CEO ARTICLE
มีได้-มีเสีย
“การสู้กับ Covid-19 ที่มี พรก. ฉุกเฉิน มีประชาชนล้มตาย ฆ่าตัวตาย และอดอยากจำนวนมาก หากให้อีกพรรคการเมืองหนึ่งมาเป็นรัฐบาล รับรองไม่มีคนอดอยากล้มตายมากขนาดนี้”
คำกล่าวลักษณะข้างต้นเกิดขึ้นในช่วงอภิปราย พรก. กู้เงิน 3 ฉบับที่ถูกกล่าวหาว่าสูงมากถึง 1.9 ล้านล้านบาท คนที่พอจะเข้าใจการเมืองฟังดูก็รู้ว่า “มันไม่ใช่” แม้บางคำพูดอาจจะดูเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้พอ ๆ กันก็ตาม
คนเป็นนักการเมืองต้องฉลาด ต้องรู้ แต่ทั้งที่รู้ ทำไมนักการเมืองของไทยจึงมักนำคำกล่าวลักษณะนี้มาตีกินเหมือนมองว่า ประชาชนที่ฟังไม่รู้อะไรเลย ….. ทำไม ???
ในยุคดึกดำบรรพ์ยังไม่มีหมู่บ้าน ไม่มีเมือง ไม่มีประเทศ มนุษย์อยู่กับทรัพยากรธรรมชาติ นึกจะใช้น้ำ ใช้ไม้ ใช้ป่า นึกจะสร้างบ้านตรงไหน หรือนึกอยากจะทำอะไรก็ทำได้ทันที
พอมนุษย์เริ่มรวมตัวกันเป็นกลุ่มและเป็นหมู่บ้าน การแย่งชิงทรัพยากรก็เกิดขึ้น คนที่มีความสามารถมากกว่าก็จะแย่งชิงได้มากกว่า ส่วนคนที่มีความสามารถน้อยกว่าก็แย่งชิงได้น้อยกว่า
วิวัฒนาการเป็นไปไม่หยุดยั้ง มนุษย์มีจำนวนมากขึ้น การแย่งชิงทรัพยากรก็ยิ่งมากขึ้น ในที่สุดระบบสังคมทำให้มนุษย์รวมตัวกันเป็นเมืองและเป็นประเทศ สร้างระบบการจัดสรรทรัพยากร และกำหนดให้ทรัพยากรต้องเป็นของคนในชาติอย่างเท่าเทียมกัน
สุดท้าย แต่ละประเทศก็สร้างที่มาของอำนาจทางการเมืองให้เกิดขึ้นเพื่อให้นักการเมืองใช้อำนาจนั้นเข้าจัดสรรทรัพยากรของชาติให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรม
ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ต่างกันของแต่ละประเทศจึงเป็นรากฐาน และเป็นที่มาของอำนาจทางการเมืองของแต่ละประเทศให้ต่างกันไปด้วย
ไม่ว่าประเทศใดจะปกครองด้วยระบบใด “ประชาธิปไตย ราชาธิปไตย เผด็จการ คอมมิวนิสน์ หรืออื่น ๆ” ต่างก็ต้องมีการเมืองและมีที่มาของอำนาจทางการเมืองตามรากฐานของตนทั้งสิ้น
หากไม่มีอำนาจทางการเมือง ทรัพยากรของชาติไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ในดิน สินในน้ำ คลื่นในอากาศ ป่าไม้ ข้าราชการ เงิน งบประมาณแผ่นดิน สิทธิประโยชน์ และอื่น ๆ อีกมาก ใครจะเข้ามาจัดสรรเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน
แต่ทุก ๆ สถานการณ์ ทุก ๆ วิกฤติที่เกิดขึ้น และทุก ๆ ทรัพยากรที่นักการเมืองจัดสรรลงไปเพื่อแก้ไขปัญหา มันย่อมมีประชาชนกลุ่มหนึ่งได้และกลุ่มหนึ่งเสีย
มันมีได้และมีเสียพร้อม ๆ กันตลอดเวลา ไม่มีได้ทั้งหมด ไม่มีเสียทั้งหมด ไม่มีข้อยกเว้น
ดังนั้น นักการเมืองที่ต้องการช่วงชิงอำนาจจึงพยายามนำด้านเสียโจมตี ประชาชนที่อยู่ในด้านเสียก็จะเข้าร่วมกับนักการเมืองที่ต้องการชิงอำนาจ ส่วนนักการเมืองอีกด้านก็จะคุยโวด้านดีและโจมตีด้านเสียไม่ต่างกัน มันเป็นเพียงเกมการชิงอำนาจและการรักษาอำนาจของ 2 ฝ่าย
“มนุษย์เราตามธรรมชาติแล้วเป็นสัตว์การเมือง” (Man is by nature a political animal) เป็นคำกล่าวของอริสโตเติล นักปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงที่ได้กล่าวไว้หลายร้อยปีแล้ว
คำถามที่ว่า ทำไมนักการเมืองจึงเอาแต่ด้านเสียมาตีกิน ???
คำตอบจึงเป็นเพราะว่านักการเมืองอยากได้ความนิยมจากประชาชนอีกกลุ่มที่อยู่ด้านเสียจากการจัดสรรทรัพยากร
BREXIT ของอังกฤษเป็นตัวอย่าง ก่อนหน้าประชามติ ประชาชนกลุ่มหนึ่งได้ผลประโยชน์ ส่วนอีกกลุ่มเสีย ถกเถียงกันไม่รู้จบว่าควรอยู่รวมในกลุ่มสหภาพ EU ต่อไปดีหรือไม่ ???
ในที่สุดนักการเมืองก็เสนอให้ทำประชามติเพื่อให้ตนได้คะแนนนิยม
พอวันนี้ BREXIT ได้คำตอบ คนอังกฤษก็เริ่มรู้ตัวแล้วว่า การตัดสินใจด้วยอารมณ์ทางการเมืองในเวลานั้นกำลังส่งผลเสียอย่างไรต่อประเทศอังกฤษและต่อตนเองในระยะยาว จนที่ผ่านมามีข่าวขอให้ชะลอการออกจาก EU และเสนอให้ลงประชามติใหม่เกิดขึ้น
อังกฤษเป็นต้นแบบที่มาของอำนาจทางการเมือง มีคนชอบนำมากล่าวอ้างแต่อารมณ์ของประชาชนอังกฤษที่มีได้และมีเสียกลับนำพาประเทศไปอย่างที่เห็น กว่าจะรู้ว่า “ได้จริงหรือเสียจริง” ก็คงอีกนาน
ประเทศไทยมีรากฐานแบบไทย มีที่มาของอำนาจทางการเมืองตามรากฐาน ช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 รัฐบาลใช้อำนาจนั้นแก้ไขวิกฤติ แน่นอนย่อมมีประชาชนได้และเสีย
วันนี้ คนติดเชื้อ Covid-19 ทั่วโลกทะลุ 6 ล้านคนแล้ว ประเทศไทยดีขึ้นก็จริง แต่ทั่วโลกแย่
สหรัฐใช้อำนาจทางการเมืองเลือกเศรษฐกิจก่อน ปล่อยประชาชนให้ติดเชื้อล้มตายจำนวนมาก ขณะที่ไทยใช้อำนาจนั้นเลือกปกป้องชีวิตก่อน เศรษฐกิจเยียวยาและแก้ไขภายหลัง
ไม่ว่าสหรัฐและไทยจะเลือกแบบใด ทั้ง 2 แบบย่อมส่งผลได้และเสียอย่างว่าเช่นกัน
นักการเมืองที่ต้องการอำนาจจึงใช้ส่วนเสียนี้ขึ้นมาโจมตี ขึ้นมาสัญญา ขึ้นมาเรียกคะแนนนิยมจากประชาชนที่อยู่กลุ่มเสีย
ใน พรก. กู้เงิน วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาทที่นักการเมืองกล่าวย้ำให้เข้าใจผิด แท้จริงแล้วเป็น พรก. ถึง 3 ฉบับ ไม่ใช่การกู้เงินที่ประชาชนต้องร่วมชดใช้ทั้งหมด
ฉบับที่ 1 วงเงิน 1 ล้านล้าน ใช้ในแผนงานทางการสาธารณสุข เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนผู้เดือดร้อนจาก Covid-19 การก่อหนี้จริง และประชาชนผู้เสียภาษีทั้งประเทศจึงต้องร่วมชดใช้จริง ส่วนอีก 2 ฉบับไม่ใช่
ฉบับที่ 2 วงเงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยนำไปปล่อยกู้ให้แก่ภาคธุรกิจ SMEs ดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือธุรกิจ ส่วนนี้จะได้คืนและประชาชนไม่ต้องร่วมชดใช้
ฉบับที่ 3 วงเงิน 4 แสนล้านบาทเพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ดูแลเสถียรภาพการเงิน และใช้ซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุน ส่วนนี้ก็ไม่เกี่ยวกับประชาชนที่ต้องร่วมชดใช้อีกเช่นกัน
การต่อ พรก. ฉุกเฉินออกไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 63 ก็เป็นอีกตัวอย่างที่นักการเมืองฝ่ายต้องการอำนาจนำด้านเสียซึ่งประชาชนส่วนหนึ่งได้รับมาโจมตีทั้งที่ทั่วโลกติดเชื้อมากขึ้นทุกวัน
ทั้ง พรก. กู้เงิน 3 ฉบับ ทั้งการต่อ พรก. ฉุกเฉิน และอื่น ๆ มันเป็นสิ่งแสดงการมีได้-มีเสีย และตอบคำถามที่ว่า นักการเมืองรู้ แต่ทำไมนักการเมืองของไทยกลับนำมาตีกินเรื่อยไป
นักการเมืองที่ดีก็มี การเลือกนักการเมืองจึงต้องพิจารณาจากพฤติกรรมที่นักการเมืองนั้นแสดงออกมา เขาทำเพื่อประโยชน์ประชาชน หรือเพื่อนายทุนเจ้าของพรรคกันแน่
ครุสเซฟ อดีตประธานาธิบดีโซเวียต เคยกล่าวไว้ว่า
“นักการเมืองเหมือนกันหมดไม่ว่าที่ไหน พวกเขาสามารถให้สัญญาที่จะสร้างสะพานได้แม้ในสถานที่ที่ไม่มีแม่น้ำ” (Politicians are the same all over. They promise to build a bridge even where there is no river.)
การดูการเมืองจึงไม่ต่างอะไรไปจากการดูหนัง ดูละครฉากหนึ่ง หากประชาชนรู้ เข้าใจ ไม่ตกเป็นเครื่องมือให้นักการเมืองนำส่วนเสียที่ตนได้รับไปตีกิน เพียงดูฝ่ายหนึ่งโจมตีเพื่อช่วงชิงอำนาจ และดูอีกฝ่ายตอบโต้เพื่อรักษาอำนาจ ยอมรับในส่วนที่ได้และส่วนที่เสีย ชีวิตคนมีได้ย่อมมีเสีย มันก็สนุกดีไปฉากหนึ่ง
แต่หากประชาชนลืมประวัติศาสตร์ ลืมวัฒนธรรม ลืมรากฐาน ไม่เข้าใจทุกสิ่งต้องมีได้ ต้องมีเสีย ไม่รู้บริบทสังคม และเลือกนักการเมืองแบบนี้ ประเทศไทยก็คงย่ำอยู่กับที่อย่างนี้ไปอีกนาน
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Logistics
“ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้” ช่องทางนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม
กลุ่มท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ของกว่างซี หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย” ประกอบด้วยท่าเรือฝางเฉิงก่าง ท่าเรือชินโจว และท่าเรือเป๋ยไห่ กำลังทวีบทบาทสำคัญในภูมิภาคจีนตะวันตก เนื่องด้วยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ในการเป็น “ทางออกสู่ทะเล” ที่สะดวกและรวดเร็วเพียงแห่งเดียวในภูมิภาคตะวันตก
อีกทั้ง ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ยังเป็นข้อต่อหลักในยุทธศาสตร์ “ระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” (New International Land-Sea Trade Corridor – ILSTC) ทำให้มณฑลทางภาคตะวันตกหันมาใช้ประโยชน์จากกลุ่มท่าเรือแห่งนี้มากขึ้นแบบก้าวกระโดด
จากข้อมูลพบว่า ปริมาณสินค้าส่งออกจากหลายมณฑลทางภาคตะวันตกผ่านท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อาทิ นครฉงชิ่ง มณฑลยูนนาน และมณฑลกุ้ยโจว โดยในไตรมาสแรกของปี 2563 ปริมาณการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้อยู่ที่ 53.34 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 20.95% (YoY) และปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์อยู่ที่ 9.24 แสนTEUs เพิ่มขึ้น 32.6% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในประเทศจีน
ปัจจุบัน มณฑลตอนในของจีนหันมาใช้ระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ + ราง” เพิ่มมากขึ้น กว่างซีได้พัฒนาระบบรางรถไฟให้สามารถวิ่งเข้าไปถึงเขตปฏิบัติการท่าเรือได้ครบทุกท่าเรือแล้ว และกำลังผลักดันให้มีการขนส่ง “เรือ + ราง” เที่ยวประจำในหลายเส้นทาง
นอกจากนี้ รัฐบาลกว่างซีอยู่ระหว่างการเร่งยกระดับประสิทธิภาพการขนส่งทางน้ำเพื่อรองรับปริมาณขนส่งสินค้าให้ได้มากยิ่งขึ้น เช่น โครงการขยายร่องน้ำเดินเรือเส้นตะวันออกในท่าเรือชินโจว ซึ่งคาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ภายในเดือนมิถุนายน 2563 โครงการพัฒนาท่าเรือชินโจวให้เป็นท่าเทียบเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์แบบอัตโนมัติ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ภายในเดือนสิงหาคม 2563 และโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ 2 ท่าในเขตปฏิบัติการท่าเรือเมืองฝางเฉิงก่าง ซึ่งจะสร้างก่อนภายในปี 2563
ตามรายงาน ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้แสดงความพร้อมในการขยายความร่วมมือกับสายเรือจากทั้งในและต่างประเทศที่มีอยู่เดิมและรายใหม่ เพื่อร่วมกันบูรณาการเส้นทางเดินเรือและการรวมสินค้าของสายเรือที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก ซึ่งช่วยเอื้อประโยชน์ระหว่างท่าเรือและสายเรือในการบูรณาการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ รัฐบาลกว่างซีได้กำหนดแผนการทำงานเพื่อยกระดับมาตรฐานด้านการนำเข้า-ส่งออกตู้คอนเทนเนอร์ของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ว่า เมื่อเทียบกับปี 2562 ขั้นตอนการนำเข้า-ส่งออกตู้คอนเทนเนอร์ของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ในภาพรวมจะต้องใช้ระยะเวลาและมีค่าใช้จ่ายลดลงมากกว่า 30% ภายในปี 2564 ซึ่งเป็นระดับมาตรฐานของท่าเรือชั้นนำในประเทศจีน และจะช่วยให้ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้นำเข้า-ส่งออกของไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทาง ILSTC ในการขนส่งสินค้ากับมณฑลทางภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันตกของประเทศจีนได้ ปัจจุบัน สายเรือ SITC (www.sitcline.com) มีบริการเดินเรือระหว่างท่าเรือแหลมฉบับ-ท่าเรือชินโจว ใช้ระยะเวลาในการขนส่งเพียง 3-5 วันเท่านั้น และเมื่อสินค้ามาถึงท่าเรือแล้ว สามารถกระจายสินค้าทางรถบรรทุกหรือทางรถไฟได้โดยตรง ซึ่งมีความสะดวกและรวดเร็วอย่างมาก
ที่มา : https://thaibizchina.com/
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!