CEO ARTICLE

จระเข้ฟาดหาง

Published on April 6, 2021


Follow Us :

    

จระเข้ฟาดหางเป็นสำนวนไทย หมายถึง ผู้ที่ใช้อำนาจหรือกำลังระรานผู้อื่นไปทั่วโดยไม่เลือกหน้า และเป็นชื่อเรียกแม่ไม้มวยไทยที่ใช้ฟาดฟันคู่ต่อสู้อย่างคาดไม่ถึง

ระหว่างวันที่ 23 – 29 มี.ค. 64 เรือสินค้า Ever Given ถูกพายุทรายถล่มจนเสียการทรงตัว และเป็นจระเข้ขวางคลองในคลองสุเอซ ประเทศอียิปต์นั้น ใคร ๆ ต่างก็เอาใจช่วยให้รอดพ้นออกมา
ตอนนั้นก็มีการเสนอหลายแนวทาง เช่น การขนตู้สินค้าลงจากเรือแล้วฝากไว้บนตลิ่งชั่วคราวเพื่อถ่ายน้ำหนักตัวเรือให้เบา ให้ลอยลำ แล้วค่อยขนตู้สินค้ากลับขึ้นบนเรือ
หากอุบัติเหตุเรือไม่ติดอยู่กับแผ่นดิน การขนสินค้าทิ้งทะเลซึ่งมีมาแต่ในอดีตก็อาจเกิดขึ้นและก็ถือเป็นจารีตประเพณีที่เจ้าของสินค้าที่ปลอดภัยบนเรือต้องร่วมรับผิดชอบให้กับสินค้าที่ถูกทิ้งทะเล
เจ้าของสินค้าน้อยรายที่รู้เรื่องนี้ และยิ่งกว่าน้อยที่รู้ว่า การเฉลี่ยความเสียหายที่เป็นจารีตประเพณีมีมาก่อน ปัจจุบันกลายเป็นตัวบทกฎหมายไปแล้ว
โชคดีที่ไม่มีการทิ้งสินค้าจากเรือ Ever Given แต่ความเสียหายจำนวนมหาศาลก็ยังคงมีอยู่ และเจ้าของสินค้าที่ปลอดภัยบนเรือยังคงต้องร่วมรับผิดชอบ คล้ายกับถูกจระเข้ฟาดหางก็ไม่ผิดเพี้ยนและไม่รู้ตัว
หากบนเรือ Ever Given ครั้งนี้มีสินค้าของผู้ส่งออกไทยปลอดภัยรวมอยู่ด้วย ผู้ส่งออกไทยก็อาจอยู่ในฐานะที่ต้องร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายมหาศาล เหมือนถูกจระเข้ฟาดหางไม่ต่างกัน

วันที่ 29 มี.ค. 64 ที่เรือ Ever Given กลับมาลอยลำได้อีกครั้ง สรท. (สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย) และไทยรัฐออนไลน์ต่างออกมาร่วมประเมินผลกระทบเรือยักษ์ขวางคลองสุเอซ
เรือขวางคลองครั้งนี้ทำให้เรือสินค้าลำอื่นที่ติดค้างบริเวณใกล้เคียง ไม่สามารถเดินทางได้กว่า 300 ลำ บางลำยอมออกจากคลองสุเอซโดยวิ่งอ้อมไปทางแหลมกู๊ดโฮป นอกจากจะเสียเวลามากขึ้นกว่า 24 วัน รับความเสี่ยงอื่น ๆ แล้ว ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ก็จะถูกนำมาเรียกร้องจากเรือ Ever Given
ชายตลิ่ง 2 ฝั่งเสียหาย อียิปต์สูญเสียรายได้ที่จะต้องนำขึ้นมาเรียกร้องซึ่งยังไม่แน่ชัดว่ากี่หมื่นกี่แสนล้านบาท การกู้ภัยจากหลายหน่วยงานก็ต้องมีค่าใช้จ่ายอีกไม่รู้เท่าไร สัตว์มีชีวิตที่อยู่ระหว่างการขนส่งก็อาจเสียชีวิตอีกมาก
หากนำตัวเลขจากไทยรัฐออนไลน์ที่นำข้อมูลมาจาก Lloyd’s List หน่วยงานประเมินความสูญเสียที่ระบุเฉพาะสินค้าตกค้างครั้งนี้มีค่าใช้จ่ายวันละ 9,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 300,000 ล้านบาทต่อวัน
ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เหล่านี้คงค่อย ๆ ถูกทะยอยฟ้องร้องจากผู้เสียหายต่อเรือ Ever Given
ความเสียหายก็ว่ากันไปตามกฎหมายการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ตามจารีตประเพณี ตามกฎ York-Antwerp Rules (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) และจะถูกนำมาเฉลี่ยให้เจ้าของสินค้าที่ปลอดภัยบนเรือ Ever Given ร่วมรับผิดชอบ ความเสียหายที่กระทบกระเทือนต่อส่วนได้เสียของเจ้าของสินค้าทุกคนบนเรือลำนั้น และต่อตัวเรือเองด้วย หรือเรียกว่า GA (General Average) เพื่อเรียกเก็บจากเจ้าของสินค้าที่ปลอดภัย
สำหรับประเทศไทยก็มี พรบ. การเฉลี่ยความเสียหายทั่วไปจากภยันตรายในการเดินเรือ พ.ศ. 2547 ที่บัญญัติให้เจ้าของสินค้าที่ปลอดภัยก็ต้องร่วมเฉลี่ยจ่ายค่าเสียหายด้วย
มันเป็นอาการถูกจระเข้ฟาดหางชัด ๆ แต่หากผู้ส่งสินค้าซื้อกรมธรรม์ประกันภัย (Marine Insurance) ไว้ ผู้รับประกันภัยก็จะเข้ามาร่วมรับผิดชอบแทนผู้ส่งสินค้าทันที
การประกันภัยกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจึงมีความสำคัญด้วยเหตุนี้ มิฉะนั้น เจ้าของสินค้าก็ต้องมีส่วนร่วมเฉลี่ยความเสียหายตามที่กฎหมายบัญญัติ
ทุกครั้งที่มีการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกของไทยจึงควรพิจารณาให้ตัวแทนออกของช่วยจัดหากรมธรรม์ประกันภัยที่เหมาะสมให้คุ้มครองตัวสินค้า คุ้มครองการเฉลี่ยความเสียหายฯ ตามที่กฎหมายบัญญัติ และเป็นการป้องกันการถูกจระเข้าฟาดหางไปในตัว

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ้างอิง พรบ. การเฉลี่ยความเสียหายทั่วไปจากภยันตรายในการเดินเรือ พ.ศ. 2547
มาตรา 3 “ผู้ที่ต้องร่วมเฉลี่ยความเสียหายทั่วไป” หมายความว่า เจ้าของเรือและเจ้าของทรัพย์สินซึ่งเรือหรือทรัพย์สินของตนรอดพ้นจากภยันตราย และสามารถเดินทางไปถึงท่าปลายทางหรือถึงท่าที่การเดินทางต้องสิ้นสุดลงตามมาตรา 6
มาตรา 6 ในกรณีที่เรือหรือทรัพย์สินรอดพ้นจากภยันตราย และสามารถเดินทางไปถึงท่าปลายทางหรือถึงท่าที่การเดินทางต้องสิ้นสุดลง เจ้าของเรือและเจ้าของทรัพย์สินที่รอดพ้นจากภยันตรายดังกล่าว จะต้องร่วมเฉลี่ยความเสียหายทั่วไปกับผู้ได้รับความเสียหายทั่วไป
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กรณีดังต่อไปนี้
(1) ทรัพย์สินที่รอดพ้นจากภยันตรายเป็นสัมภาระหรือของใช้ส่วนตัวของผู้โดยสารหรือคนประจำเรือ หรือไปรษณียภัณฑ์
(2) ความเสียหายเกี่ยวกับมลภาวะ ยกเว้นค่าใช้จ่ายที่ตามหลักปฏิบัติเกี่ยวกับการพาณิชยนาวีระหว่างประเทศซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปให้นำมาเฉลี่ยได้

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : April 6, 2021

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

‘คลองสุเอซ’ เปิดแล้ว แต่ปัญหาไม่จบ

เหตุการณ์เรือขนส่งสินค้า “เอเวอร์ กิเวน” (Ever Given) ของบริษัท “เอเวอร์กรีน” ขวางทางการเดินเรือคลองสุเอซ ประเทศอียิปต์ ซึ่งเป็นเส้นทางการเดินเรือสำคัญระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป ได้เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการค้าไปทั่วโลก

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า แม้สถานการณ์จะคลี่คลายสามารถนำเรือยักษ์ขนาด 400 เมตร ออกจากบริเวณที่ขวางทาง และเส้นทางเดินเรือกลับมาสัญจรได้ตามปกติแล้ว แต่ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้อาจเรื้อรังไปอีกหลายเดือน

รายงานข่าวระบุว่า 12% ของการค้าขายทั่วโลก ใช้การขนส่งผ่านคลองสุเอซ โดยในแต่ละวันมีเรือขนส่งสินค้าผ่านคลองสุเอซประมาณ 50 ลำ คิดเป็นมูลค่าสินค้า 9.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการขนส่งไปยุโรป 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และไปยังเอเชียและตะวันออกกลางอีก 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยเมื่อปี 2019 เรือขนส่งสินค้าสัญจรผ่านคลองมากกว่า 19,000 ลำ คิดเป็นน้ำหนักสินค้าเกือบ 1.25 พันล้านตัน

แม้ว่าเรือขนส่งสินค้าขนาดยักษ์จะไม่ได้ขวางทางเดินเรือคลองสุเอซแล้ว แต่ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ยังไม่สิ้นสุด นอกจากปัญหาสินค้าบนเรือขนส่งผ่านคลองสุเอซ จะเดินทางไปถึงจุดหมายอย่างล่าช้า ซึ่งมีตั้งแต่น้ำมันดิบ, ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG), ไบโอดีเซล ไปจนถึง ชิ้นส่วนรถยนต์, สัตว์มีชีวิต, กาแฟ และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

ขณะที่เรือบางลำไม่รอให้สถานการณ์คลี่คลาย ได้เลือกใช้เส้นทางแล่นอ้อมทวีปแอฟริกา ผ่านแหลมกู๊ดโฮป ซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทางเพิ่มอีก 10 วัน

หน่วยงานบริหารจัดการคลองสุเอซ “สุเอซ คานาล ออโตริที” (SCA) ระบุว่า จะเร่งเคลียร์เรือที่ติดสะสมถึง 422 ลำ ภายใน 3 วัน โดยตัวเลขเรือค้างสะสมแท้จริงอาจมีมากกว่านี้

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า จะมีผลกระทบมากกว่าการขนส่งสินค้าที่ไปถึงจุดหมายล่าช้ากว่ากำหนด เพราะปัญหาที่ตามมาคือ ทำให้มีเรือขนส่งสินค้าติดค้างอยู่ตามท่าเรือจำนวนมาก

“เลนนาร์ท เวอร์สตาเปน” โฆษกหน่วยงานกำกับดูแลท่าเรือแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม เป็นท่าเรือใหญ่อันดับ 2 ในยุโรป กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้มีเรือมาจอดเทียบท่ารอขนส่งสินค้าจำนวนมาก ซึ่งทำให้ท่าเรือเกิดปัญหาความแออัดต่อเนื่องไปอีกหลายอาทิตย์ หรือหลายเดือน และไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ว่าผลกระทบจะยาวนานอีกเท่าไร

“เหตุการณ์นี้จะส่งผลกระทบต่อทั้งซัพพลายเชน ไม่ใช่แค่เรือที่เข้าเทียบท่า แต่เรือที่เดินทางออกจากท่าเรือด้วย เพราะท่าเรือแอนต์เวิร์ปไม่ได้เป็นแค่เพียงท่าเรือสำหรับนำเข้าสินค้า แต่ยังมีการส่งออกสินค้าด้วย” เวอร์สตาเปนกล่าว

โดยแหล่งข่าวระบุว่า ท่าเรือต้องมีการจัดการไม่ให้เรือ “แออัด” อย่างไม่เป็นระบบ เพราะจะทำการเดินเรือขนส่งสินค้าอื่น ๆ ได้รับผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ โดยจากเหตุการณ์นี้จะทำให้มีเรือจำนวนมากที่ไปแออัดอยู่ที่ท่าเรือแถบยุโรป รวมถึงท่าเรือแถบเอเชีย และตะวันออกกลาง

ขณะเดียวกัน “แจน ฮอฟฟ์แมน” ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้า องค์การสหประชาชาติระบุว่า ท่าเรือแถบยุโรปจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก อาจต้องใช้เวลาหลายเดือน กว่าที่จะสามารถจัดการปัญหากับการขนส่งสินค้าทางเรือที่ล่าช้าได้

“แอนดรูว์ คินซีย์” ที่ปรึกษาความเสี่ยงการส่งสินค้าทางเรือ บริษัทอไลแอนซ์ โกลบอล คอร์เปอเรต กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำลายซัพพลายเชนหลาย ๆ ส่วน โดยเฉพาะซัพพลายตู้คอนเทนเนอร์เปล่าที่ค่อนข้างขาดแคลนอยู่แล้วทั่วโลก เพราะเรือที่ติดค้างอยู่มีจำนวนมากที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์เปล่า เพื่อมาบรรทุกสินค้าใหม่อีกด้วย

นอกจากนี้ สินค้าอย่างเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตสินค้าตั้งแต่สมาร์ทโฟน เครื่องเล่นเกม ไปจนถึงรถยนต์ ซึ่งกำลังประสบปัญหาขาดแคลนอยู่ตอนนี้ อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าดังกล่าวก็อาจจะได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น

โดย “วอลเตอร์ ชาลก้า” ซีอีโอบริษัท “ซูสาโน เอสเอ” ผู้ผลิตเยื่อไม้และกระดาษรายใหญ่ของโลกระบุว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บริษัทกำลังประสบปัญหาการนำเข้าวัสดุสำหรับการผลิตกระดาษทิสชู และมีแนวโน้มที่อาจจะขาดตลาดในอนาคตได้

คินซีย์ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะกระทบกับทุกภาคส่วนแน่นอน และต้องเฝ้าระวังถึงผลกระทบต่าง ๆ ในอนาคต เพราะเหตุการณ์นี้อาจจะส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าและอุตสาหกรรมต่อเนื่องไปอีกหลายเดือนข้างหน้า

ที่มา : https://www.prachachat.net/world-news/news-641850

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.