SNP eJournal

ฉบับที่ 441

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“แม่สอนมาดี”

2-1274

“พบเงินสด 100,000 บาท จากกางเกงยีนส์บริจาค”

หัวข้อข่าวข้างต้นเป็นประเด็นเพียงไม่กี่วันแล้วก็จางหายไปจากกระแสสังคม

นักเรียนชั้น ป. 1 จำนวน 2 คน โรงเรียนขุนห้วยแม่ท้อ อ. แม่ระมาด จ. ตาก เจอเงินในกางเกงยีนส์เก่าที่มีผู้ใจบุญนำมาบริจาค จำนวน 100,000 บาท

นักเรียนมีฐานะยากจน เงินจำนวนนี้มีความหมายต่อเด็กและครอบครัวมาก เด็กเลือกที่จะไม่เก็บเงินแต่กลับวิ่งหาครูเพื่อแจ้งเรื่องราว

จากนั้นครูก็ประสานสื่อต่าง ๆ ตามหาเจ้าของเงินเพื่อส่งคืน

เด็กนักเรียน 2 คนนั้นชื่อ ด.ช. คำนนท์ แก่งวิจิตร และ ด.ช. นวพนธ์ สุขเสรีโสภณ อายุ 9 ปี เท่ากัน (www.thairath.co.th)

จนถึงบัดนี้ ข่าวก็เงียบไป

ไม่มีใครรู้ว่า วันนี้เจ้าของเงินตัวจริงเป็นใครแล้วมารับเงินคืนไปแล้วหรือยัง หรือดำเนินการอย่างไรกับเงินจำนวนมากนี้ ผู้อ่านข่าวทางทีวีนำข่าวนี้มาเสนอพร้อมบอกว่า

“แม่สอนมาดี”

ผู้สื่อข่าวทางทีวีช่องหนึ่งไปสัมภาษณ์เด็กนักเรียน 2 คน ที่โรงเรียนแล้วข่าวทางทีวีก็ออกมาพร้อม ๆ กับคำตอบว่า

“แม่สอนไว้ ไม่ใช่เงินเราให้คืนเจ้าของ”

เด็ก 2 คน กลายเป็นคนไทยตัวอย่างที่ดีงามแต่ทำไมตัวอย่างที่ดีจึงอยู่ในกระแสสังคมสั้นเกินไปที่ไม่อาจสื่อถึงอนาคตของประเทศไทยได้อย่างชัดเจน

“ไอ้หลานช่วยดูที ย่าเดินอย่างนี้เหมือนคนพิการมั๊ย ?”

เสียงคุณย่าถามหลานทุกครั้งที่รัฐบาลประกาศให้เงินช่วยเหลือคนพิการ ผู้สูงอายุ และคนยากจน หรือโครงการความช่วยเหลือต่าง ๆ ให้แก่คนยากจน

เสียงที่ถามนี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

หลานก็ยืนยันว่า คุณย่าเป็นผู้มีฐานะดี ไม่ได้พิการ ทำบุญครั้งละมาก ๆ และไม่มีความเดือดร้อนที่ต้องไปรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล

“คุณย่าไม่ควรไปรับ” หลานบอกคุณย่า

“แต่ย่ามีสิทธิ์รับนะ อีกอย่างถ้าย่าไม่ไปรับเดี๋ยวก็มีคนอื่นสวมสิทธิ์ไปรับแทน” คุณย่ายืนยันเหมือนคนรู้

รัฐบาลประกาศเงินช่วยเหลือในโครงการต่าง ๆ ถามว่า รัฐบาลประสงค์ให้ความช่วยเหลือต่อคนทุกระดับ ไม่ว่าจะยากจนหรือมีฐานะหรือไม่ ???

คำตอบที่ทุกคนน่าจะคาดเดาคล้าย ๆ กันคือ รัฐบาลน่าจะช่วยเหลือคนยากจนมากกว่า

ขณะที่คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์รับความช่วยเหลือที่รัฐบาลประกาศออกมาแม้จะมีข้อจำกัดด้านรายได้ แต่ข้อกำหนดด้านฐานะที่เป็นจริงกลับไม่ชัดเจน จนทำให้การควบคุมเป็นไปอย่างหละหลวม

หรือรัฐบาลประสงค์ช่วยเหลือเป็นการทั่วไปโดยไม่คำนึงถึงฐานะจริงของผู้รับ ???

คำถามนี้ยังไม่มีใครยืนยันคำตอบชัด ๆ ว่าคืออะไร

ตรงกันข้าม พอรัฐบาลประกาศให้ความช่วยเหลือ บางท่านที่มีฐานะดีและมีความเข้าใจก็กล่าวว่า

“ฉันมีเงินเก็บ แม้ไม่มากแต่ก็ทำบุญได้ตลอดเวลา และนำมาใช้จ่ายอยู่ได้ถึงตายก็ยังเหลือ ให้รัฐบาลนำเงินที่จะให้ฉันไปให้คนที่จนจริง ๆ จะดีกว่า”

มุมมองด้านสังคมดูช่างต่างกับจากคุณย่าข้างต้นอย่างสิ้นเชิง

ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการที่ยากจนในประเทศไทยมีจำนวนหลายล้านคน คนเหล่านี้ไม่สามารถประกอบสัมมาชีพได้และต้องเป็นภาระให้แก่ลูกหลาน

ผู้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และยากจนน่าจะเป็นผู้ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง

มันต่างจากผู้สูงอายุ หรือผู้พิการที่มีฐานะหรือมีลูกหลานที่มีฐานะดูแล หรือมีเงินเก็บ หรือไม่มีความเดือดร้อนด้านการเงิน

หลายครอบครัวที่ลูกหลานมีกิจการใหญ่โตหรูหรา แล้วเลี้ยงดูผู้สูงอายุอย่างดี ไม่มีความเดือดร้อนใด ๆ

เมื่อรัฐบาลประกาศให้ความช่วยเหลือโดยไม่มีข้อห้ามอย่างชัดเจน หรืออาจมีแต่ขาดการประชาสัมพันธ์อย่างแพร่หลาย มันก็อาจทำให้ผู้สูงอายุหรือผู้พิการที่มีฐานะจำนวนหนึ่งตีความ

แล้วก็จัดตนเองไปรับความช่วยเหลือ

สมมติผู้สูงอายุคนหนึ่งที่รับเงินช่วยเหลือทั้งเบี้ยคนพิการ เบี้ยคนจน รวมแล้วได้รับเงิน 2,000 บาท

เงิน 2,000 บาท ดูไม่มีความหมายใด ๆ สำหรับผู้สูงอายุนี้ที่มีฐานะดีเลย

แต่หากผู้สูงอายุที่มีฐานะดีจำนวน 1 ล้านคน มาคิดแบบคุณย่าและเข้ารับเงินเหล่านี้ มันก็จะเป็นมากถึง 2,000 ล้านบาท

เงิน 2,000 ล้านบาท จะกลายเป็นเงินที่มีความหมายทันที

คุณย่าข้างต้นเป็นผู้สูงอายุ ไม่ใช่คนพิการ วันนี้กำลังจะกลายเป็นตัวอย่างให้ลูกหลานเห็น หากจะถามว่า เมื่อลูกหลานได้เห็นแบบอย่างคุณย่าในวันนี้

แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอนาคต ???

ผู้สูงอายุคงหาคนสอนยาก มันต่างจากเด็กนักเรียนชั้น ป.1 ข้างต้น แต่ผู้สูงอายุอาจกำลังเป็นแบบอย่างให้คนต่อ ๆ ไปได้เรียนแบบ

มันอยู่ที่รัฐบาลจะกำหนดความชัดเจน

รัฐบาลเป็นผู้ปกครอบ รัฐบาลก็ต้องทำตัวเป็นผู้ปกครองสอนประชาชนให้เกิดความชัดเจน ให้เป็นแบบอย่างกันเพื่อให้เกิดคำตอบเดียวกับเด็ก ป.1 ที่พูดว่า

“แม่สอนไว้ ไม่ใช่เงินเราให้คืนเจ้าของ”

แม่สอนมาดี

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

ของขวัญปีใหม่ขึ้นฟรีบีทีเอส, บีอาร์ที

ยังคงเหมือนเคย เทศกาลแห่งความสุขและการให้ใกล้เข้ามา กทม. มอบของขวัญให้ประชาชนขึ้นฟรี BTS, BRT และเรือคลองภาษีเจริญ ตั้งแต่เที่ยงวันของวันที่ 31 ธันวาคม 2559 จนถึงเที่ยงวันของวันที่ 1 มกราคม 2560

รวมทั้ง ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการดูแลความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) รับแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 199 ขณะเดียวกันสายด่วนของกทม. 1555 ก็รับแจ้งเหตุ หรือรับเรื่องร้องทุกข์ของประชาชนด้วย สปภ.เปิดเผยว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดไฟไหม้อันดับหนึ่งคือ ไฟฟ้าลัดวงจร ดังนั้น ขอให้ประชาชนตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ปิดให้เรียบร้อยหลังจากใช้งานเสร็จ โดยเฉพาะหลังการประกอบอาหาร ควรปิดวาล์วแก๊สและถังแก๊สให้เรียบร้อย

นอกจากนี้ กทม.ยังร่วมกับภาคเอกชน จัดตั้งจุดตรวจสภาพรถฟรี เพื่อให้มีความพร้อมก่อนเดินทางออกต่างจังหวัด หรือเดินทางไกล รวมถึงบริการตรวจซ่อมรถที่มีปัญหา ระหว่างวันที่ 30 ธ.ค. 59 – 4 ม.ค. 60 จำนวน 7 จุด อีกด้วย