CEO ARTICLE
นำเข้าแบบ DDP
“ผมไปมีครอบครัวและอยู่ต่างประเทศเกือบ 20 ปี จะย้ายกลับประเทศไทย มีเฟอร์นิเจอร์ทำจากไม้สน เครื่องเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้า และของใช้ส่วนตัวมากมาย ติดต่อตัวแทนขนส่งที่ต้นทาง เขาแจ้งว่าของใช้ส่วนตัวที่จะรับขนส่งมาให้ ทางเขาให้บริการแบบ Door to Door เท่านั้น ผมควรทำอย่างไรดีครับ ?”
ผู้ที่จะเดินทางกลับประเทศไทยโทรศัพท์ทางไกลมาปรึกษา
“ก็ดีซิครับ การขนส่งแบบ Door to Door ทำให้ท่านสบาย ไม่ต้องวุ่นวายอะไรเลย” เสียงตอบเป็นกลาง ๆ จากประเทศไทย
“มันสบายในตอนต้น แต่น่าจะวุ่นวายตอนท้ายนะซิครับ เขาแจ้งว่า เฟอร์นิเจอร์ไม้สนต้องทำการอบโรคพืช (Fumigation) ก่อนบรรจุเข้าตู้สินค้า ของหลายอย่างต้องมีใบอนุญาตนำเข้า (Import license) พอของมาถึงก็ต้องยื่นขอ หากใบอนุญาตไม่ผ่านก็ถูกยึด ของใดต้องชำระภาษีอากรก็ต้องชำระทั้งที่ของทั้งหมดเป็นของใช้ส่วนตัวและบ้านเรือนที่ใช้มานานแล้ว (Used personal effects and household goods)” เสียงต้นทางบ่นอย่างท้อใจ
“ก็ถูกต้องอีกครับ แต่ของใดที่ต้องมีใบอนุญาตก็ควรยื่นขอล่วงหน้า ของใดที่ต้องชำระภาษีก็ควรตรวจสอบและทราบก่อนล่วงหน้าเช่นกัน” เสียงตอบจากประเทศไทย
“ผมก็ว่าควรทำล่วงหน้า แต่ผู้รับจัดการขนส่งต้นทางแจ้งว่า เขาไม่มีบริการล่วงหน้า เมื่อของมาถึงประเทศไทยก็ให้ว่ากันไปตามกฎหมายไทย แบบนี้มันก็วุ่นวายตอนท้ายชัด ๆ อย่างนี้ผมควรทำอย่างไรดีครับ ?” เสียงต้นทางสรุปข้อมูลและขอคำปรึกษา
การขนส่งสินค้ามายังประเทศไทยแบบ Door to Door คือขนจากมือผู้ส่งต้นทางมายังมือผู้รับปลายทางที่อยู่ในประเทศไทยถือเป็นการให้ความสะดวกแก่ผู้นำเข้าของไทย
เงื่อนไขการส่งมอบสินค้าระหว่างประเทศ (Incoterms) ก่อนปี 2010 แบ่งการส่งมอบนี้ออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. รวมภาษีอากรในประเทศไทย หรือ DDP (Delivery Duty Paid) และ
2. ไม่รวมภาษีอากร หรือ DDU (Delivery Duty Unpaid)
การส่งมอบแบบรวมหรือไม่รวมภาษีอากร 2 ประเภท หรือ DDP หรือ DDU นี้ เดา ๆ ว่าน่าจะเกิดปัญหาทางปฏิบัติจนเป็นข้อถกเถียง
แนวคิดง่าย ๆ เงื่อนไข DDU ที่ไม่รวมภาษีอากร หมายถึงผู้นำเข้าต้องชำระภาษีเอง และต้องชำระแบบถูกมัดมือชกตามใบเสร็จ หรือใบขนสินค้าฯ ที่ได้รับแจ้ง ไม่มีโอกาสชี้แจงต่อศุลกากรเพราะผู้จัดการขนส่งต้นทางได้มอบให้ตัวแทนในประเทศไทยไปจัดการพิธีการศุลกากร
เมื่อจัดการค่าภาษีอากรอย่างไร ผู้นำเข้าก็ต้องชำระไปตามนั้น
อีกแนวคิดหนึ่ง โลกเข้าสู่ยุคการค้าเสรี FTA (Free Trade Area) มากขึ้นเรื่อย ๆ ภาษีอากรสำหรับสินค้านำเข้าจึงไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่
ตามหลักเกณฑ์ปฏิบัติ เงื่อนไขการส่งมอบจะมีการทบทวนทุก ๆ 10 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
การแก้ไขในปี 2010 สภาหอการค้านานาชาติ หรือ ICC (International Chamber of Commerce) ในฐานะผู้รับผิดชอบจึงตัดสินใจยกเลิกเงื่อนไข DDU และให้ใช้เพียงเงื่อนไข DDP
ผลก็คือ การส่งมอบสินค้าระหว่างประเทศแบบ Door to Door ราคาค่าบริการที่ชำระกันต้นทางต้องรวมภาษีอากรเข้าไปด้วย
ดังนั้น การที่ผู้รับจัดการขนส่งต้นทางผลักภาระค่าภาษีอากรและการตรวจสอบไปยังผู้นำเข้าของไทยจึงดูขัด ๆ กับข้อตกลง Inco-Term (Incoterms) ของ ICC ปี 2010 ที่ใช้ในปัจจุบัน
นี่เป็นข้อสังเกตุประการที่ 1
ข้อสังเกตุประการที่ 2 เมื่อผู้รับขนส่งต่างประเทศส่งสินค้าแบบ DDP เข้ามาในประเทศไทย เขาไม่ได้เข้ามาทำพิธีการศุลกากรและการขนส่งภายในประเทศไทยเอง เขาต้องมอบให้ตัวแทนในประเทศไทยดำเนินการแทน
ไม่ว่าจะโดยการจ้างเป็นงาน ๆ (Job / project) หรือโดยจัดตั้งสำนักงานของตนเอง
แต่ไม่ว่าจะโดยวิธีการอะไร ผลก็คือต่างชาติรับงาน รับเงินค่าบริการ รับเงินค่าบริหารจัดการ ส่วนงานที่ต้องทำในประเทศไทยก็ต้องจ้างให้คนไทยทำ
จากนั้นต่างชาติก็จ่ายค่าจ้างให้คนไทย
วิธีการแบบนี้ทำให้กำไรที่เกิดขึ้นตกอยู่ใน(กับตัวแทน)ต่างประเทศ ดังนั้น การซื้อขายสินค้าด้วย เงื่อนไข DDP ค่าสินค้าที่ผู้นำเข้าของไทยต้องชำระก็จะรวมค่าพิธีการศุลกากร ค่าภาษีอากร และอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยเข้าไปด้วย
ผู้ซื้อสินค้าของไทยเป็นผู้จ่าย แต่การทำงานเกิดขึ้นในประเทศไทย
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นของใช้ส่วนตัวและบ้านเรือน หรือการซื้อสินค้านำเข้า สุดท้ายผู้นำเข้าของไทยก็ต้องเป็นผู้จ่ายค่าทำงาน ค่าบริหารจัดการของต่างชาติ และจ่ายกำไรทั้งที่การทำงานเกิดขึ้นในประเทศไทย
ผลดีของการส่งมอบแบบ Door to Door ณ วันนี้คือ DDP (Delivery Duty Paid) คือความสะดวกสบายที่ผู้นำเข้าของไทยจะได้รับ
แต่ความสะดวกสบายมีต้นทุน และต้นทุนที่ว่านี้ ผู้นำเข้าของไทยต้องจ่าย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อมูลทางวิชาการ หลักการ และแนวคิดของการนำเข้าแบบ DDP ที่ผู้นำเข้าเป็นทั้งผู้จ่ายและเป็นผู้มีสิทธิ์ตัดสินใจเลือกได้ด้วยตนเอง
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
LOGISTICS
เปิดประตูการค้าไทยสู่เมืองมะริด
เมืองมะริด (Myeik) เป็นเมืองท่าและเมืองเศรษฐกิจหลักของมณฑลตะนาวศรี (Tanintharyi) ที่มีอยู่ด้วยกัน 3 เมือง ได้แก่ เมืองทวายที่เป็นเมืองหลวง เมืองมะริดซึ่งเป็นเมืองท่าและเมืองเศรษฐกิจ และเกาะสองซึ่งเป็นแหล่งประมงที่สำคัญของประเทศ สำหรับเมืองมะริดจะประกอบด้วย 2 เมืองย่อย คือ เมืองมูด่องที่ติดกับด่านสิงขรของจ.ประจวบคีรีขันธ์ และเมืองปะเล่าที่อยู่ขึ้นไปทางเหนือติดกับจังหวัดทวาย นอกจากนี้เกาะในเมืองมะริดยังมีรวมกันกว่า 800 เกาะ โดยเมืองมะริดมีประชากรประมาณ 4 แสนคน นับเป็นอีกเมืองที่มีศักยภาพที่เป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเมียนมาในปัจจุบัน
เมืองมะริดเป็นอีกหนึ่งเมืองท่าที่มีความสำคัญกับประเทศเมียนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้เมืองนี้มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นและมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยการเดินทางไปยังเมืองมะริดสามารถเดินทางทั้งโดยเครื่องบิน รถยนต์ และทางเรือที่ล่องไปตามแม่น้ำตะนาวศรี
ด้านเศรษฐกิจของเมืองมะริดนั้น ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ทำให้เป็นแหล่งประมงที่สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นและประเทศ สามารถจัดส่งสัตว์น้ำทะเล อาทิ กุ้งมังกร กั้ง และปลาทะเลต่างๆ ไปเลี้ยงยังส่วนต่างๆของประเทศ รวมถึงส่งออกไปยังต่างประเทศ นอกจากจะมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลแล้ว ผลผลิตทางการเกษตรก็มีความอุดมสมบูรณ์เช่นเดียวกัน โดยมะริดเป็นแหล่งปลูกยางพาราที่สำคัญ นอกจากนี้ยังรวมถึงผลไม้เขตร้อนโดยมีแตงโมเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของเมืองมะริด โดยเฉพาะเป็นแหล่งเพาะปลูกหมากและเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่สำคัญของประเทศ ทำให้มะริดมีอุตสาหกรรมแปรรูปลูกหมากแห้งและเม็ดมะม่วงหิมพานต์ โดยผู้ชายก็จะออกเรือหาปลาหรือว่าทำงานอยู่แถวท่าเรือ ในขณะที่ผู้หญิงก็จะมาทำงานอยู่ตามโรงงานแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์หรือหมากแห้ง
จะเห็นได้ว่ามะริดเป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่บวกกับทำเลที่ตั้ง ส่งผลให้เมืองมะริดเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมการประมงของประเทศ จึงส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมการต่อเรืออีกด้วย จากความเป็นเมืองท่าชายฝั่งที่มีมาหลาบร้อยปี ทำให้ผู้คนที่นี่สั่งสมความรู้ในการต่อเรือที่สำคัญที่สุดของประเทศเมียนมา และผู้คนที่นี่ก็มีฝีมือและมีความสามารถ เรียกได้ว่าถ้าต้องการต่อเรือต้องมาที่นี่เท่านั้น โดยอู่ต่อเรือบางส่วนเกิดจากการร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจชาวไทยและเมียนมา ด้วยการยอมรับในฝีมือในการต่อเรือของที่นี่ซึ่งมีคุณภาพบวกกับค่าแรงถูก ทำให้ได้รับความไว้วางใจทั้งจากลูกค้าในประเทศเมียนมาเอง และประเทศไทย
ที่มะริดยังมีโอกาสในเรื่องของการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเกี่ยวกับวัดวาอาราม เจดีย์รูปทรงต่างๆ ที่ยังคงรูปแบบเดิมไว้ รวมถึงสถาปัตยกรรมเก่าแก่ของเมืองที่มีมานานนับร้อยปี ยังรวมถึงหมู่บ้านชาวประมงที่สร้างขึ้นแบบยกพื้นขึ้นเรียงรายอยู่ริมแม่น้ำ นอกจากนี้มะริดยังขึ้นชื่อในเรื่องแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติทางทะเล นั่นคือ กลุ่มเกาะมะริด ที่ทางตอนเหนือของกลุ่มเกาะมะริดยังคงเป็นพื้นที่ใหม่ที่ยังไม่มีการเข้าถึง ส่วนหมู่เกาะทางตอนใต้ก็มีนักท่องเที่ยวหนาตาในช่วง 20 ปี
ที่ผ่านมา เมืองมะริดมีการค้าและการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวและมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แต่การดำเนินชีวิตของคนที่นี่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเฉกเช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ แม้จะมีการค้าสมัยใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังมีการค้าแบบดั้งเดิมที่คงอยู่ เพราะคนที่นี่ยังคุ้นเคยกับการค้าแบบดั้งเดิม
ที่มา : http://www.ditp.go.th/ditp_pdf.php?filename=contents_attach/331675/331675.pdf&title=331675