CEO ARTICLE
ลุงตู่ 2.50 บาท
“ผีน้อยไม่น่ากลัว แต่รัฐบาลที่ขาดการบริหารจัดการน่ากลัวกว่า”
ทันทีที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการประกาศให้ราคาหน้ากากอนามัยที่ซื้อขายในตลาดต้องไม่เกินชิ้นละ 2.50 บาท ประชาชนคนส่วนใหญ่กลับรู้สึกท้อใจ
บางท่านจึงถึงกลับอุทานออกมา “ลุงตู่เหลือราคาเพียง 2.50 บาท”
ในสภาพ Covid-19 ใคร ๆ ก็รู้ว่า ราคาซื้อขายจริงสูงกว่า 5 – 10 เท่า หากจะซื้อราคาลุงตู่ 2.50 บาท จริง ๆ ก็ต้องซื้อจากลุงตู่เท่านั้น หรือไปตามแหล่งที่ทางการกำหนดให้เป็นจุดขายแต่ต้องฝ่าคิวยาวนับกิโล บางท่านก็ว่า แพงบ้างก็ได้แต่ขอให้มีที่หาซื้อได้สะดวกก็พอ
ราคาลุงตู่จึงทำให้ประชาชนหัวเราะไม่ออก ร้องไห้ก็ไม่ออก มีแต่ความท้อใจสถานเดียว
วันนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ต้องเก็บตัว งดกิจกรรม และต้องเดือดร้อนจาก Covid-19 ต่างคนต่างอยู่ในอาการหวาดผวา กลัวคนมาเยี่ยมที่บ้านโดยไม่นัด เกรงว่าคนที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงจะคิดถึงแล้วมาหา เอาแค่เดินผ่านไปมาต่างคนต่างก็ระแวงซึ่งกันและกัน
จากข่าวสารที่ส่งถึงกันทำให้รู้ว่า Covid-19 มีอันตรายมาก โจมตีที่ปอด แม้หายแล้วปอดก็ไม่เหมือนเดิม หากร่างกายอ่อนแอก็อาจถึงแก่ชีวิตได้ง่าย ๆ
การล้างมือและหน้ากากอนามัยเป็นอาวุธเดียวที่คนไทยจะใช้ป้องกันตน แต่ในท้องตลาดกลับขาดแคลนอย่างหนักภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาลลุงตู่
รัฐบาลมีการแจกเหมือนกัน แต่แจกอย่างจำกัดเพียงคนละ 2-3 ชิ้น
สภาพเช่นนี้จึงไม่ต่างอะไรไปจากการอยู่ในภาวะสงคราม สภาพเช่นนี้ผลักดันประชาชนให้ต้องการรัฐบาลที่มีความสามารถในการบริหารจัดการเพื่อต่อสู้กับ Covid-19 ในเชิงรุก
การบริหารจัดการเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญในยามเผชิญกับภัยคุกคาม
อะไรที่ต้องทำเพื่อป้องกันประชาชนก็ต้องรีบทำ อะไรที่ต้องแสดงออกอย่างเข้มแข็งก็ต้องแสดงออก และอะไรที่ต้องเด็ดขาดก็ต้องเด็ดขาด ทุกอย่างต้องทำในเชิงรุกอย่างรวดเร็ว
การปล่อยให้สถานการณ์ค่อย ๆ ลุกลามไปแล้วค่อย ๆ ไล่แก้ ไล่ออกประกาศ ไล่จับผู้คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มันเป็นการพาประชาชนและประเทศให้อยู่ในเชิงรับมากกว่าท่ามกลางข่าวการแพร่กระจายที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศทุกวัน
คำว่า “บริหารจัดการ” ที่เข้มแข็งและรวดเร็วเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดเพื่อหยุดการแพร่กระจาย
คำว่า “บริหารจัดการ” ทำให้รัฐบาลรู้ว่า การขอร้อง “ผีน้อย” หรือผู้เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงทั้งคนไทยและต่างชาติให้กักตนเอง 14 วัน ทำได้ยาก แล้วมันก็ยากจริง ๆ อย่างที่เห็น
คำว่า “บริหารจัดการ” ทำให้รัฐบาลรู้ว่าแพทย์ บุคลากร และอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อการป้องกันมีพอหรือไม่ ทำให้รู้ว่าแพทย์และบุคลาการต้องต่อสู้ ต้องการความพร้อม ต้องการขวัญและกำลังใจซึ่งดูเหมือนรัฐบาลก็รู้แต่จัดการอย่างช้า ๆ
คำว่า “บริหารจัดการ” ทำให้รัฐบาลรู้ว่า การกักตุนหน้ากากอนามัยและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นจะเกิดขึ้นเพื่อทำกำไรซึ่งก็ดูเหมือนรัฐบาลรู้แต่จัดการช้าเกินไปเช่นกัน
ทุก ๆ สถานการณ์เลวร้ายจะมีโอกาสที่ดีแฝงอยู่และจะสร้างวีระบุรุษให้เกิดขึ้น การบริหารจัดการจะทำให้ดูออกโดยไม่จำเป็นต้องมีอำนาจพิเศษอย่าง ม. 44 ในมือ
จีนเป็นตัวอย่างที่ดี ตอนที่ Covid-19 เริ่มใหม่ ๆ แม้ข่าวไม่ได้ให้รายละเอียดว่า จีนระดมที่ปรึกษามากมายก่ายกองขนาดไหน แต่สิ่งที่เห็นคือ การสั่งปิดอู่ฮั่น ปิดสนามบิน และปิดเมืองที่อยู่ในความเสี่ยงเพื่อจัดการอย่างรวดเร็ว
จากนั้น ข่าวก็เห็นการจัดหาหน้ากากอนามัยที่รู้ล่วงหน้าว่าไม่เพียงพอ จัดหาอุปกรณ์ และบุคลากรทางการแพทย์อย่างรวดเร็ว ทุกอย่างเด็ดขาดเพื่อความอุ่นใจของประชาชนจีน
กระทั่งผ่านไปราว 1 เดือน วันนี้ อู่ฮั่น สนามบิน และเมืองที่ถูกปิดค่อย ๆ เปิด ไม่มีข่าวว่าใครเป็นมันสมองให้จีน แต่สี่จิ้นผิงคิดและทำคนเดียวมากมายขนาดนี้ไม่ได้แน่ แล้วลุงตู่ล่ะ ???
ตอนมี ม. 44 ลุงตู่ยืนยันใช้เพื่อส่วนรวม วันนี้ลุงตู่ไม่มี ม. 44 แต่ลุงตู่ก็ทำเพื่อส่วนได้ไม่ต่างกัน ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้บอกให้ทำอะไรช้า ๆ ประชาธิปไตยบอกเพียงเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนเท่านั้น
วันนี้ ไม่ว่าลุงตู่จะทำอะไรในเชิงรุกอย่างเข้มแข็งและรวดเร็ว ประชาชนย่อมร้องสรรเสริญ
ลุงตู่สามารถระดมนักวิชาการ ผู้รู้จริงแต่ละสาขาที่เกี่ยวข้อง หลีกเลี่ยงนักการเมืองที่มองแต่ผลประโยชน์และการเมืองไว้ก่อน ระดมที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญจริง ๆ
หากคิดไม่ออกก็ดูตัวอย่างจีน หรือภูฎาน หรือประเทศอื่นที่จัดการอย่างเข้มแข็ง
ทุกอย่างมีข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็ต้องรีบจัดการอย่างเข้มแข็งให้ประโยชน์ปรากฏโดยเร็วต่อความรู้สึกประชาชน ส่วนข้อเสียก็ต้องป้องกันให้เกิดน้อยที่สุด สร้างความเข้าใจให้มากที่สุด
หากวันนี้ลุงตู่ยังจัดการช้า ลุงตู่ยังจมอยู่ในเชิงรับ วันนี้ลุงตู่อาจเหลือเพียง 2.50 บาท ตามราคาควบคุมของหน้ากากอนามัยที่ไร้ประสิทธิผลก็ได้
วันนี้ประชาชนที่ขังตัวเองอยู่ในแต่บ้านต่างอยู่ในวินัย งดกิจกรรม ต่างอึดอัด ไร้อนาคต ไร้ทิศทาง ไร้แผนงานที่ชัดเจนจนหลายคนอยากจะร้องออกมาว่า “ทนไม่ไหว” แล้ว
ตอนเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 ลุงตู่มีพรรคการเมืองที่หนุนอย่างออกหน้าออกตา มีนักวิชาการที่เชียร์ให้เข้ามาแก้สถานการณ์ความขัดแย้ง มีประชาชนโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่กลัวความขัดแย้งจากการเมืองเก่า ๆ คนกลุ่มนี้เชื่อใจและเทคะแนนให้
ตอนจัดตั้งรัฐบาล ลุงตู่มีรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติด้วยจำนวน 16,820,402 เสียง หรือคิดเป็นร้อยละ 61.35 มีรัฐธรรมนูญฉบับที่เปิดทางให้ลุงตู่กลับมาเป็นนายกฯ ได้ง่ายขึ้น และมี ส.ส. เข้ามาหนุนแม้เสียงจะปิ่มน้ำแต่ก็เกินกึ่งหนึ่ง
ลุงตู่บริหารมาไม่กี่เดือนก็มีผลงานขัดเคืองสายตาประชาชนพอควร แต่ด้วยความคาดหวัง การให้อภัย ให้โอกาส และให้ความไว้วางใจยังมีอยู่ แม้จะถูกโจมตีจากนักการเมืองและม๊อบที่ไม่ชอบก็ตาม แต่สถานการณ์เหล่านี้กลับทำอะไรลุงตู่ไม่ได้
แต่การแพร่กระจายของ Covid-19 ในวันนี้ กลับทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป การให้อภัย ให้โอกาส ให้ความไว้วางใจเริ่มลดลง
หลายคนมองว่า “ผีน้อย” และผู้เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงนั้นไม่ใช่ปัญหา การไม่ยอมกักตัวเอง 14 วันก็ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหากลับอยู่ที่รัฐบาล
รัฐบาลที่ขาดแนวทางการบริหารจัดการในเชิงรุกอย่างจริงจัง
ผลตามมาที่ชัดที่สุดคือ ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ความตื่นตระหนกเพิ่มขึ้น การปิดงาน การเลิกจ้างกำลังจะมากขึ้น และมีทีท่าจะพาเศรษฐกิจให้ลงเหวเอาง่าย ๆ
อาการเบื่อลุงตู่เริ่มมากขึ้น สถานการณ์ Covid-19 ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา และอาจพาให้รัฐบาลอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้นตามไปด้วย
วันนี้ ราคาลุงตู่อาจเหลือเพียง 2.50 บาท ตามราคาควบคุมหน้ากากอนามัยทั้งที่ความจริง ลุงตู่มีความดี มีคุณค่า และมีราคามากกว่า 2.50 บาทอย่างมหาศาล
แต่มันก็ไม่แน่ หากการบริหารจัดการในเชิงรุกยังไม่เกิดขึ้นโดยเร็ว พรุ่งนี้ 2.50 บาทที่คิดว่าลุงตู่มีก็อาจลดลงกว่านี้อีกก็ได้
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Logistics
บริษัทในมณฑลกวางตุ้งใช้ “เทคโนโลยีโดรน” ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการ “โดรน” ได้แก่ บริษัท DJI และ บริษัท XAG ใช้เทคโนโลยีโดรนการเกษตรในการพ่นสารฆ่าเชื้อในโรงพยาบาล โรงเรียน และชุมชนที่มีปัญหาการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
มณฑลกวางตุ้งนอกจากจะเป็นเมืองแห่งการค้าและเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการผลิตจนได้รับฉายาว่าเป็น “โรงงานของโลก” แล้ว ปัจจุบัน มณฑลกวางตุ้ง โดยเฉพาะนครกว่างโจวและเมืองเซินเจิ้น “ซิลิคอนแวลลีย์ (Silicon Valley) ของจีน” เนื่องจากมณฑลกวางตุ้งเป็นที่ตั้งของเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงระดับโลกมากมาย เช่น บริษัท Huawei บริษัท Tencent บริษัท BYD และอีกมากมาย แต่ผู้ประกอบการทราบหรือไม่ว่า มณฑลกวางตุ้งยังเป็นที่ตั้งของบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการโดรน ได้แก่ บริษัท DJI และ บริษัท XAG ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในจีนทั้งสองบริษัทก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรค วันนี้ศูนย์ BIC ณ นครกว่างโจวจะขอเล่า ให้ทุกท่านได้รับทราบ ดังนี้
บริษัท DJI เป็นบริษัทผู้ผลิตโดรนเพื่อความบันเทิงและการเกษตรที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดร้อยละ 70 ของโลก และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซินเจิ้นได้เตรียมงบลงทุน 10 ล้านหยวน (หรือ 1.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อจัดตั้ง “ทีมป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19” ซึ่งดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการป้องกันโรคระบาดของ DJI Agriculture โดยจัดทีมอาสาสมัคร ที่เป็นพนักงานเพื่อใช้ “เทคโนโลยีโดรนการเกษตร” ฉีดพ่นน้ำสารฆ่าเชื้อในสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม ชุมชน โรงพยาบาล และพื้นที่กักกันผู้ป่วย
บริษัท XAG เป็นบริษัทผู้ผลิตโดรนเพื่อการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในจีนและมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครกว่างโจว ได้เตรียมงบลงทุน 5 ล้านหยวน (699,467 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับปฏิบัติการฆ่าเชื้อโรคเพื่อต่อสู้กับปัญหาการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยบริษัท XAG มุ่งเน้นการทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนงาน ด้านความปลอดภัยสาธารณะ บริษัท XAG ได้นำโดรนการเกษตรมาใช้ดำเนินโครงการครั้งแรกที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยซุนยัดเซนที่ 3 (Third Affiliated Hospital of Sun Yat-sen University) เพื่อสนับสนุนการทำงานของแพทย์และพยาบาลที่ต้องรักษาผู้ป่วยโรค COVID-19 อย่างใกล้ชิด โดยใช้ “เทคโนโลยีหุ่นยนต์เคลื่อนที่ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีโดรนการเกษตร” เพื่อฉีดพ่นสารฆ่าเชื้อในพื้นที่ของโรงพยาบาล พื้นที่กักกันผู้ป่วย และรถพยาบาล รวมถึงพื้นที่สาธารณะ ชุมชนที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นและเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด
ทั้งนี้ “โดรนการเกษตร” เป็นเครื่องมือฉีดพ่นที่มีความแม่นยำสูง สามารถฉีดพ่นสารฆ่าเชื้อในพื้นที่สาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับการฉีดพ่นสารฆ่าเชื้อด้วยเครื่องพ่นยาสะพายหลังหรือรถบรรทุก
โดยในโครงการดังกล่าว บริษัท XAG ใช้โดรนรุ่น R80 ราคา 34,999 หยวน (หรือประมาณ 158,132 บาท) และ DJI ใช้โดรนรุ่น T20 ราคา 39,999 หยวน (หรือประมาณ 180,723 บาท)
ที่มา: https://thaibizchina.com/guangdongrone0304/
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!