CEO ARTICLE
อุปาทานหมู่
“คุณว่าเศรษฐกิจช่วงนี้ดีมั้ย ?”
คำถามยอดฮิตที่เกิดขึ้นในเวลานี้หากเป็นคำถามในเชิงเศรษฐศาสตร์หรือเศรษฐกิจก็พอเข้าใจได้ว่า ผู้ถามอาจต้องการข้อมูลประกอบการพิจารณาบางเรื่อง
แต่หากมีการเมืองแอบแฝง คำถามลักษณะนี้มักมีเจตนาทำให้รัฐบาลดูไม่ดีหรือสร้างความไม่น่าเชื่อถือต่อรัฐบาลให้เกิดขึ้น
หากมีการเมืองแอบแฝงจริง ๆ คำถามลักษณะนี้ยังแฝงไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมให้เข้าใจว่า ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลสร้างความกินดีอยู่ดี สร้างเศรษฐกิจได้ดีกว่ารัฐบาล
คำถามลักษณะนี้หากจุดติดก็จะกลายเป็นอุปาทานหมู่ให้เกิดขึ้น จากนั้นประชาชนก็จะเป็นผู้นำไปโจมตีรัฐบาล ทำให้รัฐบาลเสียคะแนนนิยม และฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลก็จะได้คะแนนนิยมเพิ่ม ได้โอกาสเข้ามาเป็นรัฐบาลแทนที่
ตัวอย่างสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจเป็นอุปาทานหมู่ในเวลานี้ เช่น
“ปี 63 เศรษฐกิจของไทยจะเป็นฟองสบู่และแตก” ขณะที่คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีมนตรียืนยันออกสื่อ “ไทยไม่มีสัญญาณเศรษฐกิจฟองสบู่” หรือ
“ปี 63 จะมีบัณฑิตตกงานรวม 500,000 คน” ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่ได้รับเปิดเผยในขณะที่กระทรวงอุดมศึกษากำลังเร่งสร้างงานในปี 63 ให้แก่บัณฑิตจบใหม่” หรือ
“ตัวเลขการส่งออกของไทยลดลง” ซึ่งก็เป็นเรื่องจริงขณะที่รัฐบาลก็พยายามเร่งหาตลาดส่งออก เป็นต้น
สถานการณ์ต่าง ๆ นานาเหล่านี้คือตัวอย่างส่วนหนึ่ง แต่หากพิจารณาสถานการณ์โลกที่ล้อมประเทศไทย ผู้มองก็จะเห็นภาพที่กว้างขึ้นและลึกขึ้น
สหรัฐวิตกเกรงกลัวจะเป็นรองดุลการค้าให้จีน ราว 1 ปีที่ผ่านมา สหรัฐจึงก่อสงครามการค้ากับจีนขึ้น ผลก็คือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตและสินค้าของประเทศต่าง ๆ ที่ซื้อขายกันทั่วโลกต่างก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย
การส่งออกของแต่ละประเทศในภาพรวมจึงลดลงตามไปรวมทั้งไทย เศรษฐกิจก็ย่อมได้รับผลกระทบ ขณะที่บางประเทศได้ประโยชน์ การส่งออกก็อาจไม่ลดลง
Brexit ของอังกฤษที่ทำให้ตัวอังกฤษอาจเสียประโยชน์จากข้อตกลง FTA (Free Trade Agreement) ในฐานะสมาชิกยุโรป
เศรษฐกิจของอังกฤษย่อมได้รับผลกระทบมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ส่งถึงประเทศคู่ค้าและไทยไม่มากก็น้อย
การประท้วงในฮ่องกงที่เกิดขึ้นมาหลายเดือน อาจกลายเป็นสงครามระหว่างประเทศที่คนทำการค้าเฝ้าระวัง และต้องรีรอในบางเรื่อง นอกจากเศรษฐกิจในฮ่องกงจะถดถอยลงไปเรื่อย ๆ จนอาการน่าเป็นห่วงแล้ว ผลกระทบก็ส่งถึงประเทศต่าง ๆ เช่นกัน
คนมีวิสัยทัศน์ที่มองกว้างออกไปทั่วโลกจึงมองได้ว่า อุปาทานหมู่เป็นการนำสถานการณ์จริงส่วนหนึ่ง หรือความเป็นไปได้ส่วนหนึ่งมาสร้างการรับรู้ในหมู่ประชาชน
หากประชาชนส่วนใหญ่หลงเชื่อตาม อุปาทานหมู่จึงให้ดอกออกผลแก่คนสร้าง
การสร้างอุปาทานหมู่นอกจากจะใช้เศรษฐกิจที่มีการเมืองแอบแฝงมาเล่นแล้ว วันนี้ฝ่ายการเมืองก็ยังนำวิธีการนี้มาใช้ในทางการเมืองแบบตรง ๆ โดยไม่ต้องแอบแฝงอีกด้วย
“เราต้องแก้ไข พรบ. เกณฑ์ทหารโดยไม่ต้องเกณฑ์ แต่ให้สมัครใจแทน” ประโยคแบบนี้หากใช้กับคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากเกณฑ์ทหาร รับรองหลงไหลได้คะแนนนิยมแน่
วิธีการลักษณะนี้อาจกลายเป็นอุปาทานหมู่ที่ได้ผลอย่างแยบยล
คนที่เห็นตรงข้ามก็พยายามให้ข้อมูล เช่น เกาหลีใต้และสิงคโปร์ก็ไม่ได้เกณฑ์แต่ผู้ชายที่มีอายุครบตามกำหนดและร่างกายสมบูรณ์ต้องเป็นทหารทันที
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อครบกำหนดแล้วก็ยังต้องกลับมาฝึกเป็นประจำทุกปีตามระยะเวลาที่แต่ละประเทศกำหนด ส่วนประเทศไทยมีทั้งใช้วิธีเกณฑ์และอาสาสมัครในเวลาเดียวกัน
“ศาลไม่เคยเป็นนักธุรกิจมาก่อนย่อมไม่เข้าใจวิธีคิดของนักธุรกิจ” ประโยคนี้เป็นความจริงด้านหนึ่ง “นักธุรกิจก็ไม่เคยทำหน้าที่ศาลเช่นกัน” ก็เป็นความจริงอีกด้านหนึ่ง
“นักธุรกิจบริหารเศรษฐกิจของประเทศดีกว่าทหาร” นี่ก็มีส่วนจริง แต่ในอีกด้านหนึ่ง “พลเอกเปรม ติณสูลานนท์พร้อมทีมงานเศรษฐกิจก็นำพาประเทศให้เจริญมาได้ไม่ต่างกัน
นักธุรกิจ ศาล นักการเมือง ทหาร นักกฎหมาย และคนในอาชีพต่าง ๆ จึงคิดไม่เหมือนกัน เมื่อใครเปลี่ยนตัวเองหันมาเล่นการเมืองจึงควรศึกษากฎหมายให้เข้าใจ หรือมีทีมกฎหมายที่มีความรู้จริง ๆ และต้องบริหารประเทศหรือทำการเมืองภายใต้กฎหมาย
นักธุรกิจต้องเข้าใจว่า ศาลและตัวนักธุรกิจเองต่างคนต่างก็ทำหน้าที่ของตน ต่างก็มองข้อเท็จจริง มองคำให้การกับข้อกฎหมายต่างกัน
นักธุรกิจมักมองข้อเท็จจริงมาก่อน ขณะที่ศาลแม้จะยินยอมรับฟังข้อเท็จจริงแต่ก็มองข้อกฎหมายมาก่อน
นักธุรกิจที่เล่นการเมืองจึงต้องยอมรับว่า ตนไม่ใช่นักธุรกิจแล้ว การยึดมั่นเรื่องต่าง ๆ ในมุมธุรกิจด้านเดียวและนำมากล่าวอ้างจึงเป็นความเสี่ยงมากกว่าเป็นโอกาส
แต่ประชาชนผู้ติดตามรับฟังก็อาจไม่รู้ อาจไม่เข้าใจ ก็อาจคล้อยตามข้อมูลด้านเดียวจนเกิดอุปาทานหมู่ได้เช่นกัน
อุปาทานหมู่ที่นำเรื่องจริงด้านหนึ่ง หรือเรื่องที่เป็นไปได้ด้านหนึ่งมาต่อยอดเพื่อให้ตนได้ผลประโยชน์โดยไม่ใส่ใจความเสียหายต่อส่วนรวมจึงเป็นทั้งเรื่องน่ากลัวในการเมืองปัจจุบัน
ขณะที่ประชาชนก็อาจตกเป็นเหยื่อของอุปาทานหมู่ได้อย่างง่ายดาย ประชาชนผู้มองการเมืองจึงต้องมองให้กว้างขึ้นและให้ลึกมากขึ้นเพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อของอุปาทานหมู่ง่าย ๆ
การฟัง นิ่งคิด ติดตามข้อมูลความจริงด้านตรงข้ามให้มากขึ้นจึงเป็นทางเดียวที่จะทำให้ประชาชนได้ข้อมูลรอบด้านและไม่ตกเป็นเหยื่ออุปาทานหมู่ของการเมืองไทย
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
ป.ล. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ให้ความหมายคำว่า อุปาทานหมู่ ดังนี้
อุปาทานหมู่ อังกฤษ: collective hysteria, collective obsessional behavior, mass hysteria หรือ mass psychogenic illness) เป็นปรากฏการณ์ทางจิตสังคมอย่างหนึ่ง มีลักษณะเป็นการแสดงออกอย่างเดียวกับโรคฮิสเตอเรีย หรือโรคผีเข้า (อังกฤษ: hysteria) แต่อุปาทานหมู่นั้นเป็นอาการสมดังชื่อ คือ เกิดขึ้นในคนหมู่ โดยมักมีสาเหตุจากการที่คนกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าตนกำลังประสบภาวะเจ็บป่วยหรืออาการอื่นอย่างเดียวกัน
Logistics
Maersk ส่งขบวนรถไฟศิลปะ ปลุกสำนึกปกป้องสิ่งแวดล้อม
เมื่อเร็วๆ นี้ ขบวนรถไฟ Noah ซึ่งเป็นผลงานศิลปะเคลื่อนที่เพื่อสร้างความตระหนักในการปกป้องสภาพอากาศที่ยาวที่สุด ปฏิบัติการเข้าเทียบชานชาลาที่ท่าเทียบเรือ APM Terminals Maasvlakte II ก่อนที่หนึ่งในตู้สินค้าในรถไฟขบวนนี้จะถูกยกขนขึ้นบนเรือ Laust Maersk เพื่อส่งต่อไปยังงานประชุม United Nations Climate Change Conference ประจำปี 2019 ซึ่งจัดขึ้นใน Santiago ประเทศชิลี
ทั้งนี้ ผลงานศิลปะเคลื่อนที่ดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรือ Noah ซึ่งถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์การปกป้องสิ่งแวดล้อมที่เก่าแก่ที่สุด โดยความคิดริเริ่มดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดความสนใจและสร้างการตระหนักรู้ในการปรับเปลี่ยนโหมดการขนส่งสินค้าทั้งหมดไปยังโหมดการขนส่งสินค้าทางรางให้ได้ราว 30 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030
ขบวนรถไฟ Noah ถือเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของ Rail Freight Forward (RFF) ซึ่งเป็นความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าทางรางในยุโรป โดย RFF ตั้งเป้าหมายที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการขนส่งสินค้าผ่านความร่วมมือระหว่างบริษัทผู้ปฏิบัติการรถไฟ หน่วยงานด้านการจัดการโครงสร้างพื้นฐาน และผู้มีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองทั่วทวีปยุโรป
ที่มา: https://www.logistics-manager.com/th/noah-rail-call-at-apm-terminals-maasvlakte-ii/
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!