CEO ARTICLE
สะท้อนประชาชน
“สภาส่งศาลชี้แก้ รธน. มติ 366 ต่อ 316 เสียง”
“ฝ่ายค้านรุมสับ รบ. ไม่จริงใจ”
10 ก.พ. 2564 ไทยโพสต์ขึ้นหัวข้อข่าวข้างต้น เนื้อหาสรุปได้ว่า ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว. ส่วนหนึ่งรวมกันได้ 366 เสียงลงมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ประเด็นที่ต้องการให้ตีความคือ ส.ส. และ ส.ว. มีอำนาจหน้าที่เพียงใดในการแก้ไขมาตรา 256 ที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ว่าจะเป็นรายมาตรา หลายมาตรา หรือทั้งฉบับ
ทำไมต้องให้ศาลตีความอำนาจหน้าที่ ส.ส. และ ส.ว. ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ?
คำตอบคือ มาตรา 256 สร้างเงื่อนไขไว้มากมายเพื่อไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญง่าย หากจะแก้ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. และ ส.ส. ฝ่ายค้านส่วนหนึ่ง ต้องทำประชามติ ต้องมีรายจ่ายหลายพันล้านบาท และมีเงื่อนไขอื่นที่เป็นเจตนารมณ์ให้แก้ไขยาก
ทำไมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 จึงต้องการให้แก้ยาก ?
คำตอบคือ นักการเมืองที่เห็นแก่ประโยชน์ตนเองและพวกพร้องในอดีตไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เมื่อทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ หรือพบส่วนใดที่เป็นข้อจำกัดในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายก็จะอ้างประชาชนส่วนหนึ่งเพื่อขอแก้ไขส่วนนั้นเรื่อยมา
ในทำนองเดียวกัน นักการเมืองฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากส่วนนั้นก็ไม่อยากให้แก้ไข ก็จะอ้างประชาชนอีกส่วนหนึ่งให้ขึ้นมาคัดค้านเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง
ต่างฝ่ายต่างอ้างประชาชนส่วนหนึ่ง แต่ประชาชนทั้งประเทศไม่รับรู้ด้วย
ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 จึงมีการทำประชามติมาก่อนใช้ หากจะแก้ไขก็ต้องกลับไปถามประชาชนทั้งประเทศด้วยประชามติเพื่อป้องกันการอ้างประชาชน
ประชาชนทั้งหมดจึงควรมองให้ออกว่า คนทั้งประเทศจะได้อะไรจากการแก้ไขหรือไม่แก้ไข
นิยามระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญและกฎหมายเป็นเครื่องมือสร้างอำนาจให้แก่นักการเมือง และเป็นเครื่องมือในการควบคุมนักการเมืองให้ใช้อำนาจนั้นทำงานเพื่อประชาชน
แต่นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เรื่อยมา ผลประโยชน์มหาศาลกลับตกอยู่กับทหารและนักการเมืองที่คอยชิงอำนาจกันไปมา
การแสดงความคิดเห็น หรือการลงมติของ ส.ส. จึงควรเกิดจากความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในท้องถิ่นที่ ส.ส. เป็นตัวแทน จากนั้นก็แสดงความคิดเห็นหรือลงมติไปตามนั้น ส่วน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ และ ส.ว. ก็ต้องลงมติจากเสียงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
การลงมติของ ส.ส. พรรคก้าวไกลต่อการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายอาญาป้องกัน “การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้
พรรคก้าวไกลมีมติให้แก้ไข มี ส.ส. ลงชื่อแก้ไข 44 คน แต่กลับมี ส.ส. 9 คน ไม่แก้ไข
การให้สัมภาษณ์ของ ส.ส. ที่ไม่แก้ไขบางคนกล่าวว่า “เป็นเพราะประชาชนในพื้นที่แสดงความไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไข” ส.ส. จึงต้องลงมติตามความเห็นของประชาชนในพื้นที่
แม้ไม่รู้ว่าเป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่จริงหรือไม่ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งก็ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 จริง ยังต้องการให้มีกฎหมายป้องกันพระมหากษัตริย์จริง การขัดมติของ ส.ส. จากพรรคที่อยากแก้ไขจึงดูเป็นเรื่องใหญ่ แต่ก็เป็นเหตุผลน่ารับฟัง
ความพยายามขอแก้ไขหรือไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ของ ส.ส. และ ส.ว. หรือการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อป้องกัน “การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” ตามที่เป็นข่าว ในด้านผลประโยชน์จึงยังไม่ชัดเจนว่า “ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะได้อะไร”
ความวุ่นวายครั้งนี้จึงคล้ายละครโรงใหญ่ ละครที่นักการเมืองอ้างประชาชนได้ประโยชน์จากการสร้างสะพานแล้วนักการเมืองก็เล่นตามบทละครทั้งที่ไม่มีแม่น้ำตรงไหนให้สร้างสะพาน
ประชาชนจึงควรมองให้ออก การลงมติใด ๆ ของนักการเมืองต้องสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชนเท่านั้น อย่างน้อยก็ควรมีช่องทางโซเซี่ยลให้ประชาชนในพื้นที่แสดงความคิดเห็น รับฟัง พิจารณาเหตุและผล และตัดสินใจไปตามผลประโยชน์ของประชาชนเพราะนักการเมืองคือตัวแทนของประชาชน ไม่ใช่ตัวแทนของนายทุนพรรคการเมือง
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
ครุสเซฟ อดีตประธานาธิบดีของอดีตสหภาพโซเวียต “นักการเมืองเหมือนกันหมดไม่ว่าที่ไหน พวกเขาสามารถให้สัญญาที่จะสร้างสะพานได้แม้ในสถานที่ที่ไม่มีแม่น้ำ”
“Politicians are the same all over. They promise to build a bridge even where there is no river” (หนังสือ การเมืองท้องถิ่น น. 12 ดร. ปธาน สุวรรณมงคล)
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : February 16, 2021
Logistics
จีนเร่งแก้ไขปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์
ตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2563 เป็นต้นมา เกิดปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ส่งผลให้ราคาค่าขนส่งพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย คุณ Li Xingqian อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จีน ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 ว่า กระทรวงพาณิชย์จีน กำลังร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การขนส่งสินค้าทางเรือเป็นไปอย่างราบรื่น และเพื่อให้การค้าระหว่างประเทศมีเสถียรภาพ
เมื่อเร็วๆนี้ ผู้นำเข้าในเมืองเซี่ยงไฮ้ ที่นำเข้าสินค้าจากยุโรป ให้ข้อมูลว่า ตู้คอนเทนเนอร์มาถึงจีนล่าช้ากว่ากำหนด 1 เดือน เนื่องจากไม่มีตู้คอนเทนเนอร์ ในขณะเดียวกัน ผู้นำเข้าในจีนบางรายไม่สามารถนำเข้าสินค้าได้ จึงขายสินค้าเดิมที่มีอยู่ อนึ่ง ตู้คอนเทนเนอร์เปล่าส่วนมากตกค้างอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย
ข้อมูลจาก คุณ Mirko Woitzik ผู้จัดการด้าน Risk intelligence solution จากบริษัท Resilience 360 ระบุว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ค่าระวางเรือแบบ Spot Rate เส้นทาง เอเชีย-ยุโรปเหนือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 264 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ในขณะที่ คุณ Mark Yeager, CEO บริษัท Redwood Logistics จำกัด ระบุว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2563 อัตราค่าระวางเรือแบบที่ต่ำที่สุด จากจีนไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 300% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เหตุผลที่ค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น เนื่องจาก จีนได้มีความพยายามอย่างมากในการนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่าจากสหรัฐฯกลับมาจีนเพื่อให้สามารถนำมาบรรจุสินค้าส่งออกจากจีนให้เร็วที่สุด คาดว่าประมาณ 3 ใน 4 ของจำนวนตู้คอนเนอร์จากสหรัฐไปจีน/เอเชีย เป็นตู้เปล่า ทำให้ผู้ส่งออกสินค้าจากสหรัฐฯไม่มีตู้คอนเทนเนอร์เพื่อบรรจุสินค้าส่งออก ปัจจุบันคาดว่า มีตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 180 ล้านตู้ทั่วโลก แต่ตู้คอนเทนเนอร์บางส่วนอยู่ผิดที่
บริษัท Cainiao Network Technology จำกัด (ในเครือ Alibaba ) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้โรงงานในประเทศที่มีการระบาดมีอัตราการผลิตสินค้าต่ำกว่าปกติ การหมุนเวียนตู้คอนเทนเนอร์ไม่ราบรื่น ในขณะที่ จีนต้องการตู้คอนเทนเนอร์ปริมาณมากเพื่อส่งออกสินค้า จึงไม่รอให้สินค้าขนส่งจากต่างประเทศกลับมาจีน แต่ส่งตู้คอนเทนเนอร์เปล่ากลับมาแทน เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกและผู้นำเข้าให้สามารถส่งสินค้าถึงจุดหมายปลายทางได้ทันเวลา เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 บริษัท Cainiao Network Technology จำกัด ได้เปิดบริการ “Global Supply Chain” โดยรับประกันว่า จะดำเนินการจองตู้คอนเทนเนอร์ให้เสร็จสิ้นภายใน 2 วัน ปัจจุบัน เครือข่ายห่วงโซ่อุปทานของ Cainiao ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง ครอบคลุมมากกว่า 200 พอร์ต (ท่าเรือและสนามบิน) ใน 50 กว่าประเทศ
นอกจากนี้ ผู้ผลิตตู้คอนเทนเนอร์ในจีนได้พยายามเร่งการผลิตอย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่นกรณีของบริษัท CHINA INTERNATIONAL MARINE CONTAINERS (GROUP) จำกัด ได้รับคำสั่งซื้อตู้คอนเทนเนอร์ปริมาณมากโดยคำสั่งซื้อเต็มจนถึงช่วงตรุษจีน
ความเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน :
ปัจจุบัน การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เป็นปัญหาระดับโลกที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างยืดเยื้อมาจากปีที่แล้ว ทำให้ค่าระวางเรือเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างประเทศ (trade imbalance) ซึ่งเกิดจากผลกระทบของโควิด-19
ที่ผ่านมา จีนต้องการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในเส้นทางสหรัฐฯ และยุโรป มากกว่าเส้นทางอื่น (เพราะเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากการควบคุมการระบาดของโควิด19 ในจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการดำเนินมาตรการต่างๆในการกระตุ้นเศรษฐกิจ) ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ปริมาณมากไปตกค้างที่ซีกโลกตะวันตก ดังนั้น จีนจึงเร่งนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่าจากสหรัฐฯกลับไปจีนโดยยอมจ่ายค่าระวางเรือสูง เพื่อนำตู้คอนเทนเนอร์มาบรรจุสินค้าส่งออกจากจีนให้เร็วที่สุดก่อนจะถึงเทศกาลตรุษจีน ( 11 –17 กุมภาพันธ์ 2564 )
ตู้คอนเทนเนอร์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ปัญหาการขาดตู้คอนเทนเนอร์ จึงส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทยอย่างมาก เนื่องจากผู้ส่งออกไทยส่วนใหญ่ ขายสินค้าภายใต้เงื่อนไข “FOB” ส่วนค่าระวางเรือ(จากท่าเรือประเทศของผู้ส่งออก) ผู้นำเข้าเป็นผู้จ่าย ทำให้ผู้นำเข้าจีนที่นำเข้าสินค้าไทยส่วนใหญ่ชะลอการนำเข้าสินค้า นับว่าเป็นความท้าทายต่อผู้ส่งออกสินค้าไทยอย่างมาก อนึ่ง ขณะนี้ สื่อในจีนจากหลายแหล่งข่าว ให้ข้อมูลว่า คาดว่า หลังเทศกาลตรุษจีน ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จะค่อยๆคลี่คลายลง
ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/721518/721518.pdf&title=721518&cate=413&d=0
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!