CEO ARTICLE

สยามเมืองยิ้ม


Follow Us :

    

ประเทศไทยในอดีตมีเสน่ห์มาก นักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติอยากมาเยือนสักครั้งจนประเทศไทยได้ชื่อว่า “สยามเมืองยิ้ม”
หลายปีที่ผ่านมา เสน่ห์และชื่อ “สยามเมืองยิ้ม” ค่อย ๆ จางหายไป … เพราะอะไร ? และทำอย่างไรให้คำว่า “สยามเมืองยิ้ม” กลับคืนมา ???

ประเทศไทยมีสภาพภูมิศาสตร์อยู่ใจกลางคาบสมุทรอินโดจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่มีสภาพราบ น้ำท่วมถึง อุดมสมบูรณ์ ภูมิอากาศเป็นแบบมรสุมเขตร้อนจึงเหมาะแก่การทำนาและเกษตรกรรมอีกหลายอย่าง
ภาคเหนือมีภูเขา ภาคใต้มีทะเล ภาคกลางเป็นที่ลุ่มจึงเป็นเสน่ห์ที่น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยสมกับคำว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว … ใครใคร่ค้าช้าง ค้า ใครใคร่ค้าม้า ค้า”
ความที่ไทยมีทรัพยากรดี บ้านไหนปลูกพืชอะไรก็งอกงาม ชีวิตในอดีตจึงรุ่งเรือง ชาวบ้านรักใคร่กลมเกลียวทำอาหารก็แบ่งปันเพื่อนบ้าน ขณะที่ค่าครองชีพก็ถูกแสนถูก
เมื่อมีความสุข คนไทยจึงยิ้มง่าย ไม่ซีเรียส เจออะไรก็ยิ้มไว้ก่อน และเป็นรอยยิ้มที่จริงใจจนคนต่างชาติเรียกประเทศไทยว่า “สยามเมืองยิ้ม” และเรียกยิ้มของคนไทยว่า “ยิ้มสยาม”
มันเป็นยิ้มที่เปิดเผย ยิ้มจากใจ
คนไทยในอดีตจะมีชนชั้นล่างมากกว่า คนชั้นกลางและสูงมีไม่เท่าไร คนชั้นล่างก็มักฝันลม ๆ แล้ง ๆ คนสร้างหนัง สร้างละครจับจุดนี้ เนื้อหาที่เกี่ยวกับชนชั้น มีตัวเอก และมีตัวร้ายจนทำให้ผู้ชมติดตามเพ้อฝันว่าตนเองคือ “ตัวเอก” ส่วนคนที่ตนไม่ชอบคือ “ตัวร้าย” หนังและละครในแนวนี้จึงเป็นที่นิยมมีคนติดตามชมมาก
สภาพสังคมและเศรษฐกิจจึงดูสบาย ๆ การเมืองมักอยู่ภายใต้ทหาร การรัฐประหารเกิดขึ้นบ่อยหรืออาจจะเรียกได้ว่าก่อนปี 2535 ประชาธิปไตยของไทยมีไม่ถึงครึ่งใบด้วยซ้ำ
ในเวลานั้นไม่มีใครตอบได้เต็มคำว่า ทหารปกครองประเทศดีหรือไม่ แต่ประเทศไทยก็ยังคงมีเสน่ห์ การลงทุน การท่องเที่ยว การส่งออก และเศรษฐกิจในภาพรวมโตขึ้นเรื่อย ๆ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เริ่มฉบับที่ 1 มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504
หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 เราก็เริ่มได้รัฐบาลหมุนเวียนกันจากการเลือกตั้งพร้อม ๆ กับเศรษฐกิจที่ดูดีขึ้น ระบอบประชาธิปไตยของไทยก็น่าจะดีขึ้น
ในด้านการบริหารแผ่นดิน รัฐบาลน่าจะมองความสำคัญของ “ค่าครองชีพ” ออกและน่าจะตรึงค่าครองชีพให้เป็น “เสน่ห์” ให้เป็น “สยามเมืองยิ้ม” ได้ต่อไป
แต่ … แต่กลับไม่ใช่
ตั้งแต่ก่อนปี 2535 ราคาที่ดินและค่าครองชีพค่อย ๆ ทะยานขึ้นโดยรัฐบาลมิได้เฉลียวใจแม้แต่น้อย กระทั่งปี 2540 เศรษฐกิจของไทยก็ตกเหว เงินบาทถูกลอยตัว เงินเฟ้อสูงมาก
ประชาชนชั้นกลางและชั้นล่างมีทั้งตายและหนีตายกันจ้าละหวั่น
แล้วปี 2540 นั้น ประเทศไทยก็ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ หลังจากนั้น นักการเมืองก็ค่อย ๆ เข้ามานำประเทศเต็มตัวแทนที่ทหาร
นักเศรษฐศาสตร์ที่ไหน ๆ ก็รู้ว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อคือ ต้นทุนการผลิตสินค้าที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ราคาสินค้าและบริการที่ขายในท้องตลาดสูงขึ้น ประชาชนชั้นกลางและล่างจะมีเงินในมือเท่าไรก็ไม่พอซื้อ
ในที่สุด คนไทยชั้นกลางและชั้นล่างที่ผ่านเหตุการณ์เงินบาทลอยตัวมาก็ต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อใช้จ่ายประจำวัน
“ยิ้มสยาม” และความเป็น “สยามเมืองยิ้ม” น่าจะค่อย ๆ หายไปจากจุดนี้ แต่ที่ยังเหลืออยู่คือ ความฝันลม ๆ แล้ง ๆ มองหาตัวเอกตามบทหนัง บทละครที่ยังให้ความบันเทิงเริงใจ
จากจุดนี้ ใครมาเป็นรัฐบาลก็น่าจะรู้และน่าจะพยายามนำ “สยามเมืองยิ้ม” กลับมา
หลังปี 2549 ประเทศไทยยังพบการรัฐประหารอีก 2 ครั้ง จากนั้นทหารและนักการเมืองก็ผลัดกันมาบริหารประเทศ แต่ภาวะหนี้สินของคนชั้นล่างและภาวะเงินเฟ้อของประเทศไม่ดีขึ้น
ภาวะหนี้ครัวเรือนที่มากขึ้นนี้ น่าจะพออธิบายได้ว่า ทำไมเสน่ห์และชื่อ “สยามเมืองยิ้ม” จึงจางหายไป

มาถึงยุคปัจจุบัน ทหารและนักการเมืองต่างวนเวียนอยู่ในการเมืองเพื่อขึ้นมานำประเทศ ความเพ้อฝันตามหนังละครของประชาชนยังมีอยู่ คนส่วนหนึ่งถูกปลูกฝังว่าทหารคือตัวร้าย อีกส่วนมองว่านักการเมืองทุจริตคือตัวร้าย แล้วต่างก็ฝันอยากเห็นนักการเมืองเป็นตัวเอกของตนเข้ามาบริหารประเทศได้ดีกว่า
ใครชอบนักการเมืองคนไหนก็มองว่าคนนั้นคือตัวเอกตามแบบละครที่อยู่ฝ่ายตน
พอตัวเอกเสนอนโยบายอะไรออกมาก็บอกว่าชอบโดยหารู้ไม่ว่า นโยบายนั้นส่งเสริมให้เงินเฟ้อยิ่งสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตสินค้ายิ่งสูงขึ้น และผลักดันค่าครองชีพให้ยิ่งสูงขึ้น เช่น ค่าแรงขั้นต่ำที่ก้าวกระโดด เป็นต้น
หากจะนำ “สยามเมืองยิ้ม” กลับคืนมา รัฐบาลต้องหยุดปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อให้ได้ ต้องประคองราคาสินค้าและบริการให้ต่ำลง ต้องลดค่าครองชีพลงให้ได้
ค่าครองชีพที่ถูกตรึงและลดลงจะทำให้หนี้ครัวเรือนไม่เพิ่มขึ้น หากทำได้ การลงทุน การท่องเที่ยว และการส่งออกก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นส่งผลให้ภาพรวมของเศรษฐกิจดีขึ้นตามไปด้วย แบบนี้ “สยามเมืองยิ้ม” ก็น่าจะกลับมา
แต่หากการเมืองยังเป็นแบบนี้ ยังแบ่งฝ่ายคล้ายละครที่ทำให้ตนเป็นตัวเอกและฝ่ายตรงข้ามเป็นตัวร้าย ยังเอาแต่แย่งชิงประชาชนด้วยนโยบายประชานิยมเพื่อคะแนนเสียงแต่ทำต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้นโดยให้ความจริงแก่ประชาชนไม่ครบด้าน
อย่างนี้ประชาชนก็หลงเชื่อนักการเมืองง่ายตามความเพ้อฝันที่ตนมี สุดท้ายค่าครองชีพก็ย่อมสูงขึ้นตามมาจน “สยามเมืองยิ้ม” ไม่มีวันกลับมาอีกต่อไป
ณ จุดนี้ ประเทศไทยจะบริหารโดยทหารหรือนักการเมืองจึงไม่น่าจะสำคัญ สิ่งที่สำคัญกลับมาอยู่ที่ประชาชนซึ่งเป็นผู้เลือก
ประชาชนควรตื่นจากความฝัน มองหาความจริง แล้วเลือกรัฐบาลที่สามารถทำให้ “ค่าครองชีพ” ต่ำลงเพื่อให้ “สยามเมืองยิ้ม” กลับคืนมาจะดีกว่า

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

“ขิง” อาหารว่างที่กำลังพัฒนาเข้าตีตลาดจีน

จีนนับเป็นแหล่งผลิตขิง และประเทศส่งออกขิงที่ใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 69 ของการผลิตและการส่งออกทั้งหมดของโลก แต่อย่างไรก็ตาม การบริโภคขิงเป็นอาหารว่าง ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในตลาดอาหารว่าง ยกตัวอย่าง เบียร์ขิง เมื่อดูจากแนวโน้มการค้นหาคำว่า “เบียร์ขิง” ใน Google แล้ว ส่วนใหญ่จะถูกค้นหามากที่สุดในพื้นที่แถบภูมิภาคอเมริกาเหนือ ยุโรป และอเมริกาใต้ สำหรับพื้นที่ในภูมิภาคเอเซียยังเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ที่กำลังเริ่มต้น จึงทำให้ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก รวมทั้งในตลาดจีนเองก็ยังพบผลิตภัณฑ์อาหารว่างประเภทขิงน้อยมาก

ปัจจุบันตลาดจีนมีอาหารว่างประเภทขิงที่เป็นที่นิยม ได้แก่ ลูกอมรสขิง ขิงแผ่น โดยพบว่า เมื่อค้นหาคำว่าอาหารว่างประเภทขิง บนแพลตฟอร์ม Tmall จะพบผลิตภัณฑ์ทั้งสิ้น 262 รายการ ซึ่งลูกอมขิงและขิงแผ่นอบแห้ง มีสัดส่วนมากที่สุดรวมกันถึงร้อยละ 50 แต่หากค้นหาเป็นภาษาอังกฤษ โดยใช้คำว่า Gingersnack บนแพลตฟอร์ม Amazon จะพบผลิตภัณฑ์ถึง 489 รายการ โดยมีประเภทสินค้าให้เลือกมากมาย อาทิ ขนมขบเคี้ยว ผลิตภัณฑ์ของทานเล่นที่ให้พลังงานแบบอัดแท่ง เป็นต้น

ถึงแม้ว่าปัจจุบันอาหารว่างประเภทขิงและรสขิงในจีน จะยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจีนจำนวนมากกำลังให้ความสนใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากขิง เนื่องจากขิงเป็นหนึ่งในรสชาติเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่เป็นที่นิยมของมนุษย์ตั้งแต่สมัยโบราณ และเริ่มกลับมามีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมในปัจจุบันมากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรสชาติขิงที่มีวิวัฒนาการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละวัยได้มากขึ้น

ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมานี้ ผลิตภัณฑ์รสขิงมีการขยายจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากรสชาติขิงเป็นรสชาติที่เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่นิยมผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ไม่ใส่สารกันบูด โดยเฉพาะชาวจีนที่มีความเชื่อมาอย่างยาวนานต่อคุณสมบัติเพื่อสุขภาพของขิง โดยขิงจัดเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในหลายด้าน อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีความสำคัญอย่างมากต่อร่างกาย เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี เบต้าแคโรทีน ธาตุเหล็ก ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และเส้นใยจำนวนมากอีกด้วย ดังนั้น ผู้เพาะปลูกขิง ผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้ริเริ่มแบรนด์ จึงมีความจำเป็นต้องศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับการเพาะปลูก การผลิต การใช้เทคโนโลยีในการแปรรูปขิงอย่างรอบด้าน รวมถึงแสวงหาโอกาสในการขยายธุรกิจและเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายตลาดผลิตภัณฑ์ขิงให้ได้รับความนิยมได้อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ปัจจุบันยังพบว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้รสชาติขิงเป็นส่วนผสม ได้แก่ ชา เหล้า/เบียร์ และของหวาน ก็เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมาพัฒนาและผสมกันเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อย่างลงตัว ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ใช้กลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์คุณค่า และสารอาหารโดยเน้นประโยชน์ของการรับประทานขิงเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะคุณสมบัติในการขับลม การลดริ้วรอยเพื่อความสวยความงาม การลดไขมันเพื่อรูปร่างที่ดี ก็เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยมัดใจผู้บริโภคเพศหญิง และผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย
ขิงถือเป็นสินค้าเกษตรและสมุนไพรที่สำคัญของไทย มีแหล่งผลิต และแปรรูปที่สำคัญอยู่บริเวณภาคเหนือตอนล่างของไทยจำนวนมาก และได้รับการสนับสนุนให้ผลิตและแปรรูปเพื่อการส่งออกอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดี การที่ประเทศจีน ซึ่งแหล่งผลิตขิง และประเทศส่งออกขิงที่ใหญ่ที่สุดในโลก เริ่มให้ความสำคัญต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขิงให้มีความหลายหลายมากขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพื่อแสวงหาช่องทางและโอกาสในการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่าง แต่ยังคงมีคุณค่าทางสารอาหารครบถ้วน และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่รักสุขภาพทั่วโลกได้เป็นอย่างดี

โอกาสและแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย
ปัจจุบันกระแสรักสุขภาพเป็นปัจจัยในอันดับต้นๆ ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในการเลือกซื้อสินค้า ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่สามารถผลิตขิงที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และกลุ่มประเทศยุโรปหลายแห่ง และถึงแม้ว่าประเทศจีนจะเป็นแหล่งผลิตขิงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งอาจทำให้โอกาสในการส่งออกผลิตภัณฑ์ขิงไปยังจีนได้ไม่มากนัก แต่ผู้ประกอบการไทยก็สามารถใช้โอกาสนี้ในการแสวงหาความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขิงที่มีคุณภาพสูงร่วมกับจีนได้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีการสั่งสมประสบการณ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายและมีนวัตกรรมในการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพให้เป็นที่นิยมของตลาดได้เป็นอย่างดี ประกอบกับจีนก็เริ่มให้ความสำคัญต่อการใช้เทคโนโลยีในการควบคุมการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว และการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ควบคู่กัน ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยสามารถร่วมมือกับผู้ประกอบการจีน รวมทั้งเรียนรู้วิธีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ในการยกระดับผลิตภัณฑ์ขิงของไทยให้มีคุณภาพสูงได้ ก็จะทำให้ผลิตภัณฑ์ขิงของไทยเป็นสินค้าส่งออกที่เป็นที่ต้องการ และเป็นที่ยอมรับของตลาดโลกได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/580262/580262.pdf&title=580262&cate=413&d=0

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.