CEO ARTICLE

เสียบบัตรแทนกัน


Follow Us :

    

ส.ส. เสียบบัตรแทนกัน ทำไมจึงส่งผลให้งบประมาณแผ่นดินต้องลงมติกันใหม่ และหากงบประมาณไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ทำไมจึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้าง
ทำไม และทำไม นับเป็นประเด็นที่ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจไม่เข้าใจ ???

การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นคำกว้าง ๆ ที่อาจเข้าใจยาก แต่หากมองหมู่บ้านหนึ่งที่มีประชากร 100 หลังคาเรือน แบบนี้การมองก็อาจแคบลงจนเข้าใจง่ายขึ้น
หากหมู่บ้านนี้ต้องการให้สมาชิกทุกครัวเรือนมีรายได้ดีขึ้น มีเศรษฐกิจดีขึ้น กินดีอยู่ดี ทางเลือกเดียวที่หมู่บ้านต้องทำคือ การทำให้คนต่างถิ่นเข้ามาเที่ยวหรือมาซื้อสินค้าและบริการให้มากขึ้น มีการจับจ่ายใช้สอย การลงทุน การสร้างงานในหมู่บ้านให้มาก ๆ เพื่อให้คนในหมู่บ้านมีงานทำ
หากไม่มีคนมาเที่ยว มาซื้อ มาลงทุน คนในหมู่บ้านก็มีงานทำเท่าที่ตนเองจะทำได้ ผลิตอะไรออกมาก็ขายกันเอง ซื้อกันเอง และกินกันเองภายในหมู่บ้านได้แค่นั้น
แบบนี้ เศรษฐกิจของหมู่บ้านก็ไม่มีทางเติบโตได้มากกว่านี้ มันได้แค่นี้จริง ๆ
ดังนั้น การทำให้คนต่างถิ่นเข้ามาเที่ยว มาซื้อ มาลงทุนในหมู่บ้านย่อมทำให้สมาชิกมีรายได้ดี มีเงินดี เศรษฐกิจของหมู่บ้านก็ย่อมเติบโตเกินกว่าการผลิตเพื่อบริโภคในหมู่บ้านเป็นธรรมดา
หากเปรียบหมู่บ้านเป็นประเทศที่มีผลิตสินค้าและบริการเพียงเพื่อซื้อ เพื่อขาย เพื่อบริโภค กันเองในประเทศ แน่นอนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนี้ อย่างมากก็ทำได้แค่การบริโภคของคนในประเทศเท่านั้น
เศรษฐกิจของประเทศนี้ย่อมไม่มีทางโตไปมากกว่านี้ มันได้แค่นี้เช่นกัน
ดังนั้น การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งจึงต้องประกอบด้วย การบริโภคของคนในประเทศ (C = Consumption) การลงทุนจากเอกชน (I = Investment) การใช้จ่ายของรัฐบาลผ่านงบประมาณมหาศาล (G = Government) การส่งออก (X = Export) ที่รวมถึงการท่องเที่ยว และแน่นอนต้องนำการนำเข้า (M = Import) และการท่องเที่ยวต่างประเทศมาหักออก
นี่คือที่มาของสูตรการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ = C + I + G + (X – M) นั่นเอง
หากพิจารณางบประมาณแผ่นดินของปี 2563 ที่มีจำนวนเงินมหาศาลถึง 3.2 ล้านล้านบาท รัฐบาลจึงนับเป็นเจ้ามือรายใหญ่ที่สุดของประเทศ
ในโลกนี้จะมีนักลงทุนรายไหน หรือเจ้ามือรายไหนที่จะมีเงินใช้จ่ายปีละ 3.2 ล้านล้านบาท ขนาดนี้ หากไม่ใช่รัฐบาล
ตรงกันข้าม หากรัฐบาลไม่มีเงินมหาศาลจ่ายเงินเดือนข้าราชการนับล้าน ๆ คน ครอบครัวข้าราชการและบุตรหลานจะมีเงินใช้จ่ายหมุนเวียนให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างไร
หากรวมไปถึงเงินที่รัฐบาลต้องจ่ายเพื่อการจัดจ้าง สวัสดิการ การจัดซื้อ การก่อสร้าง การช่วยเหลือ และโครงการต่าง ๆ เมื่องบประมาณไม่ผ่าน ประเทศย่อมวุ่นวายขนานใหญ่แน่
นี่จึงเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมเมื่องบประมาณไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรจึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้างอย่างเหลือเชื่อ
พอข่าวท่าน ส.ส. เสียบบัตรแทนกันกระจายออกไป ผู้มีความรอบรู้ต่างก็วิจารณ์กันต่าง ๆ นานา แต่ก็นับเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมิให้ พรบ. งบประมาณปี 2563 ตกไปทั้งฉบับ แต่ให้ ส.ส. ลงมติใหม่ในวาระ 2 และ 3 เท่านั้น
ลองคิดดู หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ตกไปทั้งฉบับ กระบวนการงบประมาณก็ต้องเริ่มใหม่ การพิจารณา กระทั่งลงมติ 3 วาระจะกินเวลาแค่ไหนและเศรษฐกิจจะวุ่นวายขนาดไหน

แล้วก็มาถึงปัญหา ส.ส. เสียบบัตรแทนกัน
ทุกคนต่างก็เข้าใจตรงกันคือ เงินงบประมาณแผ่นดินที่รัฐบาลนำมาใช้จ่ายนั้นเป็นเงินที่มาจากภาษีอากรโดยประชาชนเป็นผู้จ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อม
เมื่อประชาชนเป็นผู้จ่าย เงินนี้ก็ต้องผ่านหยาดเหงื่อ ผ่านแรงกาย ผ่านความเหนื่อยยาก บางครั้งก็ผ่านทั้งความเป็นและความตายทั้งจากคนจนและคนรวยทั้งประเทศ
หากจะว่าไปแล้ว เงินนี้จึงเป็นเงินศักดิ์สิทธิ์
ความศักดิ์สิทธิ์ทำให้ผู้ใดหรือรัฐบาลใดจะนำไปใช้จ่าย ไม่ว่าจะใช้จ่ายเพื่ออะไรก็ต้องได้รับความยินยอมจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงินนั้นก่อน
แต่ประชากรไทยตามสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครองในปี 2562 มีราว 67 ล้านคน การได้รับความยินยอมก็ต้องได้รับความยินยอมจากประชาชนส่วนใหญ่ของ 67 ล้านคนเท่านั้น
แค่คิดจะหาห้องประชุมเพื่อบรรจุคน 67 ล้านคนเพื่อให้พิจารณาก็ทำไม่ได้แล้ว
ในที่สุด ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจึงออกแบบให้ประชาชนแต่ละคนสามารถเลือกตัวแทนของตนให้มาใช้สิทธิ์แทนตน
รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้ประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 150,000 คน สามารถเลือกผู้แทนหรือ ส.ส. ได้ 1 คน ผู้ใดได้คะแนนมากกว่าตามกฎหมายบัญญัติ ผู้นั้นก็ได้เป็น ส.ส.
ส.ส. จึงถูกเลือกมาทำหน้าที่แทนประชาชนในเรื่องจัดสรรงบประมาณซึ่งเป็นเงินศักดิ์สิทธิ์ ตำแหน่ง ส.ส. จึงเป็นตำแหน่งศักดิ์สิทธิ์ตามไปด้วย
ความศักดิ์สิทธิ์นี้ นอกจาก ส.ส. เป็นผู้พิจารณาและอนุมัติงบประมาณแผ่นดินให้ถูกต้องชอบธรรมแล้ว ส.ส. ยังใช้อำนาจแทนประชาชนในการเลือกนายกรัฐมนตรี ตรวจสอบ กำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร และอื่น ๆ อีกมากมายตามที่กฎหมายบัญญัติ
การแสดงความคิดเห็น การร่วมประชุมสภา การประชุมกรรมาธิการต่าง ๆ และการลงมติจึงเป็นการทำหน้าที่ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของ ส.ส. อย่างยิ่ง
ดังนั้น การหนีประชุม การเสียบบัตรแทนกัน การลงมติแทนกัน หรือการขายสิทธิ์ ขายเสียง ของ ส.ส. จึงเป็นผู้ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนมอบให้อย่างย่อยยับไม่เหลือความศักดิ์สิทธิ์
การเสียบบัตรแทนกันที่เป็นข่าวจึงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นการลบหลู่ประชาชน เป็นเรื่องที่ไม่น่าให้อภัย แต่ใครจะไปรู้ ไม่ว่าเลือกตั้งครั้งไหน ๆ ส.ส. ไม่ดีแบบนี้ก็มักได้รับเลือกเข้ามาทุกที
ทุกวันนี้ ความขัดแย้ง ความวุ่นวาย และเศรษฐกิจที่ไม่เติบโตก็เพราะประเทศไทยมี ส.ส. ไม่ดี ส.ส. ไร้คุณภาพ มากกว่า ส.ส. ดี ส.ส. มีคุณภาพนั่นเอง
แต่จะไปโทษใครได้ ในเมื่อประชาชนนั่นล่ะเป็นผู้เลือก ส.ส. ไม่ดีเข้ามาเอง อาจเลือกด้วยใจชอบโดยไม่คิด เลือกตาม ๆ กันไป เลือกเพราะคนสั่งมา หรือเลือกโดยผลประโยชน์บางประการเฉพาะหน้าจนทำให้ประเทศไทยยังอยู่ในวังวนของความขัดแย้งอย่างที่เห็น
สิ่งนี้บ่งชี้ว่า ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในระบบการเมือง หากประชาชนกลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศก็ย่อมเป็นต้นทางของ ส.ส. ไม่ดี ส.ส. เสียบบัตรแทนกัน หรือ ส.ส. หนีประชุม เป็นต้นทางของความขัดแย้ง และต้นทางของปัญหาเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นี่จึงอาจเป็นเสน่ห์และความวิบัติที่เกิดจากระบบประชาธิปไตยอย่างคาดไม่ถึงก็ได้
ไม่ว่าอย่างไร ประเทศไทยคงต้องรอ รอให้กาลเวลาและประสบการณ์หล่อหลอมประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น หากวันนั้นมาถึงจริง ปัญหา ส.ส. ไม่ดี ส.ส. เสียบบัตรแทนกัน ส.ส. ขายตัว และงบประมาณที่ต้องกลับมาลงมติใหม่ก็คงไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

ปี 2562 อาเซียนแซงหน้าสหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศคู่ค้าอันดับสองของจีน

รายงานจากสำนักงานศุลกากรจีนเปิดเผยว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมา การค้าระหว่างประเทศของจีนได้พัฒนาอย่างมั่นคง โดยมีมูลค่าสูงถึง 31.54 ล้านล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เมื่อเที่ยบกับปีที่แล้ว โดยแยกเป็นการส่งออกมีมูลค่าสูงถึง 17.23 ล้านล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 สำหรับการนำเข้ามีมูลค่าสูงถึง 14.31 ล้านล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ซึ่งจีนได้ดุลการค้าจำนวน 2.92 ล้านล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 โดยภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของจีนในปี 2562 สามารถสรุปได้ ดังนี้ 1. หากพิจารณาตามรายโตรมาส พบว่า มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีนมีการเติบโตขึ้นตามรายโตรมาส โดยในไตรมาสที่ 1/2562 การค้าระหว่างประเทศของจีนมีมูลค่า 7.03 ล้านล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.28 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด ในไตรมาสที่ 2/2562 การค้าระหว่างประเทศของจีนมีมูลค่า 7.68 ล้านล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.33 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด ในไตรมาสที่ 3/2562 การค้าระหว่างประเทศของจีนมีมูลค่า 8.26 ล้านล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.17 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด ในไตรมาสที่ 4/2562 การค้าระหว่างประเทศของจีนมีมูลค่า 8.59 ล้านล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.22 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด
2. หากพิจารณาตามประเภทบริษัท พบว่า มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของบริษัทเอกชนยังครองอันดับ 1 คิดเป็นมูลค่า 13.48 ล้านล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.7 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด ในขณะเดียวกัน มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของบริษัทลงทุนจากต่างชาติรวม 12.57 ล้านล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.9 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีน สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของรัฐวิสหกิจรวม 5.32 ล้านล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.9 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด
3. หากพิจารณาจากประเทศคู่ค้าหลัก พบว่า ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกา ส่งผลให้โครงสร้างประเทศคู่ค้าหลักของจีนมีการเปลี่ยนแปลง โดยสหภาพยุโรปยังคงเป็นประเทศคู่ค้าอันดับแรกของจีน การค้าระหว่างจีนสหภาพยุโรปมีมูลค่า 4.86 ล้านล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.41 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีน รองมาคือ อาเซียน โดยการค้าระหว่างจีนอาเซียนมีมูลค่า 4.43 ล้านล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.05 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีน อันดับที่สาม คือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการค้า 3.73 ล้านล้านหยวน ลดลงร้อยละ 10.7 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.83 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีน อันดับที่สี่คือ ญี่ปุ่น โดยการค้าระหว่างจีน-ญี่ปุ่นมีมูลค่า 2.17 ล้านล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.88 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีน นอกจากนี้ การค้าระหว่างจีนกลุ่มประเทศบนเขตเศรษฐกิจในแถบ One Belt and One Road มีมูลค่าสูงถึง 9.27 ล้านล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8

ผลกระทบ/ข้อคิดเห็น/เสนอแนะของ สคต.
เฉิงตู ในปี 2562 ตลาดจีนเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับที่ 2 ของไทย คิดเป็นมูลค่า 29,172.27 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.85 ของการส่งออกของไทย และจีนเป็นตลาดนำเข้าอันดับหนึ่งของไทย คิดเป็นมูลค่า 50,327.47 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.27 ของการนำเข้าของไทย การค้าระหว่างอาเซียนจีน มีแนวโน้มที่ดี โดยเห็นได้จากมูลค่าการค้าระหว่างกันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามผลจากการระบาดของไวรัส COVID 19 ส่งผลให้การนำเข้าส่งออกของจีนชะลอตัว เมื่อสถานการณ์การระบาดอยู่ในระดับที่ควบคุมได้แล้ว รัฐบาลจีนจะมีมาตรการต่างๆ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจที่หยุดชะงักไป ซึ่งจะทำให้การค้าระหว่างประเทศของจีนจะกลับมาในทิศทางที่ดี โดยคาดว่าจีนจะมีการนำเข้าสินค้าหลายชนิดเพื่อทดแทนสินค้าต่างๆ ในช่วงที่อุตสาหกรรมในจีนต้องปิดทำการและไม่สามารถผลิตได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรใช้โอกาสของ FTA ASEAN-China ในการส่งออกมายังจีน นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลจีนได้เร่งผลักดันความร่วมมือและขยายการค้าระหว่างประเทศภายใต้นโยบาย “Belt and Road Initiative : BRI” ส่งผลให้ความร่วมมือด้านการค้า การเงิน การให้บริการ พลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานระหว่างจีนและประเทศบนเขตเศรษฐกิจในแถบ ขยายตัวมากขึ้น ประเทศไทยในฐานะประเทศหนึ่งที่ตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ของเส้นทาง จึงควรใช้ประโยชน์จากเส้นทางดังกล่าวในการสร้างความร่วมมือด้านการค้าโดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์และการค้าออนไลน์กับจีน
แหล่งข้อมูล : http://dy.163.com/v2/article/detail/F5OFHC640519811T.html

ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/584837/584837.pdf&title=584837&cate=413&d=0

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.