CEO ARTICLE
ถุงพลาสติก
วาฬเกยตื้นตายทางภาคใต้ของประเทศไทย
พบในตัววาฬมีถุงพลาสติกอยู่ 80 ใบ
ข่าวในเว็บไซด์ https://www.bbc.com/thai/thailand-44391881 โดยโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซี ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายงานข่าวข้างต้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561
เนื้อหาให้ข้อมูลว่า ปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยเกิดจากการใช้ถุงพลาสติกถึงปีละ 7 หมื่นล้านใบ
ก่อนหน้าวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน 2561 เพียง 1 วัน กรมการแพทย์ได้ออกมาขีดเส้นตายเลิกใช้ถุงพลาสติกใน รพ. ของรัฐ 1 ต.ค. (https://voicetv.co.th/read/SJ6q8KzxQ) โดยแนะประชาชนให้นำถุงผ้ามาใส่ยาเอง
ข่าวยังให้ข้อมูลว่า โรงพยาบาลของรัฐมีการใช้ถุงพลาสติกปีละ 9 ล้านใบ มีส่วนก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน และถุงพลาสติกต้องใช้เวลากว่า 450 ปี ในการย่อยสลาย
ถุงพลาสติกจมในทะเลจำนวนมากจนเข้าไปอยู่ในท้องวาฬถึง 80 ใบ เป็นเหตุให้วาฬเสียชีวิตและเป็นข่าวให้บีบีซีเล่นไปทั่วโลก
ขณะที่กรมการแพยท์ใช้วันสิ่งแวดล้อมโลกแถลงการเลิกใช้ถุงพลาสติกใน รพ. ของรัฐ โดยให้ข้อมูลว่า กรมการแพทย์มีโรงพยาบาลในสังกัด 30 แห่ง เลิกใช้ถุงพลาสติกไปแล้ว 18 แห่ง และอีก 12 แห่งจะเลิกใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ให้ครบ 30 แห่ง
ปัจจุบัน โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่เกือบทั้งหมดเลิกใช้ถุงพลาสติกใส่ยาให้คนไข้นำกลับบ้านนานแล้ว แต่โรงพยาบาลของรัฐยังเลิกไม่หมด
หากพิจารณาการใช้ถุงพลาสติกของไทยที่มีผลต่อปัญหาดังกล่าวอันดับต้น ๆ นอกจากโรงพยาบาลแล้ว ก็ยังมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เกือบทั่วประเทศ
ในอดีต ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่คล้ายให้ความร่วมมือดีโดยการรณรงค์ให้ประชาชนนำถุงผ้ามาซื้อของเอง
ยิ่งไปกว่านั้น ห้างฯ ก็มีการผลิตถุงผ้าทั้งจำหน่าย ทั้งแจกฟรี เพื่อให้ประชาชนนำมาใช้ซ้ำบ่อย ๆ เป็นการหลีกเลี่ยงการใช้ถุงพลาสติก แต่คนไทยก็คือคนไทย นอกจากประชาชนผู้มาซื้อของส่วนใหญ่จะไม่นำถุงผ้ามาใช้ซ้ำในครั้งต่อไปแล้ว
ถุงผ้าที่ห้างจำหน่ายก็มีราคาสูงจนประชาชนซื้อน้อย
ในที่สุด การแข่งขันทางธุรกิจของห้างสรรพสินค้า และความร่วมมือของประชาชนที่ค่อย ๆ หายไปก็ทำให้ถุงพลาสติกที่เกิดจาการชอปปิ้งกลับมามากเหมือนเดิม
หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เช่น ฮ่องกงที่เป็นแหล่งชอปปิ้งจะพบว่า ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าส่วนใหญ่ตั้งราคาสินค้าไม่รวมถุงพลาสติก
ลูกค้าที่ร้องขอถุงพลาสติกจะถูกเรียกเก็บค่าถุง เช่น ใบละ HKD 1 หรือราว 5 บาท ทำให้การใช้ถุงพลาสติกลดลง
หากรัฐบาลไทยจะเอาจริงจังกับการลดปัญหาถุงพลาสติก ควรทำอย่างไร ???
ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกมากที่สุดของไทยเกิดจากการซื้อขายสินค้าเป็นส่วนใหญ่
การซื้อขายสินค้าที่ใช้ถุงพลาสติกมากอันดับต้น ๆ ของไทยจึงอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่
วิธีที่ง่ายที่สุดคือ รัฐบาลไทยควรรณรงค์ให้ห้างสรรพสินค้ากำหนดราคาสินค้าทุกประเภทเป็น 2 ราคา คือราคาสินค้าที่รวมและไม่รวมถุงพลาสติก
การรณรงค์แบบนี้ เชื่อว่า ห้างสรรพสินค้าต้องเลือกด้านที่ลดความยุ่งยากด้วยการตั้งราคาสินค้าที่ไม่รวมถุงพลาสติก แล้วเก็บเงินค่าถุงพลาสติกเมื่อลูกค้าร้องขอ
พฤติกรรมการซื้อขายก็จะเลียนแบบต่างประเทศและเป็นการลดการใช้ถุงพลาสติกได้
เมื่อรณรงค์แล้ว รัฐก็ต้องประชาสัมพันธ์ แต่การประชาสัมพันธ์ของรัฐมักเลือกทำเมื่อใกล้วันสำคัญ เช่น ในวันสิ่งแวดล้อมโลกแล้วก็จางหาย หรือยึดรูปแบบที่เป็นทางการเกินไป ประชาชนต้องตั้งใจฟังจึงจะเข้าใจ
สุดท้ายก็ได้ผลน้อย
ตัวอย่างการประชาสัมพันธ์ของรัฐ เช่น การสวมหมวกนิรภัย การไม่โทรศัพท์ขณะขับรถ การข้ามถนนทางม้าลาย การเล่นสงกรานต์ให้ถูกต้อง การออกกำลังกายในเวลาที่เหมาะสม หรือการรับประทานไข่ลวกทุกวัน
หากเอกชนรณรงค์เพื่อผลทางการค้า เช่น รณรงค์การออกกำลังกายตอนค่ำเพราะคนเลิกงานแล้วมาใช้บริการได้มาก หรือการรับประทานไข่ทุกวันเพราะเอกชนทำไข่ลวกขาย
ทั้งหมดนี้จะเห็นว่า เอกชนทำได้ดีกว่ารัฐ
ดังนั้น รัฐจึงควรรณรงค์แบบเอกชนตามช่องทางโซเซียลที่มีมากในปัจจุบัน หรือรัฐตั้งเป็นงบประมาณจ้างเอกชนทำด้วยสัญญาที่มีการประเมินผล
หากการรณรงค์แล้วไม่ได้ผล รัฐก็ยังออกเป็นนโยบาย เข้มข้นขึ้นมาก็ออกเป็นกฎกระทรวง สุดท้าย หากหนักสุด ๆ ก็ยังออกเป็นกฎหมายได้
ทั้งหมดนี้ มันขึ้นอยู่กับระดับของปัญหาที่รัฐบาลจะเลือกใช้วิธีการ
ลองคิดดู หากมีกฎกระทรวงให้ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่กำหนดราคาสินค้าที่รวมและไม่รวมถุงพลาสติกเป็นทางเลือกให้ประชาชน
อะไรจะเกิดขึ้น ???
การพบถุงพลาสติก 80 ใบ ในท้องวาฬที่ตายในข่าวที่บีบีซีเล่นไปทั่วโลก ไม่ได้หมายความว่าจะมีวาฬตัวเดียวที่มีถุงพลาสติก แต่มันอาจหมายถึง วาฬอีกหลายสิบ หลายร้อยตัวที่ยังไม่ตายและมีถุงพลาสติกอยู่ในท้องโดยยังไม่มีใครรู้ก็ได้
ปริมาณถุงพลาสติกของไทยกำลังจะมากกว่า 7 หมื่นล้านใบต่อปี มันใช้เวลาถึง 450 ปี ในการย่อยสลาย ถุงพลาสติกกำลังจมในแผ่นดิน และท้องทะเลมากยิ่งขึ้น
หากรัฐบาลยังใช้วิธีการรณรงค์เฉพาะในวันสำคัญเช่น วันสิ่งแวดล้อมโลก ยังใช้วิธีการเดิม ไม่จริงจังต่อปัญหาที่กำลังเพิ่มระดับ ยังไม่เลือกวิธีการประชาสัมพันธ์ การรณรงค์ หรือยกระดับขึ้นไปเป็นกฎกระทรวง หรือกฎหมาย ปัญหาถุงพลาสติกของไทยก็คงยากต่อการจัดการ
วันหนึ่งก็อาจมีข่าวการพบถุงพลาสติกในวาฬตัวที่ 2 หรืออาจพบในสัตว์ทุกประเภทในไทยจนเป็นอับอายไปทั่วโลกก็ได้
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
LOGISTICS
การปฏิรูปการขนส่งทางทะเลของจีน ช่วยผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่าย
การปฏิรูปการขนส่งช่วยให้ภาคการขนส่งทางน้ำประหยัดค่าใช้จ่ายได้จำนวนมาก การลดค่าใช้จ่ายนี้เกิดจากการลดค่าธรรมเนียม และปรับหน่วยวัดใหม่ ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของจีนได้ประกาศให้เริ่มใช้ในเดือนกรกฏาคม 2561 ส่งผลให้บริษัทท่าเรือ 8 แห่ง ได้ลดค่าดําเนินการของตนเองลง เพื่อให้บริษัทขนส่งสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงถึง 5.56 พันล้านหยวน โดยความร่วมมือกับ บริษัทการรถไฟของจีน ทําให้จํานวนตู้คอนเทนเนอร์ที่ขนส่งทางราง และทางน้ำ เพิ่มขึ้น 34.8 เปอร์เซ็นต์ในทุกปี โดยใน 5 เดือนแรกของปี 2018 มีตู้คอนเทนเนอร์ที่ผ่านท่าเรือของจีนทั้งสิ้น 1.75 ล้าน TEUs (ตู้คอน เทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต = 1 TEUs) คาดว่ามาตรการแก้ไขปัญหาการขนส่งครั้งนี้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ขนส่งได้ถึง 1.3 หมื่นล้านหยวนได้ต่อปี
ในส่วนของการพัฒนาการขนส่งสีเขียวซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น รัฐบาลกลางได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการมาสมัคร รวมถึงได้มอบเงินสนับสนุนประมาณ 740 ล้านหยวน ระหว่างปี 2016 – 2018 เพื่อโครงการดังกล่าว คุณ Zhang Lin รักษาการแทนหัวหน้าการคมนาคมเซี่ยงไฮ้ ประกาศว่า ท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในโครงการท่าเรือหยางซาน เป็นท่าเรือที่ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นผลมาจากการออกแบบการบริโภคพลังงานที่มีรูปแบบของตนเอง
เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวได้ให้สัมภาษณ์ในวันอังคารที่ 10 กรกฏาคม 2561 ระหว่างการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับวันทะเลแห่งชาติที่จะจัดขึ้น กิจกรรมการขนส่งสีเขียวนี้ เริ่มการดําเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะประกอบไปด้วย การร่วมมือกันทางทะเล การแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยทางทะเล และค่ายฤดูร้อนของเยาวชนทั่วประเทศ
วันทะเลแห่งชาติของจีนได้รับการจัดตั้งครั้งแรกในปี 2005 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 600 ปีการเดินเรือของเจิ้งเหอ นักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่ของราชวงศ์หมิง ผู้ที่เดินทางผ่านทะเลทั้งเจ็ด แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และทําการค้ากับคนทั่วโลก
ความคิดเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว: การที่ทางการจีนมีมาตรการลดค่าธรรมเนียม และปรับหน่วยวัดใหม่เป็นผลดีต่อ ผู้ประกอบการไทยที่สามารถลดค่าใช้จ่ายเมื่อต้องการส่งสินค้าจากไทยมายังจีน แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยก็ต้องศึกษาข้อบังคับและรายละเอียดต่างๆในการนําเข้าสินค้าบางประเภทซึ่งทางการจีนยังคงมีการกีดกันด้วยมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี
ที่มา: http://www.ditp.go.th/ditp_pdf.php?filename=contents_attach/243086/243086.pdf&title=243086