CEO ARTICLE
ยกเลิก กยศ.
หนี้ครัวเรือนปี 2561 อยู่ที่ 3.15 แสนบาท/ครัวเรือน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
เว๊บไซด์ไทยโพสท์ (https://www.thaipost.net/main/detail/23705) แสดงตัวเลขสำรวจโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าสรุปว่า คนไทยเกือบทุกครัวเรือนมีภาระหนี้สิน และปี 2561 ที่ผ่านมามีหนี้สินสูงสุดนับแต่สำรวจมา
เมื่อรายได้ไม่พอรายจ่ายและไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คนไทยส่วนหนึ่งจึงหันไปกู้เงินนอกระบบ ว่ากันว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วไปสูงถึงร้อยละ 20 ต่อเดือน
คนไทยที่เป็นหนี้ส่วนใหญ่กลัวเจ้าหนี้มากกว่าตำรวจ การหาเงินเพียงเพื่อจ่ายดอกเบี้ยทุกเดือนจึงเกิดขึ้นแม้จะทำสิ่งผิดกฎหมายก็ตาม
คนทำงานองค์กรส่วนหนึ่งที่พอจะทำบัตรเครดิตได้ก็ไปพึ่งพาบัตรเครดิตแทน สิ้นเดือนก็นำเงินเดือนไปจ่ายคืนบัตรเครดิตก่อนให้ยอดลดลงก่อน
จากนั้นก็กดเงินสดจากบัตรเครดิตไปจ่ายดอกเบี้ยอีกต่อหนึ่ง
หากเป็นหนี้ 200,000 บาท หากดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือนจริง เดือนหนึ่งก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยถึง 40,000 บาท หากเงินเดือน 20,000 บาท ก็ไม่พอจ่ายดอกเบี้ย ไม่พอใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การกู้เงินนอกระบบเพิ่มและการเปิดบัตรเครดิตเพิ่มจึงเกิดขึ้นเรื่อย ๆ
ในเมื่อสิ้นเดือนนำเงินค่างวดไปส่งบัตรเครดิตได้ เครดิตของผู้กู้ก็อยู่ในเกณฑ์ดี สามารถขอเพิ่มบัตรเครดิดรายใหม่ได้อีก การกู้เงินนอกระบบและการเปิดบัตรเครดิตเพิ่มจึงเกิดขึ้นเรื่อย ๆ เป็นงูกินหางไม่จบสิ้นโดยมีชีวิตผู้กู้และอนาคตครอบครัวเป็นเดิมพัน
เงินกู้ทั้งในและนอกระบบจึงมีแต่จะเพิ่ม ดอกเบี้ยก็มีแต่จะเพิ่ม ลูก ๆ ก็ค่อย ๆ เติบโตขึ้น ภาระค่าใช้จ่ายจึงมีแต่จะเพิ่ม ไม่มีวันลดลง สุดท้ายหนี้ครัวเรือนในปีต่อ ๆ มาของคนไทยส่วนใหญ่ก็ต้องเพิ่มเป็นเงาตามตัว
คนเป็นหนี้ก็ได้แต่หวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าวันหนึ่งจะถูกหวย จะได้บุญหล่นทับให้ปลดหนี้ได้ ภาพที่เห็นตามข่าวจึงเป็นภาพชาวบ้านวิ่งหาตัวเลขกันทุกงวดที่หวยออก
เมื่อเงินไม่พอส่งบุตรหลานให้เรียนสูง ๆ รัฐบาลก็รู้จึงมีกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือที่เรียกว่า กยศ. ขึ้น
จากการเปิดเผยของ กยศ. ตัวเลขจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2561 มีผู้นำเงินมาคืนแล้ว 8 แสนราย เสียชีวิต-ทุกพลภาพ 5 หมื่นราย และมีผู้กู้ครบกำหนดชำระ 3.5 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ 4 แสนล้านบาท (https://thaipublica.org/2018/06/studentloan-fund-ktb-qr-code/)
ขอย้ำว่าประชาชนมีหนี้ กยศ. จำนวน 4 แสนล้านบาทที่ครบกำหนดชำระ และหนี้เหล่านี้ก็กระจายอยู่หลายครัวเรือนทั่วประเทศ
ผู้กู้ที่จบการศึกษาไปแล้วส่วนหนึ่งไม่มีงานทำ มีการผลัดผ่อนหนี้สิน และอยู่ในวังวนการกู้นอกระบบ อีกส่วนหนึ่งมีงาน มีครอบครัว มีรายได้ และมีหนี้ทั้งในและนอกระบบไม่ต่างกัน
มูลหนี้ทั้งหมดจึงมาฝังอยู่ในหนี้ครัวเรือนจำนวน 3.15 แสนบาท/ครัวเรือนที่หอการค้ารายงานว่า มูลหนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์
กยศ. แม้เป็นกองทุนที่ดี ช่วยคนยากจนให้มีการศึกษา
เมื่อจบการศึกษา คนเหล่านี้ก็น่าจะแบ่งเบาภาระครอบครัวลงได้ หนี้สินครัวเรือนก็น่าจะลดลง แต่ทำไมหนี้ครัวเรือนกลับสูงขึ้นจากการเปิดเผยของมหาวิทยาลัยหอการค้าข้างต้น
หรือ กยศ. มีส่วนทำให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ???
หากจะกล่าวว่า หนี้ที่เกิดจาก กยศ. ภายหลังสำเร็จการศึกษาแล้ว หนี้สินส่วนนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของหนี้ครัวเรือนก็ไม่น่าจะผิดนัก
หากการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยเป็นหนี้ รัฐบาลก็ควรแก้ไขกฎหมายขยายการศึกษาให้ประชาชนสามารถเรียนฟรีได้ถึงระดับปริญญาตรีจะดีกว่า
หนี้ กยศ. ส่วนใหญ่ถูกนำมาจ่ายค่าเทอมให้กับสถานศึกษาซึ่งส่วนใหญ่เติบโตจากการผลักดันให้ออกนอกระบบ ให้สถาบันการศึกษาหาเงินด้วยตนเองและนำเงินมาพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพที่ดี
แต่ผลวันนี้คือ สถาบันการศึกษาหลายแห่งมุ่งเน้นเงินมากเกินไป มุ่งทำกำไรมากเกินไปจนละเลยคุณภาพและทำให้การศึกษาในภาพรวมต่ำกว่าหลายชาติในอาเชียน
นักศึกษาจบใหม่มากมายไม่ได้ความรู้ตามวุฒิที่ควรมี แม้แต่คนจบปริญญาเอกทุกวันนี้ส่วนหนึ่งก็สื่อสารภาษาอังกฤษเอาแค่งู ๆ ปลา ๆ ไม่ได้เลย
ดังนั้น หากด้านหนึ่ง รัฐบาลยังคงให้มีการศึกษานอกระบบอยู่ แต่อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลก็ควรจัดตั้งสถาบันการศึกษาในระบบขึ้นมาให้กระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศด้วยการเรียนฟรี
จังหวัดใดใหญ่มากก็ให้มีสถาบันศึกษานี้ 2 หรือ 3 แห่งตามความเหมาะสม
รัฐบาลสามารถถือโอกาสกำหนดหลักสูตรที่มีคุณภาพ ยิ่งสถาบันของรัฐมีคุณภาพมากขึ้น สถานศึกษาเอกชนที่ทำตัวนอกระบบ มุ่งเน้นเงินมากกว่าคุณภาพก็ต้องหันมาปรับปรุงตัวเองให้มีคุณภาพตามไปด้วย ไม่อย่างนั้นนักศึกษาที่เรียนฟรีกับรัฐบาลก็จะไม่หันไปหาเอกชน
หากรัฐบาลทำอย่างนี้ได้ นักศึกษาก็ไม่ต้องอพยพไปเรียนให้ไกลบ้านเกิดเมืองนอน ด้านหนึ่งก็เป็นการแก้ไขปัญหาสังคมเมืองแออัด อีกด้านหนึ่งก็ส่งเสริมเศรษฐกิจในต่างจังหวัดเพราะสินค้าอุปโภคบริโภคจะเกิดการเคลื่อนตัวกระจายไปตามจังหวัดต่าง ๆ
การค้า ธุรกิจ และ Logistics ก็จะเติบโตกระจายทั่วทุกภูริภาคตามไปด้วย
เมื่อนักศึกษาเรียนฟรี ค่าหนังสือฟรี ค่าใช้จ่ายจะมีเพียงค่าอาหาร ค่าเดินทาง และค่าที่พักที่มีราคาไม่สูงเท่าในเมืองใหญ่ ๆ เท่านั้น
มูลหนี้ กยศ. ที่วันนี้ถึงกำหนดแล้วจำนวน 4 แสนล้านบาท มากมายมหาศาล หากรวมมูลหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนด และรวมมูลหนี้ที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาก็ไม่รู้ว่าจะถึง 1 ล้านล้านบาทหรือไม่
ทำไปทำมา มูลหนี้ กยศ. ก็จะกลายเป็นส่วนผลักดันหนี้ครัวเรือนให้สูงขึ้นจริง ๆ
หากแนวคิดเรียนฟรีนี้พอทำได้และเป็นจริง แบบนี้กองทุน กยศ. ก็ไม่จำเป็นต้องมี
คุณภาพการศึกษาจะดีขึ้นหรือเลวลง รัฐบาลก็สามารถจัดการปรับปรุงได้ตลอดเวลา ไม่ต้องไปโทษสถาบันศึกษานอกระบบแล้วมาวิ่งไล่แก้ที่ปลายเหตุอีกต่อไป
เพียงแนวคิดยกเลิก กยศ. เท่านั้น การพัฒนาที่ดีมากมายก็จะตามมา แล้วส่งผลให้ภาระหนี้ครัวเรือนของคนไทยไม่เพิ่มขึ้น ตรงกันข้ามกลับมีทางจะลดลงได้
ยกเลิก กยศ. แล้วให้เรียนฟรีถึงปริญญาตรี หนี้ครัวเรือนก็น่าจะลดลงตามไปด้วย
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
LOGISTICS
สโลวีเนียมีอัตราใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมยานยนต์สูงเป็นอันดับเจ็ดของโลก
องค์กร International Federation of Robotics (IFR) เผยรายงานผลสำรวจว่า ประเทศสโลวีเนียมีการใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมโดยรวม 144 ตัวต่อแรงงาน 10,000 คนในปี 2017 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วยุโรป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ในสโลวีเนียมีอัตราการใช้หุ่นยนต์ในการผลิตสูงที่สุดเป็นอันดับเจ็ดของโลก ซึ่งการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์นั้นมีบทบาทสำคัญมากในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว
ถึงแม้อัตราการใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสโลวีเนียจะสูงกว่าอัตราของทั้งทวีปยุโรปที่มีการใช้หุ่นยนต์เฉลี่ย 107 ตัวต่อแรงงาน 10,000 คน ตัวเลขดังกล่าวยังถือว่าต่ำกว่าอัตราการใช้หุ่นยนต์ในประเทศเยอรมนีซึ่งอยู่ที่ 322 ตัว
ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา สโลวีเนียอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์มากกว่า 1,000 ตัวต่อแรงงาน 10,000 คน โดยเป็นระบบการทำงานอัตโนมัติล้วน อัตราการใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของสโลวีเนียปัจจุบันอยู่ที่ 1,075 ตัว ซึ่งอยู่ในอันดับเจ็ดรองจากหกประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ (2,435) สหรัฐอเมริกา (1,200) เยอรมนี (1,162) ญี่ปุ่น (1,158) ฝรั่งเศส (1,156) และ ออสเตรีย (1,083)
นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังครองอันดับหนึ่งของโลกที่มีปริมาณการใช้หุ่นยนต์ต่อแรงงาน 10,000 คนในภาคอุตสาหกรรมโดยรวมทั่วประเทศอีกด้วย ซึ่งอยู่ที่ 710 ตัวในปี 2017 ตามมาด้วยอันดับสอง คือ สิงคโปร์ (658 ตัว) ปัจจุบัน อัตราเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่หุ่นยนต์ 85 ตัวต่อแรงงาน 10,000 คน
ที่มา: http://ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/504355/504355.pdf&title=504355&cate=413&d=0