CEO ARTICLE
เลือดข้นคนจาง
“พ่อ ….. ถ้าผมทำแบบนี้ พ่อจะแก้ปัญหาให้ผมอย่างไร ???”
เพื่อนสนิทของผม คุณเดชา รัชตรณชัย เจอคำถามข้างต้นจากลูก คุณรชต รัชตรณชัยจึงนำมาขอความเห็นจากเพื่อนต่อ เมื่อคดีของนายบอส วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทนักธุรกิจเครื่องดื่มบำรุงกำลังชื่อดังเป็นข่าวจนมีผู้วิจารณ์มากที่สุดในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
มันเป็นธรรมดาที่พ่อกับลูกชายทั่วไปจะสนทนากันด้วยเรื่องบ้านเมือง สมมุติท่านผู้อ่านถูกลูกชายตั้งคำถามข้างต้น ท่านจะตอบลูกว่าอย่างไร ?
ความแปลกประหลาดของเรื่องมีหลายประเด็น เช่น เรื่องเกิดขึ้นวันที่ 3 ก.ย. 2555 เกี่ยวพันหลายข้อหา แต่ทุก ๆ ข้อหาถูกปล่อยให้ขาดอายุความ จนเหลือข้อหาสุดท้ายคือ การขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิตทั้ง ๆ ที่จะหมดอายุความในปี 2570 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า
แต่อัยการกลับสรุปคดีสั่งไม่ฟ้องวันนี้ในปี 2563 และสำนักงานตำรวจก็ไม่คัดค้าน หลายคนอาจสงสัย คำว่า “ตำรวจ” พอจะเข้าใจ แต่ “อัยการ” คือใคร แล้วมาเกี่ยวเรื่องนี้ได้อย่างไร ?
ในด้านกฎหมาย ผู้ถูกละเมิดจากเรื่องนี้มี 2 ส่วน คือหนึ่ง “ผู้เสียชีวิต” ซึ่งครอบครัวได้รับความเสียหาย และสอง “แผ่นดิน” ซึ่งถูกละเมิดด้านความสงบสุขของประชาชน
คำว่า “แผ่นดินถูกละเมิดความสงบสุข” หากจะกล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ ประเทศหนึ่ง ๆ มีแผ่นดิน มีผู้ปกครองแผ่นดิน มีทรัพยากรของแผ่นดิน และมีประชาชนผู้อยู่อาศัยบนแผ่นดิน
เป้าหมายของการปกครองแผ่นดินคือ ความสงบสุขของประชาชนบนแผ่นดิน
ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่จึงมีกฎหมายอาญาเพื่อปกป้อง และคุ้มครองความสงบสุข ตำรวจเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายอาญา หากพบความผิดทางอาญา หรือการละเมิดความสงบสุขของ “แผ่นดิน” ตำรวจต้องจับกุมตามอำนาจหน้าที่ ทำสำนวนให้ความคิดเห็น และเสนอให้สำนักงานอัยการเป็นโจทย์ของแผ่นดินในการฟ้องร้องผู้ทำผิด
การทำให้ “แผ่นดิน” เสียหายจึงขัดต่อกฎหมายอาญาที่ยอมความกันไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น หากการละเมิด “แผ่นดิน” ทำให้บุคคลใดเสียหาย บุคคลนั้นหรือครอบครัวของผู้เสียหายก็ยังสามารถขอเข้าร่วมเป็นโจทย์กับอัยการฟ้องผู้ทำผิดตามกฎหมายอาญาได้อีกด้วย
สำนักงานอัยการจึงมีความสำคัญสูงสุด เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล เป็นทนายของแผ่นดิน เป็นที่พึ่งและความหวังของประชาชน เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายอื่น ๆ ที่มีผลต่อความสงบสุขของประชาชนทั้งแผ่นดิน
ทั้งหมดนี้เป็นไปตามมาตรา 14 พรบ. องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553
การเสียชีวิตของ ด.ต. วิเชียร กลั่นประเสริฐ ขณะปฏิบัติหน้าที่ทำให้ครอบครัวเดือดร้อนจึงสามารถฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายอาญาได้
แต่จากข่าวทำให้ทราบว่า ตำรวจได้ตั้งข้อหาผู้เสียชีวิตให้เป็นผู้ทำผิดร่วมในฐานขับขี่รถด้วยความประมาทให้เป็นจำเลยร่วมโดยยังไม่มีการฟ้องเพื่อพิสูจน์ในชั้นศาลว่าจริงหรือไม่ และครอบครัวได้รับเงินเยียวยาไปแล้วโดยจะไม่ฟ้องร้องอีก
ในชั้นนี้ การฟ้องร้องจึงเหลือแต่ “แผ่นดิน” ที่ถูกละเมิดด้านความสงบสุขโดยอัยการต้องลุกขึ้นมาทำหน้าที่เป็นโจทย์ในการฟ้องร้องตาม พรบ. อัยการที่กล่าวถึง ซึ่งชาวบ้านมักพูดว่า “ปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าของมัน” นั่นล่ะ
เงินเยียวยาที่ได้รับก็เรื่องหนึ่ง การฟ้องร้องของอัยการก็เป็นอีกเรื่องและเป็นความหวังทั้งของผู้เสียหายและของประชาชนที่อยากเห็นความยุติธรรมอันจะนำมาซึ่งความสงบสุข
แต่สุดท้ายก็พังทลายลงเพียงเพราะอัยการสั่งไม่ฟ้องโดยไม่มีเหตุผลที่น่ารับฟังในครั้งนี้
การวิจารณ์คล้ายไฟลามทุ่ง บ้างก็ว่าตำรวจและอัยการรู้กัน บ้างก็ว่านักการเมืองมีส่วนรู้มิฉะนั้นข้าราชการประจำที่ไหนจะกล้าทำเช่นนี้ บ้างก็ว่าถึงรัฐบาลเป็น 2 มาตรฐานที่เข้าทางฝ่ายต่อต้าน และบ้างก็ว่าหากนายกรัฐมนตรียังปล่อยให้ตำรวจกับอัยการออกมาแก้ข่าว ออกมาสอบกันเองก็เสียกันใหญ่ ทำมาถึงขนาดนี้แล้ว ใครจะปล่อยให้เสียของ
แผ่นดินและความสงบสุขถูกละเมิดอย่างแรง ระบบยุติธรรมไม่ได้รับความเชื่อถือจนถูกล้อเลียนในสังคมโซเซียลจนประเทศไทยกลายเป็นตัวตลก
ตำรวจและอัยการดี ๆ ก็มีมาก คณะรัฐมนตรีและข้าราชการผู้มีความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองสูงก็มีไม่น้อย แต่ต่างต้องอับอายด้วยเรื่องเช่นนี้จากเด็กหนุ่มคนหนึ่ง
นายกรัฐมนตรีถือเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดที่จะรักษากฎหมาย ผ่านไปไม่กี่วัน นายกฯ ก็สั่งให้สอบเรื่องนี้ หากผลสอบออกมาไม่สะท้อนความจริง ไม่เป็นไปตามที่สังคมคาดหวัง มันไม่แน่ว่ารัฐบาลอาจล้มได้เพราะเด็กหนุ่มคนหนึ่งจากการเลี้ยงดูของครอบครัวหนึ่งจริง ๆ
เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประเทศไทย แต่ไม่เคยร้ายแรงเท่าครั้งนี้
“พ่อ ….. ถ้าผมทำแบบนี้ พ่อจะแก้ปัญหาให้ผมอย่างไร ???” คำถามปรัชญานี้น่าคิด
ไม่ว่าอย่างไรเลือดก็ข้นกว่าน้ำ คำถามจึงมีคำตอบหลากหลายที่ไม่น่าจะถูกใจคนทุกคน ครอบครัวส่วนใหญ่มักสอนลูกให้เป็นคนดี มีจริยธรรม แต่การปล่อยเรื่องให้พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินขนาดนี้ มันดูคล้าย ๆ กับเลือดข้นดีอยู่แล้ว แต่ครอบครัวหรือคนต่างหากที่ทำให้เลือดและจริยธรรมจางลง
พอมีคำว่าครอบครัว (Family) ก็ต้องมีคำว่าพ่อ (Father) และมีคำว่าลูก (Son) แล้วคุณเดชาเจ้าของคำถามข้างต้นก็นำคำของ Marcus Aurelius ในภาพยนต์เรื่อง Gladiator (2000) ที่ถูกลูกบุญธรรมสังหารขึ้นมาโพสต์คล้ายเป็นแนวทางของคำตอบ ประโยคนั้นกล่าวว่า
“Your faults as a son is my failure as a father”
“ความผิดพลาดของเจ้าผู้เป็นลูกคือ ความล้มเหลวในการเลี้ยงดูของข้าฯ ผู้เป็นพ่อ”
หากคำกล่าวนี้พอจะเป็นแนวทางคำตอบได้ การอบรมของครอบครัวหรือของพ่อคนหนึ่งก็คือผลของลูกในวันนี้ที่ก่อเรื่องให้บานปลายใหญ่โต กระทบต่อระบบยุติธรรมของประเทศ ทำให้ประชาชนทั้งแผ่นดินสิ้นหวัง สร้างความเดือดร้อนให้แก่รัฐบาลจนอาจล้มได้อย่างไม่น่าเชื่อก็ได้
เลือดอย่างไรก็ย่อมมีความข้น แต่คนต่างหากที่ทำให้เลือดและจริยธรรมนั้นจางลงจนเรื่องบานปลาย
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Logistics
จีน-อาเซียนเห็นพ้องกระชับความร่วมมือขนส่ง-โลจิสติกส์ ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19
นายหลี่ เสี่ยวเผิง รัฐมนตรีกระทรวงคมนา
นายหลี่กล่าวในการประชุ
“ประเทศในภูมิภาคควรใช้
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นายหลี่ยังได้เรียกร้องให้ทุกฝ่
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!