CEO ARTICLE
ผลักดัน AEC
“ไบเดนเป็นอันตรายต่อดุลอำนาจโลกมากกว่าทรัมป์”
Post Today ขึ้นหัวข่าวข้างต้นเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 63 และภายหลังโจ ไบเดนชนะการเลือกตั้ง ก็ยังนำ “คำข้างต้น” มากล่าวซ้ำอีกในบทความของวันที่ 20 ม.ค. 64
เหตุผลหลัก ๆ คือ “ไม่ว่าอย่างไร สหรัฐก็ต้องเป็นที่ 1 ของโลกให้ได้”
ในความเป็นที่ 1 สหรัฐต้องมีพันธมิตร และประเทศที่จะเป็นพันธมิตรของสหรัฐได้ต้องเป็น “ประเทศโลกเสรี” (Free World) ส่วนไทยถูกมองว่า “ไม่เสรี”
บทความอ้างถึงการจัดลำดับของ Freedom House ให้ไทยเป็นประเทศ “ไม่เสรี” ในระดับเดียวกับบรูไน กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ส่วนประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์อยู่ในกลุ่มประเทศ “เสรีบ้าง” ซึ่งดูดีกว่าไทย
โจ ไบเดน ขณะเป็นรองประธานาธิบดีในรัฐบาลโอบามา ไทยก็มีรัฐประหารพอดี สหรัฐจึงลดความร่วมมือด้านการทหารกับไทย ไบเดนจึงมองไทยไม่ดีนัก แต่เมื่อทรัมป์ขึ้นเป็นผู้นำ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐก็ดีขึ้นโดยพลเอกประยุทธ์ ได้พบกับทรัมป์ที่ทำเนียบขาว
บทความชี้ว่า ทรัมป์ไม่สนใจไทยจะปกครองระบอบไหน ขอให้ใช้ประโยชน์จากไทยได้ก็พอ ส่วนไบเดนเป็นคนยอมหักไม่ยอมงอจึงไม่สนใจประเทศไทย
สิ่งที่ได้จากบทความคือ ทุกสมัยไม่ว่าใครจะขึ้นเป็นผู้นำ “สหรัฐก็ต้องเป็นที่ 1” ไบเดนจึงดูน่าจะมีอันตรายต่อโลกและต่อไทยมากกว่าทรัมป์ที่คนเป็นโผงผางและเปิดเผย
หากเป็นจริง ประเทศไทยและรัฐบาลไทยควรวางตัวอย่างไร ???
ไม่ว่าไบเดนจะมีอันตรายจริงหรือไม่ แต่ในการต่อสู้กับจีนเพื่อรักษาความเป็นที่ 1 สหรัฐก็ต้องมีพันธมิตร ไม่ว่า Covid-19 จะระบาดมากน้อยเพียงใด และไม่ว่าสงครามการค้าจะเป็นแบบไหน หรือจะหนักอย่างไร คนทั่วโลกและคนสหรัฐก็ต้องกินต้องใช้ทุกวัน
ประสิทธิภาพและต้นทุนของการผลิต การค้า และโลจิสติกส์จึงมีความสำคัญตามไปด้วย
หากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนหนักขึ้นในยุคไบเดน สหรัฐไม่ค้าขายกับจีน สหรัฐก็ต้องมองประเทศในกลุ่มอาเซียนให้เป็นพันธมิตรทางการค้า
ไบเดนอาจมุ่งเน้นเจาะแยกประเทศสร้างพันธมิตร เช่น อาจมองอินโดนีเชียและสิงคโปร์ที่ดูมีเสรีมากกว่าใคร แต่ในความเป็นจริงทุกประเทศในอาเชียนก็ไม่ได้มีเสรีภาพเต็ม ๆ ตามนิยามของ Freedom House
นิยามคำว่า “เสรีภาพ” และ “ประชาธิปไตย” ของประเทศทางตะวันออกที่เคยถูกแบ่งแยก ถูกปกครอง และถูกกดขี่แตกต่างจากนิยามของประเทศตะวันตกซึ่งเคยเป็นผู้รุกราน
ไทยจึงไม่ควรสนใจ “ความเป็นสหรัฐ” มากนัก แต่ควรสนใจ “ความเป็นอาเซียน” มากกว่า
หากการรวมตัวของกลุ่มประเทศในอาเซียนมีความแข็งแกร่ง มีพลัง ตามที่เคยตกลงกันไว้ อาเซียนที่มีประชากร 640 ล้านคน (World Bank 2018) จะมีความสำคัญต่อสหรัฐและจีนทันที
AEC (Asean Economics Community) รวมตัวกันจริงจังตั้งแต่ปี 2558 มีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความั่นคงให้เกิดขึ้น 3 ด้านคือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมือง และด้านวัฒนธรรม
กรอบความร่วมมือและกรอบเวลาด้านต่าง ๆ ถูกกำหนดไว้นานแล้วแต่ขาดความจริงจัง
ก่อนปี 2558 ทุกประเทศดูตื่นตัว ภาพความร่วมมือมีให้เห็น จากนั้นความเป็น AEC ก็หายไป เอาแค่ประเทศไทยไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็ไม่เห็นความเด่นชัดของ AEC
รัฐบาลจึงควรตั้งหน่วยงานเฉพาะศึกษาจุดแข็งของแต่ละประเทศ และเป็นผู้นำจุดแข็งนั้นมาร่วมมือให้มากขึ้น ไม่ว่าจะทำอะไรก็ให้ทำแบบร่วมมือกันใน AEC เช่น ร่วมกับมาเลเซียและอินโดนีเซียผลิตวัตถุดิบและอาหารฮาลาล ร่วมเป็นผู้จำหน่ายสินค้าของแต่ละประเทศ ร่วมเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ เป็นต้น
ในความเป็น AEC ย่อมมีเรื่องอื่น ๆ ที่มากกว่ากรอบให้ทำอีกมาก
ในทางภูมิศาสตร์ ไทยมีสภาพเป็นศูนย์กลางของอาเซียน มีความสำคัญด้านโลจิสติกส์ มีทรัพยากรที่สำคัญหลายประการ สามารถพัฒนาโลจิสติกส์ให้มีศักยภาพ ให้มีประสิทธิภาพและมีต้นทุนที่ดีกว่านี้ ไทยก็ควรนำจุดแข็งนี้พัฒนาร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเต็มที่
การผลักดัน AEC และการสร้าง AEC ให้เป็นครอบครัวเดียวกันจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด
ข้อดีหนึ่งของประเทศเสรีคือ การเลือกตั้งผู้นำทุก ๆ 4 ปี แต่ข้อเสียคือ ไม่มีใครรู้ว่าผู้นำที่ได้จะดีจริงหรือไม่ และจะเป็นอันตรายต่อประเทศ “ไม่เสรี” อย่างไทยมากน้อยเพียงใด
ส่วนประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เป็น “ไม่เสรี” และ “เสรีบ้าง” มีผู้นำที่ชัดเจน ดีหรือไม่ดีแบบไหน ทุกประเทศรู้ไส้รู้พุง รู้ทางกันหมด ไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่
การผลักดัน AEC ของไทยให้มากขึ้นในครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องยาก
ไทยจึงไม่ควรสนใจสหรัฐ ไม่แคร์ทั้งทรัมป์ทั้งไบเดน และไม่ใส่ใจว่า ประเทศใดจะเป็นผู้นำอาเซียน แต่ไทยควรมีบทบาทและทุ่มเทให้กับความเป็น AEC ให้มากกว่านี้
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : February 2, 2021
Logistics
กทท. ออกมาตรการลดฝุ่น PM 2.5 พร้อมรณรงค์ล็อคสลักตู้เพื่อความปลอดภัย
การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เดินหน้าตรวจสอบคุณภาพอากาศบริเวณพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) และท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) อย่างต่อเนื่อง พร้อมออกมาตรการป้องกันและดูแลคุณภาพอากาศ และเร่งรณรงค์ล็อคสลักตู้สินค้าเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน
คุณกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน กทท. ได้ดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่นละออง PM 2.5 ในบริเวณพื้นที่ ทกท. และ ทลฉ. มาอย่างต่อเนื่องซึ่งถือเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากค่าฝุ่นละอองในพื้นที่การปฏิบัติงานอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
โดย กทท. ได้ประสานเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมให้ตรวจวัดค่าฝุ่นละอองในพื้นที่ปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งออกมาตรการต่างๆ ได้แก่ การดับเครื่องยนต์เมื่อไม่ใช้งาน ตรวจสภาพและซ่อมบำรุงรักษาเครื่องมือทุ่นแรงทุกประเภทให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูดฝุ่นและล้างถนนอย่างสม่ำเสมอ ฉีดพ่นละอองน้ำด้วยเครื่องพ่นละอองน้ำแรงดันสูงป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองในพื้นที่ปฏิบัติงานและชุมชนโดยรอบพื้นที่ จัดรถสวัสดิการรับ-ส่งพนักงาน เพื่อลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในการช่วยลดฝุ่นละอองให้น้อยลง และติดตั้งระบบพ่นละอองน้ำบริเวณประตูตรวจสอบสินค้าขาเข้า-ออก ของ ทลฉ.
นอกจากนี้ กทท. ยังเร่งรณรงค์ด้านความปลอดภัยในการใช้รถและถนน โดยขอความร่วมมือจากผู้ใช้บริการทั้ง ทกท. และ ทลฉ. ในกิจกรรม ‘รณรงค์ขับขี่ปลอดภัย ล็อคสลักนิรภัย ปลอดภัยทุกเส้นทาง’ โดยรถบรรทุกที่ผ่านเข้า-ออก พื้นที่ท่าเรือจะต้องล็อคสลักตู้สินค้าทุกคัน เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถและถนนร่วมกัน และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ อีกทั้งยังได้ประสานกรมการขนส่งทางบกในการจัดส่งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการตรวจวัดควันดำรถบรรทุกที่เข้ามาขนส่งสินค้าในเขต ทกท. เป็นประจำทุกปี
ที่มา : https://www.logistics-manager.com/th/pat-implement-policy-againt-pm-2-5/
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!