SNP NEWS

ฉบับที่ 556

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

กับดักค่าแรง

นักลงทุนต่างชาติลงทุนในประเทศไทยน้อยกว่า
ขณะที่นักลงทุนไทยหันไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่า

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ GDP ปี 2561 อยู่ที่ 4.1% โตขึ้นกว่าปี 2560 อยู่ 0.1% เป็นตัวเลขของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานโดยไทยรัฐฉบับวันพุธที่ 20 ก.พ. 62 คอลัมภ์ “สำนักข่าวหัวเขียว” หน้า 2 โดยให้ข้อมูล ดังนี้
ปี 2559 นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย 1 แสนล้านบาท แต่กลุ่มทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศถึง 4.7 แสนล้านบาท
เงินลงทุนไทยไหลออกไปลงทุนต่างประเทศมากกว่าเงินไหลเข้า 4 เท่าตัว
ปี 2560 นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในเมืองไทย 2.7 แสนล้านบาท แต่กลุ่มทุนภาคเอกชนไทยขนเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ 6.2 แสนล้านบาท
เงินลงทุนไหลออกมากกว่าเงินไหลเข้า 2 เท่าตัว
ปี 2561 นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในเมืองไทย 3.7 แสนล้านบาท แต่กลุ่มทุนไทยยังขนเงินออกไปลงทุนต่างประทเศอีก 5.5 แสนล้านบาท
ตัวเลขแม้แสดงให้เห็นว่า เงินลงทุนที่นักลงทุนไทยขนไปลงทุนในต่างประเทศจะไม่สูงขึ้นมาก แต่เมื่อเทียบกับตัวเลขเงินลงทุนที่นักลงทุนต่างชาตินำเงินมาลงทุนในประเทศไทยแล้ว กลับยังสูงกว่าเป็นเท่าตัว
ทำไมนักลงทุนไทยจึงไปลงทุนในต่างประเทศมาก ???

หากพิจารณาตัวเลขที่แสดงข้างต้นจะพบว่า ตัวเลขเป็นของปี 2559-2561 ซึ่งเป็นเวลา 3 ปี หลังจากประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554
ปัญหาอุทกภัยอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความหวาดกลัว จึงเข้ามาลงทุนในไทยน้อยลง และอาจทำให้นักลงทุนไทยที่ยังหวาดกลัวจนต้องหนีไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นตามไปด้วยก็ได้
แต่เมื่อพิจารณาจากงานวิจัยของสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในหัวข้อเรื่อง “ภาพรวมนโยบายรายได้ไม่น้อยกว่า 300 บาทต่อวัน และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน
สำนักข่าวอิสรา (https://www.isranews.org/isranews-article/18729-labour.html) ได้นำมาเผยแพร่ในปี 2556 ภายหลังวิกฤติการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่
งานวิจัยพบข้อเสียหลายประการ แต่ที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนภายในประเทศไทยที่พอจะนำมาเป็นข้อมูลได้ คือ
1. ทำให้ต้นทุนรายจ่ายของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น หรือแรงงานฝีมือสูงขึ้นมาก เช่น กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มอุตสาหกรรมการค้าและบริการ
2. ภาระด้านต้นทุนค่าแรงงานของนายจ้างจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อวันซึ่งอาจส่งผลให้สัดส่วนการจ้างงานของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมลดลงมากและเคลื่อนย้ายไปสู่เศรษฐกิจนอกระบบ (Informal economy) มากขึ้น
เพียงผลวิจัยใน 2 ข้อนี้ก็พอชี้ให้เห็นว่า “ค่าแรงขั้นต่ำ” ที่เป็นผลจากนโยบายการเมืองได้ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจประเทศอย่างคาดไม่ถึง
นั่นคืองานวิจัยในปี 2556

ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเพื่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2562 ไทยรัฐฉบับเช้าวันที่ 27 ก.พ. 62 หน้า 8 ได้ให้หัวข้อข่าว
“เอกชนคาดส่งออกได้แค่ 3%”
“พาณิชย์ลุยหามาตรการเสริมหนุนส่งออกปีนี้ หวังให้โตตามเป้า 8% แต่เอกชนยันโตได้แค่ 3% เหตุบาทแข็งพ่นพิษ พร้อมจี้รัฐชะลอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำออกไป 1 ปี หวั่นกระทบต้นทุนเอกชน ซ้ำเติมส่งออก”
ในเวลานี้เอกชนไทยกลัวการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ขณะที่พรรคการเมืองกำลังโปรยยาหอมให้ประชาชนด้วยโครงการประชานิยมในช่วงการหาเสียง
พรรคการเมืองบางพรรคใช้ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นมาหาเสียง โดยไม่ใส่ใจงานวิจัยในอดีต และไม่ใส่ใจเสียงของเอกชน
ในอดีต ค่าครองชีพของประเทศไทยไม่สูง ค่าแรงขั้นต่ำก็ไม่สูง แรงงานไทยก็พออยู่ได้กับค่าครองชีพ และค่าแรงขั้นต่ำก็เป็นแรงจูงใจหลักให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตสินค้าในประเทศไทยจนเกือบจะกลายเป็นเสือแห่งเอเชียตัวที่ 5
แต่เมื่อพรรคการเมืองใช้นโยบายหาเสียงด้วยการขึ้นค่าแรง ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายการเมืองก็ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น
นอกจากจะเป็นภาระให้นักลงทุนต้องหนีจากไทยไปลงทุนประเทศอื่นที่มีต้นทุนค่าแรงไม่สูงนักแล้ว ต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้นก็ทำให้ค่าครองชีพสูงตาม และทำให้แรงงานอยู่ไม่ได้กับค่าครองชีพที่สูงขึ้นจนต้องเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำทุกปีจนเข้าตาพรรคการเมือง
สิ่งนี้คือกับดักค่าแรงขั้นต่ำและคือวังวนปัญหาเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย
หากพรรคการเมืองที่อาสามาบริหารประเทศ ยังไม่สร้างแนวทางการควบคุมค่าครองชีพให้เหมาะสม แต่หันไปขึ้นค่าแรงเพื่อคะแนนเสียงและชนะการเลือกตั้ง พรรคการเมืองก็กำลังผลักดันนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติให้หนีประเทศไทย
ไม่ว่าจะเพิ่มแรงงานขั้นต่ำเท่าไร ค่าแรงชีพก็วิ่งสูงขึ้นมากกว่านั้น แรงงานไทยส่วนหนึ่งที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวก็อยู่ไม่ได้ด้วยค่าแรงขั้นต่ำแม้จะปรับขึ้นจนต้องหนีไปทำงานต่างประเทศแทน
ส่วนแรงงานประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงขั้นต่ำต่ำกว่าไทยมาก ก็ไหลเข้ามารับประโยชน์แทนที่
ค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น การลงทุนภายในประเทศลดลง ค่าครองชีพที่สูงขึ้น แรงงานเพื่อนบ้านเข้ามามากขึ้น ประเทศไทยก็วนเข้าสู่กับดักและวังวนของปัญหาเดิม ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด
พรรคการเมืองจึงควรเสนอนโยบายควบคุมค่าครองชีพให้เหมาะสมกับแรงงาน และการเพิ่มสวัสดิการให้แรงงานไทยโดยตรงซึ่งน่าจะเหมาะสมกว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
อย่างน้อย หากพรรคการเมืองจะเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็ควรศึกษาร่วมกับผู้ประกอบการเอกชนก่อนการสร้างเป็นนโยบายการเมืองโดยไม่ใส่ใจเสียงเรียกร้องของเอกชน

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

LOGISTICS

“โจวซาน” Zhoushan Port ท่าเรือที่ “งานยุ่ง” ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ ณ จุดบรรจบระหว่างเส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเล

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ท่าเรือโจวซาน เมืองหนิงโป นั่งแท่นท่าเรือที่มีปริมาณสินค้าเข้าออกมากที่สุดในโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 10 สืบเนื่องจากท่าเรือแห่งนี้ตั้งอยู่ตรงจุดบรรจบระหว่าง “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” (Silk Road Economic Belt) และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Maritime Silk Road)
ปริมาณสินค้านำเข้าและส่งออกต่อปีของท่าเรือโจวซานแตะตัวเลข 1,000 ล้านตัน ตั้งแต่ปี 2017 และเป็นท่าเรือแห่งแรกของโลกที่ทำสถิติดังกล่าวได้

รายงานประจำปีของท่าเรือโจวซานระบุว่า ในปี 2018 ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์บนท่าเรือแห่งนี้ทำสถิติสูงสุด 26 ล้านตู้คอนเทนเนอร์มาตรฐาน ซึ่งติด 3 อันดับสูงสุดของโลก ปัจจุบันท่าเรือโจวซานรองรับเส้นทางเดินเรือ 246 เส้นทาง และยังเปิดบริการขนถ่ายสินค้าจากเรือสู่รถไฟเป็นแห่งแรกของจีนอีกด้วย

ที่มา: http://www.marinerthai.net/forum/index.php?topic=11985.0