CEO ARTICLE
เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้
“จ่อลงทุนในไทยเย้ยโควิด”
สัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยรัฐนำผลสำรวจของธนาคารไทยพาณิชย์ 170 ตัวอย่างเป็นบริษัทจีนขนาดกลางและใหญ่ จำนวน 2 ใน 3 สนใจลงทุนในไทยหลัง Covid-19 อีก 1-2 ปีข้างหน้า และร้อยละ 60 เป็นกลุ่มที่ไม่เคยลงทุนหรือทำธุรกิจในประเทศไทยมาก่อน
ข้อมูลและสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ทำให้นึกถึงละคร “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้” ที่โด่งดังขึ้นมา
เนื้อหาของละครเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1930 หรือ พ.ศ. 2473 ในนครเซี่ยงไฮ้ของจีน เรื่องราวมีแต่สิ่งผิดกฎหมาย บ่อน แก๊งครองเมือง และการฆ่าที่สร้างความวุ่นวายให้แก่ประชาชน
หากรัฐบาลยังปล่อยให้บ้านเมืองมีแต่บ่อน การลักลอบเข้าเมือง และการทุจริตอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ปัญหาประเทศและประชาชนก็จะวุ่นวายไม่รู้จบใกล้เคียงกับละคร
หลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนจีนเข้าไทยจำนวนมาก เกิดโรงงาน ชุมชนคนจีน ภัตราคาร ร้านอาหาร ร้านค้า ผู้ให้บริการท่องเที่ยว และสถานบันเทิงของคนจีนครบวงจรเป็นดอกเห็ด
คนยากจนทางใต้ของจีนเข้าไทยเพื่อทำงานบริการทั้งถูกและผิดกฎหมาย
ไม่ใช่แต่คนจีนเท่านั้น คนชาติอื่น และแรงงานประเทศเพื่อนบ้านก็เข้าไทยทั้งถูกและผิดกฎหมายไม่ต่างกัน และเกิดเป็นชุมชนของแต่ละชนชาติ
คนต่างชาติที่เข้ามามีทั้งคนดีที่ทำอาชีพสุจริต และคนไม่ดีที่ทำอาชีพผิดกฎหมาย
คนที่เข้าไทยเพื่อลงทุน ทำการค้า หรือทำงานต่างก็มีเป้าหมายเพื่อกำไร เพื่อทำงาน และเพื่อความอยู่รอด ขณะที่ประเทศไทยก็มีเป้าหมายทางเศรษฐกิจ
คนต่างชาติที่ดี ตั้งใจทำงาน ทำทุกอย่างตามที่กฎหมายกำหนดคือคนที่ทำให้เป้าหมายของตนและของไทยบรรลุร่วมกัน
ตรงกันข้าม คนต่างชาติที่ไม่ดี ไม่ว่าเข้ามาอย่างถูกหรือผิดกฎหมาย พยายามทำทุกอย่างเพื่อกำไรของตนจนเกิดบ่อน สถานบันเทิง และสิ่งผิดกฎหมายที่ตามมาด้วยข่าวการทุจริต แก๊งอุ้มเรียกค่าไถ่ ข่าวการหักหลัง และข่าวฆ่ากันเองของคนต่างชาติให้เห็นเป็นระยะคือสิ่งพิสูจน์
แล้วอยู่ ๆ ต้นปี 2563 ทุกอย่างก็ยุติลง “ไม่ใช่ถูกรัฐบาลปราบ”
แต่ถูก Covid-19 กวาดเรียบทั้งทั่วโลกและไทย ธุรกิจทั้งถูกและผิดกฎหมายหยุดชะงัก คนต่างชาติไม่ว่าดีและไม่ดีอยู่ไม่ได้ กลับไปกักตัวในประเทศตน บางส่วนกักตัวในไทย
หาก Covid-19 ไม่มาปราบ สังคมไทยก็อาจมีสภาพคล้าย “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้” หรืออาจมี “เจ้าพ่อหงสา” หรือ “เจ้าแม่เวียงจันทร์” หรืออีกหลาย “เจ้าพ่อเจ้าแม่” เกิดขึ้นก็ได้
กลางปี 2563 Covid-19 ในไทยคลายตัว การลักลอบเข้าไทยและบ่อนกลับคืนมาโดยคนส่วนใหญ่ไม่รู้ แล้วอยู่ ๆ ต้นปี 2564 Covid-19 ก็แพร่ระบาดรอบใหม่ที่หนักกว่าเดิม
การตรวจสอบพบว่าต้นเหตุมาจากแรงงานลักลอบเข้ามา มีการทุจริตโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เชื้อแพร่ไปสู่บ่อน สถานบันเทิง และกระจายเป็นวงกว้างเข้าสู่วงการต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว
เจ้าหน้าที่รัฐแต่ละฝ่ายโยนกันไปมา สุดท้ายตำรวจถูกสั่งให้ปราบบ่อนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดรอบใหม่จนคนทั่วประเทศตกใจที่รู้ว่า “บ่อนมีมากจริง” คนในชุมชนรู้ แต่ฝ่ายความมั่นคงและรัฐบาลไม่รู้ หากไม่มี Covid-19 รอบใหม่คงดูไม่ออก “แต่ตอนนี้ดูออกแล้ว”
การปราบบ่อนครั้งนี้จึงไม่น่าจะใช่การปราบบ่อนที่แท้จริง อย่างนี้ใคร ๆ ก็มองออกว่า หลัง Covid-19 หากรัฐบาลกลับไปเพิกเฉยอีก บ่อนจะกลับอีกแน่ และการทุจริตไม่หมดไปแน่
ระหว่างการปราบบ่อน ข่าวการลักลอบเข้าไทยยังมีต่อเนื่อง กลุ่มหนึ่งหนี Covid-19 กลับประเทศตน อีกกลุ่มลักลอบเข้ามาเติม มันต่อเนื่อง ไม่ได้หยุดทั้งที่การแพร่ระบาดยังน่ากลัว
ศักยภาพของไทยดีอยู่แล้ว คนชาติอื่นก็อยากเข้ามา หากอีก 1-2 ปี นักลงทุนจีนเข้าไทยจริงตามการสำรวจ ชนชาติอื่นก็เข้ามา หากรวมกับทั้งแรงงานที่เข้ามาอย่างถูกและผิดกฎหมาย บ่อน สถานบันเทิง และสิ่งผิดกฎหมายอื่นก็ต้องวนกลับมาแต่มีความซับซ้อนมากขึ้น
รัฐบาลควรฉวยโอกาสจาก Covid-19 ระลอกใหม่คร้งนี้ ควรทำให้บ่อนและการลักลอบเข้าเมืองเป็นวาระแห่งชาติ แก้ไขกฎระเบียบเพื่อลงโทษเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่พัวพันการลักลอบเข้าเมือง บ่อน และสิ่งผิดกฎหมาย ไม่ใช่แค่เด้ง ไม่ใช่แค่สั่งย้าย แต่ต้องไล่ออกจากราชการ ยึดทรัพย์ และดำเนินคดีอาญาให้เร็ว ให้ถึงที่สุดซึ่งเป็นสิ่งที่ข้าราชการทุกคนกลัว
ส่วนนักลงทุนที่ทำธุรกิจผิดกฎหมายก็ต้องเพิ่มโทษให้มากขึ้น
หากรัฐบาลไม่จัดการอย่างจริงจัง วันนั้นบ้านเมืองก็อาจมีเจ้าพ่อหงสา เจ้าแม่เวียงจันทร์ เจ้าพ่อเจ้าแม่อื่นเคียงข้าง “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้” ขึ้นมาจริง ๆ ก็ได้
คนทำผิดกฎหมายจะร่าเริง ส่วนคนต่างชาติและคนไทยที่ใฝ่สุจริตจะอยู่ลำบากยิ่งขึ้น
คำตอบเห็นอยู่ตรงหน้า ไม่ต้องใช้วิสัยทัศน์ให้มากมาย ทุกอย่างจึงอยู่ที่รัฐบาลจะทำในวันนี้ให้จริงจังมากกว่านี้และให้เร็วกว่านี้หรือไม่เท่านั้น
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : January 12, 2021
Logistics
การเดินรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรปจากหูหนานเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว โตสวนพิษโควิด-19
บริษัท China Railway Guangzhou เปิดเผยข้อมูลสถิติรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป (China-Europe Railway Express) ที่เดินรถออกจากมณฑลหูหนานในปี 2563 ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 437 ขบวน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 เกือบเท่าตัว นับเป็นการเติบโตที่ “สวนกระแส” ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19
มณฑลหูหนานมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตรอยต่อระหว่างพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกกับพื้นที่ตอนกลางและตะวันตกของจีน ส่งผลให้หูหนานสามารถขยายเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าไปทวีปยุโรปได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มณฑลหูหนานมีเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าไปยังยุโรปแล้ว 4 เมือง ได้แก่ นครฉางซา เมืองหวยฮั่ว เมืองจูโจว และเมืองเหิงหยาง โดยนครฉางซาเปิดขบวนรถไฟขนส่งสินค้าไปกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 ต่อมาเมืองหวยฮั่วจึงเปิดขบวนรถไฟขนส่งสินค้าไปยังกรุงมินสก์ ประเทศเบลารุส เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 ตามมาด้วยเมืองจูโจวที่เปิดขบวนรถไฟขนส่งสินค้าไปยังกรุงมินสก์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 และล่าสุด เมืองเหิงหยางเปิดขบวนรถไฟขนส่งสินค้าไปยังเมือง Biklyan ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ส่งผลให้ปัจจุบัน รถไฟขนส่งสินค้าหูหนาน-ยุโรปมีเส้นทางเดินรถกว่า 10 เส้นทางและมีจุดหมายปลายทางครอบคลุม 30 ประเทศในทวีปยุโรปและเอเชีย
การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์และระยะเวลาการขนส่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้บริษัทบางแห่งในมณฑลหูหนานไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบหรือส่งออกสินค้าได้ ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้และการย้ายฐานการผลิต ศูนย์ขนส่งนครฉางซาในสังกัดของ China Railway Guangzhou Group จึงประสานงานกับคู่ค้าต่างประเทศสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์การผลิตของลูกค้าและจัดลำดับความสำคัญในการขนส่ง เพื่อช่วยเหลือการส่งออกสินค้าของมณฑลหูหนานและส่งเสริมการดำเนินงานของรถไฟขนส่งสินค้าหูหนาน-ยุโรปในภาวะที่มีความท้าทายยิ่งนี้
ที่มา : https://thaibizchina.com/
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!