CEO ARTICLE

บทบาท ส.ส.


Follow Us :

    

“อะไรคือหน้าที่หลักของ ส.ส. ???”

การอภิปรายนโยบายรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 ช่วงระหว่างวันที่ 25-27 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา ข่าวได้แสดงออกถึงความขัดแย้ง การใช้อารมณ์ การโต้เถียง และการประท้วงจนประชาชนที่ติดตามการเมืองต้องตั้งคำถามดังกล่าว
Workpoint News ได้ให้คำตอบต่อคำถามข้างต้นว่า
“หน้าที่หลักของ ส.ส. และ ส.ว. คือ การออกและการกลั่นกรองกฎหมาย”
เมื่อกฎหมายผ่านความเห็นชอบ รัฐบาลก็จะนำกฎหมายนั้นมากำกับดูแลข้าราชการในทุก ๆ กระทรวง ทบวง กรม ให้ปฏิบัติไปตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
หากสืบค้นเข้าไปในประวัติศาสตร์ของประเทศต่าง ๆ จะพบว่า ในอดีตประเทศส่วนใหญ่จะปกครองโดยระบอบกษัตริย์
การดูแลทุกข์สุขของประชาชนจึงออกมาในรูปของคำสั่ง ประกาศ พระราชบัญญัติ หรือพระบรมราชโองการของกษัตริย์ซึ่งก็คือ “กฎหมาย”
ตัวอย่างการเลิกทาสของไทยก็ไม่ต่างกัน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศ “พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย” เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417
ต่อมาในปี พ.ศ. 2448 ก็ทรงออก “พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124” ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไทเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448
พระราชบัญญัติก็คือกฎหมาย และนับแต่นั้นเป็นต้นมา วันที่ 1 เมษายน ของทุกปีจึงเป็น “วันเลิกทาสไทย”
ประเทศไทยจึงไม่มีทาสมานานมากแล้ว
การขจัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนจึงมีกฎหมายเป็นเครื่องมือ และพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ออกกฎหมายภายใต้การปรึกษาหารือของขุนนางและแม่ทัพต่าง ๆ
ปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยเกิดการปฎิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา พระมหากษัตริย์ของไทยก็ทรงออกกฎหมายเพื่อขจัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนผ่านทาง ส.ส. และ ส.ว. ตามคำตอบของ Workpoint News
ส.ส. ย่อมาจากคำว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” เป็นบุคคลที่ประชาชนเลือกเข้ามาโดยทางตรงหรือทางอ้อม เป็นผู้ที่สัมผัสและรับรู้ความทุกข์และความสุขของประชาชนได้ดีกว่าผู้ใด
เมื่อ ส.ส. ได้รับการเลือกตั้งให้เข้ามาทำหน้าที่ ส.ส. ก็ต้องรวมตัวกันให้ได้จำนวนมากพอตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเพื่อร่วมกันเสนอกฎหมาย หรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
ในระบอบกษัตริย์ กฎหมายแต่ละฉบับกว่าจะมีผลบังคับใช้ก็ต้องมีการอภิปรายถกเถียงกันในที่ประชุมของขุนนางและแม่ทัพซึ่งสันนิษฐานได้ว่า ขุนนางและแม่ทัพอาจมิได้ใกล้ชิดกับความทุกข์และความสุขของประชาชนในแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง
กฎหมายที่ออกมาจึงอาจไม่สะท้อนความเป็นจริงทั้งหมด
แต่ในระบอบประชาธิปไตยถือได้ว่า ส.ส. ใกล้ชิดกับความทุกข์และความสุขของประชาชนอย่างแท้จริง กฎหมายจึงน่าจะสะท้อนความจริง ขจัดทุกข์และบำรุงสุขได้ตรงเป้าหมายกว่า
นี่คือแนวคิดของระบอบประชาธิปไตยที่กล่าวว่า อำนาจเป็นของประชาชน การเลือกตั้ง ส.ส. โดยประชาชน และเพื่อประโยชน์ของประชาชน หรือที่กล่าวโดยย่อ ๆ ว่า
“ของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” นั่นเอง

ภาพการอภิปรายนโยบายระหว่างวันที่ 25-27 ก.ค. 2562 แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่ ส.ส. ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ภาพดังกล่าวกลับทำให้ประชาชนที่เข้าใจการเมืองไม่มากนัก เข้าใจบทบาทหน้าที่ ส.ส. ไม่ดีพอก็อาจตั้งคำถามข้างต้นได้
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีปัญหาหลายด้านทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ หรือแม้แต่การเมืองเองที่จำเป็นต้องขจัดทุกข์และบำรุงสุข
การใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินจำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับ ปัญหาพืชผลทางการเกษตรมีราคาตกต่ำ สินค้าอุปโภค บริโภคมีราคาสูงขึ้น ปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ปัญหาจากต่างประเทศ ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และปัญหาอีกหลายด้านก็จำเป็นต้องใช้กฎหมายแก้ไขทั้งสิ้น
แม้แต่ตัวกฎหมายเองในประเทศไทยก็มีความซ้ำซ้อนกันหลายฉบับจนนับไม่ถ้วนซึ่ง ส.ส. ต้องนำมาปรับปรุงแก้ไข
ต่าง ๆ นานาของปัญหาเหล่านี้จึงเป็นภาระหน้าที่อันหนักมากของ ส.ส.
แต่ภาพข่าวความขัดแย้งดังกล่าวกลับทำให้บทบาทของ ส.ส. ลดความสำคัญลงไปในสายตาของประชาชนส่วนหนึ่งคล้าย ๆ กับ ส.ส. บางคนก็ยังคงวนเวียนอยู่ในระบบทาสทั้งที่ ร.5 ทรงออกกฎหมายเลิกทาสไปนานมากแล้ว
มาถึงวันนี้ การอภิปรายนโยบายเสร็จสิ้นลงแล้ว รัฐบาลได้เข้ามาทำหน้าที่เต็มรูปแบบแล้ว ส.ส. ก็เข้ามาทำหน้าที่เต็มรูปแบบเช่นกัน
ประชาชนที่ติดตามทางการเมืองก็คงได้แต่รอดู ส.ส. ให้เข้ามาทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายตามหลักประชาธิปไตยเพื่อขจัดทุกข์และบำรุงสุขตามหลักการที่ประชาชนเลือกมา
กฎหมายคือหัวใจของประเทศ และกฎหมายคือเครื่องมือของ ส.ส. ที่จะใช้ในการทำงาน มิใช่การใช้วาทกรรมที่เกิดขึ้นในการอภิปรายอย่างเมามันโดยไม่ใส่ใจหน้าที่ของตนแต่อย่างใด

ประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้าได้คงต้องรอ
รอประชาชนให้เข้าใจบทบาทของ ส.ส. รอประชาชนให้จดจำ ส.ส. ที่เอาแต่ใช้วาทกรรม มุ่งเอาแต่ชนะโดยไม่ทำหน้าที่ของตน และรอประชาชนให้คิดบัญชีโดยไม่เลือก ส.ส. เหล่านั้นกลับเข้ามาอีกในการเลือกตั้งครั้งต่อ ๆ ไป
ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นอย่างไรก็จะเลือก ส.ส. อย่างนั้น
ความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยและความกินดีอยู่ดีของประชาชนส่วนใหญ่ หากจะกล่าวให้ถึงที่สุดแล้วก็ยังเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนไม่ผิดเพี้ยนโดยผ่านการเลือกตั้งนั่นเอง

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

การท่าเรือฯ พัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพโซน B 500 ไร่ เป็นท่าเรือกึ่งอัตโนมัติ

เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า กทท. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) (Bangkok Port Redevelopment Project) โดยการพัฒนาพื้นที่เป็น 3 ส่วน คือ พื้นที่โซน A พัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชยกรรม พื้นที่โซน B พัฒนาธุรกิจหลักที่ให้บริการเรือและสินค้าของ ทกท. และพื้นที่โซน C พัฒนาเป็นพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่รองรับธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับท่าเรือ (Modern Port City)

ในส่วนของการพัฒนาพื้นที่โซน B ซึ่งเดิมเป็นลานบรรจุตู้สินค้าเพื่อการส่งออก โรงพักสินค้า และพื้นที่ซ่อมบำรุงเครื่องมือทุ่นแรง พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 500 ไร่ กทท. จะเร่งพัฒนาให้เป็นท่าเรือกึ่งอัตโนมัติ (Smart Port) ศูนย์กลางการกระจายสินค้าและคลังสินค้าขนาดใหญ่กลางกรุงเทพมหานคร สนับสนุนการให้บริการขนส่งสินค้าแบบครบวงจร พร้อมทั้งพัฒนาพื้นที่หลังท่าของ ทกท. ให้สามารถรองรับการปฏิบัติการสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ใช้บริการและยกระดับการให้บริการสู่ระดับมาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลกตามวิสัยทัศน์ของ กทท. “มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก ด้วยการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2030” โดยมีโครงการพัฒนาสำคัญ คือ โครงการก่อสร้างสถานีบรรจุสินค้าเพื่อการส่งออก CFS ขาออก (Exported Container Freight Station) (พื้นที่ B1) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการบรรจุตู้สินค้าเพื่อการส่งออก ให้เกิดความสะดวก ปลอดภัย เป็นการพัฒนาธุรกิจ เพิ่มศักยภาพสินทรัพย์ โดยรวบรวมโรงพักสินค้าและคลังสินค้าของ ทกท. มาไว้ในจุดเดียว สามารถรองรับการขยายตัวของปริมาณสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

สถานีบรรจุสินค้าเพื่อการส่งออกนี้ มีพื้นที่รวมประมาณ 10,000 ตารางเมตร มีช่องบรรจุสินค้าและช่องสำหรับ ขนถ่ายสินค้าอย่างละ 26 ช่อง ลานวางตู้สินค้าขาออกพื้นที่ประมาณ 9,000 ตารางเมตร พื้นที่จอดรถบรรทุก 2,700 ตารางเมตร อาคารสำนักงาน 1 อาคาร (4 ชั้น) และประตูตรวจสอบสินค้า (e-Gate) 3 แห่ง สามารถบรรจุสินค้าขาออก 116,610 ทีอียู/ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการสรรหาผู้รับจ้างงานก่อสร้างอาคารบรรจุสินค้าและระบบสารสนเทศ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2022 สำหรับโครงการท่าเทียบเรือตู้สินค้าฝั่งตะวันตก (BKP West Container Terminal) (พื้นที่ B3) เป็นการพัฒนาการปฏิบัติงานในระบบท่าเรือกึ่งอัตโนมัติ (Semi Automated Container Terminal) ให้บริการตู้สินค้าและเครื่องมือทุ่นแรงที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยให้การจราจรภายในเขต ทกท. มีความคล่องตัวและปลอดภัยมากขึ้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาออกแบบร่างรายละเอียด คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2023 โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าทางเรือลำเลียง (Barge Terminal) (พื้นที่ B7) ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนการขนส่งสินค้าโดยเรือลำเลียงชายฝั่ง ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาแล้วเสร็จ โดยมีเป้าหมายการให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือชายฝั่งเพิ่มขึ้นสูงสุด 500,000 ทีอียู/ปี และโครงการพัฒนาระบบประตูเขื่อนตะวันออก (East Main Gate) และจุดขึ้น-ลงทางด่วน (พื้นที่ B9) กทท. ได้ร่วมมือกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในการศึกษาออกแบบรูปแบบโครงการฯ โดยเพิ่มจุดเชื่อมต่อสำหรับทางขึ้น–ลงทางพิเศษ ช่วงอาจณรงค์–บางนา (S1) เพื่อลดปัญหาจราจรติดขัดของรถบรรทุกบริเวณทางออกด้านทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษช่วงอาจณรงค์–รามอินทรา คาดว่าจะเริ่มศึกษาฯ ภายในเดือนสิงหาคม 2019 นี้ และจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณเดือนเมษายน 2021

ที่มา: http://thai.logistics-manager.com/2019/08/16/bangkok-port-redevelopment-project/

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.