SNP eJournal

ฉบับที่ 440

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“สวมสิทธิ์”

1468235699

ของขวัญปีใหม่ประชาชนส่อเค้าแห้ว

รถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน นำเข้ามาเป็นของขวัญปีใหม่ชาว กทม. แต่พอ 100 คันแรกนำเข้ามากลับถูกศุลกากรพบเห็นการสวมสิทธิ์

หัวข้อข้างต้นเป็นประเด็นพูดคุยกันในหมู่ประชาชนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

การสวมสิทธิ์คืออะไร แล้วทำไมต้องสวมสิทธิ์ ???

มันเกิดจากข้อตกลงการค้าเสรี / FTA (Free Trade Agreement ขณะที่ในวงการศุลกากรจะเรียกเขตการค้าเสรี Free Trade Area) ที่มีมาหลายปี คนทำการค้ามองว่า อากรขาเข้าที่เรียกเก็บจากสินค้านำเข้าเป็นอุปสรรคต่อการค้าก็อยากให้แต่ละประเทศยกเลิกอากรขาเข้า

ขณะที่รัฐบาลของประเทศส่วนใหญ่โดยเฉพาะประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนายังคงต้องการให้มีการชำระอากรขาเข้า

ด้านหนึ่ง สินค้าต่างชาติที่เข้ามามากเกินไปย่อมกระทบต่ออุตสาหกรรมและค่าเงินภายในประเทศ การเก็บอากรขาเข้าก็เป็นการสกัดสินค้านำเข้าทางหนึ่ง

อีกด้านหนึ่ง อากรขาเข้าที่เรียกเก็บจากสินค้านำเข้าก็เป็นรายได้ให้แก่รัฐบาลเพื่อนำมาใช้พัฒนาประเทศ

การเก็บอากรขาเข้ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ประเทศที่ได้ประโยชน์จากการยกเลิกอากรขาเข้าก็ไปตกลงกันเอง บางประเทศก็จับกันเป็นกลุ่มไปตกลงกันเพื่อค่อย ๆ ลดอากรขาเข้าจนเหลือ 0%

พอประเทศที่ลดอากรขาเข้าเหลือ 0% มีการซื้อขายกันมากขึ้น มีการค้าดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น ประเทศที่ไม่เข้าร่วมก็เสียเปรียบ ไม่มีทางเลือก ก็ต้องเอาบ้าง

สุดท้ายก็มีการเข้าร่วมเรื่อย ๆ จนสินค้าส่วนใหญ่ที่นำเข้าจากประเทศที่ตกลงกันก็มีอากรขาเข้าเหลือ 0% มากขึ้น

เงื่อนไขเพียงหนึ่งเดียวจะทำให้อากรขาเข้าเหลือ 0% ที่ทุกประเทศใช่ร่วมกันคือ การพิสูจน์ว่าสินค้าที่นำเข้านั้นมีแหล่งกำเนิดจากประเทศต้นทางตามสัดส่วนวัตถุดิบที่กำหนด

เอกสารที่ใช้ในการรับรองคือ ใบรับรองเมืองกำเนิด (Certificate of Origin) ประเภทต่าง ๆ

ประเทศไทยและมาเลเซียเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนและมีข้อตกลงอาเซียนร่วมกัน ส่วนหลักฐานที่ใช้พิสูจน์ก็คือ ใบรับรองเมืองกำเนิดประเภท Form D ที่ใช้เฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน

รถเมล์ NGV 100 คันที่เป็นข่าว ผู้ชนะการประมูลเพื่อขายให้รัฐบาลไทยไปสั่งซื้อจากมาเลเชีย ตอนนำเข้าก็นำใบรับรองเมืองกำเนิดประเภท Form D มาแสดงว่าผลิตในประเทศมาเลเชีย

มันเป็นไปตามข้อตกลงที่ได้สิทธิ์อัตราอากรขาเข้า 0% แต่ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%

ทุกอย่างครบถ้วน สามารถขอรับรถ 100 คันไปได้ แต่ขณะตรวจปล่อยรถ NGV ออกจากเขตอารักขา ศุลกากรไทยก็พบพิรุธ

ประการที่ 1 ฐานรองรับรถเมล์ NGV ที่เป็นตู้สินค้าประเภทหนึ่ง (Flat Rack Container) รวมทั้งห่วงโซ่ และอุปกรณ์ที่ใช้ยึดตัวรถ (Lashing) มิให้เคลื่อนระหว่างขนย้ายมายังประเทศไทยมีหมายเลขตรงกับที่มาจากจีน

ประการที่ 2 สินค้าที่บรรทุกจากจีนบนฐานรองรับดังกล่าวเป็นรถเมล์ NGV แบบสำเร็จรูปเป็นคันโดยระบุยี่ห้อ โมเดล และจำนวนตรงกัน

ประการที่ 3 รถเมล์ NGV ทั้งหมดแบ่งออกจากจีนเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกรถเพียง 1 คัน ออกจากจีน 28.10.59 เข้ามาเลเชีย 9.11.59 และออกจากมาเลเชีย 23.11.59 ถึงไทยวันที่ 30.11..59 ส่วนช่วงที่ 2 รถที่เหลือจำนวน 99 คัน ออกจากจีน 13.11.59 เข้ามาเลเชีย 19.11.59 และออกจากมาเลเชีย 26.11.59 ถึงไทยวันที่ 1.12.59

ข้อมูลเหล่านี้ ระบบศุลกากรทั่วโลกสามารถตรวจสอบได้จากตัวแทนเรือที่ขนส่งตู้สินค้าได้ไม่ยาก

นี่คือประเด็นที่คนทำการค้าระหว่างประเทศอาจมองข้าม

ตอนเรือบรรทุกสินค้าออกจากท่าเรือต้นทาง ตัวแทนเรือ (Shipping Agent) ต้องยื่นบัญชีเรือ (Cargo Manifest) ที่แสดงรายการสินค้าให้แก่การท่าเรือ ศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เมื่อเรือบรรทุกเทียบท่าใด ตัวแทนเรือก็ต้องยื่นบัญชีเรือที่ว่านี้อีกครั้ง ยิ่งปัจจุบันระบบต่าง ๆ ได้พัฒนาเป็นแบบหน้าจอเดียวใช้ร่วมกัน (Single Window) เข้าไปอีก หากประเทศใดใช้ระบบนี้ การเข้าไปดูข้อมูลสินค้าก็ยิ่งง่ายเข้าไปอีก

ต้นทางได้รับข้อมูลอย่างไร ปลายทางก็เรียกดูได้ทันที แบบนี้ศุลกากรก็ตรวจสอบง่าย แล้วข้อกล่าวหาที่ผู้นำเข้าได้รับในครั้งนี้คือ

การสวมสิทธิ์

สินค้ามีแหล่งกำเนิดในจีน แต่มาสวมสิทธิ์ให้เป็นแห่งกำเนิดมาเลเชียเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ในกลุ่มประเทศอาเซียน (AEC)

หากเรื่องรถเมล์ NGV 100 คันที่ศุลกากรไทยตรวจพบไม่เป็นความจริง ผู้นำเข้าก็คงต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกรมศุลกากรเป็นแน่

ตรงกันข้าม หากเป็นจริงขึ้นมาละ คำถามง่าย ๆ ก็เกิดขึ้นทันที

ผู้ขายจัดทำใบรับรองเมืองกำเนิดประเภท Form D ในประเทศมาเลเซียได้อย่างไร ???

หากเป็นจริง มันก็อาจทำกันอย่างเป็นขบวนการ แต่เผอิญศุลกากรไทยไม่เล่นด้วยก็เลยมีการตรวจสอบอย่างที่เป็นข่าว

มันก็แสดงว่าปัจจุบันบุคลากรและระบบศุลกากรไทยพัฒนาขึ้นมากรวมถึงการตรวจสอบก็ดีขึ้นมากเช่นกัน

ตามข่าวที่เห็นในวันนี้ ผู้นำเข้าให้ความสำคัญกับใบรับรองเมืองกำเนิด Form D ที่นำมาแสดงโดยไม่รับรู้ว่า รถเมล์ NGV นั้น ผลิตในประเทศใดกันแน่ ผู้นำเข้าโยนให้เป็นเรื่องของผู้ขายในประเทศมาเลเซีย

ขณะที่กรมศุลกากรไทยกลับให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงที่ตรวจพบ

มองกันคนละด้าน ต่อสู้กันคนละมุม น้ำหนักใครจะมากกว่ากันคงต้องติดตามกันไปเรื่อย ๆ

เรื่องรถเมล์ NGV จึงควรเป็นอุทาหรณ์ให้แก่ผู้ทำการค้าระหว่างประเทศเป็นอย่างดี

การสวมสิทธิ์แบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะมันทั้งเสี่ยงและตรวจสอบได้ง่าย

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net

The Logistics

ข่าวดีปลายปีเกษตรกรรมไทย สินค้าจีไอเตรียมขึ้นทะเบียนที่จีน
​ช่วงปลายปีมีข่าวดีดีในวงการเกษตรกรรมหลายข่าวออกมาให้เกษตรกรไทยได้ชื่นใจกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิไทยดังไกลไปทั่วโลก ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดข้าวดีเด่นปี 2559 ซึ่งจัดโดยนิตยสาร The Rice Trader ที่เพิ่งผ่านมาเมื่อไม่นานนี้ ทำให้ข้าวหอมมะลิของไทยกลับขึ้นมาผงาดเป็นที่ 1 ของโลกอีกครั้ง
ขณะเดียวกันผลไม้ไทยแสนอร่อยก็ไม่น้อยหน้า  “มะม่วงพันธุ์มหาชนก” กำลังจะได้โกอินเตอร์ไปซารางแฮโยที่เกาหลี ผลจากการเจรจาร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทย-เกาหลี คาดว่าในปีหน้า พ.ศ. 2560 ไทยจะสามารถส่งออกมะม่วงพันธุ์มหาชนกไปที่เกาหลีได้ ทั้งนี้เกาหลีเป็นตลาดคู่ค้ามะม่วงอันดับ 1 ของไทยในปี 2558 โดยนำเข้ามะม่วงจากไทยมูลค่าสูงถึง 660 ล้านบาท
ส่วนจีน ก็ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ชมกระบวนการผลิตสินค้าจีไอของไทย 3 รายการ ได้แก่ ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง, ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ และมะขามหวานเพชรบูรณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการขอขึ้นทะเบียนจีไอที่ประเทศจีน…
ว่าแต่ สินค้าจีไอ คืออะไรกัน? จีไอในที่นี้ ย่อมาจาก Geographical Indication ซึ่งหมายถึง สินค้าที่มีคุณสมบัติและเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว อันเป็นผลมาจากแหล่งผลิตตามสภาพภูมิอากาศ อย่างเช่น ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ปลูกในพื้นที่ป่าราบลุ่มชายเลน น้ำกร่อย ดินเหนียวเป็นด่างอ่อน มีเนื้อสีชมพูเข้าจนถึงสีแดงคล้ายสีทับทิม ส่วนมะขามหวานเพชรบูรณ์ ปลูกในภูมิประเทศเป็นท้องกระทะ มีแม่น้ำป่าสักไหลผ่าน ดินมีธาตุอาหารฟอสฟอรัส และโปแตสเซียมสูง สำหรับข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ปลูกในพื้นที่ดินร่วนปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ส่งผลให้ข้าวเกิดความเครียดแล้วหลั่งสารหอม จึงมีความหอมมากกว่าข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่อื่น
สาเหตุที่ไทยต้องการขอขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอ 3 รายการนี้ที่ประเทศจีน เนื่องจากส้มโอและมะขามหวานเป็นสินค้าที่นิยมในจีน โดยไทยส่งออกส้มโอไปจีนมูลค่าปีละ 170 ล้านบาท และส่งออกมะขามหวานไปจีนเป็นอันดับ 2 รองจากการส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่าปีละ 70 ล้านบาท การขึ้นทะเบียนจีไอสินค้าไทย 3 รายการนี้ในจีน จะช่วยยกระดับเป็นสินค้าพรีเมียม และดูแลสินค้าไทยที่ถูกละเมิด หรือปลอมแปลงในจีนได้