CEO ARTICLE
ยังเหมือนเดิม
‘สื่อนอกรายงาน วันพิพากษาพรรค ทษช.
สะท้อนสังคมไทยยังแตกแยก’
วันพฤหัสที่ 7 มี.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำตัดสินพรรคไทยรักษาชาติ ต่อกรณีเสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี สมควรเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อโดยรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคไทยรักษาชาติ
ผลของคำตัดสินให้ยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี รายละเอียดอื่นเป็นที่รับรู้กันไปทั่วโดยศาลรัฐธรรรมนูญได้ให้เหตุผล ดังนี้
‘เป็นการกระทำที่ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะส่งผลให้ระบอบการเมือง การปกครองของไทยแปรเปลี่ยนไปสู่สภาพอันเดียวกับระบอบการเมืองที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ และมีพระบรมวงศานุวงศ์ใช้อำนาจหน้าที่ทางการเมืองในการปกครองประเทศ สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมมีผลให้หลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย ที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงราชย์ แต่มิได้ทรงปกครอง ต้องถูกเซาะกร่อนทำลาย บ่อนทำลายให้เสื่อมทราม’
‘อนึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มีเจตนารมณ์สำคัญประการหนึ่ง มุ่งลดเงื่อนไขความขัดแย้งให้ประเทศสงบสุขบนฐานรู้รักสามัคคี ตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย และประเพณีที่เหมาะสมกับสถานการณ์และลักษณะสังคมไทย อีกทั้งรัฐธรรมนูญบัญญัติปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน’
“การนำสมาชิกพระบรมวงศานุวงศ์มาฝักใฝ่พรรคการเมือง เพื่อความได้เปรียบทางการเมือง สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีความเป็นกลางทางเมือง อยู่เหนือการเมือง และเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนเสื่อมโทรม และจะก่อให้เกิดการตำหนิติเตียน ความไม่สมัครสมานสามัคคีระหว่างเจ้านายกับราษฎร ซึ่งขัดต่อรากฐานหลักการการปกครองของประเทศไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” (อ้างถึง https://voicetv.co.th/read/wfxKNUs9e)
ภายหลังการตัดสิน นักวิเคราะห์ต่างให้ความเห็นทั้งที่คล้ายและแตกต่างกันในประเด็นผลสะท้อนของคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ
“ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ทำให้พรรคการเมืองในปีก ‘ทักษิณ’ ได้คะแนนเลือกตั้งลดลง แต่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่า การยุบพรรคจะลดทอนความเป็นไปได้ที่กลุ่มการเมืองฝ่ายทักษิณจะได้จัดตั้งรัฐบาล” (อ้างถึง https://voicetv.co.th/read/RZGv0Xnjo)
การตัดสินของศาลรัฐธรรรมนูญส่งผลแตกต่างกันตามแต่มุมมอง หากให้นักวิเคราะห์ที่ไม่เข้าใจระบอบเมืองการปกครองของไทยก็จะมองในทางหนึ่ง แต่หากให้ผู้ที่มีความเข้าใจก็จะมองอีกมุมหนึ่ง
แตกต่างกันแน่นอน
ด้วยมุมมองที่แตกต่างกันนี่เอง นักการเมืองของไทยก็จะคว้าผลการวิเคราะห์ด้านที่เป็นประโยชน์ต่อตน มาขยายความให้เกิดประโยชน์ต่อตนให้มากยิ่งขึ้น
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สังคมไทย ประชาชนคนไทยยังแตกแยก ยังรวมเป็นหนึ่งเดียวกันไม่ได้
ต่างฝ่ายต่างนำการวิเคราะห์ที่ตนได้ประโยชน์ นำเหตุ นำผล มาอ้างเรื่อยมา
ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญปี 2560 จะมุ่งลดเงื่อนไขความขัดแย้งให้ประเทศสงบสุขตามที่ศาลรัฐธรรมนูญท่านแถลงให้ทราบ
แต่สิ่งที่เห็นในวันนี้ยังเป็นเครื่องตอกย้ำว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังยึดความขัดแย้งกันอยู่
แม้นักวิเคราะห์ข้างต้นจะมองว่า ภายหลังการตัดสิน คะแนนในฝ่ายทักษินจะลดลงจนลดทอนความเป็นไปได้ในการตั้งรัฐบาลก็ตาม แต่เพราะความขัดแย้งยังอยู่ ประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายคุณทักษิณและเตรียมจะเลือกพรรค ทษช. ก็จะหันไปเลือกพรรคอื่นในปีกคุณทักษิณอยู่ดี
บางท่านก็วิเคราะห์ว่า จะเกิด Landswing ด้วยความเห็นใจ คะแนนเหวี่ยงกลับมาฝ่ายคุณทักษิณมากขึ้นจนจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่เพราะความขัดแย้ง ประชาชนฝ่ายต่อต้านคุณทักษิณก็จะยังไม่ Swing กลับมาฝ่ายคุณทักษิณเหมือนเดิม
ทุกอย่าง “ยังเหมือนเดิม”
เพียงแต่ว่าคำตัดสินอาจสร้างอารมณ์ร่วมให้มากขึ้น จากนั้นก็ค่อย ๆ ลดลงเท่านั้น ฝ่ายต่อต้านคุณทักษิณอาจสะใจแล้วก็เลือกพรรคที่ต่อต้านคุณทักษิณต่อไป
ส่วนฝ่ายสนับสนุนคุณทักษิณก็อาจสะเทือนใจ แต่ไม่เปลี่ยนใจเพื่อเลือกพรรคอื่นก็จะยังคงเลือกพรรคที่สนับสนุนคุณทักษิณอยู่ดี
การเมืองของไทยเกือบ 20 ปี เป็นการเมืองแห่งความแตกแยก เป็นการเมืองที่มีแต่ความขัดแย้ง มีทั้งผู้ได้และผู้เสียประโยชน์จากความขัดแย้งในเวลาเดียวกัน
ผลประโยชน์นี่ล่ะที่ทำให้ความขัดแย้งถูกหยิบยกขึ้นมาเล่นจนไม่อาจจะหมดไปได้
การเลือกตั้งที่ผ่าน ๆ มา ประชาชนส่วนใหญ่ก็เลือกพรรคการเมืองด้วย ‘ความรู้สึก’ เป็นส่วนใหญ่ และมองความรู้สึกที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกว่ามันคือหลักการ มันคือเหตุผล และมันคือความถูกต้อง
ต่างฝ่ายต่างนำหลักการ นำเหตุผล นำข้อเท็จจริงที่เป็นคุณต่อฝ่ายตนมากกว่ามาสร้างเป็นวาทะกรรมให้ประชาชนในฝ่ายตนที่หลงไหลอยู่แล้วกลับยิ่งถลำหลงไหลเข้าไปอีก
ความแตกแยกจึงยังคงอยู่
เผอิญความแตกแยกก็ให้ผลประโยชน์กับฝ่ายหนึ่งซึ่งตอบยากจริง ๆ ว่า “ฝ่ายไหน” การทำให้ความแตกแยกยิ่งถลำลึกลงไปจึงไม่อาจหมดไปง่าย ๆ
ยิ่งไปกว่านั้น การสำรวจความคิดเห็นประชาชนทุกครั้งจะพบคนกลุ่มหนึ่งยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคใด แต่จากสภาพความจริงของการเมืองแตกแยกทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้เลือกข้างไว้เรียบร้อยแล้ว จะมีก็แต่เพียงประชาชนส่วนน้อยจริง ๆ ที่ยังไม่เหลือกข้าง
โดยสภาพความแตกแยก ประชาชนส่วนใหญ่ จึงได้เลือกพรรคการเมืองไว้ในใจเรียบร้อยแล้วเพียงแต่ยังไม่กล้าแสดงออกมาเพราะไม่แน่ใจว่า ผู้ถามอยู่ข้างตรงข้ามหรือไม่
ดังนั้น ในการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. 2562 ไม่ว่าฝ่ายคุณทักษินจะชนะ หรือแพ้ จึงไม่น่าจะเกี่ยวกับการตัดสินให้ยุบพรรค ทษช.
ส่วนฝ่ายต่อต้านคุณทักษิณ ไม่ว่าจะชนะ หรือจะแพ้ มันก็ไม่น่าจะเกี่ยวกับการยุบพรรค ทษช. เช่นกัน
ทั้ง 2 ฝ่าย ต่างมีคะแนนเสียงเป็นของตัวเองอยู่แล้ว ไม่เปลี่ยนแปลง ยังเหมือนเดิม เว้นแต่ว่า การวิเคราะห์ของนักวิชาการเป็นจริง ผลของคำตัดสินจะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนใจไปเทคะแนนให้อีกฝ่ายหนึ่ง แต่มาถึงวันนี้ก็ดูเหมือนจะยาก
ขณะเดียวกัน จำนวนเสียงผู้มีสิทธิ์เลือกรุ่นใหม่ที่พร้อมใจกันเทคะแนนให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็อาจเป็นตัวตัดสินได้ แต่คุณรุ่นใหม่ก็มีความคิดที่ไม่เกี่ยวกับการยุบพรรค ทษช. อีกเช่นกัน
ทั้งหมดจึงไม่น่าจะเกี่ยวกับการยุบพรรคเท่าใดนัก
ขณะที่ตลาดหุ้นในวันตัดสินยุบพรรค ทษช. ก็บวกเล็กน้อยซึ่งเป็นสภาพปกติในช่วงนี้ ไม่เกี่ยวกับการยุบพรรค ทษช. แต่อย่างใด
ส่วนผลที่แท้จริงนั้นก็คงอยู่ที่ผลการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง คะแนนปาตี้ลิสต์แบบใหม่ที่คนไทยยังไม่คุ้นซึ่งเชื่อว่าพรรคที่ได้ ส.ส. เขตมากอาจไม่ได้ ส.ส. ปาตี้ลิสต์เลย หรือได้เพียงไม่กี่คน จากนั้นก็ต้องดูการฟอร์มการจัดตั้งรัฐบาล และภายหลังรัฐบาลชุดใหม่เข้าบริหารประเทศนั่นล่ะ
เวลานั้นจึงจะรู้ว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการลดเงื่อนไขความขัดแย้งจะได้ผลหรือไม่ ???
วันนั้น คนไทยทุกคนก็คงได้คำตอบว่า ความขัดแย้งที่มีมาเกือบ 20 ปี มันจะเปลี่ยนไปดีขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 หรือจะ “ยังเหมือนเดิม” เหมือนเกือบ 20 ปีที่ผ่าน
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร