SNP NEWS

ฉบับที่ 528

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

การตีความ


เครื่องจักรนำเข้ามาโดยสำแดงในใบกำกับสินค้า (Invoice) แบบครบชุดสมบูรณ์

แต่ผู้ขายได้สำแดงในใบกำกับการบรรจุสินค้า (Packing List) โดยแยกรายการอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องจักรไว้ชัดเจน

เจตนาก็เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจนับและการประกอบติดตั้งเครื่องจักร

ภายหลังการนำเข้าเครื่องจักรได้มีการตรวจพบจากเจ้าพนักงานศุลกากรให้แยกประเภทพิกัดและอัตราภาษีอากรสำหรับส่วนประกอบบางรายการที่ตรวจพบในใบกำกับการบรรจุสินค้า (Packing List)

จากการพิจารณาพบว่า ส่วนประกอบของเครื่องจักรบางรายการมีพิกัดและอัตราภาษีอากรที่ถูกกำหนดไว้โดยเฉพาะ

ไม่สามารถยื่นชำระภาษีอากรในพิกัดเดียวกันกับเครื่องจักรได้

ส่วนประกอบที่มีพิกัดเฉพาะ (Specific Description) จะต้องแยกสำแดงพิกัดและอัตราภาษีอากรเฉพาะที่มีอัตราสูงกว่า เป็นเหตุให้ภาษีอากรที่ชำระไว้แล้วไม่ครบถ้วน ถือเป็นความผิด

“การสำแดงเท็จและการหลีกเลี่ยงภาษีอากร” “ฐานสำแดงเท็จ หรือ หลีกเลี่ยงอากร”

ในที่สุด ผู้นำเข้าก็จะได้รับแบบแจ้งให้ไปชำระภาษีอากรเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม

เหตุผลง่าย ๆ พิกัดและอัตราภาษีที่แยกเฉพาะไว้อาจมีการประกาศไว้นานแล้ว หรืออาจมีคำวินิจฉัยให้แยกพิกัดและอัตราภาษีอากรในครั้งนี้

อุปกรณ์และส่วนประกอบของเครื่องจักรบางประเภท อาจมีมากจนเกิดการหลงหูหลงตา หรือเกินความสามารถที่จะเข้าใจได้ง่าย ๆ จนส่งผลดังกล่าวให้เกิดขึ้น

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ การตีความของผู้ขายสินค้า ช่างเทคนิค ตัวแทนออกของ หรือแม้แต่ผู้นำเข้าเองก็อาจไม่เหมือนกับการวินิจฉัยของเจ้าพนักงานศุลกากรแต่อย่างใด

นี่เป็นตัวอย่าง ลักษณะความผิดที่เกิดจาก ‘การตีความ’ แต่ขาดซึ่งเจตนาที่เกิดขึ้นบ่อยในอดีต แม้ปัจจุบันก็ยังเกิดขึ้นอยู่ และคาดว่าในอนาคตก็ไม่มีทางหมดไป

ทั้งหมดเกิดจาก ‘การตีความ’ ที่ต่างกันขณะผ่านพิธีการศุลกากร ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงรับข่าวดีจากธนาคารโลก (World Bank)

“ไทยได้รับการจัดอันดับความสามารถด้านโลจิสติกส์ปี 2561 ดีขึ้น 13 อันดับโดยมาอยู่อันดับที่ 32”

จากนั้นก็เกิดข่าว ‘รัฐบาลระดมสมองทำแผนพัฒนาโลจิสติกส์ 5 ปี’
ข่าวในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2561 หน้า 8 สรุปว่า

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารโลจิสติกส์ไปจัดทำแผนการพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศ

แผนสำหรับ 5 ปี และช่วง 7 เดือนที่เหลือก่อนการเลือกตั้ง

“มันไม่ใช่เรื่องฟลุ๊ก แต่มาจากการเร่งโครงการลงทุนต่าง ๆ ผ่านรูปแบบการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน หรือพีพีพี ขณะที่แผนโลจิสติกส์จากนี้ไป ไม่ใช่ดูแค่การขนส่ง ต้องการให้ไปดูห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ทั้งระบบตั้งแต่การจัดการคลังสินค้า คลังเก็บสินค้าเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ รวมทั้งฝากไปดูว่า สินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดต้องมีคลัง มียุ้งฉางเก็บ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของกระทรวงเกษตร แต่เป็นเรื่องของการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่ต้องหารือร่วมกับภาคเอกชนว่าจะร่วมมือกันอย่างไร”

ท่านรองนายกฯ ให้ข้อมูลว่า ลำดับความสามารถที่ได้ดีขึ้นเกิดจากการเร่งโครงการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน

ขั้นตอนต่อไป ท่านรองนายกฯ ต้องการให้ภาครัฐไปหารือร่วมกับภาคเอกชนเพื่อดูห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ทั้งระบบเพื่อให้ไทยได้รับการจัดอันดับดีขึ้นในอนาคต

ทั้งหมดนี้ ท่านรองนายกฯ อาจพิจารณาจากคะแนนในด้านที่ไทยได้ต่ำสุดก็ได้

ไทยได้คะแนนความสามารถด้านโลจิสติกส์เฉลี่ยที่ 3.41 จากคะแนนเต็ม 5 โดยวัดความสามารถกัน 6 ด้าน ตามบทความที่เสนอก่อนหน้า

พิธีการสินค้าผ่านแดนและศุลกากรเป็นความสามารถข้อที่ 1 ที่ไทยได้คะแนน 3.14 จากเต็ม 5 คะแนน

ขณะที่ด้านการค้า การขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานเป็นข้อ 2 ไทยก็ได้ 3.14 คะแนน ร่วมกับด้านอื่น ๆ อีก 4 ด้านที่ไทยได้คะแนนมากกว่าคือ 3.41 / 3.46 / 3.47 / และ 3.81

3.14 กลายเป็นคะแนนต่ำสุดที่ไทยได้รับและต่ำกว่าด้านอื่น ๆ มาก

ความสามารถด้านศุลกากรของไทยที่ได้คะแนน 3.14 และฉุดให้ไทยมาอยู่คะแนนเฉลี่ยที่ 3.41 หรือคำนวณเป็นร้อยละ 68.2

ไม่มีใครตอบได้ว่า เรื่องราวเล็ก ๆ ตามตัวอย่างข้างต้นที่อาจเกิดจากการตีความจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความสามารถด้านโลจิสติกส์ของไทยได้ดีขึ้น แต่ได้ดีเพียงแค่นี้หรือไม่ ???
การตีความของเจ้าพนักงานศุลกากรมักยึดหลักกฏหมาย

กฏหมายทั่วไปมิได้มีเจตนาลงโทษผู้กระทำผิดที่ขาดเจตนาเสมอไป ขณะที่กฏหมายศุลกากรซึ่งถือเป็นกฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานศุลกากรในการออกคำสั่ง ระงับคดีความ โดยมิให้คำนึงถึงผู้กระทำความผิดว่าจะมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม

แต่การตีความโดยยึดหลักกฏหมายแน่นเกินไป ก็อาจเป็นเหตุให้มีผลกระทบต่อผู้นำเข้าและความสามารถด้านโลจิสติกส์ของไทยอย่างเป็นลูกโซ่เช่นกัน

ทำไมหรือ ???

หากพิจารณาด้านความบริสุทธ์ใจ ผู้นำเข้าย่อมมีความบริสุทธ์ใจเต็มร้อยในการสำแดงส่วนประกอบที่เป็นอุปกรณ์ของเครื่องจักรตามใบกำกับการบรรจุสินค้า (Packing List)

พฤติกรรมนี้ถือว่า ผู้นำเข้าเป็นผู้ขาดเจตนาในการสำแดงเท็จอย่างแท้จริง

การวินิจฉัยให้ชำระภาษีอากรเพิ่มในส่วนประกอบเครื่องจักรที่มีความชัดเจนว่าต้องแยก และเป็นการตรวจพบจากใบกำกับการบรรจุสินค้า (Packing List) ที่ผู้นำเข้ายื่นเอง ถือเป็นคำสั่งทางกฎหมายที่พอเข้าใจและยอมรับได้

แต่การตีความโดยยึดบทบัญญัติของกฏหมายที่แน่นเคร่งครัดเกินไป ให้เป็นความผิดฐานสำแดงเท็จที่ตามมาด้วยเบี้ยปรับและเงินเพิ่มย่อมเป็นการสร้างความเสียหายให้มากยิ่งขึ้น

อีกด้านหนึ่งก็อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถโลจิสติกส์ด้านพิธีการศุลกากรอย่างเป็นลูกโซ่เช่นกัน

ในเมื่อให้ภาครัฐกำลังจะเร่งหารือกับภาคเอกชนเพื่อดูห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ทั้งระบบ มันก็ถึงเวลาที่ภาคเอกชนจะเสนอการตีความที่แน่นเคร่งครัดเกินไปของศุลกากรให้เป็นส่วนหนึ่งของการหารือ

การตีความที่ยึดกฏหมายแน่นเคร่งครัดเกินไปของเจ้าพนักงานศุลกากรบางท่านยังมีลักษณะอื่นที่นำมาซึ่งข้อถกเถียงและขาดการยอมรับ แม้จะอยู่บนพื้นฐานกฏหมายที่บัญญัติไว้ให้ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม

แม้กฏหมายจะให้โอกาสผู้นำเข้าในการอุทธรณ์ภายใน 30 วัน แต่ความผิดที่ขาดเจตนาในการสำแดงเท็จอย่างชัดเจนย่อมก็ส่งผลกระทบต่อแผนการนำเข้า และแผนการอื่น ๆ อย่างเป็นลูกโซ่ไม่มากก็น้อย

สุดท้าย แผนการนำเข้าที่ได้รับผลกระทบก็อาจบั่นทอนความสามารถด้านโลจิสติกส์ของไทยอย่างเป็นลูกโซ่เช่นกัน ดังนั้นผู้นำเข้าหรือส่งออกจึงควรเรียนรู้และเข้าใจกฎหมายศุลกากรอย่างชัดแจ้ง หรืออาจปรึกษาผู้ชำนาญการศุลกากรล่วงหน้า เพื่อป้องกันความผิดพลาดและรักษาผลประโยชน์ของตนเอง

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

LOGISTICS

ระส่ำ!! อินโดฯ เผาลองกอง-ชมพู่ไทย หลังพบแมลงวันทองและเพลี้ย

อินโดฯ เผา “ลองกอง-ชมพู่” นำเข้าจากไทยหลายร้อยกิโล พบแมลงวันทอง-เพลี้ย ทั้งที่ผ่านการรับรอง หวั่นฉุดความเชื่อมั่น กระทบส่งออกผลไม้ ทั้งทุเรียน ลำไย หลังเพิ่งปลดล็อกให้นำเข้าเมื่อเร็วๆ นี้…
ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ว่า เมื่อเดือน ก.ค.61 หน่วยงานกักกันสินค้าเกษตรท่าอากาศยานนานาชาติซูการ์โนฮัตตา ประเทศอินโดนีเซีย ได้ยึดผลไม้จากไทย ได้แก่ ชมพู่ 630 กิโลกรัม (กก.) และลองกอง 180 กก. ที่นำเข้ามายังอินโดนีเซีย หลังตรวจสอบพบแมลงอันตรายที่ยังมีชีวิตอยู่ภายใน และผลไม้อยู่ในสภาพเน่าเสีย ทั้งๆ ที่ผลไม้เหล่านี้ นำเข้ามาโดยถูกกฎหมาย และมีใบรับรองสุขอนามัยพืช จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย โดยได้แยกเก็บผลไม้ดังกล่าวไว้ที่ห้องเย็นของศูนย์กักกันฯ เพื่อไม่ให้แมลงและตัวอ่อนสัมผัสอากาศ

ทั้งนี้ภายหลังจากการตรวจสอบแมลงผลไม้ในห้องแล็บ สามารถระบุได้ว่า เป็นแมลงวันผลไม้ หรือแมลงวันทอง ซึ่งเป็นแมลงอันตราย ไม่พบในอินโดนีเซีย และเป็นอันตรายต่อสวนฝรั่งในอินโดนีเซียหากเข้ามาในประเทศ นอกจากนี้ยังพบเพลี้ยในลองกอง และแมลงวันผลไม้ในชมพู่อีกด้วย ทั้งนี้ ศูนย์กักกันฯ ได้ทำลายผลไม้ดังกล่าวทันทีโดยการเผาในเตาเผาความร้อนสูง เพื่อให้มั่นใจว่า แมลง ตัวอ่อน และปรสิต ซึ่งเป็นอันตรายกับการเกษตรและสังคมอินโดนีเซียถูกกำจัดอย่างหมดสิ้น

ขณะเดียวกัน หน่วยงานด้านสุขอนามัยพืชของอินโดนีเซียได้ส่งคำเตือนมายังประเทศไทย เพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรฐานสุขอนามัยพืชที่กำหนด และหวังจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ไม่เช่นนั้นหากยังพบแมลงที่เป็นอันตรายในผลไม้นำเข้าที่ได้รับการรับรองด้านสุขอนามัยจากหน่วยงานของรัฐบาลไทยอีกในอนาคต หน่วยงานสุขอนามัยพืชของอินโดนีเซีย อาจต้องตรวจสอบผลไม้นำเข้าทั้งหมดโดยละเอียด เพื่อความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม สคต.จาการ์ตา เห็นว่า การพบแมลงในสินค้าเกษตร ที่ได้รับใบรับรองสุขอนามัยจากกระทรวงเกษตรฯ ของไทย อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ไทยมายังอินโดนีเซียในอนาคต เพราะไม่เป็นไปตามมาตรฐานการนำเข้าสินค้าเกษตร และอาจกระทบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอินโดนีเซียที่มีต่อผลไม้ไทย ที่สำคัญอาจเป็นการเพิ่มปัญหาทางการค้าสินค้าพืชสวนระหว่างไทยและอินโดนีเซีย นอกเหนือไปจากการที่ไทยยังไม่สามารถส่งออกสินค้าพืชสวน ทั้งทุเรียน ลำไย ไปอินโดนีเซียในช่วงเวลาที่เคยห้ามนำเข้าได้ ภายหลังจากที่อินโดนีเซียได้ยกเลิกมาตรการจำกัดระยะเวลานำเข้าพืชสวนไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้

อีกทั้งจะกระทบต่อการเพิกถอนการผ่อนผันนำเข้าพืชสิ่งต้องห้าม 16 รายการจากไทย ของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ โดยเริ่มผ่อนผันการนำเข้ามังคุด ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.61 เป็นต้นไป โดยได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้กระทรวงเกษตรฯ ของไทยตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว
ที่มา : https://www.thairath.co.th/content/1354366