CEO ARTICLE
“ต้องโดนอีก”
‘ชาวเน็ตโวย กรมศุลกากรเรียกเก็บภาษีคนที่ถือกระเป๋าแบรนด์เนม 2 หมื่นบาท
ทั้งที่ซื้อมาเมื่อต้นปีแล้วใช้ถือเป็นประจำ’
MGROnline เสนอข่าวข้างต้นในโลกโซเชี่ยลในตอนค่ำของวันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม 2561
เนื้อหาของข่าวให้ข้อมูลโดยสรุปว่า เจ้าพนักงานศุลกากร ณ สนามบินขาเข้าอ้างว่า กระเป๋าที่ถือเข้ามาเป็นของใหม่ แถมใช้โฮโลแกรมตรวจยิบแล้วตีความว่ากระเป๋าที่ถือเข้ามาเป็นคอลเลกชั่นปีนี้ยังไงก็โดน
เจ้าพนักงานใช้ดุลยพินิจในการตีความทำให้ผู้เดินทางถูกจับให้เสียภาษี
ข่าวนี้ทำให้ประชาชนผู้ติดตามกลับมาแตกตื่นอีกครั้ง
การแตกตื่นขึ้นมาอีกครั้งเพราะก่อนหน้านี้ ประชาชนก็เคยแตกตื่นมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อท่านอธิบดีกรมศุลกากรออกประกาศที่ 60/2561
เรื่อง “การปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสารที่นำติดตัวเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตนทางอากาศยาน”
หนึ่งในประกาศนั้นคือ เมื่อนำของมีค่าติดตัวเดินทางออกนอกประเทศ ผู้เดินทางต้องแจ้งต่อพนักงานศุลกากรก่อนออกเดินทางเพื่อรับเอกสารไว้เป็นหลักฐาน
เอกสารที่ว่านี้ต้องนำมาแสดงขณะนำเข้าเพื่อป้องกันการถูกจับเสียภาษี
ความแตกตื่นในตอนนั้น กรมศุลกากรถูกวิจารณ์จนนายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกกรมศุลกากรต้องออกมาชี้แจง
ประกาศดังกล่าวเป็นของเก่านำมาประกาศใหม่ และย้ำว่าผู้โดยสารสามารถนำของติดตัวไปต่างประเทศโดยไม่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ได้เหมือนเดิม
ขอย้ำ ‘ผู้โดยสารสามารถนำของติดตัวไปต่างประเทศโดยไม่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่’
เรื่องที่เกิดขึ้นใหม่จึงสันนิษฐานได้ว่า ผู้เดินทางไม่ได้แจ้งขณะเดินทางออก ความแตกตื่นที่เกิดขึ้นได้เกิดการแชร์ข่าวดังกล่าวไปนับพันครั้ง เหตุผลง่าย ๆ เพราะไม่มีใครตอบได้ว่า วันหนึ่งอาจโดนแบบนี้บ้างก็ได้
ทำไมหรือ ???
ข่าวในโลกโซเชี่ยลมีทั้งจริงและเท็จ กรมศุลกากรยังไม่ออกแถลงข่าวในเรื่องนี้ แต่หากเรื่องที่แชร์กันข้างต้นเป็นความจริง แล้วถามว่า ผู้เดินทางไม่ได้แจ้งของมีค่าติดตัว หรือไม่มีเวลาที่จะแจ้งต่อศุลกากรขณะออกนอกประเทศเนื่องจากความเร่งด่วน
เมื่อเดินทางกลับเข้ามามีโอกาสจะโดนจับเสียภาษีเหมือนกรณีข้างต้นอีกหรือไม่ ???
คำตอบคือ โอกาสที่จะโดนมีสิทธิ์กันทุกคน
เหตุผลง่าย ๆ กฎหมายศุลกากรเป็นกฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจพนักงานศุลกากรในการใช้ดุลยพินิจภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย
แม้ว่าการใช้ดุลยพินิจจะมีบทบัญญัติกำกับอยู่ และแม้ว่ากฎหมายไทยจะเป็นแบบลายลักษณ์อักษร รวมทั้งประกาศหรือคำสั่งก็เป็นแบบลายลักษณ์อักษรแต่ก็มักมีการตีความ
หากการตีความแล้วเกิดการขัดแย้งกัน ก็ต้องส่งศาล เมื่อศาลตัดสินแล้วก็ยังเปิดโอกาสให้อุทธรณ์ และฏีกาอีก 2 ครั้ง
หลายคดี และหลายเรื่องราวก็พบเห็นว่าทั้ง 3 ศาลอาจตัดสินความไม่เหมือนกันเลยก็ได้ อย่างนี้แล้ว การใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงานศุลกากรแต่ละท่านจะเหมือนกันได้อย่างไร
ตามข่าวข้างต้น เจ้าพนักงานศุลกากรใช้ดุลยพินิจตีความว่า ‘กระเป๋าแบรนด์เนมที่ถือเข้ามาเป็นคอลเลกชั่นปีนี้ จึงจับให้เสียภาษี 2 หมื่นบาท’
ขณะที่ผู้เดินทางไม่ได้แจ้งต่อศุลกากรขณะเดินทางออกไปโดยไม่ได้รายงานว่า เป็นการทำตามการแถลงข่าวของท่านรองอธิบดี ที่ว่า
‘ผู้โดยสารสามารถนำของติดตัวไปต่างประเทศโดยไม่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่’
ขณะที่เจ้าพนักงานยึดตามประกาศเก่าที่นำมาประกาศใหม่ของท่านอธิบายในเรื่องที่ว่า
‘ของมีค่าติดตัวเดินทางออกนอกประเทศ ผู้เดินทางต้องแจ้งต่อพนักงานศุลกากรก่อนออกเดินทางเพื่อรับเอกสารไว้เป็นหลักฐาน’
สุดท้าย เมื่อไม่มีหลักฐานการแจ้งขณะเดินทางออก การใช้ดุลยพินิจว่าเป็นคอลเลกชั่นปีนี้จึงเกิดขึ้นและนำไปสู่เรื่องดังกล่าว
หากผู้โดยสารไม่ยอมรับการใช้ดุลยพินิจ ผู้โดยสารก็ต้องมีคดีกับศุลกากรก่อนที่จะนำไปสู่การตัดสินของศาล
มันก็วุ่นวายถึงขนาดนี้แล้วใครอยากมีเรื่อง แล้วก็ไม่มีใครตอบได้ว่า ศาลท่านจะตัดสินโดยยึดตามประกาศของกรมศุลกากรที่เป็นแบบลายลักษณ์อักษรหรือไม่
ทางแก้ของเรื่องนี้จึงมีเพียง 2 ทางเท่านั้น คือ กรมศุลกากรควรจัดอบรมการใช้ดุลยพินิจให้เป็นมาตรฐานเดียวกันของเจ้าพนักงาน
ขอย้ำว่า ต้องจัดการอบรมบ่อย ๆ เพราะการใช้ดุลยพินิจภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายนี้ ได้สร้างความเดือดร้อนต่อผู้ประกอบการมามากนัก แม้ไม่มีใครยืนยันว่า ภายหลังการอบรมแล้วการใช้ดุลยพินิจจะมีมาตรฐานขึ้นหรือไม่ แต่การอบรมบ่อย ๆ ย่อมสร้างความเข้าใจมากขึ้น
ส่วนทางที่ 2 คือ ท่านผู้เดินทางที่มีของที่มีมูลค่าติดตัว ขณะเดินทางออกก็ต้องเผื่อเวลาให้มากขึ้นที่สนามบินเพื่อทำหลักฐานต่อเจ้าพนักงาน ไม่อย่างนั้นแล้ว ผู้โดยสารก็ต้องเสี่ยงต่อการถูกจับเสียภาษีเหมือนกรณีนี้
อย่าหวังว่า การใช้ดุลยพินิจในอนาคตจะเป็นมาตรฐานเดียวกัน มิเช่นนั้น ผู้เดินทางออกนอกประเทศทุกคนก็อาจมีสิทธิ์ต้องโดนแบบนี้อีกไม่ต่างกัน
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
The Logistics
ท่าเรือชายฝั่ง 20G ยกระดับการให้บริการเชื่อมโยงการขนส่งภายในประเทศ
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา การท่าเรือฯ ประกาศโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G เพื่อยกระดับการให้บริการเชื่อมโยงการขนส่งภายในประเทศ ใช้งบ 452 ล้านบาทรองรับเรือชายฝั่งได้ปีละ 4,000 ลำ เพิ่มปริมาณตู้สินค้าได้กว่า 2.4 แสน TEU ต่อปี โดยจะเปิดให้บริการภายในเดือนมีนาคมนี้ โครงการดังกล่าวจะยกระดับการให้บริการในการขนส่งสินค้าและตู้สินค้าภายในประเทศและต่างประเทศ (ship mode) กับท่าเรือแหลมฉบัง และเชื่อมโยงกับท่าเรือในลุ่มนํ้าเจ้าพระยา ท่าเรือชายฝั่งภายในประเทศและต่างประเทศ ลดปัญหาจราจรและค่าใช้จ่ายแก่ผู้ใช้บริการ
ทั้งนี้ โครงการท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G เป็นการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ Terminal 2 บริเวณเขื่อนตะวันออก (ปากคลองพระโขนง) โดยมีการปรับปรุงพื้นที่บริเวณหน้าท่า ความยาว 250 เมตร พร้อมติดตั้งปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าชนิดเดินบนราง (Rail Mounted Grantry Crane) จำนวน 2 คัน สามารถยกตู้สินค้าได้ 40 ตันรองรับเรือชายฝั่งพร้อมกันได้ 2 ลำเพื่อรองรับปริมาณตู้สินค้าและเรือชายฝั่งที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น สามารถบริหารจัดการท่าเทียบเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดระยะเวลารอคอยท่า มีพื้นที่กองเก็บตู้สินค้าถ้าเทียบเรือ รองรับการขนส่งด้วยเรือ Barge ที่มีความปลอดภัยและขนส่งได้ในปริมาณมากไม่ตํ่ากว่า 60 ทีอียูต่อเที่ยว และเป็นช่องทางการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ยังสามารถตรวจปล่อยสถานะตู้สินค้าของกรมศุลกากร (0309) ณ ท่าเรือกรุงเทพผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จุดเดียวเบ็ดเสร็จ มีโรงพักสินค้าและสถานที่บรรจุสินค้าในบริเวณเดียวกัน มีการปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง และนำกล้อง CCTV บันทึกภาพขณะขนถ่าย และมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
ที่มา: http://www.thansettakij.com/content/248081