CEO ARTICLE

1 ครัว 1 หมู่บ้าน


Follow Us :

    

 ราวปี พ.ศ. 2518 ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีชื่อ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ปีนั้นก็เกิดนโยบาย “ผันเงิน” ขึ้น

“เงินผัน” คือการทำสงครามกับความยากจนด้วยการผันเงินจากงบประมาณแผ่นดินมาจ้างประชาชนในชนบทให้มีงานทำ มีรายได้ และยกระดับทางเศรษฐกิจของชาวบ้าน

การจ้างงานก็ไม่ซับซ้อน เช่น การจ้างแรงงานท้องถิ่นขุดบ่อน้ำหมู่บ้าน สร้างฝาย สร้างถนน ประชาชนได้งาน ได้เงิน เศรษฐกิจในท้องถิ่นก็หมุนไป ส่วนท้องถิ่นก็ได้รับการพัฒนา

“เงินผัน” จึงเป็นต้นตำนานของประชานิยมที่มีการสร้างงานจริง ๆ ขณะที่ประชานิยมในปัจจุบันไม่เน้นการสร้างงาน แต่ส่วนใหญ่เน้นวิธีการนำเงินใส่มือประชาชนให้ไปใช้จ่าย

ในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่ไม่มีทีท่าจะลงจบง่าย ๆ ปัญหาความเป็นความตายของประชาชนก็เรื่องหนึ่ง ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดก่อนการแพร่ระบาด ระหว่างการแพร่ระบาด และภายหลังการแพร่ระบาดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทั้ง 2 เรื่องเป็นปัญหาใหญ่มากของรัฐบาล

หากจะว่าแล้ว Covid-19 ทำให้ประชาชนมีปัญหาการหาอาหารให้ตกถึงท้องโดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องกักตัวอยู่กับบ้าน (Quarantine) หรืออยู่ตามศูนย์ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่สุด

ข้อมูลจากสำนักข่าวอิศราระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนหมู่บ้านรวมราว 75,032 หมู่บ้าน โจทย์ของปัญหาจึงมีเพียงหนึ่งเดียวคือ

“ทำอย่างไรให้ประชาชนมีอาหารอิ่มท้องทุกคน ทุกมื้อ และทุกวัน”

หากรัฐบาลยึดแนวทาง “เงินผัน” โดยการจัดให้ทุกหมู่บ้านต้องมีครัวเพื่อทำอาหารฟรีให้เฉพาะสมาชิกในหมู่บ้านมีอาหารรับประทานครบ 3 มื้อทุกวันด้วยโครงการ “1 ครัว 1 หมู่บ้าน” ก็จะเป็นการตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจโดยตรง

  1. ด้านเศรษฐกิจ

      การมีครัวประจำหมู่บ้านทำให้เกิดการจ้างงาน วัตถุดิบ พืช ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ที่จำเป็นต่อการทำอาหารถูกบังคับให้ซื้อในหมู่บ้าน แบบนี้ในหมู่บ้านจะเกิดการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ การซื้อ การขาย การจ้างงานเพื่อการทำครัว และมีเงินจะหมุ่นเวียนกระจายในหมู่บ้าน

คนในหมู่บ้านมีความสามารถไม่เท่ากัน แต่มีความหิวโหยเหมือนกัน คนที่มีงานในเมืองเศรษฐกิจที่มีรายได้มากกว่าก็คงไปทำงานปกติ ไม่ต้องห่วงคนทางบ้านจะไม่มีอะไรจะกิน ส่วนปริมาณอาหารในโครงการก็จะลดลง

    ส่วนคนมีความสามารถน้อย คนทำงานในหมู่บ้าน หรือคนที่ไม่มีงานทำก็จะมีอาหารทุกมื้อ หากโครงการเริ่มในช่วง Covid-19 ที่มีการกักตัว มีเคอร์ฟิว มีความยากลำบากในการหาซื้อและการทำอาหาร โครงการจะตอบโจทย์โดยตรง

ยิ่งไปกว่านั้น ช่วง Covid-19 จะเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพื่อส่งมอบอาหารไปตามบ้านที่กักตัว ตามศูนย์ หรือตามชุมชนแบบ Delivery โดยประชาชนไม่มีรายจ่ายใด ๆ

     2. ด้านสังคม

      การโยกย้ายสู่เมืองเศรษฐกิจเพื่อหางานจะลดลง ความแออัดก็ลดลง ใครบ้างอยากอยู่ห่างครอบครัว ปัญหาครอบครัวก็ลดลง ความอบอุ่นในครอบครัวจะมากขึ้น อาชญากรรมที่เกิดจากปากท้องก็จะลดลงตามไปด้วย

เมนูอาหารท้องถิ่นที่ถูกปากคนในท้องถิ่นจะเกิดการพัฒนา เกิดเมนูสำหรับผู้ใหญ่และเด็กแต่ละวัย เกิดการประกวด วัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นจะไม่สูญหายกลายเป็นกิจกรรมท้องถิ่นที่สามารถจัดการแข่งขันในแต่ละภูมิภาคเพื่อชิงถ้วยประจำปี

     3. ด้านงบประมาณ

รัฐบาลเพียงผันเงินจากงบประมาณประจำแบบ “เงินผัน” หรือปรับลดงบประมาณแต่ละกระทรวงลงโดยเฉพาะงบจัดซื้ออาวุธที่ยังไม่จำเป็นของกองทัพเพื่อส่งเสริมโครงการ หรือให้ออกเป็นกฎหมายใช้เงินงบประมาณประจำปีเพื่อความยั่งยืนของโครงการ

จำนวนหมู่บ้านราว 75,032 หมู่บ้าน ย่อมมีหมู่บ้านในเขตเศรษฐกิจดีจำนวนหนึ่งที่คนใช้บริการครัวไม่มากจนไม่สามารถมีครัวได้ ส่วนหมู่บ้านที่จำเป็นก็จะได้ประโยชน์จากโครงการจริง ๆ สมมุติเหลือหมู่บ้านที่จำเป็นต้องมีโครงการ 70,000 หมู่บ้าน

หากให้งบประมาณในการจัดจ้าง การซื้อวัตถุดิบ และการบริการเดือนละ 100,000 บาท เดือนหนึ่งจะใช้งบ 7,000 ล้านบาท หรือปีหนึ่ง 84,000 ล้านบาททั่วประเทศหรืออาจน้อยกว่า

รัฐบาลอาจให้มีการสำรวจประชากร ให้ลงทะเบียนเฉพาะคนในหมู่บ้าน และจัดงบแบบต่อหัวก็ได้ ผลของการลงทะเบียนทำให้ประชากรทำให้เกิดกิจกรรมตามมา และคนในท้องถิ่นจริง ๆ ที่ได้ประโยชน์จากโครงการ

     4. ด้านการบริหารการจัดการ

การทุจริตเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นง่าย ๆ สำหรับประเทศไทย ระบบตรวจสอบและการลงโทษที่จริงจังจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องบริหารจัดการ ภายใต้คณะกรรมการหมู่บ้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันและภายใต้การกำกับดูแลของส่วนราชการแต่ละจังหวัด

เป้าหมายของการบริหารและการจัดการคือ การทำให้ “1 ครัว 1 หมู่บ้าน” เกิดความสุข เกิดประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในท้องถิ่น

นโยบายประชานิยมที่แจกเงินเปล่า ๆ ไม่ก่อให้เกิดการสร้างงานมากนัก เศรษฐกิจหมุนได้ไม่กี่รอบ ความคุ้มค่าจึงไม่มาก แต่หากให้เงินเพื่อการสร้างงานแบบ “เงินผัน” สร้างอาชีพ และสร้างอาหารเพื่อความอิ่มท้องย่อมสร้างความสุข และสร้างเศรษฐกิจที่หมุนรอบได้คุ้มค่ากว่า

นับสิบ ๆ ปีที่ผ่านมา หลายรัฐบาลต่างทุ่มเงินนับหมื่นล้าน นับแสนล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สุดท้ายคนในชนบทก็ยังตกอยู่ในวังวนของความยากจน มีอาหารไม่ครบมื้อ และยังต้องหนีตายดิ้นรนหางานในเมืองเศรษฐกิจอยู่ดี

“1 ครัว 1 หมู่บ้าน” จึงน่าจะตอบโจทย์เศรษฐกิจโดยตรง หากเริ่มในช่วง Covid-19 และหากทำให้เป็นโครงการยั่งยืน ความเครียดจากปัญหาปากท้องก็จะลดลงอย่างยั่นยืนตามไปด้วย

    แนวคิดเป็นเพียงแนวคิด และหากเข้าสู่โหมดการเมืองก็ย่อมมีการค้านเป็นธรรมดา แต่การศึกษาผลกระทบจากโครงการ หรือ PIA (Public Impact Assessment) จะเป็นคำตอบที่ดีเพื่อการเริ่มต้นของโครงการ

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

อ้างอิง https://www.isranews.org/thaireform/thaireform-data/74020-data.html

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

ท่าเรือชินโจว Hub ขนส่งสินค้าเชื่อมจีนตะวันตก

ปัจจุบัน ได้มีการลำเลียงรถจักรยานยนต์ ซิลิกอนสตีล โพลีไวนิลแอลกอฮอล์ (PVA) และวัสดุย้อมสี (Indigo blue) จากเขตฉางโซ่วในนครฉงชิ่งด้วยรถไฟมาถึงท่าเรือชินโจวเพื่อส่งออกไปยังเวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน อินโดนีเซีย และมาเลเซียแล้ว

“เส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก” (New Western Land-Sea Corridor – NWLSC /西部陆海新通道) เป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติที่รัฐบาลกลางใช้ส่งเสริมการพัฒนาภาคตะวันตกของจีน และมีบทบาทเป็นตัวเชื่อมยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม (BRI) และเขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Economic Belt)

“กลุ่มท่าเรืออ่าวเป่ยปู้” ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (ท่าเรือชินโจว ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และท่าเรือเป๋ยไห่) มีบทบาทสำคัญในยุทธศาสตร์ NWLSC เนื่องจากเป็น Hub เชื่อมระหว่างมณฑลทางภาคตะวันตกของจีนกับต่างประเทศเพื่อการนำเข้า-ส่งออกสินค้า ภายใต้โมเดลการขนส่ง “รถไฟ+เรือ”

เส้นทาง NWLSC ได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกในพื้นที่จีนตอนในเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ปริมาณการขนส่งตู้สินค้าของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ขยายตัวเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศจีน โดยเฉพาะผู้ประกอบการในนครฉงชิ่งและมณฑลเสฉวนได้หันมาใช้ประโยชน์จากโมเดลการขนส่งดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นแทนการขนส่งแบบเดิมที่ใช้การล่องผ่านแม่น้ำแยงซีเกียง (เข้า-ออกที่นครเซี่ยงไฮ้)

ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีปริมาณขนถ่ายสินค้า 42.87 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 16.56% และมีปริมาณขนถ่ายตู้สินค้า 5.7 แสนTEUs เพิ่มขึ้น 34.28%

หากเปรียบเทียบกับการขนส่งแบบเดิม การใช้เส้นทาง NWLSC ที่มีกว่างซีเป็น “ฮับ” นั้น มีความได้เปรียบกว่าทั้งเรื่องระยะทางและระยะเวลาการขนส่งสินค้าที่สั้นกว่ามาก สามารถควบคุมเวลาได้ดีกว่า การขนส่งมีความปลอดภัย สะดวกรวดเร็วกว่า และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า

ในแง่ประสิทธิภาพการขนส่ง ยกตัวอย่างการขนส่งจากนครฉงชิ่งกับกรุงจาการ์ตา (อินโดนีเซีย) จะใช้เวลาเพียง 20 วัน ซึ่งแบบเดิมใช้เวลามากกว่า 30 วัน

ในแง่ขั้นตอนการดำเนินการ เส้นทาง NWLSC มีขั้นตอนการขนส่งและขนถ่ายสินค้าที่สะดวกรวดเร็ว และขั้นตอนการผ่านพิธีการศุลกากรมีความราบรื่นมากกว่า

ณ วันที่ 22 มีนาคม 2563 การขนส่งสินค้าทางรถไฟในเส้นทาง NWLSC (ฉงชิ่ง-อ่าวเป่ยปู้) ได้มีการเปิดเดินรถแล้ว 144 ขบวน ขบวนรถไฟวิ่งสะสม 1,724 ขบวน มูลค่าการค้าต่างประเทศสะสมราว 940 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการค้าในประเทศ 4,460 ล้านหยวน สินค้าส่งออกไปยัง 222 ท่าเรือใน 92 ประเทศ/ดินแดนทั่วโลก สินค้ามีมากกว่า 300 ประเภท อาทิ รถยนต์และอะไหล่ยานยนต์ วัตถุดิบและเคมีภัณฑ์ สินค้าเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยา และอาหารสดแช่แข็ง

ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนของการขนส่งในรูปแบบ “ท่าเรือ+รถไฟ” คือ ประสิทธิภาพงานบริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีความปลอดภัย คล่องตัว และตรงเวลา รวมทั้งประหยัดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และต้นทุนการประกอบการของภาคธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น

การพัฒนาโครงข่ายเส้นทางรถไฟสำหรับการขนส่งสินค้ายังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง คาดว่า ในอนาคต “ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้” จะกลายเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าที่มีบทบาทสำคัญในเวทีการค้า เนื่องจากทำเลที่ตั้งที่ใกล้กับประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ประกอบการไทยที่สนใจขนส่งสินค้าไทยไปยังจีน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป ซึ่งปัจจุบัน ท่าเรือชินโจวมีเส้นทางเดินเรือไปยังท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยแล้ว

ที่มา : https://thaibizchina.com/

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.