CEO ARTICLE
ดราม่าการเมือง
“ทำไมการเมืองไทยยิ่งดูไปก็ยิ่งคล้ายละครดราม่า ?”
“เมื่อไรดราม่าการเมืองจะหมดไปจากประเทศไทย ?”
ประวัติศาสตร์การเมืองของไทยในระบอบประชาธิปไตยเริ่มในปี พ.ศ. 2475 จากนั้นมาประชาชนก็ถูกนำมากล่าวอ้างเพื่อการแย่งชิงอำนาจผ่านการตั้งรัฐบาล และการรัฐประหาร
ผ่านไปราว 40 ปี ประชาชนก็ค่อย ๆ มีความรู้ มีความเข้าใจมากขึ้น การมีส่วนร่วมก็มากขึ้นจนเกิดเหตุการณ์นักศึกษาประท้วง 2 ครั้งในปี 2516 และปี 2519 ที่กลายเป็นวันมหาวิปโยคแห่งความสูญเสียของไทย
ใคร ๆ ก็นึกว่าการเมืองไทยจะดีขึ้น แต่เอาจริง ๆ มันก็ดีขึ้นบ้าง อำนาจถูกหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนไปมาระหว่างทหารกับพรรคการเมืองไป ๆ มา ๆ อีกราว 20 ปี
ปี 2534 การรัฐประหารก็เกิดขึ้นและตามมาด้วยความสูญเสียในปี 2535
ครั้งนี้ผู้ติดตามการเมืองก็คิดว่า การรัฐประหารคงหมดแล้วทำให้นักธุรกิจที่ส่วนใหญ่เคยแอบอยู่หลังทหารและพรรคการเมืองกล้าเข้ามาเล่นเกมอำนาจอย่างเต็มตัว
ยุคนี้ ธุรกิจการเมืองจึงเกิดขึ้น เมื่อเป็นเรื่องธุรกิจ มันก็ต้องมีการตลาดเข้ามา
การสร้างเรื่องราว คำบอกเล่า การตีไข่ใส่สีล้วนเพื่อการตลาดก็เริ่มขึ้น พรรคการเมืองถูกแบ่งเป็น 2 ค่าย หนึ่งคือพรรคเทพ อีกหนึ่งคือพรรคมารให้กลายเป็นดราม่า
จริง ๆ ดราม่าการเมืองน่าจะมีมานานแล้วแต่การกระจายสู่ประชาชนทำได้น้อย พอมาถึงยุคเทพกับมาร โทรศัพท์มือถือมีบทบาทพอดี ดราม่าเทพและมารจึงกระจายออกไปด้วยเครื่องมือสื่อสารและการตลาดเป็นตัวเร่งส่ง
ทั้ง ๆ ที่ประชาชนมีความรู้มากแต่ยิ่งเสพก็ยิ่งดราม่าตาม ในที่สุดดราม่าก็ได้ผล การเมืองหลังปี 2535 อำนาจทางการเมืองส่วนใหญ่จึงมาคู่กับดราม่าและตกอยู่ในมือธุรกิจมากกว่าทหาร
ธุรกิจการเมือง การตลาดและดราม่าการเมืองจึงเริ่มเบ่งบานในยุคนี้
การเมืองเป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจ และอำนาจนั้นสามารถใช้จัดสรรทรัพยากรของชาติไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ป่าไม้ คลื่นในอากาศ ข้าราชการ งบประมาณ ฯลฯ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างเป็นธรรม
ทรัพยากรของชาติไม่มีใครเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว ไม่มีใครใช้อำนาจจัดสรรได้แต่เพียงผู้เดียว
ทรัพยากรทั้งหมดเป็นของประชาชน และประชาชนต้องเป็นผู้ร่วมจัดสรรแต่การเมืองไทยตั้งแต่ 2475 เรื่อยมากลับอยู่ในวังวนของการช่วงชิง ใครมีอำนาจรัฐก็บันดาลให้พวกพร้องได้ครอบครองทรัพยากรมากกว่าทำให้ทรัพยากรส่วนรวมตกอยู่ในมือผู้มีอำนาจมากกว่า
นี่คือวังวนการเมืองไทย
ในเมื่อการเมืองเป็นเรื่องการจัดสรรผลประโยชน์ และไม่มีใครรู้เรื่องผลประโยชน์ได้ดีเท่าธุรกิจการเมือง หลังปี 2535 ทรัพยากรของชาติก็ถูกธุรกิจการมืองเข้ามาจัดสรรให้กันเห็นชัด ๆ ไม่มีปิดบังด้วยโครงการประชานิยมที่ให้ดอกออกผลมากกว่าอดีตที่มีในช่วงเลือกตั้งและคืนหมาหอน
ประชาชนจะได้อะไรก็เปิดกันชัด ๆ ไปเลย ธุรกิจการเมืองได้อะไรก็ให้เข้าใจกันชัด ๆ ซึ่งกลายเป็นความสนุกสนานของธุรกิจการเมืองกับตัวเลขพันล้าน หมื่นล้าน
เวลาผ่านไปอีกราว 15 ปี ความสนุกก็ยุติลงด้วยการรัฐประหารในปี 2549 อีก แต่ครั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่ติดใจผลประโยชน์ที่ได้รับการจัดสรรแล้ว มันชัดเจน มันเปิดเผย แต่ประชาชนอีกส่วนกลับเห็นตรงข้าม กลับแสดงอาการคัดค้าน
นับแต่นั้น ประชาชนส่วนใหญ่ของไทยก็ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนโดยอัตโนมัติ
ความน่ากลัวในเวลานั้นคือ ใครคิดยืนอยู่ตรงกลางก็จะถูกผลักให้อยู่ฝ่ายตรงข้ามทันที
ส่วนหนึ่งชอบธุรกิจการเมืองเพราะผลประโยชน์ที่ได้โดยไม่ใส่ใจการทุจริต มึงบ้าง กูบ้าง ดู ๆ ยุติธรรมดี อีกส่วนรังเกียจการทุจริตและประชานิยมที่สอนคนให้รอรับอย่างเดียว
คนชอบธุรกิจการเมืองมากกว่า ดังนั้น การเลือกตั้งหลังปี 2549 อำนาจการเมืองจึงยังวนกลับมาอยู่ในมือธุรกิจการเมืองที่ตามมาด้วยการตลาด ความเป็นดราม่า ความเหลิงอำนาจ
สุดท้ายก็เกิดการรัฐประหารอีกจนได้ในปี 2557
ดราม่าการเมืองที่มีมาเงียบ ๆ แต่เก่าก่อนจึงเบ่งบานหลังปี 2535 ตามการตลาด ตามพรรคเทพ พรรคมาร และเครื่องมือสื่อสารที่เริ่มแพร่หลายและเป็นตัวกระจายความเป็นดราม่า
มาถึงวันนี้ เดือนธันวาคม 2561 สัญญาณการเมืองไทยก็ดังขึ้นมาอีก ข่าวคราวการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกล๊อกก็มีกำหนดคลายตัว เงื่อนเวลาต่าง ๆ มีความชัดเจน
ความหลงไหลในผลประโยชน์ที่ประชาชนเคยได้รับการจัดสรรจากธุรกิจการเมือง การตลาดที่เคยได้ผลจากธุรกิจการเมืองจึงถูกนำมาใช้อีก แล้วการตลาดก็ต้องมีดราม่าตามมาอีก
ด้านหนึ่งต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย อีกด้านหนึ่งก็ต่อสู้เพื่ออนาประชาธิปไตย
ด้านหนึ่งก็คนเคยอยู่พรรคเทพ พรรคมารด้วยกัน อีกด้านก็คนเคยอยู่พรรคเทพ พรรคมารด้วยกัน ด้านหนึ่งต่อสู้เพื่อประชาชน อีกด้านก็ต่อสู้เพื่อประชาชน
ทั้งหมดไม่เห็นแตกต่างกัน แต่ดราม่าการเมืองทำให้แตกต่างกันได้ ทำให้เป็นตำนาน ให้เป็นเรื่องเล่าขานจากการตลาด และเข้าสู่ความเป็นดราม่าทั้งสิ้น
ประชาชนก็ยังถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน นักการเมืองที่ตนชื่นชอบต้องเป็นพระเอก หรือนางเอก ส่วนนักการเมืองที่ตนไม่ชอบต้องเป็นผู้ร้ายภายใต้ดราม่าการเมือง
ประกอบกับโลกโซเซียลในวันนี้มีวิวัฒนาการขึ้นอีก เครื่องมือสื่อสารทันสมัยขึ้นมาก ประกายดราม่าที่จุดเพียงเรื่องเดียว พลังโซเซียลกลับกระจายได้มากยิ่งขึ้น
ทั้งที่มีกฎหมายควบคุม แต่ว่าวขึ้นลมไปแล้ว ความเสียหายก็เกิดขึ้นแล้ว
กว่ากระบวนการยุติธรรมจะเข้ามาจัดการ ดราม่าการเมืองก็เอาตีไปกินเรียบร้อย
คำถามที่ว่า ทำไมการเมืองไทยยิ่งดูไปก็ยิ่งคล้ายละครดราม่า ?
คำตอบอยู่ที่ประชาชนผู้เสพ ผู้กระจายนี่ล่ะ หากประชาชนหยุดกระจาย ดราม่าการเมืองจะไปต่อได้อย่างไร มันต้องหยุดตามไปด้วย
ทั้ง ๆ ที่มันเริ่มจากการตลาดการเมืองแล้วสร้างเรื่องราวให้เป็นดราม่า จากนั้นก็เป็นเรื่องผลประโยชน์ที่ประชาชนเคยได้และอยากได้อีก
มันทำให้ดราม่าการเมืองแต่ละเรื่องหยุดไม่อยู่และวิ่งกระจายอย่างรวดเร็ว
ยิ่งวันนี้ เศรษฐกิจที่ธุรกิจการเมืองถนัดและเป็นเรื่องปากท้องประชาชนถูกจุดติด ดราม่าการเมืองภายหลังการปลดล๊อกจึงน่าจะฉุดไม่อยู่อย่างแน่นอน ต้นปี 2562 คงมีพระเอก นางเอก และผู้ร้ายออกมาวิ่งเพ่นพล่านในดราม่าการเมืองมากยิ่งขึ้น
ส่วนคำถามที่ เมื่อไรดราม่าการเมืองจะหมดไปจากการเมืองไทย ?
คำตอบก็น่าจะราว 20 ปี … ทำไมหรือ ?
ระบอบประชาธิปไตยเริ่มในปี 2475 จนถึง 2561 ระยะเวลา 86 ปี ผ่านเหตุการณ์สำคัญในปี 2516 2519 2535 2549 2557 หากประชาชนในปี 2535 ผู้เสพดราม่าเทพมารที่เริ่มเบ่งบานส่วนใหญ่ตอนนั้นมีอายุ 30-40 ปี วันนี้ ปี 2561 พวกเขาก็น่าจะมีอายุราว 56-66 ปี แล้ว
หากคนกลุ่มนี้ ในวันนี้ยังเป็นผู้เสพดราม่าการเมืองและแชร์ในโลกโซเซียลอยู่ อีก 20 ปีข้างหน้า พวกเขาจะมีอายุ 76-86 ปี เรี่ยวแรงเริ่มโรยรา
การแชร์เรื่องราวต่าง ๆ ก็น่าจะโรยราตามไปด้วย
อีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยก็คงมีคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 20 หรือ 30 หรือ 40 ปี คนกลุ่มนี้จะใช้เทคโนโลยีและโซเซียลเพื่อความบันเทิงและธุรกิจมากกว่า
วันนั้นจึงเชื่อว่า ดราม่าทางการเมืองคงหมดไป
ส่วนวันนี้ในปี 2561-2562 แม้จะมีกฎหมายควบคุมการแพร่กระจายแต่การตลาดยังคงมีความจำเป็นต่อธุรกิจการเมือง ดราม่าการเมืองจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ในเมื่ออยากได้คะแนนจากการเลือกตั้ง การเอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้คนอื่นจึงไม่มีอะไรดีไปกว่าการสร้างเป็นดราม่าให้มันเผยแพร่ออกไป แล้วปล่อยให้โซเซียลมันทำงานของมันเองเท่านั้น
ที่เหลือ ผู้ปล่อยดราม่าก็นั่งรับผลประโยชน์ไป
ตลอดเวลา 86 ปีที่ผ่านมา การเมืองกระทบสังคมและเศรษฐกิจของไทยสูงมาก การค้า การลงทุน ธุรกิจระหว่างประเทศ และ Logistics ถูกกระทบไม่รู้เท่าไร
ไม่ว่าการเมืองจะหันไปด้านไหน ธุรกิจ การค้า และ Logistics ก็ถูกกระทบทั้งนั้น มันไม่ต่างกัน หากประชาชนจะเหลียวดูคำกล่าวของอดีตประธานาธิบดี 2 ท่านทั้งโซเวียตและสหรัฐที่ปรากฎท้ายบทความนี้ก็พอจะสรุปได้ว่า
“การเมืองเหมือนกันหมด สามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ได้อำนาจมานั่นล่ะ” (ผู้เขียน)
แล้ววันนี้ ดราม่าการเมืองกำลังจะกลับมา
หากประชาชนพอจะรู้เท่าทันดราม่าการเมือง หากจะเริ่มหยุดไลค์ หยุดแชร์ ลองทำแบบนี้ ใครจะไปรู้ ดราม่าการเมืองที่มีมุขต่าง ๆ ก็อาจจะแป๊กขึ้นมาก็ได้
ทั้งหมดของคำตอบจึงกลับไปอยู่ที่ประชาชนในปี 2561-2562 นี่เอง ประชาชนเป็นผู้เสพ ประชาชนจึงต้องรู้ ต้องเข้าใจ และต้องมองต่างจากประชาชนปี 2475
เว้นแต่ประชาชนในวัยนี้นั่นล่ะ หากยังชอบดราม่า ยังสนุกอยู่กับโลกดราม่า มันก็ย่อมทำให้ดราม่าการเมืองของไทยไม่มีทางหมดไปจนกว่าคนรุ่นนี้จะหมดแรงไปนั่นเอง
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
ปล. ครุสเซฟ อดีตประธานาธิบดีสหภาพโซเวียตกล่าวว่า
“นักการเมืองเหมือนกันหมดไม่ว่าที่ไหน พวกเขาสามารถให้สัญญาที่จะสร้างสะพานได้แม้ในสถานที่ที่ไม่มีแน่น้ำ” (http://www.quotationspage.com/quote/829.html)
Politicians are the same all over. They promise to build a bridge even where there is no river.
เรแกน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า
“การเมืองน่าจะเป็นอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดอันดับสอง ผมมาได้รับรู้ว่ามันมีความคล้ายคลึงอย่างมากกับอาชีพอันดับแรก” (http://www.quotedb.com/quotes/3235)
Politics is supposed to be the second-oldest profession. I have come to realize that it bears a very close resemblance to the first.
(อาชีพเก่าแก่ที่สุดอันดับหนึ่งของโลกคือ โสเภณี : ผู้เขียน)
LOGISTICS