CEO ARTICLE
GSP-USA
ตัด GSP ย้ำ “ไม่ใช่ปัญหาใหญ่”
สหรัฐฯ ชี้ ‘ไทย’ ยังมีเวลาเจรจา
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวสหรัฐฯ ตัด GSP ประเทศไทยกลายเป็นหัวข้อสนทนาขึ้นมา
คนที่พอเข้าใจ GSP ก็พอจะมองผลกระทบได้ ส่วนคนที่ไม่ค่อยเข้าใจบางคนก็พยายามหาข้อมูล หาความรู้ ขณะที่บางคนก็ปล่อยผ่านไป
กระทั่ง MGR Online เผยแพร่ 4 พ.ย. 2562 15.39 น. ออกข่าวผ่อนคลายข้างต้น
GSP เป็นคำที่คนอยู่ในวงการการค้าระหว่างประเทศมักได้ยินมาก่อน คำนี้ย่อมาจากคำว่า Generalized System of Preference
หากแปลตามอักษรก็น่าจะหมายถึง ระบบสิทธิพิเศษที่ให้มากกว่าซึ่งเข้าใจยาก
หากแปลให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ระบบสิทธิทางภาษีที่ประเทศพัฒนาแล้วมอบให้แก่สินค้าที่ผลิตจากประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา
ความหมายก็คือ หากผู้ซื้อในประเทศพัฒนาแล้วซื้อสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาตามรายการที่ได้ GSP ผู้ซื้อในประเทศพัฒนาจะได้ลดหย่อนภาษีนำเข้ามากขึ้น
สินค้าได้ลดหย่อนภาษีนำเข้ามากขึ้น ต้นทุนของผู้ซื้อก็ถูกลงก็จะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ซื้ออยากซื้อจากประเทศที่ได้ GSP
GSP จึงเป็นการช่วยเหลือสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาให้จำหน่ายได้มากขึ้น ให้ส่งออกมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น สังคมก็ดีขึ้นตามไปด้วย
หากถามว่า ทำไมประเทศพัฒนาแล้วต้องให้ GSP ???
คำตอบคงมีหลากหลายเหตุผล แต่ประเด็นหลัก ๆ ก็น่าจะมีเพียง 2 ประการคือ
1. ส่วนใหญ่ประเทศด้อยพัฒนามีเทคโนโลยีการผลิตด้อยกว่า ต้นทุนจึงสูงกว่า หากไม่ช่วย สินค้าก็ขายได้ลำบาก ประเทศก็ไม่สามารถก้าวไปสู่การพัฒนาได้
2. การให้ GSP เป็นสิทธิของประเทศผู้ให้ จะให้เมื่อไหร่ จะให้ด้วยเงื่อนไขอะไร หรือจะยกเลิกเมื่อไหร่ก็เป็นเรื่องของประเทศผู้ให้ ในเมื่อเป็นสิทธิของประเทศผู้ให้ มันจึงมีเงื่อนไข มีข้อต่อรอง มีเรื่องผลประโยชน์ที่ประเทศผู้ให้อยากได้จากประเทศด้อยพัฒนาซ่อนอยู่
หากจะกล่าวอย่างตรงไปตรงมาในประเด็นที่ 2 ก็คือ เกมการเมืองระหว่างประเทศที่มักแอบซ่อนด้วยผลประโยชน์โดยน้อยคนจะรู้นั่นเอง
การช่วยเหลือก็คือการช่วยเหลือ ส่วนการเมืองก็คือการเมืองที่มักมีอะไรลึกลับแอบแฝง
สหรัฐฯ เคยขู่ตัดสิทธิ์ GSP สินค้าไทยหลายรายการและหลายครั้งด้วยหลายสาเหตุ เช่น แรงงานไทยมีรายได้ต่อหัวจากค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่าประเทศอื่นแล้ว หรือการผลิตของไทยมีปัญหาบางประการที่สหรัฐฯ ไม่พอใจ เป็นต้น
จากข่าว MGR ข้างต้น ครั้งนี้สหรัฐฯ ประกาศตัด GSP สินค้า 573 รายการโดยมีมูลค่ารวม US$ 1,300 ล้าน หรือ 39,200 ล้านบาท สินค้าในกลุ่มอาหารทะเลจะถูกระงับสิทธิ์ทั้งหมด และให้มีผลบังคับในอีก 6 เดือนข้างหน้า ด้วยเหตุผลคือ
“รัฐบาลไทยยังไม่มีมาตรการปกป้องสิทธิแรงงานในประเทศที่ได้มาตรฐานสากล”
เหตุผลที่สหรัฐฯ ยกขึ้นมากล่าวเป็นหัวข้อที่สนทนา บางคนเชื่อแต่บางคนก็ไม่เชื่อ
ส่วนหนึ่งมองว่า อาจเป็นเพราะไทยประกาศห้ามนำเข้าเคมีฆ่าศัตรูพืช 3 ตัว สหรัฐฯ จึงตอบโต้บ้างด้วยการตัด GSP แต่เพียงไม่กี่วัน คนที่เกี่ยวข้องก็ออกมาให้ข่าวว่า “ไม่ใช่” เคมี 3 ตัวนั้นส่วนใหญ่ไม่ได้นำเข้าจากสหรัฐฯ
หรือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เดี๋ยวก็เข้มข้น เดี๋ยวก็ดีกัน คุ้มดีคุ้มร้าย แต่ดูเหมือนไทยจะเอียงไปทางจีนมากกว่า สหรัฐฯ เลยเตือนไทยให้รู้สึกตัวด้วยการประกาศตัด GSP
หรือค่าแรงขั้นต่ำของไทยอยู่ในเกณฑ์เกินกว่าประเทศกำลังพัฒนาไปแล้ว เป็นต้น
ต่าง ๆ นานาเหล่านี้เป็นข้อถกเถียง ถูกบ้าง ผิดบ้าง กระทั่งมาถึงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเชียนที่กรุงเทพฯ ครั้งที่ 35 ในวันอาทิตย์ที่ 3 พ.ย. 62 ที่ไทยและกลุ่มผู้นำอาเชียนต่างมีทีท่าที่ดีกับจีน
การประชุมครั้งนี้ ไทยมีโอกาสได้คุยกับสหรัฐฯ แล้วอยู่ ๆ ผู้แทนสหรัฐฯ นายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ก็ให้คำตอบกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยถ้อยคำข้างต้น
สหรัฐฯ ประกาศตัด GSP หลังจากนั้นไม่นานก็ประกาศว่ายังมีเวลาเจรจาโดย MGR นำคำกล่าวของผู้แทนสหรัฐฯ มาขึ้นหัวข้อข่าวว่า “GSP ไม่ใช่ปัญหาใหญ่” และ “ไทยยังมีเวลาเจรจา”
หากการให้ GSP เป็นการช่วยเหลือจากประเทศพัฒนาแล้วไปยังประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาตามเหตุผลข้อที่ 1 โลกนี้ก็คงจะดีไม่น้อย
แต่หากการให้ GSP เป็นเพียงเกมการเมืองของประเทศพัฒนาแล้วที่ใช้เล่นกับประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา ตามเหตุผลข้อที่ 2 โลกนี้ก็คงน่าหดหู่ยิ่งนัก
เกมการเมืองระหว่างประเทศที่มักลึกลับ ซับซ้อน และแอบซ่อนด้วยผลประโยชน์ในครั้งนี้ ไม่ว่าจะใช่หรือไม่ใช่ ไม่ช้าคำตอบก็คงจะออกมาเอง แต่อย่างน้อยเหตุการณ์นี้คงทำให้ท่านผู้ส่งออกของไทยได้เตรียมรับสถานการณ์ เร่งปรับปรุงคุณภาพ และหาตลาดใหม่เผื่อว่าวันหนึ่งโลกนี้จะไม่มี GSP ขึ้นมาจริง ๆ ก็ได้
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
Logistics
Yang Ming เตรียมเปิดบริการใหม่เชื่อมไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ สู่อินโดนีเซีย
Yang Ming สายการเดินเรือชั้นนำเตรียมเปิดบริการใหม่เชื่อมต่อผู้ส่งสินค้าจากประเทศไทยผ่านมาเลเซียและสิงคโปร์ ไปยังปลายทางประเทศอินโดนีเซีย เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของกลุ่มประเทศในเส้นทางการบริการใหม่นี้ บริการ ITS (Indonesia – Singapore/Malaysia – Thailand Service) จะเริ่มการปฏิบัติการเที่ยวปฐมฤกษ์ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2019
โดยบริการ ITS จะปฏิบัติการด้วยเรือขนส่งตู้สินค้าขนาดระวาง 1,180 ทีอียูจำนวนสามลำ ซึ่งเป็นเรือของ Yang Mingหนึ่งลำ และมีรอบการวนเรือเริ่มต้นจาก Singapore, Port Kelang แล้วข้ามไปยัง Semarang และ Surabaya ก่อนที่จะวนกลับมาที่ Port Kelang, Singapore, Laem Chabang,Bangkok, Laem Chabang และสิ้นสุดการเดินทางที่ Singapore
บริการใหม่นี้จะช่วยให้ผู้ส่งออกชาวไทยสามารถเข้าถึงตลาดอินโดนีเซียได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้ส่งออกชาวไทยยังสามารถเชื่อมต่อไปยังปลายทางอื่นๆ ทั่วโลก ในเครือข่ายการบริการของ Yang Ming ได้ ผ่านศูนย์กลางการถ่ายลำสินค้าในสิงคโปร์และพอร์ตกลัง
ปัจจุบัน Yang Ming มีบริการภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เก้าเส้นทาง โดยเป็นการเพิ่มเติมจากบริการ SE5 และ TIX บริการ ITS จะเป็นอีกตัวเลือกสำหรับลูกค้าที่ต้องการจัดส่งสินค้าโดยตรงจากประเทศไทยไปยังอินโดนีเซีย และยังเป็นการยกระดับประสิทธิภาพและเครือข่ายที่มีความครอบคลุมให้กับบริการของ Yang Ming ภายในภูมิภาคอีกด้วย
ที่มา: http://thai.logistics-manager.com/2019/10/29/yang-ming-its-service/
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!