CEO ARTICLE
” พระกระโดดกำแพง “
Buddha Jumps Over the Wall
ใครจะไปรู้ว่าคำภาษาอังกฤษข้างต้นมีอยู่จริง วิกิพีเดียแปลว่า ‘พระกระโดดกำแพง’ ซึ่งเป็นครื่องยืนยันว่า คำนี้มีอยู่จริง ส่วนความหมายนั้นคนไทยส่วนใหญ่น่าจะทราบดี
การวิจารย์การเมือง ศาสนา หรือพระถือเป็นข้อห้ามที่คนในแวดวงสังคมและธุรกิจต่างก็เตือน หากจะวิจารย์ก็ควรกล่าวด้วยความระมัดระวังเพราะมันคือความเชื่อส่วนบุคคล
เมื่อใดความเชื่อถูกกระทบ เมื่อนั้นความขัดแย้งจะตามมา
แล้ว 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ข่าว ‘เงินทอนวัด’ ก็เข้มข้นขึ้นจนเกิดการวิจารย์ที่ฝืนการเตือนข้างต้น ก่อนถึงวันวิสาขบูชาเพียง 2 วัน ไทยรัฐฉบับวันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม 2561 คอลัมภ์สับรางวันอาทิตย์ก็เขียนวิจารย์ในหัวข้อ ‘ต้องซักผ้าเหลือง’ เพื่อสรุปเรื่องการโกงเงินทอนวัด
เนื้อหาข่าวสรุปได้ว่า
ประเทศไทยมาถึงจุดที่พระราชาคณะชั้นพรหมระดับรองสมเด็จ ชั้นธรรม ชั้นราช ต้องปาราชิกพร้อมกัน 7-8 รูป ในดคี ‘เงินทอนวัด’
บางคนพบเงินในบัญชี 130 กว่าล้านบาท แยกไม่ออกว่าเงินวัด หรือเงินเจ้าอาวาส และที่แน่ ๆ มีการผ่องถ่ายผ่านบัญชีสีกาใกล้ชิด แม่บ้าน คนสนิท
พระบางรูปหนีไปได้ก่อนตำรวจเข้าจับกุมโดยการขุดกำแพงหนี
ข่าวยังกล่าวถึงพระที่โยงกับการชุมนุมทางการเมือง แบ่งข้าง แบ่งฝ่าย แล้วก็มาลงที่พระพุทธะอิสระที่โดนข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร และหนักที่สุดคือ การปลอมพระปรมาภิไธยเพื่อลงองค์พระเครื่องนาคปรกจะถูกจู่โจมจับกุมแบบมีคลิ๊ปภาพ ไร้การ์ดต่อต้านจนเกิดการวิจารย์ตามมา
แล้วคอลัมภ์นี้ก็ใช้คำว่า ‘ปรากฎการณ์แห่งการปฏิรูป’ โดยแท้จริง
พระที่เกี่ยวข้องกับเงินทอนวัดหลายรูปไม่ได้หนี หรือหนีไม่ได้ แต่ไม่มีคลิ๊ปขณะถูกจู่โจมจับกุม ขณะที่บางรูปหนีได้คล้ายคำว่า ‘พระกระโดดกำแพง’ แต่ก็ถูกจับภายหลัง
นี่คือการใช้คำส่อเสียดต่อวงการศาสนาพุทธ
ศาสนาเป็นเรื่องดี ทุกศาสนาสอนคนให้ทำดี ละกิเลส ไม่หลงในรูป รส กลิ่น เสียง ลาภ ยศ สรรเสริญ แต่หลายปีที่ผ่านมาคนจำนวนหนึ่งทำศาสนาพุทธมัวหมองจนเป็นข่าวใหญ่โต
มันเข้าทำนองที่ว่า ผู้ทรงศีลละจากสมบัติพัสถานไม่ขาด หลงกิเลสจนนำความวิบัติมาสู่ตน ต้องรับกรรมที่ก่อตามกฎแห่งกรรมทั้งสิ้น และทำให้ชาวพุทธหลายคนไม่สามารถกราบพระสงฆ์ในศาสนาพุทธอย่างสนิทใจ
ทำไมวงการสงฆ์ในศาสนาพุทธจึงเป็นเช่นนี้ แล้วเราควรแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ???
ในคดี ‘เงินทอนวัด’ หากมองด้วยหลักการและเหตุผลแล้วก็จะพบว่า ตัวสงฆ์เองโกงเงินไม่ได้หรอก สงฆ์ทำอะไรทุกเรื่องไม่ได้ สงฆ์ต้องมีคนช่วย
เมื่อเหลียวมองการปกครองสงฆ์ทั่วไปจะพบองค์ประกอบใหญ่ 2 ส่วนคือ
1.) มหาเถรสมาคมที่มีอำนาจตาม พรบ. สงฆ์ ตามมาตรา 20 เขียนว่า ‘คณะสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม การจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามกำหนดในกฎมหาเถรสมาคม’
กฎหมายสงฆ์ออกโดย ส.ส., ส.ว. หรือ สนช. ตามแต่ละยุคสมัย นั่นย่อมหมายความว่า กฎหมายให้สงฆ์ปกครองกันเอง แล้วสงฆ์ก็ปกครองกันเองภายใต้กฎหมายที่กำหนด
สงฆ์จะปกครองกันเองนอกกฎหมายกำหนดไม่ได้
หากจะมองอีกมุมหนึ่ง สงฆ์ปกครองกันเองโดยกฎหมายตามที่ฆราวาสกำหนด สงฆ์ไม่สามารถกำหนดกฎหมายได้เอง แต่ออกระเบียบการปกครองได้ภายใต้กฎหมาย
2.) กรรมการวัด มรรคทายก ไวยาวัจกร และผู้เกี่ยวข้อง ฆราวาสกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เมื่อได้รับการแต่งตั้งแล้วก็ต้องสัมพันธ์อันดีกับเจ้าอาวาสวัดและสงฆ์ หากความสัมพันธ์ระหว่างกันไม่ดี มันก็อยู่กันไม่ได้
หากฆราวาสกลุ่มนี้ต้องการพัฒนาวัดให้เจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุ หากต้องการเรื่อไรเงิน หรือจัดทำพุทธพาณิชย์โดยสงฆ์ไม่ร่วม ฆราวาสก็ทำไม่ได้
ในทำนองเดียวกัน หากสงฆ์อยากทำอะไรให้ได้ปัจจัยเข้าวัดเพื่อการพัฒนาโดยฆราวาสกลุ่มนี้ไม่ร่วม สงฆ์ก็ทำเองไม่ได้เช่นกัน
ศาสนาพุทธจึงมีเพียงคน 2 กลุ่มนี้ที่ร่วมกันและสามารถทุจริตร่วมกันได้
เงินทุจริตที่ได้ ไม่ว่าสงฆ์หรือฆราวาสจะนำไปลงทุนหรือซื้อสินค้าจนก่อให้เกิดตัวเลขทาง Logistics และ GDP มันก็จะก่อให้เกิดความผิดเพี้ยนแก่ตัวเลข ไม่ใช่ความจริง และการคาดการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศก็จะผิดเพี้ยนไปด้วย
การทุจริตยิ่งมาก ตัวเลขต่าง ๆ ก็ยิ่งผิดเพี้ยนมากเป็นเงาตามตัว การพยากรณ์ และการบริหารจัดการประเทศด้วยตัวเลขก็อาจผิดเพี้ยนตามไปด้วย
หากเปรียบกับการเมือง ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายและหน่วยงานมากที่คอยกำกับดูแลนักการเมืองทั้งด้านความประพฤติและการทุจริต แต่สงฆ์และผู้เกี่ยวข้องกลับมี พรบ. สงฆ์ที่คอยกำกับดูแลฉบับเดียว
นี่ล่ะ เสียงวิจารย์จึงดังกระหึ่มเพื่อแก้ไขกฎหมายสงฆ์ให้ชัดเจน ให้เอาแบบนักการเมืองไปเลย เช่น การแสดงทรัพย์สิน ลักษณะของฆราวาสในการดำรงตำแหน่งในวัดต่าง ๆ การห้ามรับเงินและของกำนัลมูลค่าเงิน 3,000 บาท การยึดทรัพย์ การมีศาลเฉพาะทางสงฆ์ และอื่น ๆ อีกมาก
ในอดีต พรบ. น่าจะเคยแก้เพียง 2 ครั้งเพียงบางประเด็น แล้วขณะนี้มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะแก้ไข พรบ. สงฆ์ฉบับปัจจุบันอีกครั้ง เอาให้ครอบคลุม เอาให้เข้มข้นเพื่อป้องกันศาสนา
มิฉะนั้นแล้ว วงการสงฆ์ไทยก็อาจตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ จนคนไทยไม่อยากกราบไหว้
หากรัฐบาลยังแก้ไขอะไรให้เป็นรูปธรรมไม่ได้ ศาสนาพุทธที่เป็นที่พึ่งทางใจของคนไทยก็จะค่อย ๆ หายไป แล้วที่พึ่งทางอื่นที่ผิดเพี้ยนอย่างคนทรงเจ้า กุมารทอง หรือลูกเทพก็อาจกลับขึ้นมาใหม่และอาจหนักขึ้นไปอีก
‘พระกระโดดกำแพง’ เป็นชื่ออาหารแท้ ๆ แต่กลับสื่อถึงความเสียหายทางศาสนาพุทธในครั้งนี้ การแก้ไขโดยเร็วจึงเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้คำนี้กลับไปใช้กับวงการอาหารเพียงอย่างเดียว
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
The Logistics
สนข.จัดทำแผนแม่บท Dry Port ดันฉะเชิงเทราศูนย์กลางกระจายสินค้า
นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่าสนข.ได้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) รวมทั้งกำหนดแนวทางการพัฒนาและ กำหนดพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการพัฒนาท่าเรือบกต่อไป
นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาโครงการพัฒนาสถานีคอนเทนเนอร์ (ICD) จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นศูนย์รวมและกระจายสินค้านำเข้า-ส่งออกสินค้าไปยังท่าเรือในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรีเพื่อลดปัญหาแออัดของท่าเรือแหลมฉบัง และส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางรางมากขึ้น
ด้านแหล่งข่าวจากสนข. เปิดเผยว่าพื้นที่ศักยภาพในการพัฒนา Dry Port แบ่งเป็น 3 ประเภทได้แก่ 1.Dry Port ระยะใกล้รัศมี ไม่เกิน 300 กม. 2.Dry Port ระยะกลางรัศมีไม่เกิน 500 กม. 3.Dry Port ตามแนวชายแดนส่งเสริมการกระจายและเปลี่ยนถ่ายสินค้า เบื้องต้นที่ปรึกษาโครงการมองว่า ควรเป็นพื้นที่สามารถเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟเข้าถึงได้และอยู่ในรัศมีไม่เกิน 300 กิโลเมตร จากท่าเรือ EEC และควรใกล้นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อรับสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วส่งตรงไปยังท่าเรือเลยโดยไม่ต้องเสียเวลาหน้าท่าอีก
โดยจังหวัดที่มีศักยภาพได้แก่ ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา อยุธยา และนครสวรรค์ เป็นต้น ส่วนพื้นที่ชายแดนนั้นควรจะเป็นเขตที่ติดต่อกับด่านชายแดนการค้าหรือเชื่อมต่อท่าเรือใหญ่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มุกดาหาร หนองคาย นครพนม และกาญจนบุรี เชื่อมต่อท่าเรือทวายฯ เพื่อส่งเสริมการขนส่งสินค้าแบบถ่ายลำเรือจากเรือขนสินค้าขนาดเล็กไปยังเรือแม่ขนาดใหญ่ หรือการเปลี่ยนการขนส่งสินค้าไปสู่ระบบรางซึ่งเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ CLMV
ในส่วนของรูปแบบการลงทุนนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการเปิดให้เอกชนเข้าร่วมกิจการภาครัฐ (PPP) ขณะที่ มูลค่าการลงทุนนั้นจะอยู่ที่ขนาดของพื้นที่พัฒนาโดยทั่วไปจะต้องใช้พื้นที่มากกว่า 1,000 ไร่ และวงเงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทานที่เหมาะสมอยู่ที่ 30 ปีขึ้นไป