CEO ARTICLE
รัฐสภา
“Government of the people, by the people, for the people shall not perish from the Earth.”
รัฐบาลเป็นของประชาชน โดยประชาชนเป็นเจ้าของผู้เลือกมา และเพื่อทำงานให้กับประชาชน หากรัฐบาลมีครบถ้วน 3 ข้อก็ไม่มีวันสูญหายไปจากโลกนี้
คำข้างต้นเป็นแนวคิดของ อับราฮัม ลินคอล์น อดีตประธานาธิบดีคนที่ 19 ของสหรัฐ
หากรัฐบาลจะทำงานเพื่อประชาชนให้ได้ประโยชน์ตามแนวคิดนี้ ประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีสถานที่ให้ประชาชนทั้งประเทศมาแสดงความต้องการ แสดงความคิดเห็น ออกกฎหมาย และลงมติเพื่อให้รัฐบาลนำไปทำงานสนองต่อประชาชน
ประเทศยิ่งมีประชาชนมาก เป็นสิบ เป็นร้อยล้าน การหาสถานที่รองรับให้ได้ทั้งหมดก็ยิ่งเป็นสิ่งจำเป็น แต่ในความจริงเป็นไปไม่ได้
ในที่สุด ประชาธิปไตยจึงออกแบบให้ประชาชนแต่ละเขตเลือกนักการเมืองให้เป็นผู้แทนเพื่อทำหน้าที่นี้แทนตน นักการเมืองที่เป็นผู้แทนฯ จึงเป็นผู้รับมอบอำนาจจากประชาชนแต่ละเขต
ส่วนสถานที่ที่ให้นักการเมืองเข้ามาทำหน้าที่แทนประชากรคือ “รัฐสภา”
รัฐสภาจึงเป็นสถานที่แสดงความคิดเห็น แสดงความต้องการ ออกกฎหมายให้รัฐบาลปฏิบัติ นำกฎหมายมาบังคับใช้กับประชาชน ลงมติ ตรวจสอบรัฐบาล เป็นสัญลักษณ์ของประเทศในระบอบประชาธิปไตย เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นศักดิ์ศรี
เมื่อใดประเทศเกิดวิกฤติ มีความขัดแย้งในหมู่ประชาชน รัฐสภาจะเป็นสถานที่แก้ไข
การพูด และการแสดงออกในรัฐสภาจึงต้องสุภาพ มีหลักการ เหตุผล ภายใต้กฎหมาย และอีกนัยหนึ่งก็เป็นการสะท้อนพฤติกรรมของประชากรในเขตที่เลือกนักการเมืองนั้นมา
แต่ในความจริง นักการเมืองแต่ละท่านก็อาจไม่สะท้อนตัวตน พฤติกรรม และความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในเขตนั้นก็ได้ด้วยเหตุที่มาของนักการเมืองจาก 2 ปัจจัยด้วยกัน
1. ความรู้ ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนแตกต่างกัน การเลือกนักการเมืองจึงอาจเกิดจากเหตุปัจจัยอื่นจนไม่สามารถสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชนผู้เลือกได้
2. คะแนนเสียงที่ได้ อาจไม่ใช่จำนวนเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนในเขตเลือกตั้ง เช่น เขตหนึ่งมีประชากร 150,000 คน มีนักการเมืองสมัคร 4 คน แต่มีประชาชนมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 100,000 คน
สมมุติ คนที่ 1 ได้ 10,000 คนที่ 2 ได้ 20,000 คนที่ 3 ได้ 30,000 และคนที่ 4 ได้ 40,000
นักการเมืองคนที่ 4 ที่ได้ 40,000 คะแนน ได้เป็นผู้แทนในเขตนั้น แต่มีประชากร 60,000 คนเลือกนักการเมืองอื่น และอีก 50,000 คนไม่มาลงคะแนน
คนที่ได้คะแนน 40,000 จึงไม่อาจเป็นตัวแทนของคน 150,000 ที่แท้จริงในเขตนั้นได้ เป็นต้น
ในหลายกรณี ประชาชนในเขตเลือกตั้งจึงเกิดการไม่ยอมรับนักการเมืองได้ง่าย ๆ
ด้วยเหตุนี้ ในกรณีเรื่องสำคัญ รัฐบาลจึงต้องกลับไปถามประชาชนด้วยการทำประชามติ เช่น ประเทศอังกฤษทำประชามติเพื่อออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ BREXIT ในวันที่ 23 มิ.ย. 2559 (2016) และได้คะแนนเห็นชอบอย่างเฉียดฉิวร้อยละ 51.90
การทำประชามติถามประชาชนโดยตรงแม้จะได้คะแนนเฉียดฉิว แต่ดูอย่างไรก็ดีกว่าการใช้รัฐสภาลงมติ
การทำประชามติใช้เงินมหาศาล และหากประชาชนแบ่งเป็น 2 ฝ่าย มีความคิดแตกแยกกันมาก เสียงชนะก็อาจเฉียดฉิวจนพาประเทศให้เสียหายได้ เช่น BREXIT ที่ความคิดแตกแยกในตอนต้น
ภายหลัง BREXIT ความเชื่อมั่นต่ออังกฤษลดลง ค่าเงินปอนด์ตกหนัก คนอังกฤษสับสน เริ่มไม่แน่ใจกับอนาคตของตน แม้ด้านดีจะมี แต่ระยะยาว อังกฤษจะขาดสิทธิประโยชน์จากสหภาพยุโรป ขาดแคลนแรงงานที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจมากขึ้น (https://brandinside.asia/brexit-analysis/)
ประเทศไทยก็เคยทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 มีคนเห็นชอบ 16,820,402 คน คิดเป็นร้อยละ 61.35 และไม่เห็นชอบ 10,598,037 คน คิดเป็นร้อยละ 36.83 แม้ผลคะแนนจะดูไม่เฉียดฉิวแบบ BREXIT แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ก็เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเรื่อยมา
แล้ววันนี้ ประเทศไทยกลับมาอยู่ในความขัดแย้งใหญ่อีกครั้ง ทั่วโลกเป็นห่วง จับตามอง และไม่รู้ว่าความขัดแย้งนี้จะลุกลามไปทั่วทั้งประเทศหรือไม่ ?
การใช้เวทีรัฐสภาแก้ไขเพื่อให้นักการเมืองที่เป็นผู้แทนฯ พูดจากัน และแก้ปัญหาร่วมกันแทนคู่ขัดแย้งจึงถือเป็นทางออกที่ดีตามแนวคิดประชาธิปไตยของอับราฮัม ลินคอล์น
แต่หากการใช้รัฐสภาครั้งนี้ไม่ได้ประโยชน์อะไร กลายเป็นการซ้ำเติม ไม่มีทางออก ไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน ความขัดแย้งจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น สุดท้ายก็อาจตามมาด้วยการทำประชามติ
ไม่มีใครรู้ว่า ความขัดแย้งครั้งนี้จะจบลงด้วยการลาออก การยุบสภา หรือประชามติ แต่ที่แน่ ๆ คือ การคงสภาพการเมืองเดิมไว้มีข้อเสีย และการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะไปทางไหนก็มีข้อเสียไม่ต่างไปจาก BREXIT ของอังกฤษที่เป็นต้นแบบประชาธิปไตยและเป็นตัวอย่างให้เห็น
ปัจจัยเดียวจึงอยู่ที่ประชาชนจะยอมรับข้อดีและข้อเสียแต่ละด้าน ยอมฟังความคิดต่าง ยอมลดความขัดแย้ง และยอมให้รัฐสภาเป็นสถานที่แก้ปัญหาตามระบอบประชาธิปไตยได้มากน้อยเพียงใดเท่านั้น
มิฉะนั้นแล้ว การใช้เวทีรัฐสภาหรือการทำประชามติก็จะไม่มีประโยชน์อะไรจนไม่มีนักการเมืองใดและรัฐบาลไหนสามารถทำงานให้กับประชาชนตามแนวคิดของอับราฮัม ลินคอล์น ได้อีกต่อไป
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Logistics
จีนกับนวัตกรรมทางด้านโลจิสติกส์ – IoV (Internet of Vehicle)
ด้วยระบบไอทีที่ทันสมัยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง การสื่อสารความเร็วสูง การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การเชื่อมโยงข้อมูล ที่ไม่อาจมีอะไรกั้นขวาง นี่คือโลกของ IOT – Internet of Things ที่ทำให้ทุกสิ่งอย่างสามารถเชื่อมต่อกับโลกของอินเทอร์เน็ตและมีความสามารถที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างเฉลียวฉลาดมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีเฉพาะในรถยนต์ IoV หรือ Internet of Vehicle ที่ไม่ได้เป็นเพียงการสื่อสารระหว่างรถยนต์กับรถยนต์ หรือรถยนต์กับอุปกรณ์แวดล้อมต่างๆ เท่านั้น หากแต่เป็นการนำไปสู่การเพิ่มความปลอดภัยทางถนน การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ และระบบโลจิสติกส์ที่มีเสถียรภาพ
ในประเทศจีน เทคโนโลยี IoV ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างมาก โดยล่าสุด มณฑลหูหนานได้รับอนุมัติให้จัดตั้ง “เขตนำร่องอินเทอร์เน็ตของรถยนต์ระดับประเทศ” ตามข่าวด้านล่าง
( อ้างอิงจาก https://thaibizchina.com )
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 กรมอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศมณฑลหูหนานเปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีนได้อนุมัติให้นครฉางซา มณฑลหูหนาน จัดตั้ง “เขตนำร่องอินเทอร์เน็ตของรถยนต์” (Internet of Vehicles: IoV) ระดับประเทศ นับเป็นเขตนำร่องฯ ระดับชาติแห่งที่สามต่อจากเมืองอู๋ซี มณฑลเจียงซู และเขตซีชิง นครเทียนจิน ที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเขตนำร่องลักษณะเดียวกันมาแล้วก่อนหน้านี้
อินเทอร์เน็ตของรถยนต์ (IoV) เป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรุ่นใหม่ เช่น อินเทอร์เน็ต บิ๊กดาต้า (Big Data) และคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) เชื่อมต่อเครือข่ายระหว่างรถยนต์กับรถยนต์ รวมถึงผู้คน ถนน และแพลตฟอร์มบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับความอัจฉริยะและความสามารถในการขับเคลื่อนอัตโนมัติของรถยนต์อัจฉริยะ
สำหรับการจัดตั้งเขตนำร่องอินเทอร์เน็ตของรถยนต์ระดับประเทศของจีนในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์อัจฉริยะ (Intelligent Connected Vehicles: ICV) ให้เติบโตไปอีกขั้นภายหลังการประกาศ “แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรม IoV” ของกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีนเมื่อเดือนธันวาคม 2561 โดยเขตนำร่อง IoV ของมณฑลหูหนานได้รับการกำหนดภารกิจสำคัญ ได้แก่
ขยายการเชื่อมโยงเครือข่ายอัจฉริยะกับถนนของมณฑล โดยเชื่อมโยงเครือข่าย Cellular Vehicle-to-Everything (C-V2X) ซึ่งเป็นระบบการสื่อสารที่รถยนต์อัจฉริยะใช้เชื่อมต่อกับระบบอัจฉริยะอื่น ๆ ในการขับเคลื่อนรถยนต์ กับถนนในเมืองและทางด่วนสำคัญของมณฑล ควบคู่ไปกับการสร้างสถานีฐาน 5G และเมืองอัจฉริยะ เพื่อปรับปรุงการใช้งานและยกระดับความสามารถของระบบหลักในการเชื่อมต่อการสื่อสารกับระบบอัจฉริยะอื่น ๆ สำหรับการขับเคลื่อนรถยนต์
เช่น สัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะ และอุปกรณ์เครือข่ายอัจฉริยะที่ติดตั้งตามถนน
ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้อุปกรณ์อัจฉริยะที่หลากหลาย เช่น การพัฒนาอุปกรณ์ควบคุมการส่งสัญญาณอัตโนมัติ (Transmission Control Unit) และส่งเสริมให้รถขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ และรถแท็กซี่ ติดตั้งอุปกรณ์อัจฉริยะเพื่อใช้งานเป็นกลุ่มแรก
ปรับปรุงระบบการจัดการความปลอดภัยและระบบพิสูจน์ความถูกต้อง รวมถึงสร้างแพลตฟอร์มบริการคลาวด์ที่เชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูล
อนึ่ง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นครฉางซาได้ดำเนินการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์อัจฉริยะอย่างต่อเนื่อง โดยมี “พื้นที่ทดสอบรถยนต์อัจฉริยะแห่งชาตินครฉางซา” (National Intelligent Connected Vehicle (Changsha) Testing Zone) เป็นศูนย์กลางการพัฒนาที่สำคัญ ซึ่งรวมถึงการทดลองวิ่งรถเมล์อัจฉริยะบนถนนสาธารณะความยาว 7.8 กิโลเมตร ทางด่วนอัจฉริยะความยาวเกือบ 100 กิโลเมตร และพื้นที่ทดสอบรถยนต์อัจฉริยะในตัวเมืองนครฉางซาขนาด 100 ตารางกิโลเมตร
นอกจากนี้ ในปี 2563 นครฉางซายังได้เปิดให้บริการรถเมล์อัจฉริยะสาย 315 ซึ่งเป็นรถเมล์อัจฉริยะสายแรกของจีน และ RoboTaxi รถแท็กซี่อัจฉริยะ ปัจจุบัน นครฉางซาได้สร้างสถานีฐาน 5G กว่า 35,000 แห่ง และกลายเป็นแหล่งรวมอุตสาหกรรมรถยนต์อัจฉริยะ โดยมีวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดังกล่าวรวม 347 บริษัท ในจำนวนนี้ มีบริษัทรถยนต์อัจฉริยะชั้นนำกว่า 20 ราย เช่น หัวเหวย ไป่ตู้ และแชฟฟ์เลอร์ อีกทั้ง ในอีก 3 ปีข้างหน้า นครฉางซามีแผนจะปรับปรุงรถเมล์ 7,444 คันให้เป็นรถเมล์อัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติทั้งหมด
ที่มา: http://www.hn.chinanews.com/news/sxdt/2020/1015/399430.html และhttps://new.qq.com/omn/20201014/20201014A0I9LW00.html
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!