CEO ARTICLE
VAT 8%
ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT หากเพิ่มขี้นอีกร้อยละ 1 จากปัจจุบันร้อยละ 7 มาเก็บในอัตราร้อยละ 8 ผลกระทบที่ตามมาจะเป็นอย่างไร ???
ความพยายามที่จะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มมีมานานแต่สุดท้ายรัฐบาลก็กลัวเสียคะแนนนิยมจึงชะลอเรื่อยมาแต่ก็อาจประกาศขึ้นในช่วงต้นปี 2563 (แนวหน้าออนไลน์ 6/10/62)
หากภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นจริงจะทำให้รัฐบาลมีรายได้ราว 100,000 ล้านบาทต่อปี
ก่อนหน้าปี 2535 ประเทศไทยใช้ระบบภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบการ แน่นอนภาษีเหล่านี้ต้องถูกฝังในตัวสินค้าอย่างซ้ำซ้อนและซับซ้อน
สินค้าอุปโภคบริโภคทุกชนิด กว่าจะผลิตขึ้นมาได้ต้องผ่าน Suppliers และกระบวนการ Logistics มากมาย
ในเวลานั้น ภาษีการค้าและภาษีท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องชำระจึงถูกฝังอยู่ในราคาสินค้าและบริการซึ่งก็หนีไม่พ้นประชาชนผู้ซื้อสุดท้ายที่ต้องแบกรับ
ผู้ประกอบการบางรายใส่ภาษีเหล่านี้รวมเข้าไปในราคาสินค้าและบริการ แต่มีการหลบเลี่ยงทางบัญชีเมื่อต้องชำระจริง
ข้อสรุปของภาษีเดิมคือซ้ำซ้อนและซับซ้อน ประชาชนผู้บริโภคเป็นผู้จ่าย ผู้ประกอบการที่ทุจริตนำไปส่วนหนึ่ง ขณะที่รัฐมีรายได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ด้วยเหตุนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดความซ้ำซ้อนและซับซ้อนแบบประเทศต่าง ๆ จึงถูกนำมาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 อัตราที่ต่างประเทศใช้จะอยู่ระหว่างร้อยละ 5-25 แต่อัตราที่เรียกเก็บจริงจะลดหลั่นกันไป (http://th.wikipedia.org/wiki/ภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ประเทศไทยจึงประกาศแบบสายกลางโดยใช้อัตราร้อยละ 10 แต่เก็บจริงร้อยละ 7 โดยในอดีตบางปีจะใช้อัตราร้อยละ 10 ตามสภาพเศรษฐกิจ เช่น ปี 2540 ที่ประเทศไทยถูกบังคับโดย IMF เป็นต้น
โดยหลักการเมื่อมีภาษีมูลค่าเพิ่มมีความเที่ยงตรง ไม่ซ้ำซ้อน ไม่ซับซ้อน ภาษีเงินได้ทั้งของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาก็ควรลดความซ้ำซ้อนลงไปด้วย
มิฉะนั้นภาษีเงินได้ก็ยังจะถูกฝังอยู่ในราคาสินค้าและบริการไม่ต่างกัน
นี่คือเหตุผลของการใช้ภาษีอย่างเป็นระบบ ภาษีเงินได้จึงควรมีอัตราที่ต่ำลงทั้งนี้เพื่อเป็นแรงจูงใจต่อธุรกิจ การลงทุน การสร้างงาน และต้นทุนทางอ้อมของสินค้าและบริการ
แต่ภายหลังการใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยก็ยังมีอัตราสูงถึงร้อยละ 37 และลดลงเหลือร้อยละ 20 ในปัจจุบัน
ขณะที่บุคคลธรรมดาอยู่ในระหว่างร้อยละ 5-35 ตามฐานรายได้
แม้แต่ดอกเบี้ยเงินฝากประจำบุคคลธรรมดาที่ได้น้อยนิดก็ยังต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 15 ไม่ต่างกัน
อัตราภาษีเงินได้จึงยังซ้ำซ้อนและซับซ้อนในหลายอัตราที่ยังสูง แต่ไม่ว่าจะสูงอย่างไรในทางธุรกิจ ภาษีก็ต้องถูกฝังในราคาสินค้าและบริการที่จำหน่ายในท้องตลาด
สุดท้ายก็ยังเป็นภาษีเงินได้ที่ซ้ำซ้อนและซับซ้อนที่ยังตกเป็นภาระของประชาชน
ในบทความของแนวหน้าออนไลน์ได้เสนอให้ใช้โอกาสนี้ รัฐบาลควรลดความซ้ำซ้อนและซับซ้อนในคราเดียวกันให้เป็นสากลเชิงระบบมากขึ้น ดังนี้
“ให้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นอัตรา 10% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป และให้ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงเหลือจัดเก็บอัตราเดียว 10-12% (แล้วแต่รัฐบาลจะตัดสินใจ) และลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือจัดเก็บอัตราเดียว 10%”
ข้อเสนอข้างต้นทำให้ความซ้ำซ้อนและซับซ้อนทางภาษีถูกแก้ไขในคราเดียว เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น อัตราภาษีเข้าใจง่ายขึ้น จูงใจการประกอบการ และการสร้างงาน สุดท้ายผลดีเหล่านี้ก็กลับคืนสู่ประชาชน
แต่คำว่า “ขึ้นภาษี” จะมีประชาชนที่ไหนเข้าใจและยอมรับง่าย ๆ
ยิ่งมีข่าวการคอรัปชันของนักการเมือง ข่าวการใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีทั้งคนเห็นด้วยและคนเห็นต่าง ข่าวการใช้เงินซื้อสิ่งที่ไม่โดนใจประชาชน ต่าง ๆ นานาเหล่านี้ล้วนมาจากภาษีที่ประชาชนเป็นผู้จ่ายทั้งสิ้น
ดังนั้น คำว่า “VAT 8%” ที่อยู่ ๆ ก็เกิดขึ้นจึงอาจขาดการยอมรับ ขาดความเชื่อมั่น เกิดความปั่นป่วน กระทบความรู้สึกประชาชนจนรัฐบาลอาจล่มสลาย
ภาพความชัดเจนของภาษีทั้งหมดมีน้อยคนที่รู้ ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากระบบภาษีมีน้อยคนที่เข้าใจ และการใช้ VAT 8% ดีอย่างไรก็ยังมีภาพไม่ชัดเจน
VAT 8% หากจะใช้จริงจึงไม่น่าจะดีในสายตาประชาชนผู้จ่ายแม้ข้อเสนอของแนวหน้าออนไลน์ในการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้ให้เป็นระบบมาตรฐานในคราเดียวกันจะเป็นสิ่งน่าคิด
นอกจากสายตาประชาชนแล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมากในวันนี้กลับเป็นการเมืองที่มีข่าวเท็จ ข่าวลวง ข่าวความเกลียดชัง ข้อมูลดิสเครดิต การทำลายกระบวนการยุติธรรม และการฟ้องร้องที่ทั้งหมดนำไปสู่ความแตกแยก
เมื่อมีการเมืองเข้ามาเล่น ผลกระทบจึงน่าจะหนักมากและมากเกินการคาดเดา
ทั้งหมดนี้จึงอยู่ที่ความสามารถในการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล อยู่ที่ความสามารถในการใช้เงินภาษีของประชาชนให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนอย่างจับต้องได้ และอยู่ที่การยอมรับทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามที่จะช่วยเหลือหรือทำลายเท่านั้น
มิฉะนั้น VAT 8% ที่เป็นข่าวก็อาจทำให้รัฐบาลล่มสลายจริงก็ได้
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
Logistics
การท่าเรือแห่งประเทศไทย นำระบบ PCS เข้าพัฒนาโครงการเชื่อมโยง Data Logistics Chain
การท่าเรือแห่งประเทศไทย เดินหน้าพัฒนาโครงการเชื่อมโยง Data Logistics Chain โดยนำระบบ Port Community System (PCS) มาปรับใช้ในการบริหารข้อมูลจำนวนมาก (Big Data) ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานด้านการขนส่งทางน้ำ ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลในระบบอัตโนมัติให้ทำงานได้อย่างไร้รอยต่อ
ทั้งนี้ ระบบ PCS จะอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานโดยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงข้อมูลแบบบูรณาการในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และการขนส่งทางน้ำของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐกับภาครัฐ (G2G) ภาคธุรกิจกับภาครัฐ (B2G) และภาคธุรกิจกับภาคธุรกิจ (B2B) รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบ National Single Window (NSW) ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนและขั้นตอนการดำเนินงานได้มากขึ้น
ปัจจุบัน โครงการดังกล่าว กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินงานในขั้นตอนการศึกษากระบวนการทำงานของทุกหน่วยงานที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง เจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพฯ ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้นำเข้าส่งออกสินค้า/ตัวแทนเรือ กรมศุลกากร การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมเจ้าท่า และหน่วยงานอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และปรับใช้ให้เหมาะสม โดยโครงการฯ จะแล้วเสร็จในเดือนมกราคม ปี 2020
ที่มา: http://thai.logistics-manager.com/2019/10/02/pat-pcs-data-logistics-chain/
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!