทะเบียนคนจน รัฐบาลก็น่าจะทุ่มเทให้ทุกจังหวัดสร้างโครงการอาหารกลางวันฟรีไปเลย
หากมีอาหารกลางวันฟรีจริง การต่อสู้แย่งชิงก็จะน้อยลง
โจรขโมยก็น้อยลง การย้ายถิ่นฐานก็น้อยลงตามไปด้วย คนจนจะย้ายเข้าเมืองมาทำไมในเมื่ออยู่ในจังหวัดตนก็อิ่มท้องได้
เมื่อมีอาหารอิ่มท้อง คุณภาพชีวิตก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นมาเอง บ้านเรือนที่อยู่ เครื่องนุ่งห่ม หรือยารักษาโรคก็จะค่อย ๆ พัฒนาตามมา
การทำไร่ทำนาก็จะเน้นคุณภาพมากขึ้นมากกว่าการเน้นปริมาณที่ทำให้การใช้ยาปราบศัตรูพืชลดลงไปด้วย
หากคิดจะมอบอาหารกลางวันฟรีให้คนจน มันก็ต้องเริ่มจากแต่ละจังหวัดก่อน
ในหลักการปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัดมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชนในเขตจังหวัด การจัดให้มีโครงการอาหารกลางวันฟรีก็ควรดำเนินการโดยภรรยาผู้ว่าฯ โดยรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ
- กฏหมายรองรับ
ให้มี พรบ. ซึ่งจะเรียก พรบ. สมาคมแม่บ้าน หรือสภากาชาด หรือสภาจังหวัด หรืออะไรก็ได้ตามแต่สะดวกเพื่อกำหนดตัวบุคคล วิธีการ และงบประมาณที่แน่นอน
- ประธานและกรรมการ
ภรรยาผู้ว่าฯ เป็นประธานโดยตำแหน่ง ผู้ว่าฯ ใดไม่มีภรรยา หรือมีแต่ทำหน้าที่ไม่ได้ ก็ให้ภรรยารองผู้ว่าฯ หรือตำแหน่งรองลงมาเป็นประธาน กรรมการอื่นก็กำหนดให้ภรรยาข้าราชการระดับสูงอย่างชัดเจน
- รายได้
โครงการควรมีรายได้จากภาษีท้องถิ่นที่เก็บได้ รายได้จากท้องถิ่นนำมาจัดทำอาหารฟรีให้ท้องถิ่น อย่างนี้ผู้ประกอบการท้องถิ่นก็ได้บุญทางตรง ท้องถิ่นใดมีรายได้ไม่เพียงพอก็เป็นหน้าที่รัฐบาลกลางจัดงบประมาณช่วยเหลือ
- การบริหารจัดการ
โครงการต้องซื้อที่ดินเพื่อปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ทำโรงครัว จ้างแรงงานในท้องถิ่นเพื่อบริหารจัดทำโครงการอาหาร และต้องพร้อมให้บริการตั้งแต่เวลา 11.00 – 15.00 ทุกวัน ภายใต้การกำกับดูแลของสมาคมที่ตั้งขึ้น
- สถานที่โครงการ
สถานที่ให้บริการอาหารกลางวันฟรีจะอยู่ในตำบลใด อำเภอใด และจังหวัดหนึ่งจะมีกี่แห่งก็ให้เป็นไปตามการพิจารณาของสมาคมที่จัดตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายจำนวนคนที่ชัดเจน เช่น วันหนึ่งต้องมีคนจนมารับบริการไม่น้อยกว่า 2,000 คน หรือตัวเลขที่เหมาะสม เป็นต้น
- ผู้มีสิทธิ์รับประทานฟรี
คนที่มีบัตรคนจนในจังหวัดใดก็มีสิทธิรับประทานฟรีในจังหวัดนั้น เงื่อนไขนี้ะทำให้การขึ้นทะเบียนคนจนมีความหมายทุกวัน และทำให้แต่ละจังหวัดมีตัวเลขคนจนที่จะเข้ารับบริการแต่ละแห่งชัดเจนขึ้น
- การตรวจสอบ
คณะกรรมการจากส่วนกลางมีหน้าที่กำกับดูแล ตรวจสอบ และการประกวดด้านการบริหารจัดการ ด้านคุณภาพอาหาร และด้านอื่น ๆ โดยมีการประกาศรับรางวัลทุกปีเพื่อสร้างการร้บรู้และการพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
- เงื่อนไขอื่น
รัฐบาลสามารถสร้างเงื่อนไขอื่น เช่น เงินประจำตำแหน่ง หรือเพิ่มหน้าที่ให้สมาคมแม่บ้านนี้ดูแลคุณภาพสินค้า ราคาสินค้าในจังหวัด หรืออื่น ๆ ที่จะทำให้ชุมชนน่าอยู่จนคนไม่อยากย้ายถิ่นฐาน
ผลของโครงการอาหารกลางวันฟรีจะทำให้แต่ละจังหวัดเกิดการจ้างงาน เกิดการคมนาคม และเกิดการบริการอื่นตามมา แม้ไม่มากแต่ก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นในจังหวัดให้ตามมาได้
ไม่แน่ว่า อาหารกลางวันฟรีอาจเป็นการช่วยให้การขึ้นทะเบียนคนจนมีความหมายยิ่งขึ้น ตรงประเด็นมากขึ้น และทำให้รายได้คนไทยสูงขึ้นตามที่คาดการก็ได้
สิทธิชัย ชวรางกูร
ขอขอบคุณรูปภาพ : http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9540000135979
The Logistics
สายฝนโปรยปรายกับวันสบายๆ แบบนี้ ท่านผู้อ่านคิดถึงอะไรกันบ้างคะ บางท่านอาจนึกถึงการท่องป่าเขียวชะอุ่มหรือเดินบนพื้นหญ้าเขียวขจีหน้าบ้าน สำหรับผู้เขียนนึกถึงเตียงนอนนุ่มๆในบ้านที่แสนอบอุ่นค่ะ แต่คงจะไม่ดีถ้าเราจะพูดถึงการนอน (เพราะทำให้ดูเป็นคนเกียจคร้าน) ฉะนั้นก็มาสร้างภาพกันต่อเลยค่ะ บรรยากาศดีดีแบบนี้เราจะหยิบยกเนื้อหาเบา เบา มาคุยกันดีกว่า มีคนบอกว่าสายฝนทำให้คนรู้สึกเหงา เวลาฝนตกหลายคนก็อาจจะเศร้า ความเหงาเศร้าซึมจะหายไป หากรู้ว่ามีคนที่คิดถึงเราอยู่ คนที่ต้องจากบ้านมาไกลเพื่อทำงานต่างถิ่น ก็คงจะคิดถึงบ้าน คิดถึงครอบครัวที่อยู่ต่างจังหวัด โชคดีที่สมัยนี้เทคโนโลยีก้าวหน้า ทำให้คนที่อยู่ไกลก็เหมือนอยู่ใกล้ (แต่จะไม่ดีถ้าทำให้คนใกล้ๆ ต้องรู้สึกไกลออกไป) การติดต่อสื่อสารและระบบคมนาคมพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้ชีวิตมนุษย์มีความสะดวกสบายมากขึ้น กระทั่งว่าอยากกินอะไรก็ได้กินไม่ต้องเดินทางไกลไปซื้อเอง อยากกินแคปหมูจากเชียงใหม่ อยากกินสาลี่จากสุพรรณ หรือหมูย่างจากเมืองตรัง ก็แค่สั่งซื้อผ่านไปรษณีย์ไทยได้ง่ายๆ
และจะดีมากกว่านั้น ถ้าเราไม่ต้องซื้อเอง แต่มีคนทางบ้านส่งมาให้ ฝนตกแบบนี้ทำให้นึกถึงเห็ดเผาะ (หรือ เห็ดถอบ) หลายท่านคงได้ยินชื่อกันมามาก แต่อาจจะยังไม่เคยทาน เมื่อถึงหน้าฝนทีไรก็ได้ยินข่าวอยู่บ่อยๆ ว่าเห็ดเผาะเป็นที่ต้องการอย่างมาก ทำให้ราคาในท้องตลาดพุ่งสูงกิโลกรัมละหลายร้อยบาท
เหตุที่ได้ชื่อว่า เห็ดเผาะ เป็นเพราะเวลาเคี้ยวแล้วจะมีความมัน กรอบ ภายในกลวงทำให้เกิดเสียงดังเผาะ นอกจากจะเป็นเห็ดที่อร่อยแล้ว ยังเป็นอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย มีประโยชน์ต่อสุขภาพเพราะมีสรรพคุณหลายอย่าง ได้แก่ (ขอบคุณแหล่งที่มาhttp://www.thaikasetsart.com)
– ช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรง – ช่วยแก้ไข้และอาการร้อนใน – ช่วยรักษาอาการช้ำใน – ช่วยป้องกันวัณโรค
– ช่วยป้องกันและยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็ง – ช่วยในการสมานแผลทำให้ผิวเรียบเนียน
– ช่วยให้เลือดแข็งตัวได้เร็วขึ้น – ช่วยลดอาการบวมหรืออักเสบ – ช่วยบรรเทาอาการคันตามนิ้วมือหรือนิ้วเท้า
เห็นประโยชน์มากมายขนาดนี้ วิธีการขนส่งเห็ดเผาะทางไปรษณีย์ก็ไม่ได้ยากเย็นนัก โดยไปรษณีย์ไทยได้แนะนำขั้นตอนการส่งเห็ดเผาะที่ถูกวิธี เพื่อรักษาของให้ถึงมือผู้รับอย่างปลอดภัยไม่เน่าเสียไว้ด้วย ดังนี้ค่ะ
(ขอบคุณแหล่งที่มา http://www.thaipr.net/logistics/706239)
วิธีที่ 1 ผู้ฝากส่งต้มหรือนึ่งเห็ดให้สุกและผึ่งให้แห้ง หลังจากนั้นนำใส่กล่อง/ถุงพลาสติก 2 – 3 ชั้น เพื่อป้องกันการแตกรั่ว และบรรจุภายในกล่องไปรษณีย์ที่เจาะรูเพื่อระบายอากาศ
วิธีที่ 2 ผู้ฝากส่งจะต้องไม่ล้างทำความสะอาดเห็ดเพื่อป้องกันการอับชื้น และให้ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อหลายๆ ชั้นเพื่อดูดซับความชื้น นำเห็ดบรรจุภายในกล่องไปรษณีย์ที่เจาะรูเพื่อระบายอากาศ ก่อนฝากส่งเข้าสู่เส้นทางไปรษณีย์ต่อไป
สำหรับทั้ง 2 วิธีในการฝากส่งเห็ดเผาะ (เห็ดถอบ) นี้ ไปรษณีย์ไทยแนะนำให้ผู้ใช้บริการฝากส่งผ่านบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS)เพื่อให้สิ่งของที่ฝากส่งถึงมือผู้รับปลายทางภายใน 1 – 2 วัน ตามมาตรฐานของบริการ
การเลือกใช้วัสดุและหุ้มห่อสิ่งของอย่างถูกวิธี เหมาะสมกับประเภทของสิ่งของที่จะฝากส่งทางไปรษณีย์ ก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะจะช่วยรักษาสภาพของสิ่งของให้ดี สมบูรณ์ ไม่เสียหาย
เชื่อว่าตอนนี้ใครหลายคนอาจกำลังมีความสุขกับเห็ดเผาะที่มาถึงมือสดๆ ร้อนๆ โดยไปรษณีย์ไทยกันแล้ว
ก็ต้องขอเอ่ยคำอำลาว่า “สุขสันต์เห็ดเผาะ” นะคะ แล้วพบกันใหม่ค่ะ
ขอขอบคุณรูปภาพ : http://bit.ly/28ZTumI
Shipping ชวนคุย
เรื่อง ใบเสร็จค่าผ่านท่า ด่านศุลกากร รฟท.ลาดกระบัง
รถบรรทุกสินค้าที่ผ่านเข้าเขตรั้วศุลกากร ด่านศุลกากร รฟท.ลาดกระบัง เพื่อบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ จะต้องเสียค่าผ่านท่าทุกคันเป็นรายคัน รถบรรทุกที่ผ่านท่าจะได้รับใบเสร็จค่าผ่านท่าไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งหากมีรถบรรทุกสินค้ามากกว่า 1 คันในแต่ละ booking ก็จะต้องออกใบเสร็จหลายใบ ซึ่งอาจไม่สะดวก หากใบเสร็จฉบับใดฉบับหนึ่งสูญหายก็อาจจะมีปัญหาในการเรียกเก็บเงินทดรองจ่ายคืนจากผู้ส่งออกได้
ผู้ให้บริการลานบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ เห็นถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเหล่านี้ และต้องการที่จะลดค่าใช้จ่ายในการออกใบเสร็จ จึงมีความเห็นสอดคล้องกันที่จะออกใบเสร็จรวม 1 ฉบับสำหรับแต่ละ booking อาทิเช่น ใน booking กำหนดให้ใช้รถบรรทุกจำนวน 3 คัน รถที่ผ่านท่า 2 คันแรกจะไม่ต้องชำระเงินและรับใบเสร็จค่าผ่านท่า แต่จะเก็บค่าผ่านท่ารวม 1 ฉบับเมื่อรถคันที่ 3 ได้ผ่านท่าเรียบร้อยแล้ว เป็นต้น
การออกใบเสร็จค่าผ่านท่ารวม 1 ฉบับได้เริ่มดำเนินการแล้วที่ท่าลาดกระบังประตู 2 และประตูอื่น ๆ จะเริ่มใช้ระบบเดียวกันในเร็ว ๆ นี้
ขอขอบคุณรูปภาพ : http://englishindiary2013.blogspot.com/2013/07/terminal-port.html