SNP NEWS

ฉบับที่ 553

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

เงินของใคร

“ความเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอด 2 วันที่ผ่านมาถือได้ว่าอยู่ในภาวะเข้มข้นถึงขีดสุดในประวัติศาสตร์การเมืองของไทยที่กำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน มี.ค. 62”

ข้อความข้างต้นเป็นข่าวจากสถานีโทรทัศน์ “บลูมเบิร์ก” ของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการเมืองไทย ข้อความได้ถูกแปลเป็นภาษาไทย ปรากฏทาง www.amarintv.com และถูกเผยแพร่ในช่วงหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (10 ก.พ. 62)

คนไทยเกือบทั้งประเทศต่างรู้ว่า ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มี.ค. 62 แต่ข่าวที่ออกมาในวันศุกร์ที่ 8 ก.พ. 62 กลับทำให้คนไทยช๊อกกันทั้งประเทศ

อะไรและทำไมเป็นคำถามที่ถกกันในสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวางไร้การควบคุม

แม้วิกฤตินี้จะผ่านพ้นไปเปราะหนึ่งด้วยพระบารมีปกเกล้าของในหลวง แต่การกระทำก็ส่งผลตามมาอีกมาจนมีข่าวว่า อาจมีการลงโทษสถานหนักจนถึงขั้นยุบพรรคไปเลยก็มี

คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ ทำไมการเมืองต้องเล่นกันขนาดนี้ ???

“การเมืองเป็นเรื่องของการช่วงชิงอำนาจ จากนั้นก็ใช้อำนาจนั้นมาจัดสรรผลประโยชน์”

นี่คือประโยคหนึ่งที่นักศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ รัฐศาสตร์ และการเมืองรู้ และเข้าใจว่าผลประโยชน์นั้นต้องเป็นของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

แต่จะมีคนสนใจการเมืองสักกี่คนที่รู้ว่า ผลประโยชน์นั้นมีอะไรบ้างและมันมากมายเพียงไหนจึงทำให้การต่อสู้ต้องเป็นไปอย่างเอาเป็นเอาตาย

จริง ๆ แล้วผลประโยชน์ที่ว่านี้มีมากมาย เอาแค่เงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชาวบ้านเป็นผู้จ่ายจากการกินการใช้ การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค การเข้าร้านสะดวกซื้อที่เป็นชีวิตประจำวันของคนไทยเกือบทุกคนดูก็ได้

ปัจจุบันประเทศไทยมีคนต้องกินต้องใช้เกือบ 70 ล้านคน ชาวบ้านยากจนมีมากกว่า สมมติให้มี 60 ล้านคน และคนพอมีฐานะอีก 10 ล้านคน

หากชาวบ้านยากจน 1 คน ใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ 100 บาท ผลก็คือชาวบ้าน 1 คนต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มเฉลี่ยวันละ 7 บาททันที

บางคนจ่ายแบบไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป

เงินที่ชาวบ้านจ่ายเป็นภาษีมูลค่าเฉลี่ยวันละ 7 บาท หรือเดือนละ 210 บาท หรือปีละ 2,520 บาท ดูไม่มีความหมาย ไม่มีผลประโยชน์อะไรที่นักการเมืองจะต้องเข้ามาวุ่นวายด้วย

แต่หากมองชาวบ้านยากจน 60 ล้านคน เงินเพียงคนละ 7 บาทต่อวันจะเท่ากับวันละ 420 ล้านบาท หรือเดือนละ 12,600 ล้านบาทต่อเดือน หรือปีละ 151,200 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว

หากถามว่า เงินมากมายเป็นแสนล้านบาทนี้เป็นของใคร ??

คำตอบที่เห็น ๆ กันอยู่ก็คือ เงินแสนล้านเป็นของชาวบ้านยากจนที่ต้องกินต้องใช้ทุกวัน

บางคนซื้อข้าวแกงจากร้านค้าโดยไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่แม่ค้าก็ต้องซื้อของส่วนหนึ่งจากห้างขายส่งสมัยใหม่ที่ปัจจุบันราคาวัตถุดิบถูกลงมาโดยมีภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระรวมด้วย

แม้แม่ค้าจะไม่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายข้าวแกง อาหารตามสั่ง แต่อย่าลืมว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มที่แม่ค้าจ่ายออกไปตอนซื้อวัตถุดิบจากห้างค้าส่งก็ต้องถูกรวมเข้าไปในค่าอาหารเรียบร้อยแล้ว

ชาวบ้านผู้บริโภคข้าวแกงจึงเป็นผู้จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มทางอ้อมอย่างไม่รู้ตัว

แต่ในความเป็นจริงประเทศไทยไม่ได้มีเพียงชาวบ้านยากจน 60 ล้านคน แต่ยังมีคนพอมีฐานะอีก 10 ล้านคน ยังมีภาษีเงินได้คนทำงาน ยังมีภาษีสรรสามิต อากรศุลกากรที่ผู้นำเข้าต้องชำระ ยังมีภาษีธุรกิจที่เป็นภาระของผู้ประกอบการอีกไม่รู้เท่าไร

มันจึงกลายเป็นเงินภาษีอากรรวม ๆ แล้วหลายแสนล้าน หรืออาจเป็นล้านล้านบาทต่อปีที่มากมายมหาศาลอย่างเหลือเชื่อ

เงินเดิมพันนับแสนล้าน นับล้านล้านบาทที่กองอยู่ในคลังแต่ละปีจึงเป็นกองมหึมาที่ล่อใจนักการเมืองให้เข้ามาบริหารจัดการ

หลังเลือกตั้งและจัดรัฐบาลเสร็จ คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้จ่ายเงินมากกว่าโดยมี ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลยกมือสนับสนุนให้งบประมาณผ่าน ส่วน ส.ส. ฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบ แต่ไม่ว่าจะตรวจอย่างไร สุดท้ายฝ่ายรัฐบาลก็เอาเงินแสนล้านนี้ไปใช้ได้ทุกที

หากมีการทุจริต กว่าจะตรวจจับในภายหลัง กว่าจะยื่นศาลให้ตัดสิน เงินภาษีที่ชาวบ้านจ่ายทุกปีก็หายเพิ่มไปเรื่อย ๆ อย่างที่เห็น

นักธุรกิจบางคนเคยทำกำไรได้ปีละ 10 ล้าน 100 ล้าน อาจรู้สึกไม่หน่ำใจ อาจอยากลองฝีมือ ก็อยากเข้ามาบริหารจัดการเงินภาษีแสนล้านหรือล้านล้านบาท

คนอยากจึงหันมาเล่นการเมืองมากขึ้น

ส่วนคนที่เล่นจนติดแล้วก็เลิกไม่ได้

เงินภาษีที่ชาวบ้านร่วมกันจ่ายทุกวันจึงเป็นคำตอบ ทำไมความเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอด 2 วันที่ผ่านมาจึงเข้มข้นถึงขีดสุดตามที่สื่อต่างประเทศชี้ออกมา

คนไทยมีรวมกันเกือบ 70 ล้านคน แต่คนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 มีราว 51 ล้านคนเป็นผู้มอบอำนาจให้นักการเมืองเข้ามาใช้เงินของชาวบ้านผ่านการเลือกตั้ง

แล้วจะมีคนมีสิทธิ์เลือกตั้งสักกี่คนที่รู้ว่า นักการเมืองจะเอาเงินของตนไปทำอะไรบ้าง

บางพรรคการเมืองไม่มีนโยบาย ไม่มีโครงการ ไม่มีแนวทางที่น่าเชื่อถือได้มาเสนอ บางพรรคการเมืองเสนอนโยบายให้ดูสวยหรูไว้ก่อน ส่วนจะทำให้หรือไม่ค่อยว่ากันภายหลังโดยไม่ใส่ใจว่าทุก ๆ นโยบายที่เสนอต้องใช้เงินเป็นหมื่นล้าน เป็นแสนล้านที่ดูดจากกระเป๋าชาวบ้าน

คนมีสิทธิ์เลือกตั้งส่วนหนึ่งอาจเลือกเพราะนโยบาย เลือกเพราะเชื่อมั่น แต่เท่าที่เห็นส่วนใหญ่จะเลือกจากเป้าหมายในใจหรือเลือกตามพาราดาม (Paradigm) คือ กระบวนทัศน์ หรือ กรอบความคิด ที่ฝังเป็นแนวคิดพื้นฐานของตน

ตอนเลือกตั้ง อำนาจเป็นของชาวบ้านที่จะเลือกใคร แต่หลังเลือกตั้ง อำนาจของชาวบ้านที่มีไม่รู้หายไปไหน ชาวบ้านจะขอดู จะขอตรวจการใช้เงินก็แสนจะลำบากทั้ง ๆ ที่อำนาจเป็นของชาวบ้าน

ประเทศไทยจึงพายเรืออยู่ในวังวนเช่นนี้โดยมีเงินภาษีอากรที่ชาวบ้านจ่าย มีทรัพยากร และสาธารณประโยชน์อื่น ๆ ที่เป็นของชาวบ้านทั้งประเทศถูกนำออกไปใช้โดยนักการเมือง

ระบอบประชาธิปไตยที่ถูกอ้างในช่วงเลือกตั้งทุกครั้งเป็นระบอบที่นักการเมืองใช้เพื่อช่วงชิงอำนาจที่เป็นของประชาชน โดยประชาชนเป็นผู้เลือกนักการเมืองที่เสนอตัวให้เป็นตัวแทนในการใช้อำนาจ และเมื่อนักการเมืองได้อำนาจนั้นมาจัดสรรประโยชน์เพื่อประชาชน

คำอธิบายสั้น ๆ ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงเป็น “ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน”

แต่จะมีชาวบ้านที่มีสิทธิ์เลือกตั้งสักกี่คนที่ตระหนักในเรื่องนี้ จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าเงินแผ่นดินไม่ว่าจะกี่แสน กี่ล้านล้านบาทต่อปี ที่แท้แล้วเป็นเงินของตนเองที่จ่ายออกไปทุกวัน

การต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายในเวลาต่อจากนี้ การเอาดีใส่ตัว เอาชั่วในคนอื่นที่กำลังจะปรากฎนับต่อแต่นี้ไป จึงเป็นเพียงละครฉากหนึ่งที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อช่วงชิงอำนาจเท่านั้น

ทุก ๆ วลีทางการเมืองเป็นเพียงวาทกรรมที่มีทั้งถูกและผิดอยู่ในตัว

หากคนมีสิทธิ์เลือกตั้งทั้ง 51 ล้านคนสงบสติสักนิด นิ่งสักหน่อย ใช้พาราดามในสมองให้ถูกทาง อย่างมีหลักการและเหตุผล ดูในสิ่งที่ควรจะดู และพิจารณาอย่างรอบครอบ

เพียงเท่านี้ก็จะพอมองเห็นว่า พรรคการเมืองไหนบ้างที่มีแนวทางการนำเงินของตนไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนให้ตนเองและพวกพร้องอย่างแท้จริง

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

LOGISTICS

ตลาดอาหารสัตว์ในประเทศเปรูขยายตัว – โอกาสของผู้ส่งออกไทย

 
จากสภาพสังคมสูงวัยและการแต่งงานที่ช้าลง ส่งผลให้สัตว์เลี้ยงเข้ามามีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันมากขึ้น ทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงทั่วโลก โดยเฉพาะ Segment สินค้าอาหารสัตว์และสุขภาพสัตว์มีการขยายตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกันกับในประเทศเปรู ที่พบว่าตลาดอาหารสัตว์มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมูลค่าตลาดประจำปี 2018 อยู่ที่ 193 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือที่ปริมาณ 115,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 14.2% และคาดว่าจะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รายงานจาก Marketing Representative ณ กรุงลิมา ระบุว่าชาวเปรูมีการใช้จ่ายร้อยละ 7 ของรายได้ เพื่อซื้ออาหารสัตว์ในแต่ละเดือน โดยจะพิจารณาการเลือกซื้อจากยี่ห้อของอาหารสัตว์เป็นหลัก ซึ่งจากการสำรวจตลาดพบว่า ราคาอาหารสัตว์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาหารสัตว์ระดับพรีเมี่ยมที่มีส่วนผสมและเพิ่มสูตรอาหารที่สำคัญ และมีการแบ่งตามช่วงวัยและขนาดของสัตว์เลี้ยง
รายงานระบุว่า เปรูมีการนำเข้าอาหารสัตว์ในปี 2016-2018 จากประเทศสหรัฐอเมริกามากที่สุด รองลงมา คือ จีน บราซิล โคลอมเบีย และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ สำหรับมูลค่าการนำเข้าในช่วง 3 ปีล่าสุด (2016-2018) พบว่าเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 165 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แนวโน้มตลาดอาหารสัตว์ในประเทศเปรู ในรายงานระบุว่า ยังคงมีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าตลาดน่าจะอยู่ที่ประมาณ 233 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2020
บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย) และข้อคิดเห็น/เสนอแนะ
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยในปี 2559 สามารถส่งออกได้เป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ดังนั้นการที่ตลาดอาหารสัตว์ในประเทศเปรูมีทิศทางที่จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อผู้ส่งออกไทย ซึ่งจะทำให้โอกาสในการส่งออกสินค้าจากไทยมายังเปรูสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้
นอกจากนี้ สินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ ของเล่น หรือวัสดุอุปกรณ์สำหรับใช้ในโรงพยาบาลสัตว์ คลินิกสัตว์ รวมถึงบริการอาบน้ำตัดขนสัตว์ ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ผู้ส่งออกไทยไม่ควรมองข้ามเช่นกัน
สำหรับผู้ประกอบการไทยท่านใดต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงกฎระเบียบในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศเปรู สามารถส่งอีเมล์มาสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Thaitrade@ttcsantiago.cl