CEO ARTICLE
“ผิดที่คำถาม”
การเลือกตั้ง เลื่อนหรือไม่เลื่อน
อะไรจะดีกว่ากัน ???
ประเด็นการเมืองที่ปรากฎเป็นข่าวเวลานี้ นอกจากจะมีผลกระทบจากนาฬิกาหรูแล้ว ประเด็นการเลือกตั้งควรเลื่อนหรือไม่เลื่อนก็เป็นคำถามที่ยังอยู่ในกระแสข่าวทุกวัน
คำถามที่มีการวิจารย์ พูดคุย แล้วคำตอบที่ได้ก็ดูเหมือนไม่ถูกใจทุกคนที่เกี่ยวข้องจนคล้ายกับว่า คำถามนี้วนเวียนหาคำตอบไม่ได้สักที
หากจะถามว่า การเลือกตั้งคืออะไรและมีประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างไร ???
คำตอบที่ได้จากนักวิชาการก็จะประมาณว่า การเลือกตั้งคือวิธีการหนึ่งที่เพื่อให้ได้อำนาจการบริหารประเทศมาอยู่ในมือ
ประเทศชาติเป็นผู้ถือครองทรัพยากรมากมายทั้งทรัพย์ในดิน สินในน้ำ คลื่นในอากาศ คนที่เป็นข้าราชการ ภาษีอากรที่เป็นรายได้ กระทั่งการใช้จ่ายจากเงินงบประมาณแผ่นดิน
ผลประโยชน์มากมายมหาศาลเหล่านี้ ตามทฤษฏีการบริหารประเทศก็ต้องนำมาจัดสรรให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวมในชาติ
ใครได้อำนาจรัฐมาบริหารประเทศก็จะได้อำนาจการจัดสรรทรัพยากรเหล่านี้ทันที
ทรัพยากรจะจัดสรรไปทางไหน คนมีอำนาจและบริวารต่างรู้กันล่วงหน้า
การใช้อำนาจก็ไม่ใช่ว่าจะใช้กันได้ตามอำเภอใจ มันต้องมีกฎหมายรองรับ มีการตรวจสอบ และหากใช้อำนาจในทางที่ผิดจะมีการดำเนินคดี มีการยึดทรัพย์ ติดคุก หรือหนีออกนอกประเทศอย่างที่เป็นข่าว
ความเสี่ยงมากมาย แต่อำนาจสร้างผลประโยชน์ก็มากมาย อำนาจจึงเป็นสิ่งหอมหวานที่ใคร ๆ ก็อยากได้
จากประวัติศาสตร์ประเทศต่าง ๆ พบว่า การได้มาซึ่งอำนาจมีหลายวิธี
การเลือกตั้งโดยนักการเมืองลงสมัคร ประชาชนเลือกเป็นวิธีหนึ่ง การรัฐประหารด้วยอาวุธแล้วประชาชนยอมรับก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง การปฏิวัติโดยประชาชนส่วนใหญ่พร้อมใจไม่ยอมรับอำนาจรัฐ ขับไล่ผู้มีอำนาจให้ออกไปก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง
คนมีความสามารถหลากหลาย ใครเป็นผู้นำถนัดใช้วิธีไหนก็จะเลือกวิธีนั้น
นักการเมืองถนัดการสร้างนโยบาย การปราศัย การหาเสียงให้เกิดความนิยมก็ชอบวิธีการเลือกตั้ง นักการทหารที่มีกำลังและอาวุธพร้อมมือ หากประชาชนเรียกร้องก็จะใช้วิธียึดอำนาจ เช่น กรณีครั้งล่าสุดในปี 2557 ของไทย
การช่วงชิงอำนาจไม่ว่าจะวิธีใดก็ตาม หากจะหาความชอบธรรมก็มีเงื่อนไขเพียงข้อเดียวคือ การยอมรับของประชาชน
ไม่ว่าอำนาจจะได้มาโดยวิธีใด หากได้มาแล้วประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ การต่อต้าน การขับไล่ จนนำไปสู่การปฏิวัติประชาชนก็จะเกิดขึ้นทุกครั้ง
ประชาชนคือหัวใจสำคัญของการได้อำนาจและการบริหารประเทศ
วันนี้ นักการเมืองที่จะได้อำนาจด้วยการเลือกตั้งก็อาจจะอ้างประชาชนส่วนใหญ่ต้องการการเลือกตั้ง แล้วก็ประชาสัมพันธ์ว่า ไม่ควรเลื่อนการเลือกตั้ง
ตรงกันข้าม ฝ่ายที่เชียร์ผู้มีอำนาจจากการรัฐประหารก็อ้างว่า ประชาชนยังเข็ดนักการเมืองยังต้องการให้ทหารบริหารประเทศอีกระยะหนึ่งก็ควรเลื่อนการเลือกตั้งไปอีกระยะ หรือ 3 เดือน
ไม่ว่าจะเป็นด้านใด ประชาชนก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างไม่หยุดหย่อนเรื่อยมา แน่นอนว่า ประชาชนที่นิยมการเมืองก็มีทั้ง 2 ฝ่ายในจำนวนไม่น้อยกว่ากัน
การช่วงชิงอำนาจไม่ว่าจะโดยทางใดก็จะไม่มีทางสำเร็จได้เลย หากไม่มีประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับ
นี่คือความเป็นจริง
ทั้ง ๆ ที่มันเป็นเพียงเกมการให้ได้มาซึ่งอำนาจ แต่หากฝ่ายใดปลุกประชาชนให้ลุกขึ้นมาได้มาก ๆ ก่อความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง ฝ่ายตรงข้ามก็จะขาดความชอบธรรมทันที
แล้วประชาชนทั้ง 2 ฝ่ายก็ถูกปลุกให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กันเองเรื่อยมา
สุดท้าย ประเทศไทยก็ต้องถอยหลังกลับไป นักลงทุนต่างชาติหนี เศรษฐกิจถดถอยส่งผลกระทบทุกมิติไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต การบริการ และ Logistics
หากประชาชนรู้เท่าทัน
วันนี้ หากนักการเมืองต้องการเร่งเลือกตั้งก็เร่งไป ผู้บริหารประเทศมีแนวโน้มอยากเลื่อนก็เลื่อนไป ต่างฝ่ายต่างสู้กันในเกม อย่างนี้ประเทศไทยก็เหมือนอยู่ในโลกแห่งความฝันที่ไม่วุ่นวาย มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เศรษฐกิจก็ไม่ถดถอย
แต่โลกแห่งความจริงมักต่างจากโลกแห่งความฝันอย่างสิ้นเชิง ข่าวที่ปรากฎออกมา มีการระดมคนให้ได้ 50 คนต่อตำบลทั่วประเทศให้ค่อย ๆ เข้ามารวมตัวกันสร้างแรงกดดันไปเรื่อย ๆ
คน 50 คน ดูนิดเดียว แต่ประเทศไทยมีหลายหมื่นตำบล สมมติเข้ามา 100 ตำบลก็จะมีคนเข้ามา 5,000 คน แล้วหากเข้ามาเรื่อย ๆ
อะไรจะเกิดขึ้น ???
ประชาชนส่วนใหญ่บริสุทธิ์ ไม่รู้เรื่องอำนาจ ไม่รู้การจัดสรรทรัพยากร ไม่รู้วิธีการบริหารที่ได้ผลประโยชน์ทับซ้อน รู้แต่ว่า เขาบอกอะไรก็อย่างนั้น
วันนี้ ประชาชนผู้บริสุทธิ์นอกจากจะถูกหยิบยกเป็นข้ออ้างแล้ว ประชาชนผู้บริสุทธิ์ยังถูกชี้นำให้เดินตามอีกด้วย
ดังนั้น คำถามที่ว่าการเลือกตั้ง เลื่อนหรือไม่เลื่อน อะไรจะดีกว่ากันนั้น คำถามแบบนี้จึงดูเหมือนว่า คำตอบที่ได้จะไม่ตรงกับคำถามเท่าใดนัก
ทั้งนี้เพราะกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งก็มีแต่นักการเมืองเท่านั้น หาใช่ประชาชนไม่
ในเมื่อคำตอบคือนักการเมืองได้ประโยชน์จากการเลือกตั้ง ดังนั้นคำถามที่น่าจะตรงกับคำตอบที่สุดก็น่าจะเป็นว่า
ใครได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งมากกว่ากัน ???
คำถามนี้แบบนี้ที่น่าจะตรงกับคำตอบที่สุดและเหมาะกับประเทศไทยที่สุดเวลานี้เช่นกัน
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
The Logistics
มาทำความรู้จักระบบขนส่งพื้นฐานของ BRICS กันเถอะ (แอฟริกาใต้ ตอนที่ 2)
การขนส่งทางถนนของแอฟริกาใต้
แอฟริกาใต้มีเครือข่ายถนนในประเทศ 747,000 กิโลเมตร โดยที่เป็นถนนที่ได้มาตรฐานเพียงร้อยละ 19 เท่านั้น คิดเป็นระยะทางเท่ากับ 73,506กิโลเมตร เส้นทางถนนทางหลวงของแอฟริกาใต้นั้นมีการเชื่อมต่อกับจังหวัดต่างๆ ทั้ง 9 จังหวัดของแอฟริกาใต้ไว้ด้วยกัน โดยมีการกำหนดหมายเลขทางหลวงเอาไว้ ตั้งแต่หมายเลข N1-N18 ซึ่งหมายเลขทางหลวงที่ N1 นั้นเป็นถนนที่เชื่อมระหว่างเมืองเคปทาวน์กับโจฮันเนสเบิร์กโดยผ่านบลูมฟองแตง ถนนทางหลวงหมายเลข N2 ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างเคปทาวน์กับโจฮันเนสเบิร์ก โดยที่ผ่านทางเมืองชายฝั่งทะเลของท่าเรือเอลิซาเบธและเดอร์แบน ส่วนหมายเลข N7 นั้นเป็นถนนซึ่งเชื่อมต่อระหว่างเคปทาวน์และนามิเบียโดยผ่านสปริงเบิร์ก เป็นต้น แอฟริกาใต้มีการวางแผนกลยุทธ์ของระบบขนส่งสาธารณะโดยให้มีการดำเนินการร่วมกันของระบบรถไฟ ระบบบริการรถแท็กซี่ และระบบรถโดยสารเอาไว้ด้วยกัน โดยที่เมืองโจฮันเนสเบิร์กได้ประสบความสำเร็จในระบบขนส่งรถโดยสารประจำทางด่านพิเศษ (BRT) และได้ดำเนินการในเมืองอื่นๆ ในแอฟริกาใต้ด้วย อาทิ เมืองเคปทาวน์ เนลสัน มันเดลาเบย์ รัสเทนเบิร์ก Tshwane และ Ekurhuleni เป็นต้น
เมืองเคปทาวน์นั้นเป็นเมืองที่ให้ความสำคัญกับการขนส่งสาธารณะเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ โดยที่ถือว่าระบบการขนส่งนั้นคือหัวใจหลักของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของแอฟริกาใต้ เมืองเคปทาวน์ได้มีการวางแผนพัฒนาระบบขนส่งที่ทันสมัย เรียกว่า My CiTiIRT (Integrated Rapid Transit) โดยในปี 2007 นั้น ระบบดังกล่าวได้มีการก่อสร้างขึ้นโดยที่เริ่มจากระบบขนส่งโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ และในระยะต่อไปก็จะมีการดำเนินการ IRT (Integrated Rapid Transit) ในระบบขนส่งทางราง ซึ่งเป็นระบบการขนส่งสาธารณะหลักของเมืองเคปทาวน์ การเดินทางส่วนใหญ่ของประชาชนในแอฟริกาใต้นั้น ส่วนใหญ่จะใช้บริการรถแท็กซี่ซึ่งเป็นการขนส่งเฉพาะ ดังนั้นรัฐบาลได้เห็นความสำคัญจึงมีการนำมาตรฐานความปลอดภัยมาบังคับใช้ในโครงการแท็กซี่ ซึ่งจะลดปริมาณแท็กซี่ที่ไม่ปลอดภัยลงไปได้
ที่มา: International Institute for Trade and Development (ITD) www.itd.or.th